ความสงบในดวงจิต


หลวงปู่ฝากไว้

ระยะหลังนี้มีความสงบในดวงจิต อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อาจจะเป็นเพราะมาจากการอยู่ไกล ห่างจากบ้านจากเมือง สิ่งแวดล้อมที่รบกวนจิตใจก็คงจะมีส่วน แต่ที่แน่ๆ คือเกิดจากการมีสติอยู่กับตัว ไม่ลืมที่จะมองสิ่งที่กำลังกระทำ หรือที่กำลังเกิดกับตัวเราอยู่

อ่านหนังสือหลวงปู่ฝากไว้้* ในตอนหนึ่งหลวงปู่ดูลย์ท่านเมตตาบอกผู้ที่มาขอ"ของดี" จากท่านว่า

"...ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้  เมื่อภาวนาแล้ว  ใจก็สงบ  กายวาจาก็สงบ  แล้วกายก็ดี  วาจาใจก็ดี  เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง..."

ในอีกตอนหนึ่งที่มีคณะปฏิบัติธรรม"มากราบหลวงปู่ เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมและเรียนถามถึงการปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไปอีก  ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว  และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน  เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น  จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง  และทำได้ง่ายที่สุด  เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก  หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง ฯ"

 

หลวงปู่บอกว่า         "ให้ดูจิต  ที่จิต"

นับว่าตัวโชคดีที่ได้มีโอกาสได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบ ... ได้มีสิ่งแวดล้อมดีสำหรับการดูจิต แต่เมื่อกลับไปอยู่เมืองไทย ก็จะยังปฏิบัติเช่นนี้อยู่  .. แล้วจึงจะรู้ว่า ความสงบในใจนั้น จะขึ้นกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ .. แต่ตอนนี้มีความมั่นใจว่า ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ถ้าภาวนา เจริญสติได้ ก็จะมีความสงบในดวงจิตได้เสมอ

*หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้" หลวงปู่ดูลย์ อตุโล รวบรวมโดยพระครูนันทปัญญาภรณ์ ๒๕๒๘

 

หมายเลขบันทึก: 189485เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2008 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

"ให้ดูจิต ที่จิต"

อ่าน ฟัง คิด เหมือนไม่ยาก แต่ปฏิบัติจริง..ยาก...นะคะอ.กมลวัลย์

สวัสดีค่ะคุณหมอจริยา

จิตเป็นอะไรที่ไร้รูปร่าง ไร้ขอบเขต บอกไม่ได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่แปลกที่สัมผัสได้ รู้สึกได้

การฝึกดูจิต ให้หมั่่นเจริญสติ (มีสติ รู้ตัว) ..

ถ้าตอนนี้มีความสุข ก็มองให้เห็นสุข ว่าสุขที่ไหน สุขที่ใจ สุขที่มือ สุขที่หัว..สุดท้ายจะพบว่าไม่รู้ว่าสุขที่ไหน

ถ้าตอนนี้มีทุกข์ ทุกข์ที่ไหน เจ็บปวดร่างกายไหม หรือเจ็บที่ใจ

เจ็บที่กายก็รักษา..หาหมอ ^ ^ รักษาตามสภาพ หรือบางครั้งตัวเองก็มองดูความเจ็บปวดร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดคอ..มองหาอีกว่ามันเจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน..ดูไปดูมาก็หายไป.. ดูร่างกายในลักษณะอสุภะ มองไปเป็นชั้นๆ ปวดหัวที่ไหน ปวดที่หนังศรีษะ ปวดที่กะโหลก ปวดที่สมอง ปวดตรงไหน..ดูไปดูมา เพลิน..หายปวด..

ถ้าเจ็บที่ใจ..อันนี้รักษาง่าย..เพียงแต่ปล่อยวางเรื่องนั้น..แต่ก่อนวางยาก เดี๋ยวนี้วางง่าย..จนสุดท้ายเลิกยึด..มันก็ไม่มีอะไรจะให้วาง มันก็เลิกอาการเจ็บใจ ..หายไปหมด

จะดูจิต ก็ดูชีวิตประจำวันของตัวเอง ดูเหตุการณ์ที่เกิด...ดู..แต่ไม่ react กับเหตุการณ์ เป็นผู้ดู..ทำความเข้าใจ หาสาเหตุ..ส่วนใหญ่จะพบว่าสาเหตุคืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) พอเข้าใจ ก็ละวางปล่อยไปได้..หลังจากนั้น จะเิริ่มเห็นจิต..ที่นิ่ง..ไม่ได้รองรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเคย

เข้ามารับคำสอนของหลวงปู่ครับ

การดูสำคัญยิ่งจริงๆ ครับ

สวัสดีค่ะุคุณพลเดช

การเป็นผู้ดูเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติของตัวเองเลยค่ะ

หากไม่ได้รับฟังคำสั่งสอนตอนเริ่มต้นของพ่อแม่ครูบาอาจารย์แล้ว (อ.ศิริศักดิ์ กับหนังสือหลวงพ่อเทียน - ผู้ดู ผู้เป็น) ก็คงมาไม่ถึงการปฏิบัติที่ได้ผลอย่างทุกวันนี้

หนังสือหลวงปู่ฝากไว้ อ่านเมื่อตอนปฏิบัติใหม่ๆ ก็ให้ผลอย่างหนึ่ง มาอ่านวันนี้ก็พบว่าให้ผลอีกอย่างหนึ่งค่ะ ลึกซึ้งและเรียบง่ายขึ้นเรื่อยๆ

ขอบคุณที่มา ลปรร นะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะคุณกมลวัลย์

  • เข้ามาน้อมรับธรรมะดี ๆ จากหลวงปู่ค่ะ
  •  "ให้ดูจิต  ที่จิต"
  • เตือนใจ เตือนตน ให้สงบ กาย วาจา ใจ เราจึงจะเกิดสติและปัญญา ให้เห็น จิต ได้ค่ะ
  • ท่านว่า...อันจิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง
  • ดูจิตตัวเองอยู่ทุกวัน ก็ยังเห็นความ..อัปลักษณ์ น่าเกลียด บางคราวก็ดูสงบ น่ารัก บริสุทธิ์ดี แต่เผลอเป็นไม่ได้ค่ะ...กลับไปสู่..โลภ โกรธ หลง อีกแล้ว
  • ขอบคุณสิ่งดี ๆ ที่แบ่งปันเสมอค่ะ...^_^...

สวัสดีค่ะคุณคนไม่มีราก

เป็นเรื่องแน่นอนที่เราจะมองเห็นความดี/ไม่ดีของความคิดของเรา ค่ะ ความคิดเป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้..มันคิดของมันเองตามสภาวะ มันบังคับไม่ได้ (อนัตตา) การมีความสงบไม่ได้แปลว่าไม่คิดอะไรเลย แต่เมื่อเราเห็นความคิดแล้ว เราเลือกปฏิบัติอย่างไร ถ้าเลือกปฏิบัติให้เกิดความนิ่ง มันก็สงบ นิ่งจริงๆ ค่ะ ^ ^

ถ้าจะพูดเีลียนแบบหลวงปู่ก็ต้องพูดว่า กิเลสมี..แต่ไม่เอาค่ะ ^ ^

  • ขอบคุณสำหรับการอธิบายเพิ่มเติม
  • ชัดเจนขึ้นมากค่ะ...^_^...
  • ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่เผื่อแผ่ธรรมะและความสงบให้แก่ผู้อื่นนะคะ

อนุโมทนาสาธุต่อความเจริญในธรรม

สาธุ สาธุ สาธุ

(^___^)

กะปุ๋ม

สวัสดีเจ้าค่ะ น้ากมลวัลย์จ๋า

น้องจิแวะมาหาความสงบค่ะ คิดถึงน้าค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ---->น้องจิ ^_^

สวัสดีอีกครั้งค่ะคุณคนไม่มีราก

ยินดีมากเลยค่ะ ถ้าสิ่งที่เขียนบอกไปทำให้กระจ่างขึ้น แต่อย่าเชื่อทั้งหมดนะคะ ตัวเองเข้าใจว่าแต่ละคนปฏิบัติ อาจจะมีแนวทางที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับของเดิมของแต่ละคนด้วยค่ะ แต่เป้าหมายยังเป็นเรื่องเดียวกันอยู่คือปฏิบัติธรรมค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะน้องกะปุ๋ม

อนุโมทนา สาธุ กับสิ่งที่น้องกะปุ๋มปฏิบัติต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นกันนะคะ

สาธุค่ะ ^ ^

สวัสดีจ๊ะหนูจิ ^ ^

วันนี้มาเยี่ยมน้าถึงบันทึกเลยนะลูก...

เราสามารถหาความสงบในจิตใจได้เสมอ ไม่ว่าเราจะกำลังทำอะไรอยู่จ๊ะ

ความสงบทำได้เกิดสมาธิในการทำงาน อ่านหนังสือ ได้ดีด้วยนะจ๊ะ

เห็นแว๊บๆ จากบันทึกหนูว่ากำลังจะต้องกลับไปมหาวิทยาลัยหลังจากมาที่บ้าน..ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด แต่เดี๋ยวจะตามไปอ่านจ๊ะ

พี่ตุ๋ยคะ ขออนุญาตพูดคุยกับ "คนไม่มีราก" นะคะ

(^___^)

เหตุที่ว่าบางครั้ง สภาวะทางจิตเราเคลื่อนไปในทางที่ชอบใจ หรือในทางที่ไม่ชอบใจนั้น "สติ" จะเป็นตัวกำหนดให้เราดู รู้ตัว สติมีกำลังมาก ปัญญาจะเกิดตามอย่างรวดเร็ว และจะเกิดเป็นความยับยั้งชั่งใจได้ หากว่าเรายังคงเป็นผู้อยู่ในความขัดเกลาอยู่ เราจึงต้องพากเพียรให้มีสติตลอดเวลา แทบทุกลมหายใจเข้าและออก

ในส่วนที่ว่า "ความสงบ" นั้น หมายถึง ความสงบที่หลุดออกจากการยึดเหนี่ยวทางอารมณ์ อันมีรากเหง้ามาจากกิเลสที่มีหัวหน้ารองอีกสามตัว คือ ราคะ โทสะ โมหะ ... หากเจ้าสามตัวนี้เบาบางลง ใจเราจะนิ่งเย็น แต่พึงระวังตัวโมะ เพราะมักจะเกิดในสภาวะผู้ปฏิบัติธรรมที่หลงไปว่า ตนเองคือผู้ประเสริฐ ผู้ดี ... มันคอยจะผลักเราลงไปนี้เพื่อสั่งสมเป็นอัตตา...ตัวกูของกูเกิดขึ้น อย่างไม่รู้เท่าทัน

ดังนั้น การสำรวมในกาย วาจา ใจ อันองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางนั้นกายหยาบที่สุด วาจาละเอียดมากกว่ากาย และละเอียดยิ่งขึ้นคือใจซึ่งทำได้ยากกว่า ท่านจึงให้เริ่มฝึกสำรวมทั้งกาย วาจา ใจสุดท้าย แต่กรรมทั้งหลายนั้นมาจากใจทั้งสิ้น ใจที่ถูกครองด้วยกิเลสจะผลักให้เรากระทำได้ต่างๆ นานา ดังนั้นพระพุทธองค์ถึงได้ให้เรามีศีลไว้เพื่อเป็นเกราะป้องกัน

แต่ทุกอย่างนี้ล้วนอยู่ภายใต้ "กฏอิทัปปัจจยตัง" ศึกษาและพึงระลึกไว้ทุกวินาที เราจะได้ไม่ก่อกรรมที่ไม่ดี ... และตั้งใจสั่งสมกรรมดีอย่างเร่งเพียรเลยค่ะ

ขออนุโมทนาสาธุต่อจิตอธิษฐานของคนไม่มีรากและพี่ตุ๋ยนะคะ

สาธุ

(^___^)

ขอบคุณครับอาจารย์ :) ... (สั้นไปไหมครับ)

สวัสดีค่ะน้องกะปุ๋ม

ไม่มีปัญหาค่ะ เชิญตามสบายเลยค่ะ พี่พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย ^ ^

ว่าแต่ว่าโมหะเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะคะ (สำหรับพี่) กลัวว่าทำไปๆ จะมีโมหะเหมือนกัน ต้องคอยเช็คตัวเอง แล้วก็ต้องคอยเตือนตัวเองไม่ให้ประมาทด้วยค่ะ แล้วก็ปฏิบัติต่อ ^ ^

ขอบคุณนะึึึคะ

สวัสดีค่ะอ.วสวัตดีมาร

ไม่มีสั้นไป ไม่มียาวไปค่ะ

ฮ่าๆๆๆ

เคยฟังเรื่องที่จะเล่านี้มาจากอ.ศิริศักดิ์อีกที

หลวงปู่ชาตอนเทศน์เรื่องเกี่ยวกับกิเลส ท่านหยิบไ้ม้ขึ้นมาท่อนหนึ่ง แล้วเล่าว่า ถ้าถามคนที่หนึ่ง คนที่หนึ่งอาจจะบอกว่าไม้นั้นสั้นไป เอาไปใช้อะไรไม่ได้ เอาไม้อันเดียวกันไปถามคนที่สอง คนที่สองบอกว่ายาวไป คงต้องตัดออก

ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีหรอก สั้นไป ยาวไป ไม้มันก็ยาวของมันแค่นั้น ไอ้ที่สั้นไป ยาวไปน่ะ มันอยู่ในใจเราต่างหาก ^ ^

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ

อาจารย์ กมลวัลย์  ครับ ... แฮะ แฮะ

คำว่า "สั้น" กะ "ยาว" น่ะครับ

ผมหมายถึง ผมไม่ทราบว่าจะแสดงความเห็นอย่างไรดี ผมเลยว่า สั้นไปไหมครับ

แฮะ แฮะ มาเห็นอาจารย์ตอบกลับว่า ไม่มีสั้น ไม่มียาว

ผมเลยว่า ผมไม่ได้ต่อว่าอาจารย์นะครับว่า อาจารย์เขียนสั้น หรือ เขียนยาว ไป :)

แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่อาจารย์เล่ามา ถูกต้องแล้วครับ ไม่มีอะไรสั้น ไม่มีอะไรยาว ทุกอย่างอยู่ในใจเรากำหนด

อิ อิ ... เป็นเรื่องได้ฉันใด ก็เป็นสัจธรรมได้ฉันนั้น ครับ 555

สวัสดีค่ะ อ.วสวัตฯ

พอดีที่อาจารย์ถามว่าสั้นไปไหม ทำให้นึกถึงที่เคยฟังมาจากครูบาอาจารย์อีกทีค่ะ ก็เลยเอามาประกอบเอาไว้ ^ ^ ไม่มีอะไรค่ะ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกต่อว่าหรืออะไรเลยค่ะ ฮ่าๆๆๆ แค่นึกเรื่องที่ใกล้เคียงกันได้ แล้วก็นำมาเล่าประกอบเท่านั้นเอง อิิอิ

เห็นภาพบึงบัวนึกว่าภาพเขียนโมเนต์แน่ะ สวยจริงๆค่ะ

การเกิดความสงบมาจากข้างใน อย่างที่เป็นอิสระจากความรู้สึกยึดติดใดๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข(อย่างทางโลก) มันเป็นความรู้สึกที่นิ่งๆ ที่ใครไม่ปฏิบัติฝึกฝนธรรม จะไม่มีทางเข้าใจนะคะว่าเป็นอย่างไร

 

สวัสดีค่ะพี่นุช

ภาพนี้ภูมิใจที่ได้ถ่ายเองแล้วออกมาสวยอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจ ^ ^ เรียกว่าบัวนั้นงามอย่างธรรมชาิติอยู่แล้ว พอมาอยู่รวมๆ กันแล้วเบิกบานยามเช้าพร้อมๆ กัน นับเป็นช่วงเวลาที่งดงามเป็นอย่างยิ่งค่ะ ทำให้นึกถึงจิตที่ตืนรู้ที่เบิกบานขึ้นมาพร้อมๆ กันเลยทีเดียว ดังนั้นถ่ายภาพอย่างไรก็จะสวยงามเสมอ ^ ^

การที่มีจิตอิสระ ไม่ยึดติดกับสิ่งใด นั้นเป็นความสุขที่หาที่เปรียบไม่ได้จริงๆ ค่ะ แต่ก็ยังต้องฝึกต่อไป ไม่ประมาท ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สถานะใดจะได้เกิดความสงบในใจได้เสมอค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะ น้องตุ๋ย

จริงๆแวะมาแล้วรอบหนึ่งแล้ว...เลยได้มีโอกาสแวะมาอ่านอย่างละเอียดอีกครั้งค่ะ... พี่คงยังฝึกได้ไม่สม่ำเสมอ ถึงต้องแวะเวียนมาอ่านบันทึกน้องตุ๋ย..เพื่อเตือนสติตัวเองอยู่ตลอดค่ะ ต้องจำไปเตือนตัวเองบ่อยๆค่ะ

"ดูจิต ให้มีสติ และรู้ตัวตลอดเวลา" ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่อุ๊

ตุ๋ยเองก็พยายามฝึกให้มีสติตลอดเวลาอยู่ค่ะ เวลาดูตอนแรกๆ ก็ใช้ดูจิตตอนทำกิจกรรมที่เรารู้ตัวว่าจะเกิดอารมณ์แ่น่นอน เหมือนกับหาตัวอย่างให้เห็นได้ง่ายๆ ก่อนน่ะค่ะ แต่ก่อนจะใช้การประชุมเป็นตัวเริ่มต้นดูอารมณ์ สังเกตจิตค่ะ เพราะมักจะโกรธ และ upset ง่ายมากจนหน้าบูดหน้าเบี้ยวในที่ประชุม อิอิ

พอเห็นครั้งแรก ก็ตกใจจนหายโกรธ เพราะตกใจที่เห็นตัวเองโกรธ เห็นตัวโกรธเป็นครั้งแรก คิดย้อนไปก็ตลกดีค่ะ หลังจากนั้นก็ดูได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องมากขึ้น คราวนี้ก็จะเริ่มเห็นอารมณ์ที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

การฝึกดูจิตแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับชีิวิตมากๆ ค่ะ นิ่งขึ้น สบายขึ้นเยอะเลยค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะน้องตุ๋ย

ความสงบของจิตเป็นสิ่งที่ Amazing จริง ๆ ค่ะ ...เป็น Innerpeace ที่จะนำพามนุษยชาติไปสู่โลกแห่งความรักและสันติภาพที่แท้จริงค่ะ

อนุโมทนาบุญกับน้องตุ๋ยด้วยนะคะที่ช่วยนำข้อคิดดี ๆ จากพุทธธรรมมาฝากพวกเรา...เพื่อนพ้องน้องพี่เสมอ ๆ ค่ะ ...สาธุค่ะ

ดอกบัวขาวบานกลางบึงที่น้องตุ๋ยถ่ายภาพเองนั้นสวยมากค่ะ ...พี่ตุ้มเพิ่งรู้ว่าน้องตุ๋ยเราเป็นตากล้องระดับ "มือโปร" เชียวนะนี่ ^-^

สวัสดีค่ะพี่ตุ้ม

เห็นด้วยมากๆ ค่ะ ว่า แม้ภายนอกจะไม่สงบ แต่ถ้าจิตเราสงบ สิ่งแวดล้อมภายนอกก็จะมากระทบเราไม่ได้อยู่ดี เวลาอ่านหลวงปู่ฝากไว้ทีไร รู้สึกว่าได้อะไรดีๆ จากหลวงปู่ทุกทีเลยค่ะ เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์อย่างแท้จริงเลยค่ะ

เรื่องถ่ายภาพไม่ใช่มือโปรอะไรหรอกค่ะ ดอกบัวกำลังงามสะพรั่งพอดี และมีจำนวนมาก ใช้กล้องธรรมดาๆ กดอย่างเดียว ออโต้ตลอดค่ะ ^ ^

นี่ก็เพิ่งกลับมาจากไปอยู่วัดถือศึล ๘ มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วค่ะ ได้อยู่ในที่สัปปายะมา ๓ คืน สงบทั้งภายใน ภายนอก ร่างกายเบาสบาย จิตใจสงบสุขจริงๆ แต่ที่ดีก็คือไม่รู้สึกว่าติดสุข หรือติดสงบ กลับมาทำงาน อยู่บ้าน ก็ยังพบว่าใจยังนิ่งดีอยู่ค่ะ การเจริญสติเป็นส่วนสำคัญมากๆ ของชีวิตไปแล้วค่ะ ^ ^

จิตคือความสว่าง ความสว่างคือบุญ บุญคือปัญญา ปกติของคนชอบบอกว่าอธิษฐานจิต ภาวนาจิต เป็นคำพูดที่เราได้ยินและพูดมาตลอด ได้มีโอกาสไปฟังธรรมะระดับพระธรรมของบุคคลที่เปิดตัวว่าคือผู้บรรลุธรรม ท่านอธิบายว่า ต้องใช้คำว่าอธิษฐานใจ ภาวนาใจ เพราะการใช้จิตให้บรรลุผลได้นั้นต้องเป็นผู้บรรลุธรรม 4 ระดับ คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เท่านั้นโดยการใช้ใจ เรียกว่า วสี

ตัวจิตจริง ๆ นั้น คือธาตุรู้ รู้ทุกอย่าง รู้จนไม่มีอะไรจะรู้ รู้จนเกินรู้คือการรู้แจ้ง รู้ถึงและการเข้าถึงพระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงเมตตาเผยแพร่ให้กับชาวพุทธ นั่นคือตัวจิตรู้ตื่น เบิกบานและสว่างจากความมืด

ความสว่างที่เกิดขึ้น จะเกิดจากดวงตาที่เห็นธรรมะ เห็นธรรมะในพระธรรม เห็นความสว่างในความมืดด้วยตาของเราเอง คือหลับตาแล้วเห็นความสว่างในความมืด นั่นคือผลการทำสมาธิ โดยอาศัยตัวบุญเป็นพื้นฐาน บุญที่เกิดจากความดีได้สั่งสมมาทุกภพทุกชาติ เมื่อบุญเราถึงพร้อมแล้วปัญญาก็จะเกิด คือ พุทธปรัญญา นั่นเอง

เป็นทรรศนะส่วนตัวเมื่ออ่านแล้วขอได้โปรดให้อภัยแต่ถ้าทำให้เกิดปัญญาก็อนุโมทนา

อนุโมทนาคุณขงเบ้งน้อยค่ะ

ตัวเองก็ใช่ว่าจะมีความรู้ทางด้านนี้มากนัก อาศัยทำความเข้าใจจากประสบการณ์และการอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์ และการปฏิบัติเจริญสติในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ อันไหนถ้าปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าดี ก็ปฏิบัติมาเรื่อยๆ ค่ะ ไม่ค่อยรู้ความหมายว่าอะไรเป็นอะไรหรือในเรื่องปริยัติมากนักค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลความรู้เพิ่มเติมนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท