บทความช่วงปิดภาคฤดูร้อนสิ้นปีที่หนึ่ง... บันทึกของครูน้อยในเดือนที่เก้า พฤษภาคม 2551


การมองความสัมพันธ์ของทฤษฎีเป็นแผนภาพ

บทความช่วงปิดภาคฤดูร้อนสิ้นปีที่หนึ่ง...    บันทึกของครูน้อยในเดือนที่เก้า   พฤษภาคม 2551

 

 

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

 

จบปีที่หนึ่งแล้วค่ะ   เข้าสู่ช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนเสียที    ช่วงนี้คงเป็นเรื่องเล่าของเทอมที่แล้วซึ่งยังมีติดค้างต่อเนื่องอยู่   และเรื่องการทำวิจัยเพิ่มเติม  ซึ่งเป็นงานในวิชา Independent Study ที่จะทำในประเทศไทยระหว่างช่วงสองถึงสามเดือนข้างหน้านี้ค่ะ  (ขออนุญาตลงบทความของเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ต่อกันเลยนะคะ) 

 

 

ขออนุญาตเริ่มเลยค่ะ

 

 

เทคนิคการเรียนการสอนเพิ่มเติมของวิชา Seminar in Organizational Behavior

 

หลังจากที่ได้พูดถึงเนื้อหาและการวัดผลของวิชานี้ไปบ้างแล้วในบทความก่อนหน้า    คราวนี้  ครูน้อยก็อยากจะเล่าเพิ่มเติมถึงเทคนิคต่างๆ ในระหว่างการเรียนการสอนที่อาจารย์ประจำวิชานำมาปรับใช้ในระหว่างการเรียน    ซึ่งคิดว่าเป็นเทคนิคที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านนะคะ  

 

 

1.           การมองความสัมพันธ์ของทฤษฎีเป็นแผนภาพ

 

ในการเรียนครั้งหนึ่ง  ซึ่งมีเนื้อหาของบทความวิจัยประมาณ 9 ชิ้นซึ่งอาจารย์ได้ให้นักศึกษาเตรียมมาสนทนาและวิพากษ์วิจารณ์ในชั่วโมงเรียน      อาจารย์ได้ขอให้นักศึกษาลองนึกภาพความสัมพันธ์ของบทความทั้งเก้าชิ้น    ออกมาเป็นแผนภาพที่แสดงความสัมพันธ์ของทฤษฎีและวาดแผนภาพนั้นลงในกระดาษ   จากนั้นให้จับคู่กับเพื่อนในห้องหนึ่งคน   และอธิบายแผนภาพนั้นให้เพื่อนฟัง    โดยที่เพื่อนก็ทำแบบเดียวกันกับเราด้วย

 

ครูน้อยยอมรับว่า  ตอนแรกที่อาจารย์สั่งให้ทำ (โดยให้เวลาทั้งนึก  วาด และอธิบายประมาณสิบนาทีต่อสองคน)   ถึงกับอึ้งกันทั้งห้อง    เพราะทฤษฎีจากทั้งเก้าบทความนั้น   แม้จะอยู่ในหัวข้อหลักเดียวกัน   แต่ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย    นักศึกษาคนอื่นๆ ก็ทำหน้างงๆ เหมือนกัน     แต่อาจารย์ได้อธิบายให้ฟังก่อนว่า   สาเหตุที่ให้หัดทำเช่นนี้    เพราะในเวลาที่ต้องมีการสอบ Comprehensive Examination ซึ่งเป็นการสอบประมวลผลภาพรวมทั้งหมดของเนื้อหาทฤษฎีที่เรียนมาตอนปีสามเทอมหนึ่ง    การหัดมองความสัมพันธ์ของทฤษฎีเป็นภาพจะช่วยให้นักศึกษาเข้าในความต่อเนื่อง  สอดคล้อง  หรือแม้แต่ความแตกต่างของทฤษฎีทั้งหมดของเนื้อหาที่หลากหลายและกว้างขวางของวิชานี้ได้ 

 

       จากนั้น  เมื่อเข้าใจจุดประสงค์ของการมองความสัมพันธ์เป็นแผนภาพแล้ว   ครูน้อยก็สามารถที่จะวาดแผนภาพนั้นออกมาได้   และอธิบายให้เพื่อนที่เป็นคู่กันเข้าใจได้    และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า   หลังจากการอธิบายแล้ว   เพื่อนมีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของทฤษฎีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด    แต่เวลาเพียงสิบนาทีอาจจะน้อยเกินไปสำหรับการอธิบายทั้งสองคน    เพราะเพื่อนร่วมทีมครูน้อยยังไม่สามารถวาดแผนภาพและยังไม่ได้อธิบายก็หมดเวลาเสียแล้ว   ดังนั้น  การดำเนินการในวิธีนี้  อาจจะต้องมีการจัดสรรเวลาให้มากกว่านี้เล็กน้อย  ขึ้นกับปริมาณเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในการวาดแผนภาพนั้นด้วยค่ะ  

 

 

2.           การให้ Academic Feedback

 

จากที่ได้เคยเล่าในเรื่องการ Term Paper ซึ่งคนทำจะต้องไปปรึกษาอาจารย์ก่อนในส่วนของหัวข้อ  และเนื้อหาหลักๆ    และนอกจากจะได้ความเห็นของอาจารย์แล้ว  ก็ยังได้ความเห็นจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน    ซึ่งอาจารย์จะสอนวิธีการให้ความคิดเห็น  หรือ Feedback นี้อย่างค่อนข้างละเอียด   เพื่อหัดให้นักศึกษาปริญญาเอกรู้จักวิธีการให้ Academic Feedback ที่ถูกต้องนั้น    คราวนี้จะขอเล่าเพิ่มเติมในรายละเอียดของเรื่องการให้ Feedback อย่างละเอียดนะคะ

 

ในการทำ Term Paper  อาจารย์จะให้แยกทำเป็น  Paper Proposal และ Paper Outline  มาส่งระหว่างเทอม   โดยจะต้องส่งให้อาจารย์และเพื่อนจำนวนสองคนในห้องสำหรับงานทั้งสองชิ้น  จากนั้นเมื่อมีการนำเสนอเนื้อหาในห้องเรียน   ก็จะมีเพื่อนอีกสองคนที่จะให้ Feedback เรา    ดังนั้น  โดยสรุปเราจะได้ Feedback ทั้งหมดจากคนหกคน (ไม่รวมของอาจารย์ที่จะได้ทุกครั้งที่มีงานส่งอยู่แล้ว) 

 

โดยที่ในการทำ Feedback หรือ Critique นี้จะมีทั้งการทำเป็นเหมือนรายงานเล็กๆ ประมาณสองหน้า   ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็น Strengths, Weaknesses, และ Recommendations   ที่จะต้องลงรายละเอียดอย่างมาก   ทั้งความครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหาไปจนถึงความเป็นไปได้ของงานวิจัยชิ้นนั้นๆ

 

แน่นอนว่า  เราอาจจะไม่มีความรู้ในหัวข้อที่เพื่อนสนใจ   แต่เราก็มีหน้าที่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลมาแนะนำให้เพื่อนด้วยเช่นกัน    และเพราะ Feedback นี้เราต้องส่งให้อาจารย์และเพื่อนด้วย   ดังนั้น  จึงทำให้คนให้ Feedback ก็ไม่สามารถทำแบบลวกๆ ได้   หากต้องค้นคว้าจริงจัง   เรียกได้ว่า  เหมือนเราจะทำงานวิจัยในหัวข้อเดียวกันกับเพื่อนด้วยเลย

 

นอกจากจะต้องส่งคำวิจารณ์และคำแนะนำให้เพื่อนแบบเป็นภาษาเขียนทางการแล้ว   อีกหน้าที่ที่อาจารย์ให้หัดทำด้วยก็คือ   ให้เราอธิบายเป็นคำพูดให้เพื่อนฟังด้วย   โดยครั้งแรกเริ่มจากให้ทำในห้องเรียนก่อน   จากนั้น  ก็ส่งเสริมให้อธิบายให้กันและกันฟังนอกเวลาเรียนด้วย    ซึ่งลักษณะของการให้จับคู่เพื่ออธิบายคำวิจารณ์ผลงานของอีกฝ่ายให้เจ้าของผลงานฟังนั้น  อาจารย์ให้คำอธิบายว่า  เพื่อฝึกหัดการให้คำวิจารณ์หรือให้คำปรึกษาในเชิงสร้างสรรค์   ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นอาจารย์นั่นเอง

 

 

 

ในที่สุดก็ได้เล่าเกี่ยวกับเทคนิคการเรียนการสอนในวิชานี้จนครบนะคะ    ถ้ายังมีอะไรที่นึกออกอีก  ก็จะนำมาเล่าเพิ่มเติมเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทีหลังค่ะ  

 

 

แล้วเจอกันเดือนหน้าค่ะ     สวัสดีค่ะ.....

คำสำคัญ (Tags): #knowledge management
หมายเลขบันทึก: 190618เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

   ขอขอบคุณมากๆสำหรับประสบการณ์การเรียนรู้ที่นำมาถ่ายทอด...เป็นกำลังใจให้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท