บันทึกประสบการณ์ : ตรวจพบเชื้อมาเลเรียชนิด Plasmodium malariae


เราตรวจพบขณะปฏิบัติงานประจำ โดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งตรวจ

วันพุธที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา  ขณะที่พวกเรากำลังนั่งตรวจดูแผ่นฟิล์มเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์อยู่นั่นเอง  น้องณีคนเก่งก็เรียกพี่เม่ยว่า

"จานเม่ย....มาดูอะไรนี่ เร้ว!"

พี่เม่ยไม่รอช้า เดินไปดูที่กล้องของน้องทันที...อ้อ พบเชื้อมาเลเรียนี่เอง  แต่ดูไม่ค่อยเหมือนเชื้อที่เราพบกันอยู่บ่อยๆนะ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมีขนาดเล็ก  ตัวเชื้อก็ดูแน่นๆ สีเข้ม (เชื้อมาเลเรียที่เราตรวจพบบ่อยๆก็คือชนิด P.falciparum  และ P.vivax ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้เราสามารถแยกได้ว่าเป็นชนิดใด)

ตัวแรกที่เราพบ  น่าจะเป็นระยะ growing trophozoite
ที่เรียกว่า compact form

พี่เม่ยหยิบแผ่นฟิล์มเลือดอีกแผ่นมาตรวจดูด้วย  ดูไปดูมาเริ่มนึกถึงเชื้อมาเลเรียที่เราไม่พบบ่อยในประเทศไทย และเริ่มพบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ห้องแล็บเรายังไม่เคยพบ ก็คือเชื้อมาเลเรียชนิด P.malariae นั่นเอง  เราจึงต้องหาลักษณะเฉพาะของเชื้อในระยะต่างๆให้พบ เพื่อช่วยยืนยันว่าใช่จริง

น้องณีเริ่มตรวจหาอย่างถี่ถ้วน  และก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ  จึงร้องเรียกพี่ดา (ผู้มีฉายา..เจ้าแม่แห่งมาเลเรีย) มาช่วยตรวจดูด้วย  "น่าจะใช่.." พี่ดาบอกพร้อมทั้งนั่งลงช่วยกันหาในแผ่นฟิล์มเลือดอีกแผ่นหนึ่ง

แล้วเราก็พบเชื้อในระยะ schizont ที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า rosette form (เนื่องจากมีนิวเคลียสเรียงตัวกันเหมือนดอกกุหลาบ  จำนวนนิวเคลียส 8-12 อัน)

หาต่ออีก...หาต่อไปอีก... เสียงเชียร์จากพวกเราอีกหลายคนเพื่อให้หาลักษณะเฉพาะของเชื้อที่สงสัยนี้ต่อไป

ในที่สุดก็พบค่ะ เชื้อในระยะ growing trophozoite ที่มีลักษณะพาดขวางเม็ดเลือดแดง เรียกว่า band form

หลังจากระดมสมองกันแล้วเราก็สรุปว่า เราจะรายงานว่าพบเชื้อมาเลเรีย ชนิด P.malariae แล้วนะ  แต่เนื่องจากเป็นรายแรกที่เราพบ จึงรายงานไปว่า "found malaria, suspected to be* P.malariae...." ตามด้วยการรายงานจำนวนและระยะของเชื้อที่เราตรวจพบ  เป็นอันเรียบร้อย

(..be* คุณโอ๋กระซิบบอกว่า ต้องเติมคำนี้ต่อท้าย suspected to ด้วยเพื่อให้รูปประโยคสมบูรณ์ จึงแก้ไขตามคำแนะนำไว้แล้วค่ะ....04/07/51)

และก็ไม่ลืมโทรศัพท์ไปรายงานแพทย์ด้วย เนื่องจากการตรวจพบเชื้อมาเลเรียโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งตรวจนี้ ถือเป็นค่าวิกฤตที่ต้องรายงานแพทย์โดยด่วน เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยต่อไป.....

เรียบร้อยค่ะ  พี่เม่ยจึงนำที่จะสไลด์แผ่นนี้ไปถ่ายภาพเชื้อในระยะต่างๆ เพื่อจัดเก็บไว้เป็นคลังความรู้ต่อไป....

           
P.malariae: schizont ที่กำลังจะแตกออก
เพื่อไปinfect  เซลล์เม็ดเลือดแดงตัวใหม่
P.malariae: ระยะ gametocyte
           
P.malariae: นี่ก็ระยะ gametocyte
P.malariae: ระยะ growing trophozoite
; band form

นับเป็นอีกหนึ่งบันทึกประสบการณ์ ที่ใช้ประสบการณ์ของพวกเราชาวฮีมาโตหรรษามาแลกเปลี่ยนและช่วยกันระดมสมองเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด 

แน่นอนค่ะ  เพราะเป้าหมายของเราคือให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดนั่นเอง
หมายเลขบันทึก: 190755เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2008 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านปุ๊บผมนึกถึง "พม่า" ทันทีครับ ตอนนี้เรามีงานก่อสร้างในบริเวณนี้ไม่น้อยครับ

  • สวัสดีครับพี่เม่ย
  • แวะมาทักทายครับ
  • จะมีโอกาสระบาดไปในพื้นที่อื่นๆ ในบ้านเราไหมครับ
  • ขอบคุณมากครับ

น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะพี่เม่ย

แล็บเราพบตัวนี้ครั้งล่าสุดเมื่อไรคะ

ขอถามเรื่องความรู้ (ลืมหมดแล้ว) ปกติเราจะพบเชื้อหลายระยะในคนไข้คนเดียวเช่น case นี้หรือเปล่าจ๊ะ

น.ส.วรลักฌ์ ฤทธิศักดิ์ >นศ. เทคนิคการแพทย์ ม.ขอนแก่น

เรียนเชื้อมาลาลาเรียมาสองสัปดาห์แล้วค่ะ

วันนี้เสร็จสิ้นสักที นั่งหากันตาลาย ทุกตัว ทั้ง PF PV PM PO

แทบทุกระยะ แต่บางสไลด์ที่อาจารย์ เก็ยไว้นานหน่อย ก็เริ่มจางๆไปหมด ต้องตาดีจริง

มีหลักการจำง่ายๆมั๊ยค่ะ เผื่อเอาไว้สอบ เพราะต้องสอบแล็บกริ๊ง ตื่นเต้นน่าดู

สวัสดีครับพี่เม่ย ... ผม พิชาญ จาก รพ.เบตง ครับ

วันนี้พี่ที่ห้องก็เจอสไลด์ที่คิดว่าน่าจะเป็น Plasmodium malariae เดี๋ยวจะส่งมาให้พี่เม่ย ช่วย confirm อีกที ครับ

เป็นเคสที่ 2 แล้วที่เจอที่เบตง เราก็มาช่วยกันดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท