อายุ (โพ) นามเทพ : ไร้สัญชาติแต่ไม่ไร้เสรีภาพในการเดินทาง


"ฉันยังหวังอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งฉันจะได้เป็นคนมีชาติ มีตัวตน และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเยาวชน ในแผ่นดินที่ฉันอาศัยอยู่มาตั้งแต่จำความได้แห่งนี้"

 

----------------
     บทนำ
----------------

               หากย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนปีก่อน เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้จะเกิดต่างกรรมต่างวาระกันแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ~~เธอยังไร้สัญชาติ~~

               แม้ตอนนี้อาจารย์อายุจะ "ไร้สัญชาติ" แต่เธอมิได้ไร้ตัวตนตามกฎหมายไทยอีกต่อไปแล้ว

              ปัจจุบันอาจารย์อายุได้รับการยอมรับจากรัฐไทย โดยกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยได้บันทึกตัวอาจารย์อายุไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ทร.38ก ซึ่งเป็นทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ม่มีสถานะทางทะเบียน ส่งผลให้อาจารย์อายุมีสถานะเป็น "คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย"

               อย่างไรก็ดี แม้อาจารย์อายุจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายแล้ว แต่อาจารย์ก็มิอาจใช้สิทธิที่มีได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สิทธิในการเดินทาง" (right to movement) ซึ่งได้รับการยอมรับในทางระหว่างประเทศว่าเป็น "สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" (basic human rights)

              ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศของอาจารย์ ต้องเผชิญกับอุปสรรค นานับประการ

-----------------------
 การเดินทางครั้งก่อน
-----------------------

            ในปี พ.ศ.2521 ด้วยความสามารถและพรสวรรค์ทางดนตรีอันโดดเด่น ทำให้อาจารย์อายุได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี 

            คราวนั้น อาจารย์และคุณพ่อต้องฟันฝ่าอุปสรรคไม่น้อย ตั้งแต่การติดต่อสันติบาลเพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาพำนักในประเทศอีกครั้ง การขอหนังสือเดินทาง และการขอวีซ่าเพื่อเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย

             อย่างไรก็ดี ด้วยความช่วยเหลือจาก อาจารย์บรูซ แกสตัน ,อาจารย์เตือนใจ ศรีมารุตม์ ,ผู้อำนวยการสถาบันเกอเต้ และท่านเอกอัครราชฑูตแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ในที่สุดอาจารย์อายุก็ได้รับหนังสือเดินทางพิเศษ(Emergency Certificate) ซึ่งออกให้พร้อมประทับลงตราวีซ่าให้กลับเข้ามาในประเทศ ได้ 2 ครั้ง (Multiple Re-entry Visa) และอาจารย์ก็ได้ร่วมเป็นตัวแทนไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ที่ฮ่องกงและเบอร์ลินตะวันตกในเดือนตุลาคม 2521 พร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆในทีม ถือเป็นเดือนที่อาจารย์มีความสุขที่สุดเพราะ "นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันมีกระดาษหนึ่งแผ่นจากทางการไทยที่ระบุว่าฉันเป็นคน[1]"

          อีก 28 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2549  ใครจะคาดคิดว่าอาจารย์จะได้รับโอกาสในการเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง แม้คราวนี้จะไม่ใช่การเดินทางไปทวีปยุโรปอันเป็นต้นกำเนิด และศูนย์รวมของดนตรีคลาสสิคก็ตาม แต่การเดินทางคราวนี้ ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญในชีวิต และเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางดนตรีครั้งใหญ่ของอาจารย์ เนื่องจากเป็นการเดินทางในฐานะ Voice Coach ของคณะตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันขับร้องประสานเสียง World Choir Game 4th ณ เมืองเซียะเหมิน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน

        อาจารย์เล่าว่า  การเดินทางครั้งนั้นทำให้อาจารย์ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางดนตรีกับบรรดานักดนตรีคลาสสิคมืออาชีพจากทั่วทุกมุมโลก  แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ แต่ทุกคนก็สื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน คือ ภาษาดนตรี  เพราะ "ดนตรีไม่มีพรมแดน"

 

-----------------------------------------------------------------------------
หนทางสู่  World Choir Game 5th Graz :ทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
-----------------------------------------------------------------------------

           ในปี 2551 แม้การเดินทางครั้งนี้จะไม่ใช่การเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก แต่ความรู้สึกครั้งนี้ของอาจารย์อายุคงไม่ต่างกับการเดินทางออกนอกประเทศในครั้งก่อนๆเท่าไรนัก เพราะไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งนั้น อาจารย์ก็ยังต้องเดินทางในฐานะคนไร้สัญชาติเช่นเดิม

          และความไร้สัญชาตินี่เองที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางออกนอกประเทศ คนมีสัญชาติคงไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้เท่าไรนัก

         กว่า 50 ครั้ง ที่อาจารย์ขาดโอกาสในการเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติ เพียงเพราะ อาจารย์ไม่มีสัญชาติ นี่ยังไม่น่าเสียใจเท่ากับการที่ลูกศิษย์ ของอาจารย์ต้องพลอยเสียโอกาสอันดีเช่นนี้ด้วย เพียงเพราะ ผู้ควบคุมวงเป็นอาจารย์ไร้สัญชาติ

        ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ อาจารย์อายุได้รับมอบหมายจากสมาคมขับร้องประสานเสียง(ประเทศไทย) ร่วมกับคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้ทำหน้าที่ Voice coach ให้วงขับร้องประสานเสียง CM Voice Studio Chorus ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน World Choir Games ครั้งที่ 5 ณ กรุงกราซ ประเทศออสเตรีย แต่ทั้งตัวอาจารย์และลูกศิษย์เองก็ยังไม่มั่นใจว่าอาจารย์จะได้ร่วมเดินทางไปกับคณะในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากเหตุหลายประการ

ประการแรก  แม้อาจารย์จะได้รับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่อาจารย์ยังไร้สัญชาติ แล้วอาจารย์จะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาอีกรึปล่าว ?

          

ประการที่สอง   หากอาจารย์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้เดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาอีกได้  แล้วกระทรวงการต่างประเทศจะออกหนังสือเดินทางให้รึปล่าว ?

        

ประการที่สาม   หากกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการออกหนังสือเดินทางพร้อม Re-entry Visa ให้แล้ว สถานฑูตออสเตรียจะออก Visa ให้อาจารย์เดินทางเข้าประเทศออสเตรียได้รึปล่าว ?

        ด้วยเหตุที่กล่าวมา ทำให้อาจารย์เริ่มเตรียมการตั้งแต่ปรึกษาคณะทำงานด้านสถานะบุคคลของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[2] และ อ.วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล[3] พร้อมกับยกร่างจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากการขอเดินทางออกนอกประเทศของคนไร้สัญชาติจะต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้การดำเนินการขอหนังสือเดินทาง และการขอวีซ่าของอาจารย์ล่าช้ากว่าคนอื่นๆในคณะฯ

        เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสืออนุญาต และขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศในการออกหนังสือเดินทางเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน Chior Olmpic ณ กรุงกราซ ประเทศออสเตรีย

 

 

 โดย กิติวรญา รัตนมณี

ปรับปรุงเมื่อ 13 กรกฎาคม 2551

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

[1] อายุ (โพ) นามเทพ ,อายุ (โพ) นามเทพ : คนไร้รัฐและมนุษย์ล่องหน , ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=230&d_id=229

หมายเลขบันทึก: 193916เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2008 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท