ยังไม่เห็นราชภัฏไหนเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นสักแห่ง


คนเหล่านี้ก็ไม่เคยสนใจใยดีคนเล็กคนน้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของชุมชนท้องถิ่น

 

 

ยังไม่เห็นราชภัฏไหน

เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นสักแห่ง

 

            เป็นที่รู้กันว่าราชภัฏเราประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น  ถึงวันนี้ราชภัฏเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเกือบครบ 4 ปีบริบูรณ์แล้ว  ยังไม่เห็นราชภัฏแห่งไหนแสดงวี่แววของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นเลย

            ตั้งแต่เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย  กิจกรรมที่ราชภัฏตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็คือการเปิดสอน  ปริญญาโท  ปริญญาเอก  การเปิดสอนในระดับนี้  ถ้าตั้งใจทำเพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นก็ต้องถือว่านี๋คือโอกาส  แต่น่าเสียใจและน่าเสียตายที่การครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อท้องถิ่นเลย  เป็นโอกาสในการแสวงหารายได้ของคนในสถาบันเสียมากกว่า  ดังจะเห็นได้จากหลักสูตรและการเรียนการสอนไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น เผลอ ๆเป็นพิษเป็นภัยแก่ท้องถิ่นด้วย  การดำเนินการอย่างอื่นเพื่อท้องถิ่นก็ไม่มี  หรือมีก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณและคุณภาพขึ้นกว่าก่อนเป็นมหาวิทยาลัย ดูว่าแนวโน้มจะแย่กว่าเสียด้วยซ้ำ  ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆที่จะออกแบบนวัตกรรมที่จะช่วยให้สถาบันทำหน้าที่ตอบสนองต่อท้องถิ่นในเชิงสร้างสรรค์ก็ไม่มี  อีกทั้งบุคลากรมีแต่ออก ๆไป  ที่รับหรือจะรับมาใหม่ก็ขาดแผนในการพัฒนาที่ดี  โอย...อะไรมันถึงวิกฤติถึงขนาดนั้น

            ราชภัฏทุกแห่งเลือกเปิดปริญญาโท  ปริญญาเอกภาคพิเศษ  นัยว่าเพื่อตอบสนองท้องถิ่น  ผู้เรียนจะได้ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย  ไม่ต้องลาเรียน  การเรียนในภาคพิเศษทำให้ผู้เรียนไม่สามารถทุ่มเทในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนของตนได้อย่างเต็มที่  ทั้งนี้เพราะจำกัดทั้งเวลา  และพลัง ประกอบกับผู้เรียนมิได้ใฝ่รู้และใฝ่สัมฤทธิ์  สักเท่าไรอยู่แล้ว ก็ไปกันใหญ่  เนื่องจากมีข้อจำกัดดังกล่าว การเรียนในระดับนี้จึงเน้นที่การเข้าเรียนในชั้น  เน้นการฟังบรรยาย  ขาดการค้นคว้า  ขาดการถก เถียง ถาม แถมในหมู่นักศึกษาด้วยกัน  กับผู้สอน  หรือกับผู้รู้อื่น ๆ  รูปแบบการทำวิทยานิพนธ์  ประเด็นปัญหาที่เป็นโจทย์ของการวิจัย เหมือนกับที่นักศึกษาเมื่อ 20-30 ปี ก่อนโน้น  แต่คุณภาพแย่กว่ามาก  เพราะจะอ่อนทั้งในด้านสังกัป  วิธีวิทยา และการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบ  เป็นต้น  ปัญหาสำคัญอยู่ที่หลักสูตรไม่ได้เกิดจากการรู้จริง รู้แจ้งในปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา  ไม่ใช่หลักสูตรที่เน้นการนำไปใช้หรือการแก้ปัญหา หรือในเชิงพัฒนา  หลักสูตรพัฒนาขึ้นโดยความรู้และประสบการณ์ของผู้รู้ในสถาบันอุดมศึกษาไม่กี่คน กระบวนการพัฒนาหลายครั้ง หลายที่ ที่เห็นดำเนินไปเพียงเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน  ซึ่งก็ไม่น่าจะผ่านการพิจารณาของคณะบุคคล  หรือหน่วยงานที่เป็นฝ่ายควบคุณภาพของหลักสูตร  นับว่าอาการอย่างนี้เป็นการบ่งชี้ถึงความย่อหย่อนของฝ่ายต่าง ๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาหลักสูตรประการหนึ่ง  ราชภัฏน่าที่จะใช้การศึกษาในระดับบัณฑิต เป็นโอกาสของการรู้จักและเข้าใจ  ตลอดจนสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชนที่ราชภัฏนั้น ๆตั้งอยู่  โดยที่ราชภัฏจะต้องพิถีพิถันกับการพัฒนาหลักสูตร  ให้หลักสูตรเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นได้จริง  กระบวนการเรียนการสอนต้องเอาชุมชนเป็นฐาน  สร้าง  สอน  เรียน  ร่วม  กับชุมชน  วัตถุประสงค์  เป้าหมาย  และกระบวนการของการศึกษาของราชภัฏต้องแตกต่างอย่างชัดเจนกับมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง  ต้องแสดงให้เห็นวิธีคิด  วิธีทำงาน ที่แตกต่าง  และอธิบายได้อย่างที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยกระแสหลักมิอาจดูแคลนได้  แต่ที่เป็นอยู่ราชภัฏพยายามเดินตามรอยมหาวิทยาลัยเหล่านั้น  ถึงแม้พยายามอย่างไรก็ไม่สามารถย่ำรอยของเขาได้สนิท  และก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น  เพราะวิถีนี้ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับท้องถิ่น  หรือแม้แต่เมืองก็ได้ประโยชน์จากผลผลิตของราชภัฏน้อยมาก  ที่พูดนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีเลย  แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเราคิดและทำเยี่ยงมหาวิยาลัยในส่วนกลางเช่นเดียวกัน   

          กลุ่มเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏให้บริการจำกัดอยู่ที่ผู้เรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วเท่านั้น  กลุ่มเป้าหมายอื่น เช่น  เด็ก และเยาวชนที่กำลังเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ หรือเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้กำลังเรียนอยู่  ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษา  ผู้ใหญ่ที่จบมัธยมศึกษาแล้วแต่ไม่ประสงค์จะเรียนต่อปริญญาตรี  ผู้ที่จบปริญญาตรีและโท แต่ไม่ประสงค์ที่จะเรียนต่อปริญญาที่สูงขึ้น และผู้สูงอายุ  เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ  กลุ่มดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก  ซึ่งราชภัฏควรที่จะให้บริการทางการศึกษาแก่เขา  ในนามของอุดมศึกษาไม่ควรมีสังกัปที่คับแคบอยู่เพียงการศึกษาในระดับปริญญาเท่านั้น  และไม่ควรมองว่าอุดมศึกษาคือการศึกษาหลังมัธยมศึกษา  แต่การศึกษาอุดมศึกษาคือการศึกษาของคนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือกำลังจะเป็นผู้ใหญ่ต่างหาก  กลุ่มเหล่านี้  ถ้าราชภัฏสามารถให้บริการศึกษาแก่พวกเขาได้ก็จะช่วยให้ คน  ครอบครัว และชุมชนเข้มแข็งขึ้นได้  ปัญหาสำคัญในประเด็นนี้ก็คือ  ราชภัฏขณะนี้ไม่รู้จักคนเหล่านี้  ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มีปัญหาและความต้องการอะไร  ราชภัฏขาดองค์ความรู้และศิลปวิทยาในการให้การศึกษาแก่คนในท้องถิ่นเหล่านี้  และยังไม่เห็นราชภัฏแห่งไหน ขยับเขยื้อนออกจากจุดนี้เลย 

         นวัตกรรมและเทคโนโยทางการศึกษาที่ใช้เพื่อให้บริการทางการศึกษาของราชภัฏปัจจุบันนี้ค่อนข้างล้าสมัย ยังเน้นการสอนในชั้นเรียน เป็นการเรียนรู้ผ่านการบรรยายที่นักศึกษาแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย  สมัยที่เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นอย่างไร  ปัจจุบันวิธีการให้การศึกษาของราชภัฏก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่  เราไม่ได้พัฒนาสื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเอง  เราขาดนวัตกรรมที่จะใช้ในการฝึกหัดขัดเกลาคนให้ เก่ง ดี และมีความชำนาญ  การศึกษาทางไกลโดยใช้สื่ออิเล็คทรอนิคต่าง ๆก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นใช้  สิ่งที่ราชภัฏทำอยู่ที่ดูเหมือนจะแตกต่างจากอดีตอยู่บ้างก็คือ  การเคลื่อนย้ายผู้สอนไปเปิดการเรียนการสอนในถิ่นที่อยู่ของผู้เรียนเท่านั้น  ศูนย์ให้การศึกษาต่าง ๆภายนอกสถาบัน  ก็เน้นการให้ปริญญาในสาขาวิชาที่แทบจะไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงต่อชุมชนท้องถิ่น  
       
        ในทางการบริหาร  ชุมชนไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม  ชุมชนไม่มีโอกาสรับรู้รับทราบทิศทางของความเป็นมาเป็นไปของสถาบัน  ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงใด ๆในสถาบัน  โดยเฉพาะคนระดับคนเล็กคนน้อยในชุมชนถูกสถาบันมองข้ามหน้าตาเฉย  ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นคนในชุมชนจะได้แก่  พ่อค้า  นักการเมือง  และข้าราชการระดับสูงที่มีสายโยงใยกับพวกพ่อค้าและนักการเมือง  ซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่เคยสนใจใยดีคนเล็กคนน้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของชุมชนท้องถิ่น
       
         ที่ว่ามานี้  อาจจะไม่ถูกก็ได้นะ  แต่มีที่ไหนเห็นว่าตนเองไม่ใช่อยั่งที่ว่านี้  ช่วยเล่ามาให้ฟังบ้าง  ผมจะได้หายโง่ 

 

                                                                                              paaoobtong

  

หมายเลขบันทึก: 194209เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2008 04:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บทความนี้ของท่านอาจารย์ ต้องได้คิด และ นำไปคิดครับ รอพระอาทิตย์ ที่จะส่องแสง ไปข่างหน้าครับ

แวะมาอ่าน เมื่อมีคนกรุณาตั้งข้อสังเกต ก็ต้องร่วมกันพิจารณา และรับฟัง

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะไปเยี่ยม

อ่านคำกลอนและ

ฝากข้อคิดเห็นไว้ให้ด้วย

รับไว้พิจารณาค่ะ

และจะพยายามจะ

อยู่เหนือสุขและทุกข์นะคะ

คงยากเหมือนกันน้อ อิอิ

เรียน ท่านอาจารย์

  • ทำให้ได้คิด และคิดได้อย่างที่ท่านอาจารย์ว่าไว้ครับ
  • ผมไม่แน่ใจว่า ม.ราชภัฎ ต้องออกนอกระบบด้วยหรือไม่ครับ ? ถ้าต้องออกนอกระบบเหมือนมหาวิทยาลัยของรัฐอื่น ๆ แล้วนั้น ผมว่า ฐานคิดของการออกนอกระบบมันเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมให้เกิดสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นอยู่คือ ดิ้น และโกย เพื่อความอยู่รอด ขอให้ขายได้มีเงินมาเป็นใช้ได้ ปัญหาอย่างอื่นช่างหัวมัน เอาไว้ทีหลัง ยิ่งมาผสมโรงกับความเห็นแก่ส่วนตัว เห็นแก่ได้ของแต่ละคน ยิ่งโกยหนักเข้าไปอีกครับ โกยเข้าตนเองมหาวิทยาลัย คนรุ่นหลังจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของ...
  • ผมไม่ได้หมายความว่า การออกนอกระบบไม่ดี แต่บริบทและกลไกอื่น ๆ รอบข้างไม่ได้เอื้อให้กลไกการออกนอกระบบเป็นไปอย่างที่คาดหวังครับ
  • การปฏิรูปการศึกษาครั้งล่าสุด ผมมองเป็นการสนองอัตตาของเทพ ผู้ยิ่งใหญ่ทางการศึกษาที่ยึดติดและอยากทำความฝันหรืออะไรบางอย่างที่ฝันไว้สมัยหนุ่มที่ไม่ได้ทำและทำไม่ได้ แต่โจทย์และบริบทของปัจจุบันและในอนาคตมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ความฝันของท่านเหล่านั้นยังเหมือนเดิม มีแต่อำนาจเท่านั้นที่เพิ่มมากขึ้น ข้าใหญ่ ข้าแน่ หลงจนลืม...
  • ต้องกราบขออภัยท่านด้วยที่มาบ่นครับ
  • นี่เป็นกิเลสที่ตามกระแสโลกเท่านั้นครับ อาจารย์และผู้บริหารของราชภัฏส่วนใหญ่ไม่สามารถต้านกระแสของความต้องการของตนเองและสังคมจึงเป็นเช่นนี้
  • คนส่วนมากต้องการปริญญาราชภัฏก็จัดให้ โดยไม่มุ่งปัญญาเท่าที่น่าจะเป็น จึงเกิดสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่
  • หากมุ่งปัญญาแล้วต้องลดกิเลสทั้งหลายให้หมดไปหรือน้อยลง หากยังลดไม่ได้อย่าหวังว่าจะเป็นที่พึ่งของชุมชนได้เลย
  • มันเป็นเช่นนี้เองนะอาจารย์ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท