BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๖


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๗. พระพุทธศาสนาหลังสมัยพุทธกาล

พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงยั่งยืนมาถึงพวกเราทุกคนในวันนี้ได้ก็เพราะมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสออกบวช ศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติ และสั่งสอนสืบต่อกันมา ส่วนการเดินทางของพระพุทธศาสนามายังประเทศไทยและส่วนอื่นๆ ของโลก กล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้เช่นเดียวกัน ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะเล่าเหตุการณ์หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานย่อๆ เพื่อให้เห็นความเป็นไปของพระพุทธศาสนาหลังสมัยพุทธกาล

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วสามเดือน คณะสงฆ์ได้ทำสังคายนาขึ้นครั้งแรกที่ถ้ำสัตตบรรณ กรุงราชคฤห์ เพื่อรวบรวมหลักธรรมคำสอนให้เป็นหมวดหมู่และท่องจำกันไว้ ประชุมสงฆ์ห้าร้อยรูป โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานสงฆ์ กระทำอยู่เจ็ดเดือนจึงสำเร็จ ปรารภการกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยของพระสุทััทะซึ่งเป็นผู้บวชภายแก่ (พ่อหลวงหรือหลวงตา)

เรื่องก็มีว่าหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเจ็ดวัน ขณะนั้นพระมหากัสสปะพร้อมสงฆ์หมู่ใหญ่ยังไม่ได้ทราบข่าวและกำลังเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองกุสินารา มีคนเดินทางสวนมาและบอกข่าวเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังข่าวบรรดาพระภิกษุที่เป็นอริยะก็ได้แต่เกิดสังเวชธรรมปรารถถึงความไม่แน่นอนเป็นต้น ส่วนพระภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนก็ร้องไห้ บ่นเพ้อ ตีอกชกตัวตามประสาผู้ที่เศร้าเสียใจยังตัดไม่ได้

จะมีแต่พ่อหลวงสุภัททะนี้แหละที่พูดทะลุกลางปล้องขึ้นในทำนองว่า "จะเสียใจไปทำไมกัน ! ตอนที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็ทรงห้ามว่าอย่างโน้นก็ไม่ถูกอย่างนี้ก็ไม่ควร ต่อไปเราจะทำอะไรก็ได้ไม่มีใครคอยห้าม.... " อะไรทำนองนี้ พระมหากัสสปะได้ยินก็ปลงสังเวชว่า่ "พระบรมศาสดาเพิ่งปรินิพพานเท่านั้นก็มีคนจาบจ้วงถึงเพียงนี้ อนาคตคงไปกันใหญ่ ไฉนเลย ! เราจะชักชวนคณะสงฆ์ทำสังคายนาหลังเสร็จงานถวายพระเพลิงฯ " นี้เป็นมูลเหตุของการสังคายนาครั้งแรก

 

พุทธศาสนิกชนทั่วไปน่าจะเคยฟังและเคยเห็นการเทศน์สังคายนา นั่นเป็นการจำลองการทำสังคายนามาตั้งแต่โบราณ วิธีการทำก็คือมีการซักถามว่าเรื่องนั้นๆ เช่น พระบรมศาสดาตรัสที่ไหน ? ปรารภเหตุอะไร ? มีเนื้อหาว่าอย่างไร ?  ฯลฯ หลังจากมีความเห็นลงรอยเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว คณะสงฆ์ในที่ประชุมก็จะสวดจำกันไว้ หลังจากเสร็จพิธีแล้วภิกษุในที่ประชุมสงฆ์ก็จะนำมาบอกให้ลูกศิษย์ของท่านท่องจำกันสืบต่อๆ มา โดยแต่ละกลุ่มจะชำนาญเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มที่ทรงจำพระวินัยเป็นพิเศษจะเรียกกันว่า ฝ่ายวินัยธร หรือกลุ่มที่ถนักคัมภีร์สังยุตตนิยายเป็นพิเศษจะเรียกว่า สังยุตตภาณกะ (ผู้กล่าวสังยุตตนิกาย) เป็นต้น ผู้สนใจใคร่ศึกษาอยากเรียนอยากรู้เรื่องอะไรก็ไปหาผู้ชำนาญฝ่ายนั้นได้ วิธีการทำจำและสอนกันปากต่อปากทำนองนี้เรียกกันว่า มุขปาฐะ วิธีการนี้เองเป็นการสืบต่อของหลักธรรมคำสอนในยุคแรกหลังสมัยพุทธกาล (มีหลักฐานว่า สมัยนั้นภาษาเขียนหรือการจดบันทึกก็มีแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยม ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเพราะยังขาดเทคโนโลยีการพิมพ์ก็ได้)

พ.ศ. ๑๐๐ ได้มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่สองที่กรุงเวสาลี (ไพศาลี) เมืองหลวงของแคว้นวัชชี ประชุมสงฆ์เจ็ดร้อยรูป กระทำอยู่แปดเดือนจึงสำเร็จ โดยปรารภเรื่องวัตถุ ๑๐ ของพวกภิกษุชาววัชชี ซึ่งเป็นปัญหาเชิงวินัยที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันของบรรดาภิกษุ เรื่องย่อว่ามีพระเถระท่านหนึ่งชื่อยสกากัณฑบุตรเที่ยวจาริกไปยังเมืองเวสาลี พบว่ามีวิธีปฏิบัติต่างจากคณะสงฆ์ถิ่นอื่น ๑๐ เรื่อง เรียกตามภาษาวินัยว่า วัตถุ ๑๐ จึงได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้วก็ชักชวนกันทำสังคายนาเพื่อความมั่นคงของพระธรรมวินัย

ตัวอย่างของวัตถุ ๑๐ เช่น เรื่องเกลือแขนง คือเกลือที่ภิกษุเก็บใส่กลักไม้หรือใส่เขาสัตว์แล้วพกพาไปเพื่อใช้เติมในเวลาฉันอาหาร ซึ่งภิกษุชาววัชชีบอกว่าสามารถทำได้ไม่ผิดวินัย แต่พระยสกากัณฑบุตรบอกว่าผิดวินัยทำไม่ได้ จึงมีความเห็นแย้งเกิดขึ้น

เรื่องนี้อธิบายตามวินัยได้ว่า กาลิก คือ ของกลืนกินตามกาลเวลาหลังจากรับประเคนแล้ว สำหรับภิกษุมี ๔ ประเภท คือ

  • ยาวกาลิก ของที่ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ได้แก่ ข้าวปลาอาหาร ขนม และผลไม้ทั่วไป
  • ยามกาลิก ของที่ฉันได้ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง ได้แก่ น้ำผลไม้คั้น หรือน้ำอ้อย น้ำหวานทั่วไป
  • สัตตาหกาลิก ของที่เก็บไว้ฉันได้หนึ่งสัปดาห์ ได้แก่ น้ำผึ้ง เนย น้ำตาลทราย เป็นต้น
  • ยาวชีวิก หมายถึง ยาหรือเครื่องยาทั่วไป สามารถเก็บไว้ได้ตลอดชีวิต

ตามวินัย ถ้ากาลิกที่มีระยะยาวกว่าไปผสมกับกาลิกที่มีเวลาสั้นกว่าก็ย่อมคล้อยตามกาลิกที่สั้นกว่า เช่น น้ำตาลทรายเป็นสัตตาหกาลิกนำไปใส่ในน้ำผลไม้คั้นซึ่งเป็นยามกาลิกก็ย่อมกลายเป็นยามกาลิกไปด้วย ส่วนเกลือมีสภาพหลายอย่าง ถ้าเก็บไว้เพื่อเป็นเครื่องยาก็เป็นยาวชีวิก แต่ถ้านำไปใส่ในอาหารก็กลายเป็นยาวกาลิก ฉะนั้น เกลือที่รับประเคนแล้วใส่ในอาหารจึงเก็บไว้ไม่ได้ผิดวินัย แต่ภิกษุชาววัชชีบอกว่าใช้ได้ ไม่ผิด

ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องสองนิ้ว พวกภิกษุชาววัชชีบุตรบอกว่าสามารถฉันอาหารได้แม้ว่าพระอาทิตย์จะเลยเที่ยงไปสองนิ้วแล้ว แต่พระยสกากัณฑบุตรบอกว่าไม่ได้ จึงเป็นปัญหาเชิงวินัย ซึ่งเรื่องการฉันอาหารในยามวิกาลนี้เป็นประเด็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน คือ เวลาบนเครื่องบินซึ่งเดินทางข้ามทวีปโดยบางครั้งเดินย้อนเวลา จึงยากที่จะกำหนดเวลาแน่นอนได้ว่าจะทำอย่างไรดี พระอาจารย์ท่านหนึ่งเคยเล่าแนวทางปฏิบัติว่าให้ถามพนักงานบนเครื่องว่าเป็นอาหารอะไร ถ้าเป็นอาหารเช้าหรือเที่ยงก็ให้ฉันได้เลย ถ้าเป็นอาหารเย็นหรืออาหารว่างกลางคืนก็ไม่ต้องฉัน...

ผู้เขียนเล่าให้เห็นย่อๆ เพียงสองประเด็นเพื่อชี้ให้เห็นว่าปัญหาวินัยนี้ยังมีอยู่ตราบปัจจุบัน รวมความว่าเป็นปัญหาทางวินัย ๑๐ ประเด็น จึงมีการทำสังคายนาครั้งที่สองเกิดขึ้น

หมายเลขบันทึก: 195030เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วัตถุ 10 ประการ

เมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้ว 100 ปี ภิกษุพวกวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ 10 ประการว่า เป็นของที่ควรหรือถูกต้องตามธรรมวินัย คือ

1.เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เอาไว้ฉันกับอาหารได้

2.เงาแห่งตะวันฉายเลยเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้ว ฉันอาหารได้

3.ภิกษุฉัีนอาหารในที่นิมนต์จนบอกพอ ไม่รับอาหารที่เขาถวายเพิ่มเติม ด้วยคิดว่าจะเข้าบ้าน ฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนได้

4.ภิกษุอยู่ในสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถแยกกันได้

5.สงฆ์ยังมาประชุมไม่พร้อมกัน แต่ครบจำนวนพอจะทำกรรมได้ ให้ทำไปก่อนได้ แล้วขออนุมัติจากภิกษุที่มาทีหลัง

6.ประพฤติตามที่อุปัชฌาย์ อาจารย์เคยประพฤติมาแล้วได้

7.นมสดที่แปรแล้วแต่ยังไม่เป็นนมส้มภิกษุฉันในที่นิมนต์ จนบอกไม่รับอาหารที่เขาถวายเพิ่มให้แล้ว คงดื่มนมได้

8.น้ำเมาอย่างอ่อนที่มีรสเจือปนอยู่น้อย ไม่ถึงกับทำให้เมา ควรดื่มได้

9.ผ้าปูที่นั่งไม่มีชายได้

10.เงิน ทอง รับได้

................................................................

ผลเป็นอย่างไรครับในการสังคายนาคราวนั้น? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 10 เงินทองรับได้

อยากให้พระอาจารย์เข้าไปดูเว็บนี้นิดหนึ่งครับ http://www.samyaek.com/

(อยากทราบความเห็นครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท