การวิจัยและพัฒนา (3)


ขั้นตอนที่ 2

วันนี้จะกล่าวถึงขั้นตอนต่อไปของการวิจัยและพัฒนา  ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันก่อนนะคะ ผู้เขียนจะใช้คำที่เป็นกลางๆ ก่อนนะคะ เช่น  นวัตกรรม  เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม ซึ่ง 2 คำนี้จะเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราจะศึกษา

หลังจากที่เราทำการศึกษาข้อมูลในขั้นตอนที่ 1 ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในขั้นตอนที่ 2

ขั้นตอนที่ 2 ขั้นสร้าง/พัฒนา/ตรวจสอบประสิทธิภาพ นวัตกรรม

วัตถุประสงค์ของการวิจัย  เพื่อพัฒนา/สร้าง และตรวจสอบประสิทธิภาพ นวัตกรรม ให้ได้ตามเกณฑ์ 80/80,90/90หรือ 75/75 (กรณีนวัตกรรมทีเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน)

ในขั้นตอนนี้เราจะสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาตามหลักการ ทฤษฏีที่เราได้ศึกษาจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  นอกจากตัวนวัตกรรม แล้วในขั้นตอนนี้ยังต้องดำเนินการสร้างเครื่องมือที่จะใช้ในการวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม (ตัวแปรตาม) ที่บรรลุจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการทราบผลด้านใดบ้างอะไร

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

  1. นวัตกรรม (ใช้ทดลอง)อาจหมายถึง เทคนิควิธีการ  สื่อต่างๆ  ฯลฯ
  2. เครื่องมือวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม (ใช้สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล)อาจหมายถึง แบบสอบถาม  แบบทดสอบ ฯลฯ

วิธีสร้างและตรวจสอบประสิทธิภาพ นวัตกรรมและเครื่องมือวัดผลการหลังการใช้นวัตกรรม(พอสังเขป)

  1. กำหนดจุดประสงค์ที่ต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อต้องการแก้ปัญหาอะไร
  2. กำหนดนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาหรือแก้ปัญหา
  3. กำหนดขอบเขตเนื้อหาสาระที่ต้องการแก้ปัญหา
  4. ดำเนินการสร้างนวัตกรรม และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม
  5. นำนวัตกรรม และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม ที่ได้สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความสอดคล้อง ความเหมาะสม
  6. ปรับปรุงนวัตกรรม และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลหลังการใช้นวัตกรรมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
  7. นำเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลหลังการใช้นวัตกรรมที่ผ่านผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้วไปหาคุณภาพ โดยการนำไปทดลองใช้(try out)  แล้วปรับปรุง
  8. ในกรณีที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เกี่ยวกับสื่อที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ต้องหาประสิทธิภาพโดยการนำนวัตกรรม ไปทดลองใช้(try out) ก่อนนำไปทดลองใช้จริง เพื่อหาประสิทธิภาพ คือ E1/E2 นั้นเอง แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมด้านการบริหาร ไม่ต้องทำขั้นนี้ พอถึงขั้น 7 ก็ดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนที่ 3 ได้เลย

แหล่งข้อมูล

  1. ผู้เชี่ยวชาญ(ตรวจนวัตกรรม และเครื่องมือวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม) ตามข้อที่ 5
  2. กลุ่มคน(ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง)ที่เรานำเครื่องมือวัดผลหลังการใช้นวัตกรรมไปทดลองใช้ เพื่อหาคุณภาพเครื่องมือ ตามข้อที่ 7
  3. กลุ่มคน(ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง และไม่ใช่กลุ่มตามข้อ 2)ที่เรานำนวัตกรรมไปทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพ ตามข้อที่ 8

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์

  1. วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ในการตรวจความสอดคล้อง อาจเป็นการประเมิน แบบมาตราส่วนประมาณค่า หาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แต่ถ้าเป็นแบบ  +1, 0 ,-1 ก็หาค่า IOC
  2. วิเคราะห์ข้อมูลจากการหาคุณภาพเครื่องมือวัดผลหลังการใช้นวัตกรรม สถิติที่ใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะของเครื่องที่ใช้ เช่น ถ้าเป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก็จะต้องหา ค่าความยากง่าย ค่าความยาก ค่าความเชื่อมั่น โดยจะใช้สูตรของใครก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของแบบทดสอบ  แต่ถ้าเป็นแบบสอบถาม อาจจะหาแค่ค่าความเชื่อมั่นอย่างเดียว (อาจศึกษาวิธีการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลทางการวิจัยจากตำราที่เกี่ยวข้องก็ได้)
  3. วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากหาประสิทธิภาพนวัตกรรม ใช้สูตรการหา E1/E2

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ อ่านดูแล้วรู้สึกเช่นไร เอาไว้อธิบายครบ 4 ขั้นตอนแล้ว จะหาตัวอย่างมาวิเคราะห์แต่ละขั้นให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกัน  หรือผู้ใดไม่เข้าใจตรงไหนสามารถสอบถามได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ผู้เขียนมีความรู้ ก็จะช่วยอธิบายให้ แต่ถ้าประเด็นไหนที่ผู้เขียนยังไม่ค่อยแน่ใจ ก็ยินดีจะไปค้นคว้า และถามผู้รู้มาให้ ยังไงก็คอยติดตามนะคะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 197162เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท