พิธีไหว้ผีเมืองที่หลวงน้ำทา


พิธีไหว้ผีเมืองนี้ยังมีความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญต่อคนไตโยน บ้านเวียงเหนือ เมืองหลวงน้ำทา

พิธีไหว้ผีเมืองหลวงน้ำทา เป็นพิธีสำคัญของคนไทในเมืองหลวงน้ำทา พิธีนี้จัดขึ้นในวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ประมาณเดือนมิถุนายน โดยชาวบ้านเวียงเหนือซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทโยนอพยพมาจากเมืองเงินและเมืองหงสาในสมัยที่หลวงน้ำทาอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองน่าน ในพิธีนี้มีหมอเมืองเป็นผู้ประกอบพิธีพร้อมกับผู้ช่วยคนอื่นๆ บริเวณพิธีจะมีตาแหลวติดเอาไว้ไม่ให้คนนอกเข้ามาในบริเวณพิธี วัวตัวเมียที่มีลูกอ่อนถูกนำมาฆ่าสังเวยผีเมือง มีการปรุงอาหารประเภทต่างๆจากเนื้อวัวเพื่อสังเวยผี เพื่อร้องขอความอุดมสมบูรณ์และความสุขสงบแก่บ้านเมือง เป็นพิธีที่ต้องทำขึ้นก่อนฤดูทำนา

............................................................................................................

นบไหว้ผีเมืองหลวงน้ำทา[๑]

                                                                                                              รัตนาพร  เศรษฐกุล

 

              ประเพณีการไหว้ผีเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเป็นประเพณีสำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่อดีต  ประเพณีนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิตและการควบคุมกำลังคนเพราะเป็นประเพณีที่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการติดต่อกับผีอารักษ์ของเมืองซึ่งเป็นผีที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้กับการผลิต  เพราะผีอารักษ์ของเมืองมักเป็นบรรพบุรุษของเจ้าเมืองหรือผู้ปกครองเมือง ดังคำกล่าวของชาวลื้อในสิบสองปันนาว่า นายบ้านตายเป็นผีบ้าน เจ้าเมืองตายเป็นผีเมือง  นอกจากนี้ยังเป็นพิธีกรรมที่ทุกครัวเรือนจะมีส่วนในการประกอบพิธีกรรม  เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับปากท้องของชาวบ้านชาวเมือง  ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมต้องถูกต้องตามจารีตที่เคยปฏิบัติกันมา  สัตว์ที่ฆ่าสังเวย อาหารที่ปรุงเพื่อเลี้ยงผี บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบพิธีกรรม สีเสื้อผ้าที่ผู้ประกอบพิธีกรรมสวมใส่  เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆและข้อห้ามต่างๆในระหว่างการประกอบพิธีจะต้องถูกต้องและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด

              ประเพณีการไหว้ผีเมืองหลวงน้ำทาถูกงดเว้นไปในช่วงที่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม  แต่คติความเชื่อถือผีอารักษ์ไม่สูญหายไป  แม้พิธีกรรมจะปรับเปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ยังแสดงถึงความเข้มแข็งของความเชื่อนี้ในหมู่คนยวนในเมืองหลวงน้ำทา  จึงมีการรื้อฟื้นการประกอบพิธีเลี้ยงผีเมืองขึ้นมาอีกในหมู่บ้านเวียงเหนือซึ่งเป็นหมู่บ้านหลัก เป็นที่ตั้งของ เฮือนหลวง และเคยเป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครองดั้งเดิมในเมืองหลวงน้ำทา  แต่ในปัจจุบันนี้พิธีกรรมเลี้ยงผีเมืองถูกเปลี่ยนแปลงไปให้มีกลิ่นอายของสังคมนิยมด้วยการเพิ่มเติมกิจกรรมของการชุมนุมสังสรรค์ของชาวบ้านหมู่บ้านยวนทั้งหมดในเมืองหลวงน้ำทาที่บ้านเวียงหลวง  ชุมชนหมู่บ้านยวนได้จัดให้มีการละเล่นพื้นเมืองและระบำรำฟ้อนต่างๆเป็นการแสดงวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของคนยวน  ส่วนการเลี้ยงผีดำเนินไปอย่างเงียบๆที่ดงไม้ห่างจากบ่อนม่วนซื่นไม่มากนัก  เป็นพื้นที่ที่เคยประกอบพิธีมาแต่ดั้งเดิม 

              กระบวนการพิธีเลี้ยงผีเมืองหลวงน้ำทาในปัจจุบันยังดำเนินไปอย่างเรียบง่ายเคร่งขรึมและศักดิ์สิทธิ์  ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ต่างไปจากเดิมมากนัก ผู้ประกอบพิธีและผู้ร่วมพิธีทำหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งขรึมจริงจัง ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบใดๆ  ไม่ได้มีการแสดงความครึกครื้นเฮฮาเหมือนพิธีเลี้ยงผีของเมืองอื่นๆที่กลายเป็นการละเล่นพื้นเมืองอวดนักท่องเที่ยว  ในขณะที่การละเล่นต่างๆเพื่อความสามัคคีและแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนนั้นนั้นดำเนินไปในอีกภาคส่วนหนึ่งไม่ห่างจากดงกรรมนั้นมากนัก  ผู้คนส่วนใหญ่จะไปชุมนุมกันในพื้นที่ม่วนซื่น  ปล่อยให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายใต้การจัดการของผู้เชี่ยวชาญการประกอบพิธีและทายาทของผีเมืองทั้งหลาย  มีการล้อมรั้วและปักตาแหลว  คนภายนอกห้ามเข้าออกอย่างชัดเจน

 

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเมืองหลวงน้ำทา

              เมืองหลวงน้ำทาปัจจุบันนี้เป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงหลวงน้ำทาเป็นหนึ่งในสิบหกแขวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  เป็นแขวงที่อยู่เหนือสุดของประเทศ ภาคเหนือของลาวประกอบด้วยแขวงหลวงน้ำทา แขวงเชียงขวาง แขวงหัวพัน แขวงอุดมไชย แขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี แขวงบ่อแก้ว และแขวงไชยบุรี  มีเมืองสิงเป็นเมืองชายแดนติดต่อกับจีนที่เมืองล่า เขตการปกครองตนเองสิบสองปันนาที่หลักเขตชายแดนจีนลาวหมายเลข ๕๖  ทางตะวันตกแขวงหลวงน้ำทาติดต่อกับพม่าโดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน  ทางใต้และทางตะวันออกของแขวงหลวงน้ำทาติดต่อกับแขวงบ่อแก้วและแขวงอุดมไชย  โดยแขวงบ่อแก้วนั้นมีเมืองห้วยทรายอยู่ตรงข้ามฝั่งน้ำโขงกับเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย  มีด่านชายแดนที่ข้ามติดต่อกันได้ที่เชียงของและที่ห้วยโก๋น จังหวัดน่าน

              แขวงหลวงน้ำทามีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่เมืองหลวงน้ำทา  ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการหลัก  มีเมืองภายใต้การปกครองของแขวงหลวงน้ำทาห้าเมือง คือ เมืองหลวงน้ำทา เมืองสิง เมืองลอง เมืองเวียงภูคาและเมืองนาแล  จากศูนย์กลางของแขวงหลวงน้ำทาไปยังเมืองอื่นๆเป็นระยะทางดังนี้

เมืองหลวงน้ำทา-เมืองสิง  ๖๐ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-นาเต้ย  ๓๗ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำ-บ่อเตน (ชายแดนลาว-จีน) ๖๐ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-เวียงภูคา  ๖๕ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-นาแล  ๘๒ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-หลวงพระบาง ๓๕๐ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-เมืองบ่อแก้ว ๑๙๕ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-เมืองล่า (จีน) ผ่านบ่อเตน ๑๒๕ กิโลเมตร

เมืองหลวงน้ำทา-เชียงกก  ๑๓๕ กิโลเมตร

 รูปลำน้ำทาที่เมืองหลวงน้ำทา

 

   

 

              เมืองหลวงน้ำทาเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ไท เพราะที่ตั้งอยู่ระหว่างรัฐไทหลายรัฐ จึงมีความสัมพันธ์กับรัฐไทโบราณ เช่น ล้านนา ล้านช้าง เชียงตุงและสิบสองปันนาอย่างแน่นแฟ้น  ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองหลวงน้ำทาเป็นที่ราบกว้างล้อมรอบด้วยภูเขา 

 

              เมืองหลวงน้ำทามีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำทาไหลจากเหนือลงใต้  เป็นที่มาของชื่อเมืองนี้  พื้นที่นี้ยังมีแม่น้ำสาขาของน้ำทาที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเพาะปลูก  ทางตะวันออกมีน้ำดีและน้ำทุง  ทางตะวันตกมีน้ำแงนและน้ำฮอย  ส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้มีน้ำลือ  ถนนสายหลักของเมืองหลวงน้ำทาตัดคู่ขนานกับลำน้ำทาไปสู่เมืองสิงที่ชายแดนเหนือสุดหรือลงไปใต้สุดถึงเมืองห้วยทรายหรือแยกไปแขวงอุดมไชย

              การขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการตัดถนนเพื่อขนส่งสินค้าจากจีนลงมาสู่ตลาดลาวทำให้เศรษฐกิจของแขวงหลวงน้ำทาพัฒนาไปแม้จะไม่รวดเร็วมากนัก  เดิมที่มีไฟฟ้าใช้จำกัดเพียงแค่หกโมงเย็นถึงสามทุ่มเปลี่ยนแปลงเป็นใช้ได้ตลอดวัน  ถนนกว้างขวาง  มีการใช้รถยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถปิ๊กอัพที่ขนได้ทั้งคนและสินค้า  วันดีคืนร้ายจะมีขบวนแรลลี่รถนับร้อยคันวิ่งผ่าเข้ามากลางเมืองเพื่อจะข้ามชายแดนเข้าสู่สิบสองปันนาของจีน  ตลาดเมืองหลวงน้ำทามีสินค้าราคาถูกของจีนเข้ามาล้นหลาม  ตลาดเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นตลาดแบบโรงไม้ถาวร  แบ่งแยกประเภทของสินค้าให้สะดวกแก่คนซื้อ  แต่อาจไม่ถูกอัธยาศัยของชาวต่างถิ่นที่อยากเห็นความเก่าของบ้านเมือง

 

              ลักษณะเด่นของแขวงหลวงน้ำทา คือ มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่สุดในลาวและประวัติศาสตร์อันยาวนาน  พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงน้ำทาตั้งแสดงโบราณวัตถุเก่าแก่ เช่น ไหหินบรรจุกระดูก เครื่องโลหะสำริดแบบต่างๆ  แผ่นหินตั้ง ศิลาจารึก กลองมโหระทึกของชาวขมุ เครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ไม้สอยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

    

              เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาและที่สูงจึงทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือ ลาวสูงอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก  ประชากรของแขวงหลวงน้ำทามีประมาณ ๑๑๔,๕๐๐ คน  กลุ่มชาติพันธุ์ในแขวงหลวงน้ำทามีประมาณ ๓๙ กลุ่ม ทั้งกลุ่มไท-กะได  กลุ่มมอญเขมร และม้ง-เย้า  อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตนเองกว่า ๓๐ แห่ง  เช่น ม้ง อาข่า เมี่ยน สามท้าว ไทแดง ลื้อ ไทเหนือ ไทขาว ไทกะหล่อม ขมุ ละเม็ด ลาว ไต และจีนยูนนาน

              แขวงหลวงน้ำทายังเป็นพื้นที่ห่างไกลจากการท่องเที่ยว  ทำให้ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆอย่าง  แต่สิ่งที่น่าสนใจของหลวงน้ำทา คือ ประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ธรรมชาติที่สวยงาม ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของริมฝั่งน้ำโขง และงานฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงรูปแบบเดิม  ใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือที่ผลิตขึ้นเอง  และการย้อมสีธรรมชาติที่สวยงาม  มีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายที่ผลิตในหมู่บ้านต่างๆ

ชาวบ้านเวียงเหนือเมืองหลวงน้ำทา

การแต่งกายของชาวบ้านเวียงเหนือเมืองหลวงน้ำซึ่งเรียกตัวเองว่าไตโยนหรือลาวโยน

 

พิธีไหว้ผีเมืองหลวงน้ำทา

              ประเพณีการไหว้ผีเมืองหลวงน้ำทาเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวยวนบ้านเวียงเหนือเมืองหลวงน้ำทา  สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพื่อร้องขอผีเมืองให้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้แก่บ้านเมือง ปกปักรักษาผู้คนให้อยู่ดีมีความสงบสุขและให้สัตว์เลี้ยงออกลูกเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น[๒] ประเพณีนี้งดไปตั้งแต่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประเทศสังคมนิยม เพิ่มจะมาเริ่มต้นทำใหม่เมื่อสองปีที่แล้ว ตามประวัติที่เล่าต่อกันมาเมืองหลวงน้ำทาแต่เดิมปกครองโดยเจ้าเมืองซึ่งเป็นชาวยวนมาจากเมืองหงสาและเมืองเงินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองน่าน  ชาวบ้านเวียงเหนือเล่าถึงประวัติความเป็นมาของตนว่า  บรรพบุรุษของตนอพยพมาจากสิบสองปันนามาอยู่ที่เชียงตุงแล้วจึงอพยพมาอยู่ที่เมืองหลวงน้ำทา  ต่อมาเจ้านายผู้ปกครองทะเลาะวิวาทกัน  จึงมีส่วนหนึ่งที่ย้ายไปอยู่ที่เมืองเงินซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองน่าน  พื้นที่เดิมของเมืองหลวงน้ำทานี้เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกสีดา (เป็นมอญ-เขมรกลุ่มหนึ่ง)  แต่คนเหล่านี้ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเมืองใหญ่  ต่อมามีคนไทยวนอพยพเข้าอยู่ที่บ้านเวียงใต้ในปัจจุบัน  ที่ตั้งแห่งนี้ดีเพราะมีลำน้ำขนาบอยู่สองข้าง  เหมาะแก่การเพาะปลูก  นานเข้าผู้คนเพิ่มมากขึ้นจึงมีการขยายไปตั้งบ้านเวียงเหนือ บ้านขอน บ้านหลวง บ้านดอนคูณ บ้านเชียงงาม และบ้านบอน  ประมาณทศวรรษ ๑๙๖๐ ผู้คนอพยพโยกย้ายไปอยู่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วเพราะถูกทิ้งระเบิดในระหว่างสงครามเวียดนาม

 

รูปหมอเมือง

 

              ในกลุ่มหมู่บ้านเหล่านี้บ้านเวียงเหนือเป็นบ้านหลัก เรียกว่า บ้านก๊กบ้านเก๊า เป็นศูนย์กลางการบริหารของเมืองหลวงน้ำทา  มีเจ้าเมืองปกครองพร้อมทั้งท้าวขุนเป็นตำแหน่งเจ้าแสนเจ้าหมื่น  จนกระทั่งฝรั่งเศสยึดลาวเป็นเมืองขึ้นจึงเข้ามาจัดการปกครองใหม่  เจ้าเมืองเหลือบทบาทในการรักษาฮีตกองของบ้านเมือง  บ้านเวียงเหนือซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองจึงเป็นบ้านที่ประกอบพิธีกรรมในการเลี้ยงเมืองที่ดงกรรม  กำเนิดของพิธีเลี้ยงผีเมืองนี้เล่ากันมาว่า  นานมาแล้วบ้านเมืองเกิดอดอยากขาดแคลน  ไม่มีน้ำเพาะปลูก  ผู้คนอดตาย  ชาวบ้านออกไปสำรวจดูก็พบว่ามีเครือเขากาดกั้นลำน้ำเอาไว้ไม่ให้น้ำไหลมาสู่เมือง  ไม่มีผู้ใดกล้าไปตัดเครือเขาให้น้ำไหลมาได้  มีหญิงพี่น้องสองคนอาสาพายเรือไปตัดเครือเขา  โดยมีข้อแม้ว่าหากนางทั้งสองถึงแก่ชีวิตเนื่องจากการตัดเครือเขานั้น  ชาวเมืองจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีของนางทั้งสองในเดือนแปดของทุกปี  โดยใช้วัวตัวเมียสีคล้ำที่มีลูกอ่อนมาฆ่าสังเวย  ให้ลูกวัวร้องหาแม่วัวเหมือนที่ชาวเมืองร่ำร้องไห้หานางทั้งสอง  ผีอารักษ์เมืองหลวงน้ำทานั้นนอกจากนางทั้งสองแล้วยังมีผีเจ้าช้างเผือก ผีแสนสุรินทร์ และผีปู่หนวก  การเซ่นไหว้นั้นต้องฆ่าควายเลี้ยงเจ้าช้างเผือก  แสนสุรินทร์นั้นเลี้ยงด้วยไก่และไข่ ผีปู่หนวกเลี้ยงด้วยหมู  ในอดีตการเลี้ยงผีเมืองทำหลายครั้ง  ปัจจุบันนี้ทำเพียงครั้งเดียวเลี้ยงผีทุกตน  ที่มาของการเลี้ยงผีอารักษ์นี้นายเพ็ง สีพันกองเล่าว่า  เกิดจากการที่มีคนเฒ่าคนแก่เดินทางไปเมืองเชียงใหม่ลำปาง  เห็นมีการชุมนุมผู้คนกัน  พอจะเข้าไปดูก็ถูกห้ามเข้าเพราะเป็นพิธีเลี้ยงผีขะกุนหรือผีปู่ย่า จนกระทั่งเสร็จพิธีจึงอนุญาตให้เข้าไปร่วมกินเลี้ยงด้วย  เฒ่าแก่เหล่านั้นจึงนำเอาประเพณีนี้มาปฏิบัติสืบกันมา[๓]

รูปหอผีเมือง

              ประเพณีการเลี้ยงผีเมืองหลวงน้ำทาที่บ้านเวียงเหนือเป็นภาระหน้าที่ของบ้านเวียงเหนือ  โดยชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วมในการประกอบพิธี  แต่ชาวบ้านที่มาร่วมในการประกอบพิธีกรรมจริงๆนั้นเป็นผู้ชายเท่านั้นและเป็นผู้ชายอาวุโสของหมู่บ้าน  ดงกรรมหรือสถานที่ประกอบพิธีอยู่ใกล้ๆกับวัดและใจบ้าน  เป็นดงไม้เขียวครึ้ม  ในตอนเช้าประมาณ ๗ นาฬิกาผู้ประกอบพิธีได้แก่ หมอหลวง แสนใน หาบมาตร แบกดาบและอุ้มขัน   นำเอาสิ่งของต่างๆและจูงวัวเดินเข้ามาสู่บริเวณพิธี

 

รูปวัวที่นำไปเซ่นผีเมือง

 

              หอผีเมืองเป็นหอกว้างประมาณสามเมตร  สูงสองเมตรครึ่ง มุงด้วยสังกะสี มีหิ้งไม้สูงประมาณสองเมตรจากพื้นดิน และมียกพื้นไม้ยาวสูงจากพื้นดินสำหรับให้หมอหลวงยืนประกอบพิธี  บนหิ้งมีเครื่องเซ่นไหว้เตรียมไว้  จานชามใส่อาหารและเหล้า  วัวที่จะใช้เซ่นไหว้ผีเมืองถูกผูกไว้กับต้นไม้  ข้างๆมีเพิงสำหรับปรุงอาหาร  มีชายฉกรรจ์จำนวนประมาณ ๑๐ คนเตรียมพร้อมที่จะทำอาหารสำหรับเซ่นไหว้ผี  หมอหลวงสวมชุดยาวสีแดงยืนอยู่ที่หอผีอย่างสงบ  คอยตระเตรียมของเซ่นไหว้ผี  มีร่มสีแดงปักไว้ด้านขวาของหอบริเวณที่หมอหลวงยืนทำพิธี นอกจากหมอหลวงแล้วมีผู้รับหน้าที่เป็นแบกดาบ หาบมาตร และอุ้ม   มีผู้มีบทบาทในการกำกับพิธี คือ แสนใน  เช่นเดียวกับการไหว้ผีเมืองล่าที่สีแดงถูกกำหนดให้เป็นสีของผู้ประกอบพิธี  คนอื่นๆที่เข้ามาร่วมพิธีเซ่นไหว้ผีเมืองหลวงน้ำทาจะสวมเสื้อสีแดงหรือคล้ายคลึงสีแดงไม่ได้

              เมื่อหมอหลวงกล่าวขออนุญาตเริ่มทำพิธีและขอฆ่าสัตว์เซ่นสังเวยต่อผีเมืองเสร็จแล้ว แสนในก็บอกให้เริ่มการฆ่าสัตว์สังเวย ผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาตเป็นลูกชายของแบกดาบ  ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทหารและทำหน้าที่นี้สืบทอดกันในตระกูลเหมือนกับคณะผู้ประกอบพิธีคนอื่นๆ  การฆ่าวัวใช้วิธีทุบหัวอย่างเชี่ยวชาญ  เพียงครั้งแรกวัวก็ล้มทั้งยืนโดยไม่มีเสียงร้องแล้วทุบอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากวัวตายแล้วชายหนุ่มสองสามคนก็มาช่วยกันแล่เอาหนังวัวออกและตัดแบ่งเนื้อออกเป็นส่วนๆ  แบ่งให้ผู้ประกอบพิธีกรรม และนำไปปรุงอาหารที่เรือนหลวงของทายาทเจ้าเมืองหลวงน้ำทา  อาหารที่ปรุงเซ่นไหว้ผี หรือ แก้มผี คือ ลาบดิบใส่เลือดและไม่ใส่เลือด แกง ข้าวเหนียวนึ่งและเหล้า  ในระหว่างที่กำลังปรุงอาหารจะมีชาวบ้านชายนำเอาดอกไม้ ธูปเทียน และเงินมาส่งให้กับผู้ประกอบพิธีให้นำไปวางไว้บนหิ้งในหอผีนั้นเรื่อยๆ 

รูปการฆ่าวัวเพื่อเซ่นผีเมือง 

 

รูปอาหารที่เตรียมเลี้ยงผีเมือง

 

              ชาวบ้านชายที่ประกอบพิธีนำเอาเนื้อ กระดูกและเครื่องในมาตัดสับแล้วใส่ลงในหม้อแกงที่กำลังเดือด  ส่วนหนึ่งสับเนื้ออย่างเอาจริงเอาจัง มุ่งจากปรุงลาบที่รสชาติดีที่สุด แก้ม ผีเมืองเป็นการทำงานของคณะพ่อครัวที่น่าดูเพราะทุกคนต่างรู้หน้าที่ มีหัวหน้าพ่อครัวคอยบอกเป็นระยะๆ ประมาณสิบนาฬิกาอาหารทุกอย่างปรุงเสร็จแล้วนำใส่หม้อเอามาวางเรียงไว้หน้าหอผี  ให้ชายฉกรรจ์สามคนมาตักอาหารแต่ละอย่าง คือ ลาบแดง ลาบขาว และแกงไปส่งใส่ไว้ในชามบนหอ  หมอหลวงจะรินเหล้าเชิญผีเมืองลงมารับเครื่องเซ่นแล้วตักอาหารแต่ละอย่างทีละคำ เสร็จแล้วจะ เก็บข้าว คือ เสี่ยงทายเมล็ดข้าว  หากได้จำนวนสี่คู่ หกคู่ หรือแปดคู่แสดงว่าผีเมืองได้รับเอาอาหารด้วยความพอใจอิ่มแล้ว  ก็จะเริ่มเซ่นอาหารครั้งที่สองและสาม  หากไม่ได้จำนวนเมล็ดตามนั้นจะต้องตักอาหารเช่นเดิมอีกและเสี่ยงเมล็ดข้าวสารอีกสามครั้ง  ครบตามจำนวนนั้นถือว่าผีเมืองอิ่มแล้วเป็นอันเสร็จพิธี  เนื้อส่วนติดซี่โครง ขา หาง และหูวัวถูกนำไปที่เรือนหลวงเพื่อปรุงเป็นอาหารที่จะจัดใส่ลงในพาข้าว จัดให้สวยงามเพื่อเซ่นไหว้ผีอีกครั้งหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเป็นอาหารให้กับทายาทเจ้าเมืองและผู้อาวุโสที่รออยู่ที่เรือนหลวง  เป็นอันเสร็จพิธีรื้อเอาตาแหลวออกและผู้ประกอบพิธีก็ร่วมรับประทานอาหารกันในบริเวณใกล้หอผีเมืองนั่นเอง

(ต่อ)

หมายเลขบันทึก: 200002เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2008 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

(ต่อ)

แต่เดิมการเลี้ยงผีเมืองจะมีย่าที่นั่งทำหน้าที่เป็นคนทรง ย่าที่นั่งจะไม่มาร่วมงานที่หอผีเมืองแต่อยู่ที่เรือนหลวง ติดต่อผีเมืองเพื่อจะพูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านที่ต้องการคำอวยพรหรือคำแนะนำจากผีต้องไปที่เรือนหลวง อย่างไรก็ตามหลังจากย่าที่นั่งคนเดิมเสียชีวิตไปแล้วก็ไม่ได้มีย่าที่นั่งอีกเลย เพราะย่าที่นั่งต้องเลือกโดยผีเมืองเท่านั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่มีคนที่ผีเมืองเลือกให้เป็นย่าที่นั่งเลย จึงไม่ได้มีการเข้าทรงผีเมืองแต่อย่างใด

ข้อสังเกตจากการร่วมพิธีเลี้ยงผีเมืองของเมืองหลวงน้ำทา

หมู่บ้านที่ประกอบพิธีเลี้ยงผี คือ หมู่บ้านเวียงเหนือ ชื่อหมู่บ้านบ่งชี้ถึงความสำคัญของหมู่บ้านว่าเป็นหมู่บ้านที่เจ้านายอยู่ เป็นศูนย์อำนาจการปกครองของเมือง การที่ทายาทของเจ้าเมืองยังมีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีเลี้ยงผีเมือง ได้รับส่วนแบ่งของเนื้อวัวที่ใช้เลี้ยงผีและมีสิทธิพิเศษที่จะเข้าไปถึงหอผีได้ในขณะที่ชาวบ้านอื่นๆเข้าไปไม่ได้

การที่เนื้อสัตว์ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปปรุงอาหารและเซ่นผีที่เรือนของเจ้าเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่ของเชื้อสายของเจ้าเมือง คือ นายเนตร แสดงถึงความสำคัญของเจ้าเมืองที่เป็นเชื้อสายของผีเมือง

ยังมีการกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการล้อมรั้วบริเวณดงพิธีกรรมและมีตาแหลวปักเอาไว้ ไม่ให้คนเข้าออก ชาวบ้านจะไม่มามุงดูเหมือนพิธีเลี้ยงผีเมืองของเชียงใหม่ มีคนเดินทางก็หยุดดูอยู่ห่างๆ พิธีกรรมนี้ยังมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่ตามความเชื่อของชาวบ้าน

(จบ)

  • อันนี้เหมือนบ้านเราเลยครับอาจารย์
  • ยังมีการกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการล้อมรั้วบริเวณดงพิธีกรรมและมีตาแหลวปักเอาไว้ ไม่ให้คนเข้าออก
  • อยากอ่านอีก
  • มาเขียนอีกนะครับอาจารย์
  • ชอบๆๆเรื่องชนกลุ่มน้อย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท