เรื่องลัวะๆ


คนไทมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับคนลัวะ

 

จารีตประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อกับงานหัตถกรรมผ้าทอและเครื่องประดับ

ของชาวลัวะในพื้นที่โครงการหลวง บ้านดงและบ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม

อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

                     ชาวลัวะนิยมตั้งถิ่นฐานในหุบเขาที่สูงประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล มักอยู่ใกล้กับต้นน้ำ บ้านดงและบ้านละอูบเป็นชุมชนหมู่บ้านลัวะ[๑] ขนาดใหญ่ในตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เป็นชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน  ทั้งสองหมู่บ้านตั้งอยู่บนดอยสูง ระยะทางห่างจากถนนใหญ่ถึง ๓๐ กิโลเมตร พื้นที่ของบ้านดงทางทิศเหนือติดต่อกับบ้านฮากไม้ซึ่งเป็นบ้านกะเหรี่ยง ทางตะวันออกติดต่อกับบ้านตูนเป็นบ้านลัวะ ทางตะวันตกติดต่อกับบ้านป่าแป๋ของลัวะและบ้านละอูบของลัวะ ทางใต้ติดต่อกับบ้านกะเหรี่ยงบ้านห้วยห้อมและบ้านสาม  บ้านดงเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  ถนนสู่บ้านดงคดเคี้ยวลดเลี้ยวตามม่อนดอยและขึ้นลงเลียบสันเขา ตลอดระยะทางมีทัศนียภาพที่สวยงามของภูดอยที่ซ้อนทับลดหลั่นกัน พื้นที่ป่าสลับกับพื้นที่ไร่  เมื่อเข้าใกล้จะเห็นกลุ่มบ้านเกาะอยู่บนลาดเขามีต้นไม้เขียวขจีแซมอยู่  มีถนนแคบ ๆเข้าสู่หมู่บ้าน  แต่ถนนยังไม่อยู่ในสภาพดีพร้อมทั้งสาย  ในช่วงฤดูฝนมักมีปัญหาถนนดินลูกรังมี  น้ำขังและเป็นหลุมเป็นบ่อหรือกลายเป็นแอ่งเลนที่รถผ่านไม่ได้ หมู่บ้านทั้งสองมีสาธารณูปโภคทัดเทียมหมู่บ้านพื้นราบ  มีไฟฟ้าและน้ำประปาทุกครัวเรือน  มีโรงเรียนอยู่ภายในหมู่บ้านที่สอนจนถึงระดับมัธยมปลายและมีศาสนาสถานทั้งวัดและโบสถ์คริสเตียน

   

        ภาษาลัวะจะเรียกบ้านดงว่า ย่างน่องหมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในป่าทึบหรือ   ป่าดงดิบ  เดิมบ้านดงเป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงเมื่อ  ประมาณปี ๒๔๓๐ ชาวลัวะได้อพยพ   เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับชาวกะเหรี่ยงโดยตั้งบ้านเรือนอยู่ลดหลั่นตามพื้นที่ริมห้วยและหุบเขา    อย่างสวยงาม มีผืนนาขั้นบันไดอยู่รายรอบใกล้ ๆ กับหมู่บ้านในบริเวณที่น้ำอุดมสมบูรณ์         ไกลออกไปเป็นพื้นที่ไร่ที่อาศัยน้ำฟ้าน้ำฝนในการเพาะปลูก  ที่ตั้งบนที่สูงอยู่ในหุบห้วยทำให้     การเข้าถึงลำบาก  แม้จะมีถนนลูกรังกว้างขวางสลับกับถนนลาดยางเข้าถึงหมู่บ้าน แต่ถนนนั้น   ยังไม่สามารถใช้การได้ทั้งปี  ในช่วงฤดูฝนถนนบางส่วนกลายเป็นทะเลโคลนสีส้มแดงตัดขาดหมู่บ้านกับโลกภายนอกไปชั่วคราว  ในขณะนี้ได้มีการปรับปรุงถนนแต่ยังไม่เสร็จ (พ.ศ.๒๕๕๐)

                        ในอดีตชุมชนบ้านดงที่มีทั้งชาวกะเหรี่ยงและชาวลัวะอาศัยอยู่ร่วมกันได้ขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อระบบการปกครองท้องถิ่นขยาย     เข้าไปถึงชุมชนได้มีการเลือกผู้นำหมู่บ้านขึ้น  ผลปรากฏว่าชาวลัวะผู้มาทีหลังได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน  ทำให้ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมไม่พอใจ  อีกทั้งจารีตประเพณีที่แตกต่างกันทำให้เกิดความขัดแย้งกัน  ชาวกะเหรี่ยงจึงได้อพยพออกไปอยู่ที่อื่น  ทำให้บ้านดงกลายเป็นชุมชนของชาวลัวะแต่เพียงกลุ่มเดียว

                        ชาวลัวะบ้านดงมีจำนวนประชากรตามข้อมูลของชาวบ้านในเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ อยู่๑๙๐ ครัวเรือน[๓]  ตั้งบ้านเรือนอยู่ลดหลั่นกันตามเชิงเขา  สงวนพื้นที่ราบหุบเขาและ ซอกเขาไว้สำหรับการเพาะปลูก  ชาวบ้านประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก  มีการทำนาและทำไร่ข้าวหมุนเวียนกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาด และเสาวรส  ทุกครัวเรือนมีสัตว์เลี้ยงอยู่ใต้ถุนเรือน เช่น ไก่ที่คุ้ยเขี่ยอาหารอยู่ทั้งวัน  หมูดอยสีดำขนาดกลาง ๆ อ้วนจนพุงย้อยลงไปเกือบจดดิน  ลูกหมูหน้าตามอมแมมวิ่งไล่กันอย่างสนุกสนาน  เผลอๆก็กลิ้งตกดอยลงมาบ้าง  หมูกับไก่เป็นสัตว์จำเป็นเพราะชาวลัวะจะต้องมีการเลี้ยงผีอยู่เสมอ ชาวบ้านเลี้ยงวัวควายบ้าง    ไม่มากนัก  อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ใช้ในการไถนาหรือขนพืชผล

                        หญิงชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุยังสวมผ้าซิ่นลายขวางแบบดั้งเดิม  บางคนใส่      เสื้อขาวและเครื่องประดับครบ ปากคาบกล้องยาสูบทำด้วยไม้หรือไม้ไผ่ที่คงลักษณะเฉพาะ         ของชาวลัวะไว้อย่างเก๋ไก๋น่าดู  บางคนยิ้มร่าเห็นฟันดำเต็มปากไม่ใช่เพราะเคี้ยวหมากแต่เป็น    การย้อมฟันด้วยยางไม้ประเภทหนึ่ง เป็นแฟชั่นดั้งเดิมของสาวลัวะรุ่นแรก ๆ  สำหรับผู้ที่อายุน้อยมักจะแต่งตัวเหมือนคนเมืองในชนบททั่ว ๆ ไป  ที่นิยมมากคือ กางเกงวอร์ม บางคนสวมผ้าซิ่นลัวะทับกางเกงวอร์มเอาไว้ใช้แทนผ้าพันน่องแบบดั้งเดิม  นับเป็นการประยุกต์การแต่งกายได้       อย่างฉลาด  ชุดลัวะอย่างสวยงามเต็มรูปแบบนั้นจะใช้เมื่อมีงานพิธีใหญ่ ๆ เท่านั้น เป็นโอกาสที่จะแสดงความงามตามจารีตประเพณีและความมั่งมีที่ปรากฏในสร้อยคอและกำไลเงินขนาดเขื่อง ๆ   ที่ใส่ได้โดยไม่จำกัดจำนวน  

 ภาษาที่ชาวบ้านดงและบ้านละอูบใช้พูดจาสื่อสารกันนั้นแตกต่างกับภาษาไทยอย่างสิ้นเชิงเรียกว่า ละปุง ละเวือะ  เป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ สำเนียงการพูดคล้ายภาษาเขมร  ภาษาละเวือกเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) สายภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) สาขาย่อยปะหล่อง-ว้า (Palaung-Wa)[๔]  ภาษาของลัวะแต่ละหมู่บ้าน  มีความแตกต่างกันเป็นบางคำ บางแห่งต้องใช้คำพูดภาษาอื่นมาเป็นคำกลางในการสื่อสาร  ชาวลัวะส่วนหนึ่งเชื่อว่าเดิมชนเผ่าของตนมีภาษาเขียนแต่เมื่อถูกยึดครองก็ถูกห้ามไม่ให้ใช้    ภาษาเขียน  แต่มีบรรพบุรุษของชาวลัวะได้แอบบันทึกศิลปวัฒนธรรมเป็นภาษาลัวะเรียกว่า     ลับทา ว่ากันว่าเป็นแผ่นทองเหลืองมีลักษณะเหมือนสมุดข่อย หรือปั๊บสาของชาวล้านนาแล้วเก็บไว้อย่างมิดชิดจนสูญหายไป  นอกจากภาษาพูดประจำวันแล้ว  ลัวะมีวรรณกรรมมุขปาฐะเรียกว่า ละซอมแล  เป็นบทกวีที่แบ่งได้ถึงเจ็ดประเภท  แต่ละประเภทมีบทกวีมากกว่าสิบบท    เป็นบทกวีที่ไพเราะด้วยการเปรียบเทียบที่ซาบซึ้งกินใจ  มีการเล่นสัมผัสสระและอักษรทำให้      ฟังระรื่นหู[๕] ผู้อาวุโสชาวลัวะจะโต้ตอบบทละซอมแลในงานพิธีกรรมต่าง ๆ  เช่น ในงานศพจะมี  การโต้ตอบละซอมแลในเวลาดึกสงัดเพื่อปลอบใจครอบครัวที่เพิ่งสูญเสียผู้เป็นที่รักไป ปัจจุบันชาวลัวะรุ่นหนุ่มสาวไม่สามารถโต้ตอบบทกวีละซอมแลอีกแล้ว

 ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลัวะบ้านดงและบ้านละอูบ

ชาวลัวะในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของล้านนาในพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม       จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกตัวเองว่า ละเวือกและลัวะ แต่ชื่อที่คุ้นเคยกันมากคือ ลัวะ  ชลธิรา สัตยาวัฒนา เชื่อว่าชาวลัวะกลุ่มนี้       เพิ่งเข้ามาสู่ดินแดนล้านนาหลังจากการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่แล้วและค่อย ๆ ทยอยเข้าเรื่อย ๆ จนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นกลุ่มลัวะที่ธำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมในการทอผ้าแบบ ห้างหลัง          ที่เรียบง่ายและผู้หญิงยังนุ่งผ้าซิ่นลัวะขนานแท้[๖] อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านดง  พบว่าชาวลัวะบ้านดงเชื่อกันว่าตนเองเป็นเจ้าของบ้านเมืองลุ่มน้ำปิงมาก่อนที่จะถูกพระนาง    จามเทวีแห่งแคว้นหริภุญไชยขับไล่ออกไปจากพื้นที่ บ้านเมืองเก่าของลัวะที่เชียงใหม่ล้อมรอบ  ด้วยดงไม้ซาง ลัวะเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนสร้างเจดีย์หลวง ต่อมาถูกฟ้าผ่า ชาวลัวะจึงเอาผีฟ้าผ่านั้นมาเป็นผีอารักษ์ของบ้านดงเรียกว่า ผีตะงอ ส่วนตำนานดึกดำบรรพ์ของล้านนาก็กล่าวถึง     การที่พญามังรายแย่งชิงเมืองจากชาวลัวะได้สำเร็จและได้สาปแช่งไม่ให้ชาวลัวะอยู่ในที่ ๆ          ได้ยินเสียงกบเสียงเขียด  นั่นก็หมายถึงพื้นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ[๗] ชาวลัวะเล่าสืบต่อ   กันมาว่าพวกเขาได้อพยพมายังพื้นที่ภูดอยด้านทิศตะวันตกของอาณาจักรล้านนา[๘] คือ พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน โดยมากันเป็นกลุ่มเครือญาติกลุ่มละ ๕-๑๐ ครอบครัว  เริ่มมาตั้ง ถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกอกหลวง อำเภอแม่ลาน้อย และบ้านช่างหม้อ อำเภอแม่สะเรียง แม้ชาวบ้าน   จะแยกชุมชนเป็นสองหมู่บ้านแต่ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด  ได้ไปมาหาสู่และแต่งงานระหว่างหมู่บ้านจนมีประชากรเพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่อยู่อาศัยและทำกินไม่เพียงพอ นำไปสู่การอพยพหา        ที่อยู่ใหม่  ชาวลัวะบ้านกอกหลวงนำโดยกลุ่มยวงสะเมียงและยวงดอยปรองได้พาลูกหลานไป    ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดอยหลวง (โกล๊จักร)  ปัจจุบันเป็นบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านแม่งะ อำเภอ  แม่ลาน้อย  การศึกษาในพื้นที่นี้ได้พบเครื่องใช้ไม้สอยแบบโบราณและสุสานชาวลัวะแสดงถึง   การตั้งถิ่นฐานของชาวลัวะมาตั้งอดีต  ส่วนชาวลัวะบ้านช่างหม้อได้ย้ายขึ้นมาทางเหนือใกล้ ๆ   กับดอยหลวง  กลุ่มนี้นำโดยยวงมอร์และยวงเง 

ในพื้นที่ใหม่นี้ชาวลัวะทั้งสองกลุ่มยังธำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดังเดิม  ชาวลัวะอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้อย่างสงบสุขเป็นเวลาประมาณ ๑๐๐ปี  ก็ต้องอพยพอีกครั้งหนึ่ง  เนื่องจากปัญหาโรคระบาดรุนแรง  ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  สภาพความเป็นอยู่ฝืดเคือง    ถูกซ้ำเติมด้วยโจรผู้ร้ายที่เข้ามาปล้นชิงทรัพย์ในหมู่บ้าน  ทำให้ผู้นำหมู่บ้านทั้งสองต้องพาลูกบ้านอพยพอีกครั้งเพื่อหาที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์  ได้เดินทางมาทางทิศตะวันออก      ห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ ๔ กิโลเมตร  กลุ่มยวงสะเมียงและยวงดอยปรองตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงดอยโกรงระ ในขณะที่กลุ่มสะมังตั้งอยู่บริเวณดอยโมซัมเปียงซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน  ละอูบในปัจจุบัน  ทั้งสองหมู่บ้านห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตรแต่ก็มีความสัมพันธ์ติดต่อกันเช่นเดิม  แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  ผู้นำหมู่บ้านเกรงภัยสงครามจึงพาชาวบ้านอพยพจากบริเวณเชิงเขาขึ้นไปอยู่บนดอยโมซัมเปียง  ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเรียกว่า ยวงละเอิ๊ก 

บ้านยวงละเอิ๊กนี้ต่อมาเรียกว่า บ้านละอูบ  โดยมีเรื่องราวเล่ากันว่า มีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจากไปโดยลืมผอบ หรืออูบเงินที่สวยงามไว้ จึงเรียกหมู่บ้านว่า         บ้านละอูบ  เช่นเดียวกับบ้านดงที่มีคนแปลกหน้าลืมกระด้งเอาไว้  ชาวบ้านเรียกหมู่บ้านละด้ง  ภายหลังกร่อนเป็นบ้านดง[๙]

 วิถีชีวิตของชาวลัวะ

ชาวลัวะดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และเก็บหาของป่า  แม้จะตั้งถิ่นฐานบนที่สูงห่างไกลจากชุมชนเมือง  แต่ชาวลัวะก็มีความสัมพันธ์กับเมืองและรัฐมาตั้งแต่อดีต        ด้วยการเป็นไพร่ส่วยที่ส่งของป่า เช่น เอื้องแซะ หรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กให้กับเจ้านาย           ในระดับล่างลัวะมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนพื้นราบมาโดยตลอด  ในอดีตชาวลัวะ       ตั้งชุมชนหมู่บ้านของตนเองไม่ค่อยอยู่ปะปนกับคนอื่น ๆ  ลักษณะบ้านเรือนของชาวลัวะเป็น    บ้านยกพื้นสูงมีใต้ถุนสูงประมาณ ๒-๒.๕ เมตร  เพื่อไว้เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรและ   ในครัวเรือน กองฟืน  มีคอกสำหรับวัวควายและหมูอยู่ใต้ถุน บริเวณชายคาที่ติดกับทางเดินจะมีครกกระเดื่องไว้ตำข้าว  วัสดุก่อสร้างผสมระหว่างไม้เนื้อแข็งที่มักใช้ทำเสาเรือน ขื่อและคาน  ไม้ไผ่ใช้ปูพื้นหรือทำฝา หลังคาทำด้วยใบคาคลุมลงมาเกือบถึงพื้นเพื่อกันลมและอากาศหนาวใน       ฤดูหนาว มีหน้าจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักอย่างสวยงามเรียกว่า กาแล ในการปลูกเรือนนี้ลัวะ       มีธรรมเนียมว่าจะต้องไม่ปลูกให้หลังคาเป็นแนวตะวันออก-ตะวันตก  จะต้องเป็นแนวเหนือ-ใต้   ให้พระอาทิตย์ข้ามหลังคา ขึ้นบันไดไปจะถึงชานบ้านที่ใช้ประโยชน์หลายอย่าง บ้านมีเพียง      ห้องเดียว มีประตูปิดมิดชิด  มีเตาไฟอยู่กลางห้อง  ใช้เป็นห้องนอน ห้องครัว ห้องอาหารและห้องรับแขก  พ่อแม่จะนอนใกล้เสาเอกซึ่งมีเครื่องเลี้ยงผีแขวนไว้  ลูกๆนอนอีกด้านหนึ่งของเตาไฟ  หากลูกชายแต่งงานก็จะกั้นห้องด้วยแผงเตี้ย ๆ และสร้างเตาไฟใหม่ขึ้นอีกหนึ่งเตา หากลูกชาย   อีกคนแต่งงานก็จะต้องสร้างเตาไว้ที่นอกชานอีกเตาหนึ่ง[๑๐]

 

 

เดิมชาวลัวะทำไร่หมุนเวียน ทำนาบ้างไม่มากนักเพราะสภาพพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน  เป็นหุบห้วย มีพื้นที่ราบไม่มากนัก หาอาหารเสริมด้วยการเก็บหาของป่า เก็บฟืน และปลูกผัก   สวนครัวในบริเวณบ้าน  ชาวลัวะทำงานทั้งหญิงและชาย  ผู้หญิงมักทำสวนผัก เลี้ยงลูก ทำอาหาร ดูแลบ้าน ทอผ้าและเก็บฟืน ในขณะที่ผู้ชายออกป่าล่าสัตว์ ดูแลวัวควาย ทำเครื่องจักสาน เช่น กระบุงสานตาถี่สำหรับใส่สิ่งของเรียกว่า แปม  กระบุงสานตาห่างใช้ใส่ฟืนเรียกว่า ก๊อก และซองสานใส่มีดหรือใส่ปลาเหน็บไว้ที่เอวเรียกว่า กองพา แต่ละวันนั้นผ่านไปอย่างเรียบง่าย    ด้วยการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ ในฤดูเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวทุกคนจะไปทำงานในไร่ เสร็จงานพักผ่อนที่บ้าน หรือออกไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน นั่งคุยกันล้อมเตาไฟในฤดูหนาว          หรือนั่งเล่นที่ชานบ้านด้วยกันยามเย็นในฤดูร้อน ทุกคนรู้จักกันและกันอย่างดี ถือเป็นหน้าที่          ที่จะต้องเข้าร่วมพิธีกรรมและกิจกรรมของชุมชน  วิถีชีวิตแบบเดิมเป็นวิถีชีวิตแบบพึ่งตนเองและ   มีความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแน่นแฟ้น  มีรายจ่ายน้อยเพราะอยู่ห่างไกลจากตลาดและไม่ได้มีการผลิตเพื่อขาย(ต่อในcomment2) 

คำสำคัญ (Tags): #ลัวะ#วัฒนธรรม#ไท
หมายเลขบันทึก: 200220เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สนใจเรื่องวัฒนธรรมของชาวไทลัวะครับ
  • มีเรื่องหลายประเด็นที่น่าสนใจ
  • มีรูปชาวลัวะ
  • ให้ดูไหมครับอาจารย์
  • ขอบคุณมากครับ

ปัจจุบันทั้งสองหมู่บ้านเป็นพื้นที่ในโครงการพัฒนาของโครงการหลวงวิถีชีวิตของชาวบ้านจึงเปลี่ยนเป็นการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนเพื่อกินเอง ส่วนใหญ่ปลูกกะหล่ำเพื่อขาย ปลูกเสาวรส ฟักทองและพืชอื่น ๆ ที่โครงการหลวงรับซื้อ และผลิตหัตถกรรมเพื่อขาย ปฏิทินชีวิตของชาวลัวะเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องดูแลไร่และสะพายก๊อก (กระบุงสานตาห่าง ๆ ) ไปเก็บฟืนจากป่าในตอนเช้าเพื่อเก็บไว้ใช้หุงหาอาหาร มาเป็นการรดน้ำและดูแลสวนกะหล่ำปลี ตัดกะหล่ำปลี ไปส่งตลาด ซื้อของใช้และอาหารการกินจากตลาด การมีไฟฟ้าใช้และสามารถเดินทางเข้าเมือง ได้สะดวกทำให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิต ชาวลัวะที่บ้านดงและบ้านละอูบได้ปรับเปลี่ยนการแต่งกาย นิสัยการบริโภคอาหาร ลักษณะบ้านเรือนไปเหมือนกับ คนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ มีตู้เย็น วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพราะ มีไฟฟ้าใช้ จากการที่เริ่มมีการทำงานรับจ้างและการเพาะปลูกเพื่อการค้าทำให้มีเงินที่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ

๑.๓ จารีตประเพณีและคติความเชื่อของชาวลัวะ

ชาวลัวะเป็นกลุ่มชนที่ยึดถือในจารีตประเพณีของตนมาแต่ดั้งเดิม ดังปรากฏ เรื่องเล่าที่สะท้อนถึงความสำคัญของจารีตประเพณีว่า ชาวลัวะแต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำ สาละวิน (น้ำคง) มีก้อนหินใหญ่สามีภรรยาสองก้อนเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลัวะเคารพบูชา ได้ทำพิธีเซ่นไหว้อย่างสม่ำเสมอ อยู่มาลูกหลานชาวลัวะได้ละเลยพิธีกรรมของตนเอง ทำให้ ก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ไม่พอใจจึงไล่ทับพวกลัวะตายเป็นอันมาก ทำให้ลัวะต้องอพยพหนีจากถิ่นที่อยู่ของตนไปทางตะวันออก แต่ก้อนหินก็ไม่ยอมลดละ ยังกลิ้งตามหาเพื่อจะฆ่าลัวะให้สิ้นซาก จนกระทั่งก้อนหินมาพบกับนกกระตั้วหัวขาวซึ่งต้องการช่วยเหลือพวกลัวะ จึงได้หลอกก้อนหินว่า ไม่มีพวกลัวะอีกแล้ว ตนเองมีชีวิตอยู่มาจนแก่เฒ่าหัวหงอกขาวเช่นนี้ก็ยังไม่เคยพบลัวะเลย ทำให้ก้อนหินเชื่อและหยุดตามไล่ล่าลัวะ นิทานหินไล่ลัวะนี้เป็นนิทานที่ผู้เฒ่าชาวลัวะเล่าให้ลูกหลานฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้ชาวลัวะละทิ้งจารีตของตนเอง ย้ำว่า “ลัวะลืมฮีต ลัวะฉิบหาย” หรือ “ตัวตายไม่เสียดายเท่าฮีต”

ชาวลัวะเดิมเชื่อถือผี ตั้งแต่ผีพ่อผีแม่ ผีอารักษ์ชุมชนและผีเจ้าที่เจ้าทางต่าง ๆ ต่อมารับเอาพุทธศาสนาแต่ก็ยังคงรักษาคติความเชื่อถือผีร่วมกับความเชื่อพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรและความสงบสุขของชุมชนหมู่บ้าน หอผีหรือเญียะยูจึงเป็นสถานที่สำคัญในหมู่บ้านลัวะ แม้สังคมของชาวลัวะยังเป็นสังคมขั้นพื้นฐานแต่ก็มีการแบ่งชนชั้นในสังคมที่ชัดเจน ในชุมชนหมู่บ้านลัวะจะมีตระกูลสำคัญที่เป็นผู้นำทาง จารีตประเพณีและคติความเชื่อของหมู่บ้าน ตระกูลเหล่านี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลในหมู่บ้านในฐานะที่เป็นผู้สืบทอด”ฮีตลัวะ” มักเป็นตระกูลที่มีที่นาที่ไร่มากและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี

ในบ้านดงมีตระกูลสำคัญอยู่ ๔ ตระกูลด้วยกัน แต่ละตระกูลมีผีประจำตระกูล ได้แก่

๑. ผีตะงอเป็นผีของตระกูลกวนจูยะ

๒. ผีกุมเป็นผีของตระกูลกวนลวด

๓. ผีตาเฆียเป็นผีของตระกูลโกลงปัด

๔. ผีอันญาเป็นผีของตระกูลสะมัง

ในชุมชนลัวะสะมังเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำและประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีศพ ผู้ที่เป็นสะมังจะไม่ไปดูงูเหลือม หากพบเห็นเองไม่เป็นไรแต่หากเรียกให้ไปดูจะไม่ไปเพราะสะมังเป็นเชื้อสายของงูเหลือม นอกจากนี้สะมัง เป็นกลุ่มที่ต้องเลี้ยงผีอาเมียะ คือ คนที่อยู่ตระกูลสะมังแล้วตายผิดปกติ ซึ่งปัจจุบันจะไม่ค่อย ถือกันแล้ว เมียะแปลว่า สับ อาหารที่เลี้ยงผีไม่ว่าจะเป็นหมู หมา หรือ ไก่จะต้องสับก่อนปรุง ให้ผีกินก่อนทั้งสุกและดิบ เลี้ยงใกล้ ๆ กับบ้านของสะมัง

ผู้นำของตระกูลสำคัญในหมู่บ้านที่มีหน้าที่ทำพิธีเลี้ยงผีเรียกว่า ตะปี้ คนเหล่านี้จะไปร่วมพิธีฝังศพไม่ได้ การประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณีของลัวะมีความสำคัญ ชาวลัวะต้องการสืบต่อพิธีกรรมต่อไป เพราะ “...คนในหมู่บ้านเมื่อได้มีประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณีแล้ว รู้สึกสบายใจ เพราะประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน...” ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนลัวะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมอาจทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกหวั่นเกรงและไม่มั่นใจในการดำรงชีวิต ต้องยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนเองไม่คุ้นเคย จึงต้องอาศัยจารีตประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมมาทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย

จารีตประเพณีและคติความเชื่อของชาวลัวะปรากฎอย่างเป็นรูปธรรมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ต้องยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อความสงบเรียบร้อยและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน นอกจากพิธีกรรมก็ยังมีข้อห้ามคำขึดที่ชาวลัวะต้องยึดถือเพื่อความสงบสุขของชุมชนและเพื่อให้ผลการผลิตเลี้ยงดูชุมชนเป็นไปด้วยดี พิธีกรรมของชาวลัวะแบ่งได้เป็นพิธีกรรมของชุมชน พิธีกรรมการผลิตและพิธีกรรมของครอบครัว

๑.๓.๑ พิธีกรรมของชุมชน

ชาวลัวะมีสำนึกในความเป็นชุมชนสูงและมีพิธีกรรมสำคัญ ๆ ที่ย้ำความสำคัญและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนหลายพิธีกรรมด้วยกัน เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านทุกคนต้องมีส่วนร่วม พิธีกรรมของชุมชนเน้นความสงบร่มเย็นของชุมชนหมู่บ้านและการรับรองฐานะความเป็นผู้นำของชุมชนและร้องขอความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมที่สำคัญของชุมชนลัวะบ้านดงและบ้านละอูบ ได้แก่ พิธีตั้งเสาสะก๊างและการเลี้ยงผีสะไปสตะย่วง ซึ่งเป็นผีอารักษ์หมู่บ้าน จะมีการประกอบพิธีตั้งเสาสะก๊างนี้เมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำหมู่บ้าน การทำเสาสะก๊างใหม่ต้องสูงกว่าเสาเดิม ชาวลัวะเชื่อว่าหากทำพิธีนี้แล้วหมู่บ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ชาวบ้านรักใคร่ปรองดองกัน ทำการเพาะปลูกหรือค้าขายก็ได้ผลดี ในพิธีนี้จะต้องมีการทำเสาสะก๊างขึ้นใหม่ ทำหอผีบ้านใหม่ และทำกลองใหม่ เริ่มทำพิธีที่หอผีในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ในโอกาสเดียวกันนี้ก็จะมีพิธี สะเดาะเคราะห์ด้วย ลูกหมูและลูกไก่ นำเอากระดูกเผา สำลี และกระเบื้องแตก ห่อรวมกันครอบครัวละหนึ่งห่อ ทำพิธีใช้เหล้าและน้ำ

ในวันดาชาวบ้านต่างช่วยกันตระเตรียมสิ่งของเพื่อทำพิธี ทำความสะอาดหอผี ผู้หญิงต้องออกไปตัดใบตองมาเตรียมทำพิธี ตอนเย็นประมาณสี่โมงชาวบ้านชายร่วมกันยก เสาสะก๊างขึ้นไว้ ชาวบ้านชายทุกคนจะเอาใบตองมาพันเสาถือว่าจะโชคดี

ในวันทำพิธีตอนเช้าชาวบ้านฆ่าไก่บ้านละหนึ่งตัวเพื่อนำมาร่วมพิธี หนุ่ม ๆ เตรียมสถานที่ทำพิธีที่ภาษาลัวะเรียกว่า ยุง เมื่อหนุ่ม ๆ เตรียมการเสร็จแล้วชาวบ้านจะมารวม ตัวกันหน้าหอผีเพื่อประกอบพิธี เสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน จนกระทั่งเวลาประมาณบ่าย สองโมง ชาวบ้านจะแห่ควายมาทำพิธี มีผู้เฒ่าผู้แก่สวดขอให้หมู่บ้านมีความสงบสุข หลังจากนั้นหนุ่ม ๆ จะเป็นผู้ชำแหละวัวควายที่ใช้ทำพิธี แบ่งเป็นส่วน ๆ ตามจำนวนหลังคาเรือนที่ได้ร่วมพิธี ถึงเวลากลางคืนคนเฒ่าคนแก่จะมารวมตัวกันที่หอผีเพื่อขับซอรอบ ๆ กองไฟ มีการต้มเนื้อ เพื่อรับประทานร่วมกัน เช้าอีกวันหนึ่งคนเฒ่าคนแก่จะห่อข้าวมารับประทานร่วมกันที่หอผี หลังจากนั้นจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยใช้ลูกหมูหนึ่งตัว เหล้าหนึ่งขวด กระดูกเผาบ้านละหนึ่งห่อเล็ก ๆ แต่ละบ้านเอาน้ำมาไว้ที่หอผีหนึ่งขวด เมื่อมารวมตัวกันแล้วก็เอาน้ำเทเข้ากับลูกไก่ เครื่องในหมูและกระดูกเผาเทลงในที่ทำพิธี ผู้ประกอบพิธีในปัจจุบัน คือ นายบุญสม แก่นเจิง และนายพรหม อุดมกิติศักดิ์ ผีสะไปสตะย่วงเป็นผีใหญ่คู่กับเสาสะก๊าง

ตามความเชื่อของลัวะเสาสะก๊างของลัวะมาจากเชียงใหม่ แต่เดิมเสาสะก๊าง อยู่นอกหมู่บ้านทำให้ไม่สะดวกในการทำพิธีเลี้ยงผี ชาวบ้านจึงย้ายมาใกล้หมู่บ้าน ที่บ้านดงมี การตั้งเสาสะก๊างมาแล้วหกครั้ง จึงประมาณการได้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้น่าจะมีอายุประมาณ ๓๐๐ ปี

๑.๓.๒ พิธีกรรมในการผลิต

ตามคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะในช่วงเวลาของการผลิตที่สำคัญ ๆ จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อร้องขอความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการผลิตจากผีที่ดูแลรักษาและคุ้มครองชุมชน ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่เพื่อทำไร่ การปลูก การเก็บเกี่ยวและการนำผลผลิตกลับสู่ครอบครัว ชาวลัวะจะต้องมีการเลี้ยงผีตามจารีตประเพณี การเลี้ยงผีสำคัญ ๆ มักเป็นการเลี้ยงผีในโอกาสของการผลิตเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ การคุ้มครองป้องกัน และขอบคุณหรือ ตอบแทนที่ผีให้ความดูแล แต่ละปีมีพิธีกรรมเลี้ยงผีสำคัญ ๔ พิธี ได้แก่

๑. การเลี้ยงผีตะงอ ทำหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วในระหว่างเดือนตุลาคมถึง เดือนพฤศจิกายน ผู้ทำพิธีในปัจจุบันนี้ คือ นายบุญสม แก่นเจิง ใช้วัวในการทำพิธี

๒. การเลี้ยงผีตะตู หรือ โปรพริ ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการเลี้ยงผีในโอกาสเปิดไร่ ผู้ทำพิธีในปัจจุบันนี้ คือ นายบุญสม แก่นเจิง ใช้หมูขนาดใหญ่ทำพิธี

๓. การเลี้ยงผีจ้ะอาเลี้ยง ทำในเดือนเมษายนหลังจากเผาไร่แล้ว ถือเป็นการเลี้ยงผี คนตายก่อนที่จะเริ่มปลูกนาหรือหว่านไร่ ชาวบ้านจะหาปลาจากลำห้วยมาทำพิธี

๔. นกอามังเมือง ทำในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน เป็นการเลี้ยงผีคนตายเช่นกัน ใช้ควายหรือหมูในการประกอบพิธี

ผีตะงอเป็นผีสำคัญสำหรับชาวลัวะบ้านดง เป็นผีของตระกูลกวนจูยะ เชื่อว่า ผีตะงอมาจากเชียงใหม่เช่นกัน ทุกปีชาวบ้านต้องเลี้ยงผีตะงอ ชาวลัวะเชื่อว่าเป็นผีฟ้าผ่า ที่ผ่าเจดีย์หลวงที่เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของลัวะ เมื่ออพยพไปอยู่ที่อื่นก็นำเอาผีตะงอ ไปด้วย ถือว่าเป็นผีประจำหมู่บ้าน ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนจะปิดหมู่บ้านเลี้ยงผีหลัง จากเกี่ยวข้าวไร่แล้ว ในพิธีนี้ชาวบ้านมีการแห่วัวจากหอผีไปยังสถานที่ประกอบพิธี แต่ละครอบครัวนำไก่ตัวผู้มาร่วมพิธีหนึ่งตัวเพื่อเซ่นไหว้ผีตะงอ มีคนเฒ่าคนแก่ทำหน้าที่ตะปี๊ พ่อบุญสม แก่นเจิง เริ่มทำพิธีเวลาประมาณแปดโมงเช้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว หลังจากฆ่าวัวเสร็จตะปี๊เอาเลือดวัวทาไม้กั้นถนน หลังจากนั้นก็ปิดหมู่บ้านตั้งแต่ประมาณเที่ยงวันไปจนถึงราว ๆสิบเอ็ดโมงของอีกวันหนึ่ง ไม่ให้คนในออกคนนอกเข้า ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อได้ประกอบพิธีแล้วหมู่บ้านจะดีขึ้น ชาวบ้านมีชีวิตสงบสุขและอยู่ดีกินดี เนื่องจากเป็นการเลี้ยงผีหลังจากการ เก็บเกี่ยวผลผลิต จึงเป็นเป็นการเลี้ยงเพื่อขอบคุณผีที่ช่วยดูแลให้การผลิตเป็นไปด้วยดี ลักษณะการเลี้ยงผีและปิดหมู่บ้านเช่นนี้เป็นธรรมเนียมของคนไทกลุ่มต่าง ๆ เช่น ลื้อในสิบสองปันนาในโอกาสการเลี้ยงผีบ้านผีเมือง

พิธีเลี้ยงผีตะตู เป็นพิธีที่ทำก่อนการเปิดพื้นที่ทำไร่ มักทำกันในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนทำพิธีผู้นำจะถามถึงพื้นที่ที่จะทำไร่ให้แน่นอน มีการปรึกษาหารือว่าควรเปิดพื้นที่บริเวณใดและกว้างเท่าใด เพราะจะต้องบอกให้ผีทราบเพื่อผีจะได้คุ้มครองให้ได้ผลผลิตดี เมื่อแจ้งในพิธีนี้แล้วชาวบ้านจะไม่ทำเกินพื้นที่ หากผู้ใดทำเกินกว่าพื้นที่ที่ได้แจ้งผีไว้ก็จะถูกตำหนิติเตียน เพราะเกรงว่าผีจะไม่พอใจและพลอยดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น ในการเลี้ยงผีตะตูมีคำสวด ดังนี้

...ผีตะตูผู้เป็นใหญ่ ตอนนี้ถึงเวลาที่ชาวบ้านจะต้องเปิดพื้นที่ทำไร่ ขอให้ ท่านได้ควบคุมดูแล การฟันไร่ให้ปลอดภัยจากอันตรายที่จะเกิดกับผู้ฟันไร่ เช่น งูกัด มีดบาดมือ เมื่อเผาไร่เสร็จแล้วขอให้คุ้มครองไม่ให้ไฟที่เผาไร่นั้น ลุกลามไปพื้นที่อื่น ให้ไฟเผาอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่ฟันไว้เท่านั้น เมื่อปลูกข้าว แล้วขอให้ต้นข้าวอุดมสมบูรณ์ ไม่ให้มีหญ้ามาปกคลุมต้นข้าว เมื่อข้าวออก รวงก็ให้มีเมล็ดข้าวอุดมสมบูรณ์ ที่สุดนี้ขอให้ผีตะตูผู้เป็นใหญ่ได้ดูแลรักษา ต้นข้าวและคุ้มครองผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ปลูกข้าวด้วยเทอญ...

พิธีเลี้ยงผีตะตูหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพิธีโปฮพริจะมีการเลี้ยงผีร่วมกันใน เวลาเช้า พ่อหลวงบุญสม แก่นเจิงเป็นผู้ประกอบพิธี ในตอนเช้าแต่ละครอบครัวจะนำไก่ตัวเล็ก ๆและข้าวเหนียวไปรวมกันในบริเวณที่ทำพิธี พ่อหลวงบุญสมจะประกาศถามและปรึกษาหารือถึงการกำหนดพื้นที่ในการทำไร่แล้วเริ่มสวด หลังจากนั้นก็เอาบิเอาชิ้นส่วนของไก่จากชาวบ้าน มารวมกันเพื่อถวายแก่ผี หลังจากนั้นบรรดาหนุ่ม ๆ จะต้อนหมูเอาที่บริเวณนั้นแล้วฆ่าหมูเพื่อ เลี้ยงผี เนื้อหมูจะแบ่งเป็นส่วน ๆ ให้แก่ชาวบ้านทุกครัวเรือนที่มาร่วมพิธี ในโอกาสนี้จะมีการให้เนื้อหมูแก่เด็กหนุ่มสาวที่วัยย่างเข้าเป็นผู้ใหญ่ ใครที่ได้รับเนื้อหมูในโอกาสนี้ถือว่าได้เข้าเป็น ส่วนหนึ่งของชุมชน หากมีงานใด ๆ ของชุมชนจะต้องมาร่วมกันทำงาน แสดงถึงการรับเข้าเป็นสมาชิกของชุมชน ผู้ที่ได้รับเนื้อหมูแล้วเท่านั้นจะสามารถเข้าไปในกลุ่มของหนุ่มสาวและแต่งงานได้

ก่อนที่จะเผาป่าทำไร่แต่ละครอบครัวจะเอาไก่มัดคอแขวนไว้กับไม้ปักไว้ที่นา เป็นการเลี้ยงผีเพื่อให้ช่วยดูแลไม่ให้ไฟที่เผาไร่ลามไปที่อื่น ในระหว่างที่เผาไร่จะต้องพูดแต่คำดี ๆ ไม่พูดคำหยาบคายในพื้นที่ทำไร่ ในเดือนเมษายนเริ่มการปลูกไร่ ชาวลัวะจะเริ่มด้วยการใช้ เสียมคุ้ยดินเอาเมล็ดข้าวหยอดแล้วกลบเอาใบไม้วางไว้แล้วกล่าวขอผีคุ้มครองไม่ให้นกหนู มารบกวน เมื่อปลูกข้าวแล้วในไร่มีหญ้าก็ต้องถางหญ้า แต่ในครั้งแรกต้องเลี้ยงผีเจ้าที่ด้วยไก่ เหล้าและข้าวในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จนกระทั่งข้าวไร่เติบโตออกรวงสีทองอร่าม ชาวลัวะต้องเตรียมตัวเกี่ยวข้าวในไร่ของตนเอง เกี่ยวข้าวเสร็จก็ต้องเรียกขวัญข้าวด้วยไก่ ข้าวและเหล้า ทำในที่ไร่ของใครของมัน หลังจากเกี่ยวข้าวแล้วก่อนการตีข้าวต้องเรียกขวัญข้าว ลัวะเรียกว่า “กอกละปุ” ต้องใช้ตาแหลว ซึ่งลัวะเรียกว่า “ตะเลีย” ไก่ เหล้าและข้าวอีกเช่นกัน หลังจากนั้นก็ตีข้าว ก่อนการตีข้าวจะต้องเลี้ยงผีซะเอ้า คือ ผีที่ตายผิดปกติ ตีข้าวเสร็จจะขนข้าวเข้ายุ้งต้องเรียกขวัญข้าวและขวัญคนให้กลับบ้านพร้อมกัน หลังจากนั้นก็ขนข้าวกลับมาใส่ยุ้งฉาง

ในโอกาสการเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวลัวะมีการกินข้าวใหม่ มีธรรมเนียมว่าห้ามคนนอกกินข้าวใหม่นั้น และไก่ที่ใช้เรียกขวัญก็ห้ามให้คนอื่นกิน ต้องให้เจ้าบ้านเจ้าไร่กินก่อน ในพิธีกินข้าวใหม่ต้องมีการเลี้ยงผีละมางซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษในเดือนพฤศจิกายนก่อนที่จะเลี้ยง ผีตะงอ อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงผีละมาง คือ ปลาที่จับจากลำห้วย ข้าวนึ่งสุกใหม่ ๆ และดอกไม้ป่า ห้ามใช้หมูเลี้ยงผีละมาง หลังจากนั้นมีการเรียกขวัญข้าวและขวัญเจ้าข้าว

ชาวลัวะเชื่อว่าการทำไร่และได้รับผลผลิตข้าวไร่หมายถึงการพออยู่พอกิน ชาวลัวะจึงพยายามที่จะทำไร่ด้วยตนเอง ไม่นิยมเช่าไร่ของผู้อื่น ค่านิยมเช่นนี้สะท้อนถึง ความผูกพันกับจารีตวิถีชีวิตดั้งเดิม นอกจากนี้ชาวลัวะพบว่าข้าวไร่เมื่อสีแล้วได้ปริมาณมากกว่าข้าวนา

พิธีเลี้ยงผีละมัง เป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษในเดือนเมษายนก่อนปลูกนา ใช้ควายสลับกับหมู ปัจจุบันนายพรหม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่มาจากตระกูลกวนลวดเป็นผู้ทำพิธี เป็นจารีตสำคัญ ถือว่าเป็น “ฮีตใหญ่”

เมื่อจะเริ่มทำไร่แต่ละครอบครัวจะเลี้ยงผีเจ้าที่ในไร่นาของตนเอง เป็นพิธีเฉพาะครัวเรือนแต่ละครอบครัวทำเอง ชาวบ้านดงทำไร่มากกว่าทำนา แต่ก่อนนั้นทำไร่แต่เพียง อย่างเดียว ไร่ข้าวทำแบบหมุนเวียนเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละตระกูล ในการผลิตชาวลัวะมีการ เอามื้อเอาวัน หรือ“เฮอวรามิ๊” โดยเจ้าของไร่ไปแจ้งให้เพื่อนบ้านหรือญาติมาช่วยทำงานแล้วมี การตอบแทนกัน ปกติไม่มีการจ้างเพราะไม่มีคนรับจ้างในหมู่บ้าน มักจะมีกลุ่มเอามื้อเอาวัน ในการผลิตประมาณ ๑๐ ครอบครัวที่เป็นเครือข่ายแรงงานกัน

ที่บ้านดงมีข้อห้ามสำหรับการผลิต คือ ไม่ให้ถอดเสื้อผ้าในป่าหรือบริเวณหอผี แต่หากมีปัญหาฝนฟ้าไม่ตก ชาวลัวะแต่เดิมจะมีการขอฝนด้วยการให้ชายหญิงไปถอดเสื้อในป่าแล้วจับกบมาสักหมึกเพื่อให้ฝนตก มีการขอสุมาผีตะงอซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน ผีอันยา ผีกุ่มและผีตะเฆีย ใช้หมูสี่ตัวโดยมีพ่อเฒ่าบุญสม แก่นเจิง และคนเฒ่าคนแก่อีกสี่คนเป็นผู้ประกอบพิธี

ชาวลัวะมีคำกล่าวขอฟ้าขอฝนว่า

...ขอฝนตกโปรยปราย ฝนโปรยปราย จะเลี้ยงดู จะเลี้ยงให้อิ่ม จะเลี้ยงด้วยแม่ควายตัวใหญ่ ตัวดี ตัวงาม ขอฝนตก ฝนโปรยปราย น้ำให้ไหลทุกลำคลอง น้ำนองเต็มตลิ่ง ดินอย่าทรุด สะพานอย่าขาด บ้านเมืองอยู่ดีกินดี สบายดีมีสุข...

๑.๔ พิธีกรรมของครอบครัว

พิธีกรรมสำคัญในชีวิตของชาวลัวะมีหลายพิธี ได้แก่ การเลี้ยงผีละมาง การขึ้นเรือนใหม่ การแต่งงาน และงานศพ แม้จะเป็นพิธีของครอบครัวแต่ชาวบ้านจะมีส่วนร่วม ในงานอย่างแข็งขัน

๑.๔.๑ พิธีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ

การเลี้ยงผีละมางนี้ชาวบ้านเชื่อว่าจะทำให้ผีช่วยดูแลคุ้มครองคนในครอบครัวและสัตว์เลี้ยง ทำให้การเพาะปลูกได้ผลดี การเลี้ยงผีละมางในเวลากินข้าวใหม่เป็นการขอบคุณผีที่ช่วยให้ได้ผลผลิตเพื่อเลี้ยงครอบครัว การเลี้ยงผีบรรพบุรุษนี้ทำในโอกาสสำคัญของครอบครัว ทุกโอกาส

๑.๔.๒ พิธีขึ้นเรือนใหม่

การขึ้นเรือนใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวลัวะ ถือเป็นงานมงคล ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามจารีตประเพณีที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม เจ้าของเรือนจะเตรียมของใหม่มา ทำพิธี เช่น สานตะกร้าเพื่อใส่ข้าวเปลือกใหม่ เจ้าของเรือนใหม่จะแจ้งนำเนื้อชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งกับเหล้าหนึ่งขวดไปแจ้งให้พ่อหลวง เพื่อให้สวดอวยพร และเพื่อที่พ่อหลวงจะได้ประกาศให้ชาวบ้านทราบ มีกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านไปทำพิธีให้ ผู้ที่เป็นผู้นำในพิธีขึ้นเรือนใหม่ของบ้านดงได้แก่ นายพรหม นายทูน และนายคำ ก่อนจะทำพิธีผู้อาวุโสที่เป็นผู้หญิงจะกวาดเรือนด้วยใบขนุน หลังจากนั้นเจ้าของบ้านนำเอาสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนได้แก่ ข้าวเปลือกใส่กระบุง เกลือ ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา และเกลือหนึ่งถุง รวมทั้งสิ่งของที่ใช้ในครัวเรือน มีการสวดอยู่บริเวณบันไดขึ้นบ้านก่อนที่จะนำสิ่งของขึ้นไปโดยผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้นำขึ้นไป เอาของต่าง ๆ ไปวางไว้ที่ โคนเสาเอก เสาเอกนี้อยู่บริเวณหัวนอนของพ่อแม่หรือผู้อาวุโสที่สุดในครอบครอบ มัดที่หัวเสาด้วยเชือกและกรวยดอกไม้ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่สวดและรินเหล้าเลี้ยงผีพร้อมอาหาร หลังจากนั้น คนเฒ่าแต่ละคนก็จะสวดอวยพรแล้วดื่มเหล้า หลังจากนั้นจะไหว้เสาเรือนสี่เสา เอาตอกไผ่มาทำตาแหลวผูกติดที่หัวเสาเรือนสี่เสา เชือดคอไก่เอาเลือดทาเสาทั้งสี่แล้วเอาขนไก่ติดไว้กับตาแหลว มีการสะเดาะเคราะห์ด้วยลูกหมูดำและลูกไก่บริเวณเสาใกล้บันได บนเรือนมีการไหว้ผีเตาไฟ เอาเนื้อไก่ไปเลี้ยงผีสี่มุมของเตาไฟ

ในโอกาสงานขึ้นเรือนใหม่นี้ชาวลัวะห้ามพูดคำที่ใช้ในการสะเดาะเคราะห์และงานศพ คำกล่าวในงานขึ้นบ้านใหม่มีดังนี้

...ขึ้นบ้านใหม่หลังนี้แล้ว คนทุกคนในบ้านให้อยู่ดีมีสุข ไม่มีโรคาพยาธิ รบกวน ให้คนในบ้านอยู่สุขสบาย ไม่มีภัยอันตราย คิดสิ่งใดให้ได้สิ่งนั้น ไม่รอดพ้นจากสิ่งไม่ดีไม่งาม ไม่ให้มีในบ้านหลังนี้ ให้พบแต่สิ่งดี ๆ และ เจริญก้าวหน้าต่อไป...

ในงานขึ้นบ้านใหม่คนเฒ่าคนแก่จะมาซอเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่บ้านนั้น คำซอ มีเนื้อความดังนี้

...มีบ้านใหญ่ บ้านโต ร่าเริงบันเทิงดี มีรายได้ มีเงินมีทอง ทำอะไร เลี้ยงอะไรก็ให้แพร่พันธุ์ มีข้าวเหลือกิน มีแกลบเหลือใช้ เลี้ยงหมูให้ ลูกดก เลี้ยงไก่ให้ลูกดก มีวัวมัดไว้ทุกเสาบ้าน มัดควายไว้ทุกเสาบ้าน เงินหมื่นไม่ขาดมือ...

ชาวบ้านจะมาร่วมงานขึ้นบ้านใหม่และมีเงินมาร่วม เจ้าของบ้านต้องจดเอาไว้ว่าใครให้เท่าใดเพื่อที่จะตอบแทนในโอกาสข้างหน้า หลังจากร่วมรับประทานอาหารเล็กน้อยแล้วเจ้าของบ้านจะห่อเนื้อให้นำกลับไปที่บ้านด้วย

๑.๔.๓ พิธีแต่งงาน

การแต่งงานเป็นการเริ่มต้นช่วงชีวิตที่สำคัญของชาวลัวะ จึงต้องทำตาม จารีตประเพณีตั้งแต่การสู่ขอและพิธีแต่งงาน สำหรับชาวลัวะกลุ่มบ้านดงนี้การแต่งงานเป็น การแต่งเข้าบ้านผู้ชายต่างจากกลุ่มอื่นที่เป็นการ “ขึ้นเขย”

วันก่อนแต่งงานในสมัยก่อนเวลาเช้ามืดเวลาไก่ขัน ฝ่ายชายจะพา”เจ้าหมู่” มาฉุดฝ่ายหญิงออกจากบ้าน เจ้าบ่าวต้องฉวยเอาผ้าห่มของเจ้าสาวไปด้วย พาไปพักที่บ้านญาติของเจ้าบ่าว หลังจากนั้นพ่อแม่เจ้าบ่าวเตรียมคนเฒ่าคนแก่ไว้ ๔-๕ คน เพื่อจะเอาเหล้าไปขอสุมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่บ้านฝ่ายหญิงและสู่ขอ คนเฒ่าคนแก่ฝ่ายชายจะมาสวดขอลูกสาวและถาม พ่อแม่ฝ่ายหญิงว่าจะให้หรือไม่ มีคำกล่าวสุมาโดยสรุป

...วันนี้ก็ขอสุมาพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เนื่องจากหนุ่มสาวทั้งสอง รักใคร่กัน จึงเห็นสมควรจะตกลงให้ทั้งคู่ได้เป็นฝั่งเป็นฝา ไม่ใช่ว่า ไม่นับถือกัน แต่ก็อยากให้ทั้งสองได้แต่งงานอยู่ร่วมกันเป็นสามี ภรรยาตามประเพณีชาวลัวะ...

สิ่งที่นำมาขอสุมาที่บ้านฝ่ายหญิง คือ น้ำขมิ้น ส้มป่อย และของที่จะใช้ดำหัว พ่อแม่ของฝ่ายหญิงได้แก่ ผ้าห่มผ้านวม ผ้าขาวม้าและสิ่งของอื่น ๆ สิ่งสำคัญ คือ หมูซึ่งจะใช้ ทำพิธีสุมาพ่อแม่และญาติของฝ่ายหญิงและขอสุมาให้กับบ้านเมืองตามประเพณีของชาวลัวะ ฝ่ายชายต้องเตรียมเงินเจียงสำหรับขอเจ้าสาวและเตรียมผ้าตวนหนึ่งผืนพร้อมกับเงินแถบจำนวนสองแถบมอบให้ตายายของเจ้าสาว คนเฒ่าคนแก่ทั้งสองฝ่ายนั่งตรงข้ามกันพูดคุยตกลงกัน จนเข้าใจดี เมื่อสวดพร้อมใจกันแล้วก็เทเหล้าหนึ่งครั้ง หากตกลงก็เทเหล้าอีกหนึ่งครั้ง เมื่อตกลงกันได้ก็จะมีการขอสุมาและมัดมือดำหัวพ่อแม่เจ้าสาว แม่เจ้าสาวเตรียมถุงย่ามใส่แอบไม้ไผ่ใส่ ใบพลู ปูน หมาก และยาสูบเพื่อให้เจ้าสาวนำย่ามนี้ไปเยี่ยมเยียนบ้านญาติของตนในวันดำหัว ในวันสุมาเจ้าสาวอยู่ที่บ้านญาติยังไม่ให้ขึ้นเรือนเจ้าบ่าว

หลังจากทำพิธีสุมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายนัดวันแต่งงานโดยกำหนดเอาวันที่เหมาะสมเลือกวันดีเพื่อจัดงานแต่งงาน มักใช้เวลานานเพราะต้องตระเตรียมต้มเหล้าและเชิญญาติพี่น้องให้ทั่วถึง ก่อนวันแต่งงานผู้นำทางพิธีกรรมของหมู่บ้านต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์เมืองเพื่อให้ ผีเมืองรับรู้ว่าได้มีครอบครัวใหม่ในชุมชนแล้ว ในวันแต่งงานตอนสายประมาณ ๙ นาฬิกา ฝ่ายเจ้าบ่าวเตรียมหมูขนาดข้อเท้าสามกำมือ ข้าว เหล้า เงินแถบ เงินเจียง และผ้าที่จะใช้ในงาน ไปไว้ที่บ้านเจ้าสาว ตามธรรมเนียมของชาวลัวะที่สืบทอดมาและยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน คือ เงินสินสอดเป็นต้องเป็นเงินแท่งหรือเงินเจียง ชาวลัวะถือว่าต้องใช้เงินเจียงสำหรับการสู่ขอ เงินเจียงเป็นเงินโบราณที่ใช้ในล้านนา ปัจจุบันหายากและมีราคาแพง หากไม่มีก็ต้องไปเช่ามาให้ชั่วคราวแล้วขอแลกด้วยเงินปัจจุบัน

ในพิธีแต่งงานฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมหมากพลู เหล้า เทียนหนึ่งคู่ และกรวยดอกไม้พร้อมกับไก่ตัวเล็ก ๆ เสร็จพิธีนำเหล้าที่สวดแล้วไปไหว้ผีละมัง และพ่อแม่ ในตอนนี้จะมีการ ให้เงินแก่พ่อแม่ของเจ้าสาว มีการมัดมือโดยจะมัดมือพ่อแม่ พี่ชาย น้องชายจะต้องให้หมูทุกคน เวลาประมาณ ๙ นาฬิกาเจ้าบ่าวจะส่งญาติผู้หญิงมารับเจ้าสาวมาถึงเรือนของตนเอง โดยมีขบวนญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวนำเครื่องใช้และเสื้อของเจ้าสาวไปส่งด้วย ที่บ้านเจ้าบ่าวเตรียมทำบันได ไม้ไผ่เป็นพิเศษ เมื่อเจ้าสาวไปถึงบ้านเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจะลงมารับเจ้าสาวขึ้นไปบนเรือน ที่หัวบันไดมีไม้ไผ่ขวางอยู่ มีไก่ผูกไว้หนึ่งตัว เชื่อกันว่าหากเจ้าสาวยังบริสุทธิ์จะข้ามไม้ไผ่ที่ขวาง ไว้ได้ แต่หากเคยได้เสียกันแล้วหรือกำลังท้อง ผีจะลงโทษทำให้ลูกที่เกิดมามีรอยขีดบนใบหน้า

ชาวลัวะยึดถือจารีตเคร่งครัด ไม่ยอมรับการได้เสียก่อนการแต่งงาน ผู้หญิงที่ ตั้งท้องโดยไม่มีสามีจะถูกปรับ ๑๒ แถบหรือ ๑,๒๐๐ บาท มีการทำพิธีขอขมาผีหน้าบ้านผู้หญิง โดยคนเฒ่าคนแก่ตัดไม้ไผ่กว้างหนึ่งเมตรยาวหนึ่งเมตร (ลัวะเรียกว่า ฆรัง) พ่อหลวงประกาศ ให้ชาวบ้านมาดูพิธีลงโทษผู้กระทำผิด ให้ผู้หญิงคนนั้นยืนบนฆรัง ชาวบ้านห่อกระดูกเผาบ้าน ละห่อเล็ก ๆ ครอบครัวของผู้หญิงต้องหาหมาดำหนึ่งตัว ลูกไก่ดำหนึ่งตัวเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ คนแก่คนเฒ่าจะสวดให้ พ่อหลวงจะประกาศตักเตือนห้ามคนอื่นทำตาม

ในกรณีของการคบชู้ คนที่เป็นชู้จะถูกปรับต้องเสียหมูตัวใหญ่หนึ่งตัว ให้คนเฒ่าคนแก่มาทำพิธีที่บ้านคนนั้น และเลี้ยงอาหารผู้ประกอบพิธี คนที่ร่วมรับประทานอาหาร จะรับประทานอย่างมูมมามน่าเกลียด ทำอาหารตกหล่นเรี่ยราด รับประทานเสร็จก่อนลงจากบ้านจะเอามีดฟันหัวบันไดคนละสามที ตอนเย็นมีพิธีสะเดาะเคราะห์โดยคนทั้งสองต้องเอาหมาดำหนึ่งตัวและลูกไก่ดำหนึ่งตัวมาเลี้ยงผี ส่วนชาวบ้านเอากระดูกเผาไฟหนึ่งห่อมาร่วมพิธี

เจ้าสาวลัวะต้องเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมแต่งงาน ชุดแต่งงานของเจ้าสาวเป็นเสื้อ สีขาวที่สวมใส่ทั่วไปแต่จะต้องสวมเสื้อสีดำทับ มีผ้าพันแขน ผ้าพันน่องสีดำหรือน้ำเงินย้อม ด้วยใบห้อม มีผ้าคลุมหน้าด้วยผ้าสีขาว มีคนเฒ่าคนแก่จูงขึ้นเรือน เจ้าบ่าวสวมกางเกงและ เสื้อสีขาว มีผ้าขาวผูกเอว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวแล้วเจ้าสาวจะถอดเสื้อสีดำออก เช้าวันแต่งงานจะมีการสวดเพื่อแจ้งแก่ผีบรรพบุรุษที่เสาเอกหลังจากไปรับเจ้าสาวมาแล้วใช้เหล้าหนึ่งขวดและ กรวยดอกไม้ คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านประมาณยี่สิบกว่าคนมาร่วมพิธีสวดให้อยู่ดีมีความสุข มีคำกล่าวในงานแต่งงานเพื่ออวยให้คู่บ่าวสาว ว่า

...เมื่อทั้งคู่ตกลงใจแต่งงานกันแล้ว ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาว่าจะรัก ใคร่กันจนชั่วชีวิต ความรักไม่จืดจาง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความ เชื่อมั่นกัน ซื่อสัตย์ อดทน ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิดูแลความรักของทั้งสองให้ ยืนนาน...

หลังจากนั้นตอนเที่ยงมีการรวบรวมเงินเพื่อช่วยงาน ในงานแต่งงานห้ามพูด คำหยาบคาย ห้ามสาปแช่งผู้อื่น และห้ามพูดคำที่พูดในงานศพ มีการซอในงานแต่งงาน มีเนื้อความว่า

...ยามเห็นเธอดี อยากได้เพราะพันธุ์ดี อยากได้เพราะสายพันธุ์ดี เชื้อสายพันธุ์ดีมีแต่คนชื่นชมทุกแห่งหน ต้นไม้ดีให้ผลดีทุกต้น เหมือนได้เมียดีมาร่วมชีวี...

ตอนบ่ายญาติฝ่ายเจ้าสาวจะเอาย่ามทอแบบดั้งเดิมใส่หมอน สิ่งของและเงินบุญหรือเงินที่จะให้แก่เจ้าสาวมาให้เจ้าสาว ญาติผู้ใหญ่จะให้น้องชายเอาถุงใส่เงินใบเล็ก ๆ ใส่เงินบุญมาให้เจ้าสาว บางครั้งเรียกว่า “เงินบุญพ่อแม่” แม่อาจจะทอผ้าตวนให้ลูกสาวที่แต่งงานออกไป ในโอกาสนี้จะต้องนำเอาผ้าตวนไปให้แก่ยายของเจ้าสาวด้วย

ผ้าตวนเป็นผ้าที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวลัวะ ใช้ทั้งในงานมงคลและอวมงคล ผู้หญิงชาวลัวะต้องเรียนรู้การทอผ้าตวน ต้องทอและสามารถเก็บลาย ได้ด้วยตนเอง หากทอไม่ได้ก็หมายถึงว่าความสามารถด้อยกว่าผู้หญิงคนอื่น ๆ เป็นธรรมเนียมว่าผู้หญิงลัวะจะต้องเริ่มทอผ้าตวนตั้งแต่ยังเป็นสาวโสด เพราะถือว่าเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ หากทอหลังจากแต่งงานเป็นการ “ผิดผี” ก่อนแต่งงานผู้หญิงลัวะจะทอผ้าตวนสองผืน นำไปให้ตายายหนึ่งผืนในตอนแต่งงาน แล้วนำติดตัวไปบ้านสามีอีกหนึ่งผืน นอกจากงานแต่งงานแล้วชาวลัวะ ยังใช้ผ้าตวนในงานศพ เมื่อมีคนตายในบ้านก็ต้องเอาผ้าตวนหนึ่งผืนคลุมศพ

๑.๔.๔ พิธีเกิด

เมื่อผู้หญิงเริ่มท้อง ชาวลัวะมีข้อห้ามไม่ให้ทอผ้าเพราะกลัวจะเกิดลูกยาก เนื่องจากการทอผ้านั้นชาวลัวะต้องทอยาวอย่างน้อยสองเมตร ห้ามเอาลูกปืนใส่ในลำกล้องปืนเพราะเกรงว่าลูกจะติดอยู่ในท้อง ไม่ให้จับต้องสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิงหรือชะนี เกรงว่าลูกจะหน้าตา ไม่สวย หอยทากทำให้เป็นคนเชื่องช้าและเอาแต่ใจตนเอง คางคกจะทำให้ตัวดำมีตุ่มเต็มตัว เต่าจะเชื่องช้า หรือปูจะทำให้ลูกขาลีบ เมื่อมีเด็กเกิดในครอบครัวใดจะต้องแจ้งแก่ผีตาตูหลังจากแม่อยู่ไฟได้สามวันสามคืน เพื่อรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ชุมชนและสู่ภายใต้การคุ้มครองของผี โดยให้ตะปิ๊สี่คนได้แก่ พ่อบุญสม ลุงพรหม นายหนูและลุงคำเยา นำเอาไก่หนึ่งตัว เหล้าหนึ่งขวดและข้าวไปแจ้งแก่ผีตาตูหลังจากนั้นจะใช้ไก่อีกหนึ่งตัวไปมัดมือแม่และเด็ก แม่ต้องควบคุมชน

สวัสดีครับอาจารย์..เข้ามาอ่านเป็นงานวิจัยใช่มั้ยครับ
ปล.อาจารย์หน้าเหมือนคุณแม่ผมเลยครับ

สวัสดีตอนเย็นๆครับอาจารย์ มาชวนอาจารย์ไปฟังเพลง เปลวเทียน เพราะๆ ครับ ที่ลิงค์นี้นะครับ

http://gotoknow.org/blog/2etc/200261

สวัสดีครับอาจารย์

  • ข้อมูลชาวลัวะมีเยอะมาก ๆ เลยครับ
  • ตอนครูสุเรียนปริญญาตรี เคยเรียนวิชาไทยศึกษา
  • เลยได้ไปศึกษาชาวลัวะ แถว อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ครับ
  • รู้สึกว่าได้สัมผัสกับชนเผ่าลัวะจริง ๆ เพราะว่าหน้าตา ภาษา วัฒนธรรม ที่ยังอนุรักษ์อยู่ เคยไปถึงสุสานชาวลัวะ ที่เขาว่าผีเฮี้ยน ผีดุ ไปเหยียบหลุมเขาแล้วต้องขอยกมือไหว้ตลอด แต่ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนะครับอาจารย์
  • ขอบคุณครับ
สายเลือดละว้าแท้

หวัสดีครับ ผมเป็นละว้าคนหนึ่งครับ

อยากมีเพื่อนละว้าเยอะๆๆ ครับ

ยินดีต้อนรับทุกคนครับ

ละว้า หรือลัวะบ้านผม ถูกกลมกลืนโดยวัฒนะธรรมจีนยูนาน

ว่างๆแอดมาคุย แลกเปลี่ยนกันได้นะ

[email protected]

ลัวะตามข้อสันนิฐานของกระผม..น่าจะมีสองกลุ่ม

1.กลุ่มที่กระจัดกระจายอยู่บนภูเขายังไม่ได้ลงไปรวมกับกลุ่มที่อยู่ในเมือง

2.ลัวะที่อยู่ในเมืองที่ถูกภัยสงครามและต้องหนีย้ายไปอยู่ตามหุบเขา

-----------

-เนื่องจากตอนที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า..ไม่รู้ว่า ประมาณปีใด

กระผมไม่สัดทัดประวัติศาสตร์...เจ้าเมืองเชียงใหม่ในราชวงค์มังราย..คงให้ข้อมูลเกี่ยวกับลัวะแก่พม่าเป็นอย่างน้อยและพม่าก็คงไม่ต้องการให้เกิดการรวมตัวกันระหว่าง

ลัวะกับราชวงค์ที่ครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นจึงต้องตามตัดรากถอนโคนให้หมด..เนื่องจากปัจจุบันบริเวณจังหวัดน่าน..มีวัดม่าน (หรือวัดพม่า)ที่ตามมาเข่นฆ่าชาวลัวะ..และเป็นที่สังเกตุว่าชาวลัวะเมื่อได้ยินชื่อวัดนี้จะกลัวมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท