หนังสือ "ชีวิตมนุษย์เป็นหนังสือเล่มใหญ่"


ความแตกต่างของครูประถมศึกษากับครูมัธยมศึกษา

หนังสือ "ชีวิตมนุษย์เป็นหนังสือเล่มใหญ่" เป็นหนังสืออนุสรณ์อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายบรรจง  ชูสกุลชาติ  บันทึกนี้เป็นเหตุการณ์บทเรียนการบริหารในจังหวัดเชียงรายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หรือเมื่อ ๓๙ ปีมาแล้ว เมื่อมาเทียบเคียงกับเวลานี้บางเรื่องบางราวก็ยังปรากฏอยู่แต่บางเรื่องก็เปลี่ยนไปแล้ว
                    "ครูในกระทรวงศึกษาธิการที่น่าสนใจ มีอยู่สองประเภท คือ ครูประถมศึกษาและครูมัธยมศึกษา  เพราะระดับอุดมศึกษานั้นไม่น่าสนใจและใส่ใจอะไรมาก ไม่ว่าสมัยใด ๆ ครูประถมศึกษาจะมีปริมาณมากกว่าครูมัธยมศึกษาถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์  ครูมัธยมศึกษาจะมีเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น หรืออย่างมากก็มีไม่เกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของครูทั้งจังหวัด  ครูมัธยมส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในเมืองหรือในตัวอำเภอ ไม่เหมือนครูประถมศึกษาต้องประจำทำงานอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่ที่ไปมาสะดวกและไม่สะดวก ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลทุรกันดาร  ทั้งที่ที่มีผู้ก่อการร้ายและมีโจรผู้ร้าย ทั้งที่ที่มีหมู่บ้านน้อยและหมู่บ้านมาก
                    ในด้านการสอนนั้น ครูมัธยมส่วนใหญ่จะสอนอย่างมากก็ยี่สิบชั่วโมง และสอนบางวิชา แต่ครูประถมศึกษาส่วนใหญ่จะสอนทุกชั่วโมงในสัปดาห์และสอนทุกวิชา บางคน บางเวลา บางแห่ง ต้องสอนสองชั้น สอนสามชั้น และสอนสี่ชั้น โรงเรียนทั้งโรงบางแห่งมีครูสอนอยู่คนเดียว  ครูประถมศึกษาบางแห่งจึงเป็นทั้งครูใหญ่ ครูน้อย และภารโรง เป็นทุกอย่าง ครูประถมศึกษาจึงเป็นครูสารพัดนึกในระบบการศึกษาไทย  โรงเรียนประถมศึกษานั้นเล่า ก็เป็นโรงเรียนที่มีแต่ความขาดแคลนไปเสียทุกเรื่อง ขาดแคลนทั้งอาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอน  ขาดแคลนทั้งพัสดุครุภัณฑ์และบรรดาเครื่องใช้ไม้สอยในการดำเนินงาน  เรื่องความขาดแคลนดังกล่าวนี้โรงเรียนมัธยมศึกษาอยู่ในฐานะที่ขาดแคลนน้อยกว่า  ครูประถมศึกษาส่วนใหญ่ทำงานยาก ทำงานในสถานที่ลำบาก ทำงานมากและหนัก  แต่เงินเดือนของเขาน้อย ยศฐาบรรดาศักดิ์ก็กล่าวได้ว่าต่ำต้อยกว่า บรรยากาศในชีวิตและงาน ก็เป็นบรรยากาศที่ไม่สดชื่นแจ่มใสนัก  ครูประถมศึกษาจึงเป็นครูที่น่าสนใจ น่าเห็นใจและน่าเอาใจใส่ให้มาก  ครูประถมศึกษาเป็นครูที่น่าห่วงและต้องการความช่วยเหลือในทุกเรื่อง  และเนื่องจากครูประถมศึกษาเป็นครูที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่มีอายุ ๖ - ๑๒ ปี ครูประถมศึกษาจึงต้องคลุกคลีอยู่กับเด็กเล็กที่มีอายุระหว่างนี้ ปีแล้วปีเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า และวันแล้ววันเล่า  ดังนั้นครูประถมศึกษาจึงดูดซึมเอาลักษณะจิตใจและนิสัยเด็กเล็กมาโดยไม่รู้สึกตัว  ลักษณะจิตใจและนิสัยครูประถมศึกษาส่วนรวมจึงคล้าย ๆ เด็กเล็ก เช่น อยากได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ทำดีแล้วอยากให้คนเห็น และเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตนเอง เช่นเดียวกับเด็กเล็ก บางทีก็เป็นคนที่ขี้ฟ้อง ขี้ร้อง ขี้กลัว ขี้น้อยใจ และขี้เกียจแบบเด็ก ๆ
                    ดังนั้น กระบวนการบริหารครูประถมศึกษาต้องแตกต่างไปจากครูมัธยม คือ ผู้บริหารจะต้องหมั่นชม หมั่นให้กำลังใจ และหมั่นช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยน้ำใจอันเมตตากรุณา อย่างไม่มีเวลาหมดสิ้นและอย่างไม่เหนื่อยหน่าย  ถ้าครูประถมศึกษามีขวัญดีมีกำลังใจดีแล้ว ครูประถมศึกษาจะมีความกล้าหาญที่เผชิญสถานการณ์และอุปสรรคต่าง ๆ ทางการศึกษาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
                    ถ้าครูประถมศึกษา มีขวัญกำลังใจดีแล้ว ครูประถมศึกษาจะเสียสละ จะสู้ และจะเสี่ยงในการสอน ในการดำเนินงาน และในการปรับปรุงโรงเรียนทุก ๆ ด้าน  ถ้าครูประถมศึกษามีขวัญและกำลังใจดีแล้ว  ครูประถมศึกษาจะริเริ่มสิ่งใหม่ในวงการศึกษา ในอาณาจักรแห่งความทุกข์ยาก ความแร้นแค้น และความกันดาร
                    ดังนั้น  หน้าที่ของผู้บริหารที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูอย่ารู้จาง  จากการที่ได้คลุกคลีกับครูประถมศึกษามาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปี  ผมมีความรู้สึกว่า ครูประถมศึกษาเป็นครูที่น่ารักที่สุดในโลก
                    ส่วนครูมัธยมศึกษานั้นเป็นครูที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ ๑๓ - ๑๙ ปี เป็นส่วนมาก  เด็กเหล่านี้กำลังอยู่ในวัยที่กำลังแสวงหาความดี  บางทีก็อวดดีเพราะมีดีอวด  บางทีก็อวดดีเพราะไม่มีดีอวด แต่สิ่งที่เขาอวดได้เสมอคือพลังทางกาย  เด็กวัยนี้กำลังเจริญวัย เจริญทั้งกายและใจ  ดังนั้นครูมัธยมส่วนมากก็มักดูดซึมเอานิสัยและลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จากเด็กที่ตนอยู่ใกล้ชิดและคลุกคลีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ครูมัธยมจึงไม่ต้องการความช่วยเหลือมากนัก  มักต้องการพึ่งตนเอง และเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบจู้จี้จุกจิก  ไม่ชอบให้เอาใจใส่ให้เกินการ และไม่ชอบการสั่งงาน ชอบสิ่งแปลก สิ่งใหม่  ชอบสิ่งตื่นเต้น สิ่งที่น่าทึ่งมากกว่าสิ่งที่ธรรมดา ๆ
                    ผู้บริหารการศึกษาต้องแสดงบทบาทให้ต่างกันกับการแสดงกับครูประถมศึกษา  ถ้าผู้บริหารระดับอำเภอหรือจังหวัดจะไปที่โรงเรียนมัธยม  ผู้บริหารนั้นจะต้องมีดี  มีสิ่งใหม่และมีสิ่งแปลกไปหาเขา ผู้บริหารที่พกเอาระเบียบ  พกเอากฎหมาย และพกเอาความเข้มงวดกวดขันเข้าไปในโรงเรียนมัธยมศึกษาบ่อย ๆ และเสมอไปนั้น   ไม่มีวันจะเข้ากันได้  เมื่อเข้าไปก็ต้องมีหลักการ  มีเหตุผล และมีกระบวนการที่น่าสนใจและน่าทึ่ง  ต้องให้เขามีความรู้สึกว่า น่าพึ่งพาอาศัย  น่าไว้ใจและน่านับถือ  ไม่เช่นนั้นช่องว่างระหว่างผู้บริหารการศึกษากับครูมัธยมศึกษาจะห่างไกลกันและนั่นย่อมเป็นอันตรายสำหรับการบริหารการศึกษาในอำเภอ จังหวัด กรม และกระทรวง"

 

หมายเลขบันทึก: 200489เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2008 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท