เสริมสร้างพลังอำนาจ(Empowerment)


พลังอำนาจ...หากไม่ใช้หน้าที่ก็บกพร่อง

         เฮ้อ...หายไปนานกับการเขียนเรื่องราว ประสบการณ์ อันที่จริงก็ร่างต้นฉบับไว้บ้างเหมือนกัน แต่ยังหาโอกาสนำขึ้นสู่โลกออนไลน์ได้ยากนัก ถึงวันนี้สบโอกาสแล้ว ก็เลยรีบจัดการเสียเลย

         วันที่ ๒๕-๒๖ กรกฏาคม ๒๕๕๑ ผมได้เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาการเสริมสร้างพลังอำนาจ(Empowerment) ณ ภูเขางามรีสอร์ท จังหวัดนครนายก โดยมีท่านวิทยากรคนเก่ง สมพล เข็มกำเหนิด หัวหน้าสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชน "บ้านเพชรบูรพา" ในที่นี้ผมขอเรียกท่านว่าอาจารย์แล้วกันนะครับ

          "เราจะไม่ทำอย่างเคย แต่เราจะทำอย่างควร" วลีหนึ่งที่อาจารย์กล่าวถึง แล้วผมรู้สึกประทับใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง หากท่านผู้นำทั้งหลายเห็นคล้อยตามวลีดังกล่าว

          อาจารย์เกริ่นนำด้วยเรื่องของสัจธรรม แห่งชีวิต ท่านได้เล่าถึงว่า ผมเคยได้รู้จักกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว และผมได้พบท่านอีกครั้งในร้านแมคโดนัล เห็นท่านกำลังยืนรอคิวซื้ออาหารให้ลูกหลานท่าน จึงเดินเข้าไปทักทาย แล้วบอกกับท่านว่า

          ท่านครับ...ท่านไปนั่งรอที่โต๊ะดีกว่าไหมครับ เดี๋ยวผมจัดการเรื่องอาหารให้ ท่านผู้ว่าฯ กลับตอบว่า

ไม่เป็นไรคุณสมพล วันนี้ผมหมดวาระ หมดอำนาจแล้ว อยากทานอะไรก็ต้องจัดการเองอย่างนี้แหละ มันเป็นสัจธรรม

         อาจารย์บอกว่า อำนาจนั้นมีที่มาจากตำแหน่ง  คือ  อำนาจได้มาเพราะการมีตำแหน่ง และหน้าที่  คือ  เมื่อได้รับหน้าที่ก็จำต้องหยิบอำนาจขึ้นมาใช้

คนละมือ สองมือ งานก็ก้าว

รู้ผ่อนหนัก ผ่อนเบา ควรแค่ไหน

กระจายอำนาจ ถูกคน งานถูกใจ

รื่นเริงได้ เมื่อมีใจ รักในงาน

สมพล เข็มกำเหนิด

 

          Empowerment ต้องขับเคลื่อนทั้งกระบวนการ  ลองดูข้อเปรียบเทียบต่อไปนี้นะครับ

กระบวนการเดิม กระบวนการใหม่
 เป็นครู เป็นผู้ฝึกหรือโคช ตั้งคำถาม สะท้อนความคิด ให้คำแนะนำ
 เป็นผู้นำความรู้มาถ่ายทอดให้ เน้นการถ่ายทอด + การฟัง เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
 มีเป้าหมายให้ผู้ร่วมงานเชื่อในสิ่งที่นำเสนอ มีเป้าหมายให้เกิดการเรียนรู้
 ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง ใช้ผู้ร่วมงานเป็นศูนย์กลาง
 เป็นผู้ตัดสินการเปลี่ยนแปลงของผู้ร่วมงาน เป็นเพียงผู้สะท้อนให้ผู้ร่วมงานเปลี่ยนแปลงตนเอง

          การเสริมสร้างพลังอำนาจให้ได้ผลนั้น เมื่อคนนั้น...

๑.มีมนุษยสัมพันธ์ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี

๒.ใช้ถ้อยคำเหมาะสม สร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดพลังในการทำงานร่วมกัน

๓.มีความยืดหยุ่นทางความคิด คิดแง่ดี รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

๔.มีบุคลิกภาพเป็นมิตร เข้าใจคน

๕.มีคุณธรรม จริยธรรม วางตัวเป็นกลาง

๖.มีความเชื่อในศักยภาพของทุกคน เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

๗.มีทักษะการสื่อสาร เป็นผู้รับฟังและผู้พูดที่ดี

๘.มีความรู้และเข้าใจ มีทักษะกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม

๙.มีอุดมคติ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน(มีเป้าหมายแห่งชีวิต)

เทคนิคการเป็นผู้บริหารหรือผู้นำ (ลองมาดูตัวอย่างนี้กันนะครับ)

     "เมื่อไหร่ที่เราเข้าใกล้ที่สุด จะมองไม่เห็นข้อผิดพลาดเลย" ฉะนั้นผู้นำต้องหา Sub เพื่อเป็นตัวแทนของเรา แล้วตัวเราถอยออกมามองดู เราจะเห็นอะไรเพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น เราอาจจะทำแกงส้มที่ไม่ได้เรื่องหรือไม่อร่อย เราจึงไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง เพียงหาคนที่มีความสามารถ มาทำให้เราก็ได้ แต่เราจะต้องรู้ว่า การทำแกงส้มนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง กระบวนการและขั้นตอนการปรุงเป็นอย่างไร พอเราถอยออกมามองดูพบว่ามีจุดที่เกิดข้อผิดพลาด ก็สามารถทักท้วงได้ว่า "ลืมตรงจุดนี้ไปหรือเปล่า" นี่คือบทบาทของผู้นำและการใช้พลังอำนาจที่ดี

 สาระ....สาละ

เห็นสาละ ไม้ใหญ่ ภายในวัด

ถึงคราต้อง สลัดใบ น่าใจหาย

ร่วงหมดต้น เหลือแต่กิ่ง ดั่งสิ่งตาย

แต่สุดท้าย งอกงาม ตามเวลา

ปุญญพโล(สมพล เข็มกำเหนิด)

๑๑ กันยายน ๒๕๔๙ : ๑๖.๕๗ น.

         สุดท้ายครับที่เก็บตกได้จากที่อบรม...

         ๓ สิ่งในชีวิต ที่ไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้ คือ

คำพูด ( word )     เวลา ( time )     และโอกาส ( and chance )

          

หมายเลขบันทึก: 200623เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2008 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท