ซำเหนือเมื่อหน้าหนาว(๕)


การค้าขายแลกเปลี่ยนเป็นกิจกรรมสำคัญของลาว

ลักษณะเศรษฐกิจของหัวพันนั้นต้องพึ่งพาเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆโดยรวมของลาวที่ไม่สามารถผลิตให้เพียงพอแก่การบริโภคได้ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ระบุว่าในระหว่างค.ศ.๑๙๕๘-๑๙๕๙ พื้นที่การเพาะปลูกของลาวมีเพียงร้อยละแปดของพื้นที่ทั้งประเทศ ลาวตอนเหนือตั้งแต่แขวงหัวของหรือบ่อแก้ว หลวงพระบาง เชียงขวางและหัวพันมีพื้นที่ปลูกข้าวเพียง ๑๑๒,๕๐๐ ไร่แต่มีประชากรถึง ๓๓๘,๒๑๓ คนต้องซื้อข้าวจากเชียงรายและลำปางมาบริโภคตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงฤดูการเก็บเกี่ยว  เพราะพื้นที่เป็นที่สูง  มีทุ่งเพียงไม่มากทำให้การผลิตข้าวนาดำไม่เพียงพอ พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่ภาคอีสานของไทย ความจำเป็นดังกล่าวนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์พยายามที่จะยึดครองดินแดนภาคอิสานซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกับชาวลาว[1]  เพื่อจะเป็นฐานในการผลิตเพื่อเลี้ยงดูประชากรลาวในส่วนอื่นๆด้วย เมื่อปลูกข้าวได้ไม่พอ  ชาวลาวต้องพึ่งการทำไร่และการเก็บหาของป่าเพื่อการค้า การค้าขายแลกเปลี่ยนจึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจของลาวมาโดยตลอด  การที่ภูดอยของหัวพันกลายเป็นภูหัวล้านนั้น  ไม่ได้เกิดจากการตัดต้นไม้เพื่อปลูกฝิ่นของชาวลาวสูงเท่านั้น  แต่เป็นการถางป่าทำไร่เพื่อเสริมความพอเพียงของเศรษฐกิจชาวบ้านด้วยเช่นกัน

              หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าล้านนากับลาวตอนเหนือมีการติดต่อสัมพันธ์กันมายาวนานในอดีต  ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ  พระไชยเชษฐาธิราชของอาณาจักรล้านช้างเป็นหลานของพระเมืองเกษ  เมื่อล้านนาขาดกษัตริย์ปกครองได้เสด็จมาปกครองล้านนาอยู่สามปีก่อนเสด็จกลับไปปกครองล้านช้าง  ความสัมพันธ์ในระดับชนชั้นปกครองดำเนินเรื่อยๆมา  แม้กระทั่งในยามก่อการกบฎเจ้าอนุวงศ์ยังคาดหวังให้เจ้านายล้านนายกกำลังมาช่วย  ได้ส่งคนไปเจรจากับเจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และน่าน  นัดหมายให้ยกกองทัพมาโจมตีกรุงเทพพร้อมกับกองทัพของเวียงจันทน์และญวน  หรือมิฉะนั้นก็ให้วางตัวเป็นกลาง  แพร่และน่านมีทีท่าจะสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์อย่างเต็มที่  เจ้าหลวงน่านได้เดินทางมาดื่มน้ำสาบานกับเจ้าอนุวงศ์และรับปากจะช่วยเกลี้ยกล่อมหัวเมืองล้านนาอื่นๆให้  แต่เมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปางสงวนท่าทีไม่เข้าร่วมการกบฎเต็มตัว  แต่ไม่ได้ส่งกองกำลังมาร่วมรบอย่างเต็มที่เท่านั้น  (หวญ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ จ.ศ.๑๑๘๔ เลขที่ ๔) 

              ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองประเทศราชในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์นั้นกรุงเทพยังไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดและหวาดระแวงหัวเมืองประเทศราชที่อยู่ห่างไกลเสมอ  ในขณะที่หัวเมืองประเทศราชทั้งหลายก็กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการฟื้นฟูบ้านเมือง  ต้องสะสมกำลังคน  การเรียกร้องกำลังคนและเสบียงอาหารเพื่อสนับสนุนการทำสงครามเพื่อขยายอำนาจของกรุงเทพจึงเป็นสาเหตุของความไม่พอใจที่ลุกลามไปเป็นการกบฎแข็งเมืองของประเทศราช  เจ้านายล้านนาใช้กลยุทธ์เพิกเฉย  โดยไม่ได้ต่อต้านแต่ไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่  ดังเช่น กรณีของสงครามเมืองเชียงตุงที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพสั่งการให้เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และน่านส่งกำลังไปช่วยเหลือกองทัพไทย แต่เจ้านายอ้างว่าเป็นช่วงเวลาของการผลิต  ไม่สามารถเกณฑ์กำลังคนตามที่กรุงเทพต้องการได้  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำสงครามล้มเหลว  เมืองของล้านนาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลาวเห็นจะเป็นเมืองน่านและเมืองแพร่  เพราะน่านนั้นมีอาณาเขตติดต่อกันอยู่  ก่อนฝรั่งเศสจะยึดครองลาวเมืองน่านมีอิทธิพลครอบครองไปถึงเมืองเชียงฮ่อน เชียงลม และเมืองสิง  ตอนที่เกิดกบฎเงี้ยวเมืองแพร่  เจ้าหลวงเมืองแพร่ที่ถูกกล่าวหาว่าคบคิดกับเงี้ยวก่อการกบฎล้มล้างอำนาจของกรุงเทพในล้านนาหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจนถึงแก่พิราลัยที่นั่น

              ในระดับประชาชนลาวและล้านนามีการค้าขายดำเนินมาไม่ขาด ข้าราชการอังกฤษบันทึกถึงการค้าระหว่างลาวและล้านนาในระหว่างคริสตศตวรรษที่ ๑๙ไว้อย่างน่าสนใจว่า  พ่อค้าลาวนำสินค้าจากเมืองหลวงพระบางมาโดยเรือล่องแม่น้ำโขง  มาขึ้นที่เชียงแสน ล่องแม่น้ำกกแล้วใช้ช้างขนมาถึงเชียงใหม่และเมืองอื่นๆในล้านนา  มาถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สองบุญช่วย ศรีสวัสดิ์พบว่าชาวบ้านหาดสระ เมืองปากทา แขวงหลวงพระบางซื้อเกลือและน้ำมันก๊าดจากเมืองเชียงของและเมืองเชียงแสน  นำมาแลกกับมัน ฝ้ายและสินค้าของป่าจากพวกขมุลาวเทิง และพวกม้งและเย้าลาวสูงจากดอยภูบก ดอยภูเวียง และภูพะหญ้า  สินค้าที่หลวงพระบางและเวียงจันทน์ส่งป้อนตลาดเชียงแสน คือ สีเสียด ครั่งและหมากแหน่ง ล้วนเป็นของป่าที่เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและต่างประเทศ  ในช่วงของสงครามอินโดจีน  ชาวไตดำที่หลวงน้ำทาต้องอพยพหนีหมากแตก(ภาษาลื้อแปลว่าระเบิด)ไปอยู่ห้วยทราย  ไม่มีไร่นาจะทำก็ได้นำของป่าที่หาได้ เช่น หวาย หน่อไม้ เห็ดและสัตว์ป่าต่างๆข้ามน้ำโขงไปขายที่ตลาดเมืองเชียงของ  ปัจจุบันนี้ลาวยังเป็นแหล่งสินค้าของป่าที่สำคัญของไทย



[1] กบฎเจ้าอนุวงศ์ เกิดขึ้นระหว่างพ.ศ.๒๓๗๐-๒๓๗๑  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน สุวิทย์ ธีรศาศวัต.ประวัติศาสตร์ลาว ๑๗๗๙-๑๙๗๕ (กรุงเทพ: สร้างสรรค์, ๒๕๔๓), หน้า ๑๐๙-๑๓๓.

หมายเลขบันทึก: 200992เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอาจารย์แม่
ผมเคยเขียนอ้างถึงเรื่อง กบฏเจ้าอนุวงศ์ ไว้ในบทความ อานามสยามยุทธ ที่ลิงค์นี้นะครับ
http://gotoknow.org/blog/kelvin/170756

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ทศพร วงศรัตน์ (ราชบัณฑิต) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการใน พระอภัยมณีคำกลอนของสุนทรภู่ที่ได้ประพันธ์ไว้นั้น ตรง กับเหตุการณ์จริง ห้วงเวลาที่ เจ้าอนุวงศ์กบฏเวียงจันทน์ ถูกจับขังกรงส่งมาถึงกรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2371 หลังจากที่ได้รับการแช่งด่าทรมานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ประมาณ 7 วัน 8 วัน ก็ตาย (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.3) ในกรณีนี้วันพุธของสุนทรภู่เท่ากับได้เพิ่มความชัดเจนให้แก่ประวัติศาสตร์ไทย พระอภัยมณีคำกลอน ตอนที่ 26 หน้าที่ 415 อุศเรนตายแล้วผีไปเข้านางวาลี ความว่า

"ชักชะงาก รากเลือด เป็นลิ่มลิ่ม
ถึงปัจฉิม ชีวาตม์ ก็ขาดสาย
เป็นวันพุธ อุศเรน ถึงเวรตาย
ปีศาจร้าย ร้องก้อง ท้องพระโรง
"

๑. กวีกวินใจดีมีหมายตอบ อาจารย์แม่ชื่นชอบเป็นหนักหนา

มอบความรู้ดีดีมีให้มา ขอบใจแต๊ๆนานะกวินกวี

๒.ยินดีมากค่ะ คุณณัฏฐพล ขอรับความคิดเห็นและส่งความรู้อื่นๆมาให้ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท