ซำเหนือเมื่อหน้าหนาว (๖)


ชาวไตแดงอพยพมาจากเวียดนาม

              คุณอำนวยซื้อกับข้าวหลายอย่างกับข้าวเหนียวมากินที่โรงแรม ก็อร่อยอีกเช่นกัน  ประมาณเก้าโมงออกเดินทางไปเมืองเชียงค้อ  เพราะบอกคุณบุญส่งว่าอยากไปดูบ้านไตแดงที่เมืองเชียงค้อซึ่งมีหมู่บ้านไตแดงเป็นจำนวนมากตามที่คุณวรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริมและท่านอื่นๆได้ระบุไว้ในบทความเรื่อง ชีวิตคนไทในชายแดนแคว้นสิบสองจุไท: กรณีไทแดง ว่า  ในแขวงหัวพันนี้มีคนไตแดงหรือไทแดงอยู่เป็นจำนวนมาก อยู่กันหนาแน่นที่เมืองซำเหนือ เชียงค้อ เวียงไชย หัวเมือง และเมืองซำใต้ ที่เมืองเชียงค้อมีอยู่สิบห้าหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาคำ  บ้านนาเฮือง บ้านกะเหนือ บ้านนาเพียง บ้านสบฮ่าว บ้านโพนไซ บ้านนาซาง บ้านนาเป๋อ บ้านมน บ้านกาง บ้านนาหลบ บ้านนานก บ้านโพนทราย บ้านม่วน และบ้านนาใหญ่  จากการศึกษาประวัติการตั้งถิ่นฐานก็พบว่า  ชาวไตแดงโดยเฉพาะบ้านโพนไซและบ้านสบฮ่าวนั้นอพยพมาจากเมืองวินหรือมินท์ ในประเทศเวียดนามเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว  เนื่องจากทนการขูดรีดภาษีของเวียดนามไม่ได้  จึงค่อยๆอพยพกันเข้ามาอยู่ที่แขวงหัวพัน

              เนื่องจากสหายเองก็ไม่ชำนาญพื้นที่  ทั้งคุญบุญเจ้อและอำนวยออกจากซำเหนือไปนาน  ทำให้ไม่ค่อยรู้จักหมู่บ้าน  ต้องคอยถามชาวบ้าน  ปรากฏว่าขับรถไปเรื่อยๆ  กะจะชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงค้อและไปให้ถึงเมืองแอดซึ่งเป็นชายแดนของหัวพันต่อกับเวียดนาม  ถึงบ้านนาวัวหยุดถ่ายรูปกลุ่มมองตำข้าว  น่าสนใจมากที่ชาวบ้านชักน้ำมาจากบนภูให้มาถึงนาของหมู่บ้าน  ก่อนจะเข้าถึงหมู่บ้าน  ชาวบ้านทำหลุกเพื่อจะใช้พลังน้ำมาตำข้าว  เหมือนกับที่เมืองเฮียม แต่ที่นี่ชาวบ้านจะทำเพิงคลุมมองตำข้าวเอาไว้ด้วย  เป็นลักษณะของวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจมากทีเดียว 

              ระหว่างทางหยุดพักที่บ้านไตดำ  ชื่อบ้านต้าออนเต้อ หรือท่าออนใต้  ไม่ได้ถามไถ่ประวัติหมู่บ้านกันมากเพราะ  เจ้าของบ้านมีน้ำใจชวนสหายชิมเหล้าขาวรสแซบทั้งบ่ายๆอย่างนั้นแหละ  ได้ถามถึงการทอผ้าและถ่ายรูปผู้หญิงชาวบ้านที่มีมวยผมสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของไตดำ  เจ้าบ้านเอาหมอนนั่งมาให้  มีผ้าหน้าหมอนสวยที่เดียว  ถามว่ามีเหลือบ้างไหมขอเอาไปเบิ่ง  ก็ได้ผ้าหน้าหมอนไตดำมา กะว่าจะเอามาทำหมอนรองนั่งกะเขาบ้าง  ได้ผ้ามาอีกสี่ผืน เป็นผ้าทอลายลิงไต่ขอน  ลาวดอกมะอึก และลายขอ  ส่วนผ้าที่ย้อมครามชาวบ้านเรียกว่าผ้าดำนิล หมู่บ้านอยู่เรียงรายตามถนนใกล้ๆกัน  น่าสงสารมากที่เวลารถผ่านฝุ่นสีแดงก็ตลบไปทั่ว  ทำให้ต้นไม้และบ้านเรือนกลายเป็นสีแดงเหมือนสีฝุ่น 

              ในผืนนาใกล้ๆหมู่บ้านมีชาวบ้านบางคนกำลังไถนาและปลูกข้าวฤดูที่สองหรือสาม  สหายบอกว่าหลายแห่งสามารถปลูกข้าวได้สองถึงสามครั้งต่อปี แต่ที่นาของชาวบ้านมักจะเป็นที่นาขนาดเล็ก  บางเรือนผู้หญิงนั่งตำฝ้ายไว้ขายให้กับพวกเย้าที่จะเข้ามาซื้อถึงหมู่บ้าน  ระหว่างทางพบเย้าแบกกะเบื้องไปมุงหลังคา  อันเบ้อเริ่มทีเดียว  แต่เธอบอกว่าไม่หนัก  แถมยังยอมให้ถ่ายรูปด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส 

              หลังจากนั้นก็ไปแวะกินข้าวที่ร้านของน้องสาวที่ไม่มีอาหารอะไรอีกเหมือนกันเพราะมันเลยเวลาอาหารกลางวันไปแล้วแต่ยังไม่ถึงเวลาอาหารค่ำดีนัก  แต่เธอก็เอาจานเอาช้อนและแก้วน้ำมาบริการให้  แถมขายเหล้าให้ด้วย  สหายซึ่งเตรียมอาหารจากตลาดซำเหนือมาแล้ว  ก็ไม่ได้อนาทรร้อนใจ  กินข้าวเหนียวกับไก่และอื่นๆ  ร้านอาหารที่นี่เจ้าของร้านมักมารับรองแขก  ขายเหล้าก็ต้องกินกับแขกไปด้วย  พูดคุยจิปาถะตามอัธยาศัย  กินข้าวเสร็จก็เดินทางต่อไปเมืองแอด  คุณบุญส่งดูจะสนใจการค้าชายแดน  ออกไปเดินดูร้านค้าที่อยู่ตลาดชายแดน  พบคนที่รู้จักคุ้นเคยก็คุยกันอยู่พักใหญ่ๆ  ส่วนมากเป็นร้านขายเครื่องใช้ประเภทเสื้อผ้าต่างๆ  ได้ซิ่นมุกและชายผ้าซิ่นมาอย่างละผืน 

              ระหว่างทางเมืองเชียงค้อถึงเมืองแอด  มีดอยน้อยลง  ถนนคู่ขนานกับแม่น้ำม่าซึ่งสวยงามแบบธรรมชาติจริงๆ  แม่น้ำใหญ่พอที่จะล่องเรือหรือแพได้สบายๆ  ผ่านหมู่บ้านหลายแห่งที่มีนาขั้นบันได    มีจุดตรวจอยู่ด้วย  ก็ไม่มีอะไรมาก  ถามไถ่ดูจะไปไหนมาไหน  ออกจากเมืองแอดมานอนที่สบเบ่า  มาถึงค่อนข้างค่ำแล้ว  สบเบ่าเป็นเมืองเล็กๆ มีทั้งลาวลุ่มและลาวเทิงอยู่รวมกัน หมู่บ้านบนเชิงเขาเป็นหมู่บ้านลาวเทิง  มีโรงแรมแบบดั้งเดิมอยู่  เป็นโรงแรมสองชั้น  ห้องน้ำอยู่ข้างนอกอาคาร  ผู้ดูแลโรงแรมก็มีเรือนหลังเล็กๆอยู่ข้างหลังโรงแรม  ไม่มีน้ำร้อน  แต่จะต้มให้แขกที่มาเข้าพักตอนมืดพอดี  ก็เข้าห้องพักซึ่งเป็นห้องพักแบบเรียบง่ายจริงๆ  มีเตียงสองเตียง  มีมุ้ง  เพื่อความสะดวกใจก็เอาถุงนอนปูก่อน  หลังจากอาบน้ำก็ออกไปหาอาหารเย็นกิน  มืดไปทั้งเมือง  แม้จะมีไฟฟ้าแต่ที่นี่เขาไม่เปิดไฟกันพร่ำเพรื่อ  มีร้านอาหารที่ตลาดเปิดอยู่ร้านหนึ่ง  ก็ไปสั่งกับข้าวมากินกัน  มีผัดผัก  แกงจืด กับไข่เจียว  ร้อนตายไปอีกหนึ่งมื้อ

              ชาวลาวนิยมร้านอาหารบันเทิง  คือ มีคาราโอเกะไว้บริหาร  มีเพลงให้ฟัง  ร้านนี้มีเครื่องเล่นซีดี  ก็เลยได้นั่งฟังเพลงประกอบละครชุดเจ้าฟ้างุ้ม  เพิ่งเปิดอนุสาวรีย์ที่เวียงจันทน์  เป็นละครเพลงที่ยกย่องและเยินยอความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์พระองค์ในฐานะที่เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรลาว  เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ  เหมือนกับเป็นการปลุกระดมความรักชาติและความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติลาว  ลาวนั้นเหมือนกับเขมรที่มักถูกเพื่อนบ้านอย่างไทยดูถูกว่าล้าหลัง ด้อยความเจริญและเป็นตัวตลกขบขัน  ได้เล่าให้สหายฟังถึงเรื่องดาราไทยถูกกล่าวหาว่าสบประมาทชาวเขมรและอ้างว่านครวัดเป็นของไทย  สหายก็ระลึกถึงนักร้องวัยรุ่นของไทยที่สบประมาทคนลาว  ปรากฏว่าพ่อค้าเทปลาวเทเทปของนักร้องคนนั้นทิ้งไม่ยอมขาย  แต่ยอมขาดทุนเพื่อตอบโต้คำสบประมาทต่อชาติลาว  น่าเสียดายที่ไทยเรายังยึดถือว่าตนเองยิ่งใหญ่ ก้าวหน้า และร่ำรวยกว่าชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ  ไม่ได้ตระหนักว่าในอดีตเราได้สร้างความคับข้องใจให้เพื่อนบ้านเรามากน้อยเพียงใด  ในขณะที่เราได้รับเงินงบประมาณและความช่วยเหลือพิเศษมากมายจากชาติมหาอำนาจระหว่างสงครามเวียดนาม  ผลของการเป็นชาติพันธมิตรที่แสนดี  ยินยอมให้ใช้แผ่นดินของเราเป็นฐานทัพส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดบ้านเมืองคนอื่นเขา  ทำให้บ้านเมืองเรามีถนนหนทาง  สาธารณูปโภคต่างๆและโครงการพัฒนาที่ทำให้เราเจริญอย่างน้อยก็ทางวัตถุมากกว่าเพื่อนบ้านที่ต้องทนทุกข์กับสงครามเกือบยี่สิบปี  สูญเสียชีวิตเลือดเนื้อมากมาย  จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถขจัดความขาดแคลนและล้าหลัง  สภาพที่เขาเป็นอยู่นั้นเหมือนกับบ้านเราเมื่อสามสิบหรือห้าสิบปีก่อน  ก่อนที่เราจะพัฒนามาเป็นเมืองไทยที่แสนจะโชติช่วงชัชวาล

              เช้าออกไปกินข้าวร้านเดิมอีกแล้ว  เพราะไม่มีร้านอื่นดีกว่านี้ เดินไปดูตลาดก็ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนักเพราะเป็นตลาดขนาดเล็กเพื่อชุมชนมากกว่าที่จะมีอะไรสวยงามเพื่อคนต่างบ้านต่างเมือง  ท่องเที่ยวยังมาไม่ถึงงั้นเถอะ  แต่ถึงกระนั้นเมื่อรู้ว่าเรามาจากที่ไกลและสนใจสิ่งทอพื้นเมืองก็มีสาวรุ่นที่ทำงานเป็นครูในเมืองสบบ่าวนี้เอากระเป๋ามาขายให้ ซื้อมาเจ็ดใบตั้งใจจะเอามาฝากญาติโยม ก็คล้ายกับกระเป๋าแถวๆไนท์บาซาร์ เอาผ้าเก่าลายสวยๆทั้งลายไตและลายชาวเขามาตัดแปะ เป็นกระเป๋าขนาดเล็ก  ออกจากเมืองสบบ่าวย้อนกลับเส้นทางเดิมไปซำเหนือ สายๆเราก็ถึงบ้านสบฮ่าว  ชาวบ้านนั้นเป็นมิตรเหมือนบ้านอื่นๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายคนแปลกหน้าโดยไม่มีการเขินอายหรือระแวงสงสัย ส่วนใหญ่คนแก่กับเด็กอยู่บ้าน เพราะคนหนุ่มสาวไปทำงานในเมือง

              ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวไตแดงนั้นเหมือนกับไตกลุ่มอื่นๆที่นิยมตั้งเรือนอยู่ใกล้ภูดอย  ติดกับแม่น้ำเพราะต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูก มีทุ่งนาล้อมรอบหมู่บ้าน ดังที่เห็นจากบ้านสบฮ่าว  เมื่อถูกถามว่าไตแดงตั้งต่างจากไตดำและไตขาวอย่างไร  ชาวบ้านก็จะบอกว่าสำเนียงพูดไม่เหมือนกัน  และมีธรรมเนียมการแต่งดองและธรรมเนียมหลายอย่างไม่เหมือนกัน  เท่าที่สังเกตพบว่าเครื่องแต่งกายและลวดลายผ้าทอแตกต่างกัน  การเกล้าผมและโพกผ้าแตกต่างกัน  เหมือนกับความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนไททั้งหลาย  ไตแดง ไตดำและไตขาวนั้นไม่นับถือพุทธศาสนา  มีการนับถือผีโดยเฉพาะอย่างยิ่งผีบรรพบุรุษ  จึงมีพิธีเสนเฮือนกันทุกปี  แม้จะงดการเสนบ้านแล้วแต่การเสนเฮือนก็ยังอยู่

              ชาวไตแดงส่วนใหญ่ทำนาดำและทำไร่ข้าว ในหลายเขตมีการทำนาขั้นบันไดซึ่งเป็นนาน้ำฟ้า  บริเวณใกล้น้ำจะปลูกข้าวได้ถึงสามครั้ง  ใกล้ๆบ้านเรือนหรือริมน้ำมีการปลูกพืชผักเพื่อบริโภคและขายในท้องถิ่น  ปลูกฝ้ายและต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม ส่วนพืชอื่นเช่น ฟักทอง ฟักแฟง ข้าวโพด ยาสูบปลูกในพื้นที่นาข้าวเมื่อเสร็จหน้านา  ส่วนการเลี้ยงสัตว์ยังเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองอยู่  จึงมีวัวควาย หมู เป็ดไก่เดินไปมาในหมู่บ้าน  หรือหากินอยู่ตามป่าแพะใกล้หมู่บ้าน

คำสำคัญ (Tags): #ผ้าทอ#ไตแดง
หมายเลขบันทึก: 201078เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2008 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท