ร่วม แข่ง ขัด...


ร่วม...มือ แข่ง...ขัน ขัด...แย้ง ในสังคมไทย

เริ่มบทความวันนี้ เริ่มหัวข้อที่เป็นวิชาการหน่อยนะครับ ที่ต้องนำเรื่องนี้มาคุยกันในวันนี้เป็นเพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับใด หรือดูทีวีช่องไหน เรามักพบเสมอว่าข่าวประเภทการร่วมมือกัน ข่าวที่เกี่ยวข้องกัน ข่าวที่เกี่ยวกับการขัดแย้งกันมีเสมอทุกทุกหน้าหนึ่งของข่าว   คำสามคำนี้มีความหมายโดยนัยของคำแทบไม่ต้องอธิบายเลยว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการร่วมมือ” หมายถึงอะไร การร่วมมือก็หมายถึง “การทำงานจนสามารถบรรลุเป้าหมาย” เป็นอะไรที่ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกันพร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน คนที่มาร่วมมือกันมีจุดประสงค์อย่างเดียวกันที่ทำให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจ การร่วมมือกันจึงเป็นความรู้สึกดี ความรู้สึกทางบวกที่เรามีให้กับคน มีให้กับงาน มีให้กับสังคม การมีความร่วมมือกันไม่ว่าจะทำอะไรงานก็สำเร็จกว่าครึ่ง สังคมใดสามารถทำให้คนมีความร่วมมือร่วมใจทำกิจกรรมของสังคมให้บรรลุเป้าหมายได้สังคมนั้นมีความเข้มแข็งอย่างแน่นอน เพราะความเข้มแข็งของสังคมในการที่จะทำสิ่งใดๆ ในหมู่บ้าน ในคณะของตนเองให้ประสบผลสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ เช่น การก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ จะเป็นกลุ่มได้ ต้องมีผู้นำกลุ่มดี มีความตั้งใจ สมาชิกมีความร่วมมือร่วมใจกัน เข้าใจการดำเนินงานของกลุ่ม ทุกคนรู้หน้าที่งานของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์หลายที่จึงประสบความสำเร็จ หรืองานในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์     ทำให้ดีๆ กระตุ้นให้สมาชิกเข้าใจ ปลุกเร้าให้ชุมชนร่วมดำเนินการ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้มาจากการมีความร่วมมือกันโดยทั้งสิ้น

            ที่นี้เมื่อคนเรามีความร่วมมือกัน กิจการงานดำเนินไปด้วยดี กลุ่มมีชื่อเสียง กลุ่มมีความเข้มแข็ง พอมาถึงขั้นนี้ทำอย่างไรให้กลุ่มดำรงอยู่ได้ ในขั้นนี้คงต้องหันมาระดมความคิด จัดเป็นเวทีชาวบ้าน หรือจัดเป็นกลุ่มใหญ่ปรึกษา หาแนวทางสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ผู้นำกลุ่มกับ ชุมชนต้องพูดไปในทิศทางเดียวกัน อย่าจัดเป็นกลุ่มเล็กเด็ดขาดเพราะจะทำให้ความรู้สึกคนเกิดการแตกแยก เกิดความไม่แน่ใจกัน เกิดความไม่มั่นคงกัน เกิดความรู้สึกอยากเอาชนะ การเกิดอาการเหล่านี้จะเป็นผลทำให้คนแข่งขันกัน เช่นแข่งกันเอาดี แข่งขันกันเพื่อให้คนใหญ่คนโตเห็นความสำคัญของตนเอง พฤติกรรมอย่างนี้ถ้าคนใหญ่คนโตในชุมชน ในสังคมหรือในวงงานไม่เข้าใจ ร่วมเล่มเกมด้วย สังคมนี้ ชุมชนนี้เสร็จ งานที่สร้างสรรค์มานานจบกันเพราะคนในชุมชนมาแข่งขันกันเอง การแข่งขันเป็นความรู้สึกลึกๆ ของคนมีปมด้อย การแข่งแข่งมาจากลักษณะบุคลิกภาพของคนๆ นั้น   ซึ่งอาจมาจากแรงจูงใจทั้งทางบวก และทางลบ บางทีการแข่งขันก็มาจากตังของผลประโยชน์ อยากจะได้อย่างที่เขาได้เราไม่ได้ก็อยากได้ ทำอย่างไรจึงจะได้บางคน ก็ใช้วิธีแข่งขัน แต่ถ้าการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์ กิจกรรมการแข่งขันนั้นจะทำให้คนพึงพอใจ เช่นแข่งขันการทำบรรจุภัณฑ์   แข่งขันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร     สิ่งเหล่านี้เป็นการแข่งขันที่นำโอกาสดีมาให้สังคม มาให้ชุมชนโดยแท้ แต่ในการแข่งขันที่กลุ่มคนมีลักษณะนิสัยดื้อรั้น มีค่านิยมที่ต่างจากมนุษย์ปกติ    ชอบสร้างสถานการณ์ให้ปั่นป่วน บางทีจุดเล็กน้อยเหล่านี้ถ้าเราไม่สนใจ   อาจทำให้เกิดปัญหาในสังคมได้ ในทางจิตวิทยาอธิบายว่าพวกที่ชอบแข่งขัน พวกนี้ชอบรางวัล สังคมใดที่มีคนชอบทำตัวเป็นพวกชอบแข่งขัน ขอบวางแผน ชอบเข้ากลุ่มเล็กๆ มั่วสุมคิดอะไรๆ ให้คนในสังคมวุ่นวาย ลองเอารางวัลมาล่อ กระตุกให้เกิดแรงจูงใจในการดึงเอาศักยภาพของเขาเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ แล้วให้รางวัลเป็นช่วงๆ อาจแก้ไขได้    แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่เราไม่สามารถแก่ไขปัญหาการแข่งขันได้ ถ้าผู้นำปล่อยให้มีการแข่งขันมากๆ ปัญหาที่จะตามมาคือ ความขัดแย้ง 

            จากข้างตน พี่น้องเห็นหรือยังว่า การร่วมมือ การแข่งขันและความขัดแย้ง มีรูปแบบมาจากฐานความคิดเส้นเดียวกัน อย่างปล่อยให้สังคมเกิดความขัดแย้งมากๆ เพราะมันไม่มีผลดีต่อการทำกิจกรรมร่วมกัน สังคมทุกวันนี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจ ต้องการคนช่วยบ้านเมือง คนช่วยชุมชน คนในชุมชนไม่ช่วยกันจะให้คนนอกชุมชนมาช่วยคงเป็นไปได้ยากครับ

            ในเรื่องความขัดแย้ง ไม่ใช่ว่าจะเกิดผลเสียทั้งหมดครับ  ในความขัดแย้งก็มีอะไรน่าสนใจ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่น การขัดแย้งทำให้คนไม่อยู่กับที่ ทำให้เกิดระบบความคิด เมื่อมีความขัดแย้งผู้นำที่ชาญฉลาดสามารถขจัดปัญหาที่ไร้สาระและช่วยกันแสวงหาแนวทางที่ดี และอาจใช้ผลของความขัดแย้งกระตุ้นให้บุคคลเกิดความสามัคคี    คิดวิธีการสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา   เพราะยิ่งในกลุ่มมีความขัดแย้งกันมากแนวความคิดดีๆ ย่อมเกิดขึ้น คนที่ชอบขัดแย้งก็จะเริ่มมองตนเองว่าตนเองบกพร่องอะไร จากคนที่ไม่ยอมทำอะไรเลย พอเกิดความขัดแย้งขึ้นอาจมองเห็นปัญหามากขึ้นก็ได้ ข้อนี้คือการเปิดโอกาสให้บุคคลตรวจสอบความสามารถของตน ได้ลองทำ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆก็เกิดขึ้น งานใหม่ๆ ก็พัฒนาขึ้นนี่ก็มาจากความขัดแย้ง อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งมีข้อเสียเช่นกัน เช่น ทำให้บุคคลไม่สามารถทนอยู่ในสภาพสังคมที่กดดันได้ มิตรภาพ ความเป็นเพื่อน ความเป็นพี่ลดลง เกิดบรรยากาศของความไม่เชื่อใจกัน และท้ายที่สุดคนก็จะต่อต้าน ถ้าปล่อยให้ความขัดแย้งพัฒนาสะสมมาเรื่อยๆ คนก็จะไม่รักองค์กร ไม่รักชุมชน แล้วสังคมจะเป็นอย่างไร เด็กถูกล่วงเกินทางเพศ ปัญหาอาชญากรรมมีไม่เว้นแต่ละวัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคมก็จะทยอยเกิดอย่างไม่สิ้นสุด เพราะสังคมสร้างกระแสความขัดแย้งกัน 

            ถ้าบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเกิดความขัดแย้งกัน แล้วช่วยกันคิดวิธีการ แนวทางสร้างสรรค์เพื่อให้สังคมไปรอด สังคมคงไม่บอบช้ำเช่นทุกวันนี้ นี่เป็นเพราะสังคมระดับสูงไม่เป็นแบบที่ดีแก่ สังคมเล็ก กลุ่มข้าราชการแบ่งพรรคแบ่งพวก กลุ่มการเมืองเล่นเกมการเมือง มีโวหารบุรุษ โวหารสตรีมากมาย ถึงเวลาหรือยังที่คนไทย คนในสังคม คนในชุมชน จะลดความขัดแย้ง ลดการแข่งขัน แล้วหันมาร่วมมือกัน มาช่วยเหลือกัน มาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็ก แล้วกระจายวงไปสู่สังคมและเปิดกว้างไปสู่สังคมระดับประเทศ จนสามารถก้าวไปสู่สากลได้ ไม่ต้องให้ใครมาสอนเราเหมือนโฆษณาที่ฝรั่งมาสอน คนไทยว่า “คนไทยต้องมีความเกรงใจ ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ก้าวร้าว” แต่เราคนไทยสอนกันเอง มีสำนึกดีด้วยตนเอง มีความร่วมมือร่วมใจ มีความประนีประนอม รู้จักผสมผสานสิ่งต่างๆ อันจะนำมาดำรงชีวิตได้ ไม่มีพวกเขาพวกเรา มีแต่เราคนไทยรวมทั้งรู้จักแก้ปัญหาต่างๆ และตีปัญหาให้กระจ่าง เพื่อให้เรื่องนั้นชัดเจนไม่คลุมเครือ ผู้ใหญ่ผู้บริหารทำตัวเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่ไม้หลักปักเลน สังคมก็จะไม่วุ่นวายด้วย มีการติดต่อสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ชัดเจน จงมาช่วยกันลดการแข่งขัน การขัดแย้ง และหันมาร่วมมือทำงานกันดีกว่า สร้างสรรค์กว่ากันเยอะครับ พี่น้อง

หมายเลขบันทึก: 204887เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จองแล้วรีบมาเขียนด้วยนะ น้องเอ่ย เดี๋ยวพี่จะนอนเลี้ยว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท