พระจริยวัตร


พระจริยวัตร

พระจริยวัตร "ประหยัด" สื่อสอนสั่งลูกหลานไทย

เดลินิวส์ วาไรตี้

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของเครื่องใช้พากันปรับราคาสูงขึ้น หนทางแก้ไขเพื่อช่วยให้เราใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ผ่านพ้นวิกฤติการณ์เหล่านี้ไปได้ ก็เห็นจะเป็นการกินอยู่อย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฟุ้งเฟ้อ สมดังพระปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสอนสั่งลูกหลานไทยเสมอ...ให้รู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า "พอเพียง"

ตลอดระยะเวลา 54 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงแต่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎรตามพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" เท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงเป็นเสมือนครูผู้เป็นพ่อพิมพ์ของชาติ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับราษฎรไทยในเรื่องของการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย เพื่อความสุขที่แท้จริงอีกด้วย

"ทุกคราวที่บ้านเมืองต้องประสบกับเหตุการณ์คับขัน "ขวัญ กำลังใจ และสติ" ของคนไทยทั้งชาติจะได้รับการปลุกและปลอบประโลมด้วยพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา เฉกเช่นเดียวกับยามนี้ ยามที่ประเทศชาติต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง แต่ถึงกระนั้น หากคนไทยทุกคนสามัคคีกัน พร้อมใจกันน้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ไปประพฤติปฏิบัติตามโดยทั่วแล้ว เป็นที่เชื่ออย่างยิ่งว่า ครอบครัวและประเทศชาติของเราคงจะผ่านพ้นวิกฤติการณ์เหล่านี้ไปได้อีกครั้ง"

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวแสดงทรรศนะพร้อมบอกเล่าถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิตอย่างประหยัด และเรียบง่ายว่า พระจริยวัตรงดงามเป็นแบบอย่างของความเรียบง่ายขององค์เหนือหัวรัชกาลที่ 9 แจ้งประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรไทยมาเนิ่นนานตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ซึ่งภาพเหล่านั้นล้วนประทับอยู่ในใจของพสกนิกรไทยมาช้านาน

อันดับแรกคือเรื่องของ "ฉลองพระองค์" จากคำกล่าวเล่าของ ข้าราชบริพารท่านหนึ่ง เอ่ยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิม และฉลองพระบาทคู่เดิมมาเป็๋นเวลานานหลายปี อาจจะเรียกได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ก็ว่าได้ นอกจากนี้เรายังสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทรงโปรดฉลองพระองค์ที่เป็นผ้าไทยและเครื่องใช้ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยมากเสียยิ่งกว่าสิ่งของหรูหรา ที่มีตราประทับยี่ห้อดังสั่งตรงมาจากเมืองนอกเป็นไหน ๆ

สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้พระองค์จะประสูติ และเติบโตที่เมืองนอกแต่ความเป็นไทยก็มิได้ทรงเหือดหายไปจากพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย ผิดกับคนไทยสมัยนี้ที่ปล่อยให้อิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามาครอบงำ ทั้งในเรื่องของรสนิยมการแต่งกาย และค่านิยมที่จะต้องใช้ของแพง มียี่ห้อ จนไม่หลงเหลือความเป็นไทยไว้ให้ชื่นชม

อันดับสอง "หลอดยาสีพระทนต์" ซึ่งเรื่องนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนเล่าให้ฟังว่า ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ใช้อย่างประหยัดยิ่ง หลอดยาสีพระทนต์เปล่าของพระองค์นั้น พระองค์ทรงใช้จนแบนราบเรียบโดยตลอด คล้ายแผ่นกระดาษโดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวหลอด ซึ่งได้รับคำอธิบายจากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบนเรียบนั้นเป็นผลมาจากการใช้ด้ามแปลงสีพระทนต์ช่วยรีดด และกดเป็นรอยบุ๋มอย่างที่เห็นนั่นเอง

หรือจะเป็นในเรื่องของ "ดินสอไม้ในพระหัตถ์" ก็เช่นกัน ในทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ของสิ่งหนึ่งที่จะทรงใช้จดบันทึกข้อมูลอยู่ตลอดก็คือ ดินสอไม้ ซึ่งเหตุผลที่พระองค์ทรงใช้ดินสอไม้ราคาเยาทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงอยู่ในฐานะที่สามารถใช้ดินสอหรือปากการาคาแพงได้อย่างมิต้องกังวลก็คือ ทรงเห็นว่า การใช้ดินสอเมื่อเขียนผิดจะสามารถลบออกได้อย่างง่ายดาย ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน หากใช้ปากกาเมื่อเขียนผิดจะลบออกก็ไม่ได้ แถมยังสิ้นเปลืองกระดาษแผ่นใหม่ที่จะต้องนำมาใช้แทนอีก ทั้ง ๆ ที่งานที่เราต้องการก็เพียงแค่ชิ้นเดียว หรือแผ่นเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ในเรื่องของ "เครื่องประดับ" พระองค์ก็มิทรงโปรดที่จะสวมใส่สักชิ้น นอกเสียจากว่าจะทรงแต่งองค์เพื่อเสด็จฯ ไปในงานพระราชพิธีต่าง ๆ หรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเท่านั้น

ขณะเดียวกันที่ "ห้องทรงงาน" ของพระองค์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เตือนสติคนไทยได้อย่างมาก โต๊ะทรงงาน หรือเก้าอี้โยกรูปทรงหรูหราไม่เคยมีปรากฏในห้องนี้ ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งที่ว่า "...สำนักงานของท่านคือห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น และท่านก็ก้มทรงงานอยู่กับพื้น..." นั่นเอง นับเป็นแบบอย่างของความพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อโดยแท้ หรือแม้แต่ "สบู่" ที่ตามปกติหากเราใช้จนเหลือก้อนเล็กแล้วก็มักทิ้ง แต่พระองค์ไม่ทำเช่นนั้น ข้าราชบริพารในวังเล่าให้ฟังอีกเช่นกันว่า สบู่ที่ทรงใช้จนเหลือก้อนเล็กจะไม่ทรงทิ้งสักครา ทรงนำไปปะติดกับก้อนใหญ่อีกที และจะทรงทำเช่นนี้ทุกครั้ง ซึ่งพระราชจริยวัติที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ล่วนแล้วแต่เป็นเครื่องบ่งชี้ และเตือนใจให้คนไทยในยุคนี้สมัยนี้ได้ซาบซึ้งและเห็นถึงคุณค่าของวัตถุ และการมีชีวิตอยู่อย่างประหยัดได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นแบบอย่างอันดีงามให้กับชาวไทยในเรื่องของการรู้จักใช้สิ่งของต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่ามากที่สุดเท่านั้น พระองค์ยังทรงเป็นแบบอย่างของนักปฏิบัติสร้างสรรค์สิ่งของที่ไร้ค่าให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดที่จะประดิษฐ์คิดค้นสิ่งของต่าง ๆ จากวัสดุเหลือใช้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น ทรงนำเศษตะกั่วมทาหลอมเป็นที่ทับกระดาษ ทรงประกอบวิทยุแร่ขึ้นไว้ใช้เอง ฯลฯ ซึ่ง ดร.สุเมธ ยังได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า จากการที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมาเป็นเวลานานนับ 20 ปี ไม่เคยเห็นสักคราที่จะทรงทำอะไรอย่างไร้แก่นสาร พระองค์จะทรงไตร่ตรองและพิจารณาอย่างรอบคอบเสมอก่อนที่จะลงมือทำสิ่งใด และจะทรงระลึกทุกคราว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาใช้จ่ายเพื่อทำกิจกรรมใดนั้นต้องเกิดประโยชน์และได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด

ด้วยพระอุปนิสัยที่ทรงเป็นนักคิดค้นนักปฏิบัตินี้เอง จึงเป็นที่มาของการก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแต่ละโครงการก็ล้วนแล้วแต่นำประโยชน์มหาศาลมาสู่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติทั้งสิ้น การดำรงชีวิตอย่างราบเรียบ เป็นธรรมชาติ รู้จักกินรู้จักใช้ คือวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยที่ปู่ย่าตายายของเราเคยยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด

แต่ปัจจุบันสิ่งดีงามเหล่านี้กำลังเลือนหายไป อาจเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งทรงด้านสังคมและจิตใจ พระราชจริยวัติอันงดงามที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นหนทางสำคัญที่สามารถกระตุ้นเตือนให้คนไทยทุกคนหันกลับมาคิดทบทวนและเลือกที่จะประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกอีกครั้ง

การดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ไม่ใช่เพียงเพื่อการนำพาตัวเราไปพบกับความสุขที่แท้จริงของชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในการแก้ไขปัญหาและช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองของเราให้เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไปด้วย


                                                                                        หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544 หน้า 5

 

หมายเลขบันทึก: 205800เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท