เริ่มอ่านออกเขียนได้...ฝรั่งเขาสอนกันยังไง


ปรัชญาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสุขและสนุกกับการเรียนรู้

ทำไมเด็กไทยไม่รักการอ่าน?

ทำไมเด็กไทยอ่านหนังสือไม่แตก?

ทำไมเด็กไทยเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง?

ทำไมเด็กไทยพูดไทยไม่ชัด?

คำถามสุดท้ายตอบได้ง่ายที่สุดค่ะ ..ก็ดารานักร้องวัยรุ่นสมัยนี้พูดไม่ชัดนี่คะ หนูเลยเอาเยี่ยงอย่างค่ะ :-)

ฉันเองไม่ใช่ครูภาษาไทย และในความจริงก็ไม่ทราบเลยค่ะว่าในการศึกษาปฐมวัยที่เมืองไทย เขาเริ่มต้นสอนการอ่านออกเขียนได้ให้แก่เด็กไทยอย่างไรและใช้วิธีการไหนบ้าง

แต่เนื่องจากตอนนี้มาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย และมีเด็กชายอินดี้ ลูกชายวัยเริ่มต้นอ่านออกเขียน ติดสอยห้อยตามมาเรียนในโรงเรียนประถมของรัฐบาล ที่เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ด้วย ทำให้ได้รับรู้กระบวนการที่หลักสูตรของโรงเรียนเขาพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเด็กปฐมวัย จึงอยากมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนค่ะว่า โรงเรียนที่นี่เขายึดปรัชญาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสุขและสนุกกับการเรียนรู้ค่ะ แล้วเดี๋ยวจะเล่าในตอนต่อ ๆ ไปค่ะว่าเป็นสุขและสนุกกันยังไงบ้าง...เพราะฉะนั้นการเริ่มสอนเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ของเขาไม่รีบเร่งค่ะ  เด็กออสเตรเลียจะเริ่มเข้าโรงเรียนในระบบเมื่ออายุ 5 ขวบ อยู่ชั้นเตรียม ที่เรียกว่า  Preparatory year  ซึ่งเน้นการเล่น  การอยู่ร่วมกับคนอื่น และพัฒนาการทางอารมณ์อื่น ๆ ค่ะ ส่วนเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ในชั้น Prep ไม่เน้นเลยโดยสิ้นเชิงค่ะ เพียงแค่การสอนเรื่องตัวอักษรภาษาอังกฤษ เพื่อให้จดจำได้เท่านั้นเอง และในปลายปีของการเรียนก็จะฝึกให้เด็กเขียนชื่อตัวเองให้ได้ เท่านั้นเองค่ะ ...อินดี้มาเริ่มเข้าชั้น Prep ที่นี่ตอนเทอมสุดท้ายพอดีค่ะ

ในช่วงป.1 หรือ Year 1 จะเป็นช่วงเริ่มต้น (ซะที) การเรียนรู้เืพื่อการอ่านออกเขียนได้ เรียกว่า "เริ่ม" จริง ๆ ค่ะ อันนี้น่าจะเหมือนหลักสูตรการสอนภาษาไทยที่โดยทั่วไปเราก็สอนให้ท่องพยัญชนะก่อน ของเขาก็ให้รู้จัก A B C D... เช่นกันค่ะ แต่เขาใช้วิธีการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเราค่ะ...

การเรียนรู้และจดจำพยัญชนะของเขา ใช้เรื่องของ "เสียง" ของพยัญชนะตัวนั้นเป็นเครื่องมือค่ะ เช่น เมื่อเริ่มต้นที่ตัว A ซึ่งจะมีเสียงว่า "เอะ" มีอะไรบ้างที่เริ่มต้นด้วยเสียงนี้  ...ant...apple ...เด็ก ๆ ก็จะช่วยกันนึกและสนุกกันใหญ่ (แอบไปนั่งสังเกตการณ์มาค่ะ) เป็นต้น ทำไปเรื่อย ๆ วันละหนึ่งตัวพยัญชนะ จนจบถึง Z ค่ะ พอจบเสียงอักษรเดี่ยวก็เริ่มแบบสระทั้งแบบเดี่ยว ๆ และแบบอักษรผสมค่ะ

เท่าที่สังเกตจากอินดี้ เขาดูมีความสุขในการเรียนภาษาอังกฤษในระดับต้นนี้มาก และสามารถจดจำเสียงและคำที่ใช้พยัญชนะหรือสระได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกตัวอักษรทุกเสียงทุกสระจะมีเพลงง่ายๆ ประกอบตลอดค่ะ

นอกจากนี้ กระบวนการฝึกฝนการรักการอ่านของที่นี่ เขาจะเริ่มให้เด็กไปห้องสมุดประจำทุกวันศุกร์และให้ทุกคนยืมหนังสือมาได้คนละหนึ่งสัปดาห์ และสำหรับการเรียนในห้องเรียน ในทุกวันก็จะมีหนังสืออ่านเล่นง่าย ๆ หรือนิทานเล่มเล็ก ๆ กลับมาอ่านที่บ้านวันละหนึ่งเล่ม เขาเรียกว่า "home reading" ที่แต่ละเทอมก็เอาหนังสือที่มีความยากไต่ไปเรื่อย ๆ ค่ะ แล้วไม่ได้อ่านเฉย ๆ นะ ผู้ปกครองต้องบันทึกพฤติกรรมการอ่านใน log book ที่เขาแจกมาให้ด้วยค่ะ เป็น log book ที่มีช่องให้เติมง่าย ๆ หนังสือชื่ออะไร รูปแบบการอ่านเป็นยังไง อ่านให้ฟัง (to) อ่านด้วยกัน (with) หรืออ่านด้วยตัวของเด็กเอง (by) แล้วมีรูปหน้าคนว่าง ๆ ให้เด็กเติมปาก เติมตา เติมจมูกด้วยค่ะ เพื่อให้เด็กประเิมินตนเองว่าเขาชอบการอ่านในครั้งนี้หรือไม่ ...อินดี้สนุกกับการเติมอารมณ์ของตัวเองภายหลังการอ่านมากค่ะ

เอาเบื้องต้นพอหอมปากหอมคอก่อนนะคะ...แล้วจะมาเล่ากระบวนการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เขาจัดไว้ให้ฟังเพิ่มเติมในตอนต่อไ ปค่ะ




หมายเลขบันทึก: 205807เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เมื่อไร จะกลับมา ครับ เพิ่มรู้ว่า เดิม เรียนที่ รร.บ้านถ้ำทะลุ

สวัสดีค่ะ พี่ยุบ สบายดีนะคะ ขอบคุณที่เข้ามาทักทายเด้อค่ะ เพิ่งมาเองค่ะ ยังเรียนคืบหน้าไปไม่ถึงไหนเลย ขออีกซักสามปีค่อยกลับค่ะ แหงมละ...เราน่ะ เด็กหลังเขาของแท้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท