สอนลูกเองที่บ้านดีหรือไม่


โฮมสคูล

สอนลูกเองที่บ้านดีหรือไม่

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี

โฮมสคูล หรือการสอนหนังสือลูกที่บ้าน เป็นแนวการศึกษาทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลส่วนใหญ่มาจากผู้ปกครองหลายคนผิดหวังจากระบบการศึกษา และเห็นว่าการสอนลูกเองที่บ้านน่าจะมี คุณภาพมากกว่า

พ่อแม่ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงเริ่มต้นสอนหนังสือลูกเองโดยใช้แนวคิดหลาย ๆ แนวมาประกอบกันเป็นหลักสูตรโฮมสคูล อาทิ การศึกษาแบบวอลดอร์ฟ การศึกษาแบบองค์รวมโดยเน้นความสำคัญของทุก ๆ ด้านในการดำเนินชีวิต การศึกษาธรรมะ ฯลฯ หลักสูตรโฮมสคูลของแต่ละบ้านจึงไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ เน้นความสุขและการเรียนรู้ของลูกเป็นสำคัญ

ปัจจุบั พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับล่าสุด เปิดโอกาสให้พ่อแม่ องค์กร ชุมชน ฯลฯ สามารถจัดการศึกษาให้แก่บุตรได้จนถึงชั้น ม.6 การศึกษาแบบโฮมสคูลจึงเป็นทางเลือกใหม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งโฮมสคูลและการศึกษาในระบบโรงเรียนต่างก็มีทั้งข้อดีข้อด้อย ผู้ปกครองจึงควร ได้ฟังแง่มุมต่าง ๆ อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ

กนกพร สบายใจ (คุณแม่โฮมสคูล)

ดิฉันมีลูกชายหนึ่งคน เลี้ยงเขามาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตอนนี้อายุหกขวบ ดิฉันเคยส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลเหมือนกัน แต่เรียนได้แค่เทอมเดียวก็ตามคุณยายไปแม่ฮ่องสอน เพราะเราเห็นความสำคัญของความผูกพันธ์ใกล้ชิดระหว่างคนในครอบครัวและ การเรียนรู้ประสบการณ์จากวิถีชีวิต บรรพบุรุษและกิจกรรมทางศาสนามากกว่าการเข้าเรียนในระบบโรงเรียน จนกระทั่งลูกอายุหกขวบ ถึงวัย ต้องเข้าเรียน ป.1 ครอบครัวของเราก็ต้องหาคำตอบเรื่องการศึกษาของลูกว่าจะทำอย่างไรต่อไป พอดีกระแสการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ครอบครัวสามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดิฉันจึงพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสวงหาทางเลือกทางการศึกษา ให้แก่ลูก โดยมีเหตุผลที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังซึ่งเกิดจากคำถามของลูกว่า ทำไมแม่ไม่สอนลูกเอง เพราะลูกอยากไปวัดกับแม่เหมือนเดิม ถ้าลูกไป โรงเรียนลุกก็จะไม่ได้ไปวัดอีก

หลักสูตรที่ใช้จะเน้นที่วิถีชีวิตเป็นหลัก โดยสอนให้เขารู้บทบาทหน้าที่ของเขาในแต่ละวัน ดิฉันให้โอกาสเขาทำทุกอย่างด้วยสำนึกและจิตวิญญาณ ของเขา ให้เขารู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว รู้หน้าที่ในชีวิตประจำวัน ดูแลตัวเอง ช่วงพ่อแม่ทำงานบ้านตามความพร้อมซึ่งเหล่านี้จะพัฒนา ไปตามวัย สอนให้เขารู้จักตัวเองและคนรอบข้า โดยเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ไปตามจังหวัดของชีวิตที่เหมาะสม

ดิฉันวางแผนการสอนลูกด้วยการยึดเอาโครงสร้างทางระบบชีววิทยาเป็นตัวตั้ง ใช้พัฒนาการในทุกด้านและสิ่งแวล้อมที่จะมีผลกระทบ มาเป็นแนววิเคราะห์ เพื่อสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องตามวัย โดยที่ยังอยู่ในวิถีชีวิตที่รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีไทไว้ในเชิงปฏิบัติ มากกว่าทฤษฎี การถ่ายทอดเนื้อหาจะไม่ได้ยึดเนื้อหาในหนังสือกระทรวงทั้งหมด เพราะดูแล้วมันมากเกินไป และบางอย่างก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เราก็มั่นใจว่า ลูกของเราจะต้องมีความรู้ไม่น้อยกว่าที่มาตรฐานการศึกษากำหนดไว้แน่นอน สิ่งที่จะต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนคือกระบวนการ หรือวิธีการเรียนรู้

ตัวอย่างกิจกรรมของดิฉันกับลูก เช่น ดิฉันจะมีสมุดบันทึกเล่มที่บันทึกเรื่องต่าง ๆ ที่เราอยากคุยกับลูก และลูกอยากคุยกับเรา ช่วงเช้าเรา จะคุยเรื่องต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในสมุด เขาจะมีลูกพี่ลูกน้องอีกสอนคนที่จะเรียนด้วยกัน เขาจะได้เล่นกันเองและปรับความสัมพันธ์เชิงกลุ่ม กิจกรรมที่สำคัญที่ถือเป็นวิถีชีวิตของครอบครัวคือ การพาเด็ก ๆ ไปวัดในวันพระ

ดิฉันจะเลี้ยงลูกโดยปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเราไม่รู้ว่าธรรมชาติดั้งเดิมของเขามายังไง มันมีหลายอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตน เป็นจิตวิญญาณ ดิฉันปล่อยให้เขามีอิสระในชีวิตโดยมีกรอบของสิ่งที่ดีงามกว้าง ๆ คอยดูแลเขาอยู่ หากลูกทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนโดยตั้งใจก็จะตีบ้าง โดยอธิบายเหตุผลให้ฟังก่อน ไม่ใช่ตีพร่ำเพรื่อ เพราะเด็กในโรงเรียนที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากถูกครูตีด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล

ดิฉันคิดว่า ในวัยเด็ก ถ้าพ่อแม่ใกล้ชิดกับลูก ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีให้ลูกได้ เขาก็จะรู้จักเลือกรับในสิ่งที่ดี เมื่อเขาเริ่มเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง รู้จักเลือกสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ตัวเองและคนรอบข้าง หลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดีในชีวิตได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพ่อแม่ผลักภาระความรับผิชอบให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนในชีวิตของลูกมากเกินไป

ถ้าบอกว่าเด็กโฮมสคูลไม่มีสังคม ดิฉันต้องขอถามกลับว่า เด็กที่ไปโรงเรียนมีสังคมที่ดีหรือเปล่า ดิฉันคิดว่าเด็กโฮมสคูลจะมีสังคมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่เป็นคนปิดตัวเองหรือเปล่า สำหรับดิฉันเราเปิดโอกาสให้ลูกเจอสังคมตลอดเวลา มีทั้งครอบครัวเราและครอบครัวญาติ เพื่อนฝูง ดิฉันจะปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้จากสังคมจริง ๆ ที่มีทั้งเด็กและผุ้ใหญ่ เพราะทุกคนรอบข้างเป็นครูได้ทั้งนั้น และไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครสอนสิ่ง ที่ไม่ดีแก่ลูก เพราะเราจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับลูกตลอดเวลา

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูลอย่างแรกคือ ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นพ่อเป็นแม่ที่จะถ่ายทอดความรู้สึก ถ้าชัดเจนตรงนี้แล้ว การเรียนรู้ด้วยกันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา พ่อแม่ต้องมีคำตอบชัดเจนว่าการศึกษาในชีวิตคืออะไร ถ้าตอบได้ก็จะทำตรงนี้ได้ และต้องมั่นใจว่า อย่างน้อยประสบการณ์ที่เราถ่ายทอดให้ลูกไม่ควรแคบกว่าที่สังคมมีมาตรฐานอยู่ในทางที่ถูกต้อง

สอง พ่อแม่จะต้องมีเวลา ต้องมีคนใดคนหนึ่งไม่มีหน้าที่ประจำในองค์กร เพราะถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีใครดูแลลูก การทำโฮมสคูลทำได้โดยไม่ จำกัดฐานะ หากพ่อแม่เข้าใจความหมายว่าการศึกษาในชีวิตที่แท้จริงคืออะไร เพราะการเรียนรู้ในการพัฒนาวิถีชีวิตคนไม่จำเป็นต้องอยู่ใน ระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

ลูกของดิฉันเขาไม่รู้สึกอายที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนมีชื่อเสียง เวลาใครถาม เขาจะตอบอย่างภูมิใจว่า คุณแม่เป็นคนสอน ตอนแรก ๆ คนใน สังคมก็มีปฏิกิริยาตอบสนองเด็กโดยเอาค่านิยมสังคมเป็นตัววัดด้วยการทำสีหน้าแปลก ๆ จนลูกของเรารู้สึกว่าพูออะไรผิด พอลูกกลับบ้าน เราก็จะคุยกับเขาว่าทำไมเขารู้สึกอย่างนี้ แล้วเราทำตรงนี้เพราะอะไร เมื่อลูกชัดเจนก็เกิดความภูมิใจในสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวแปลก ของสังคม เพราะนี่คือวิถีชีวิตของเรา

ดิฉันคิดว่า ถ้าลูกต้องการเข้าโรงเรียนเมื่อไหร่ก็จะเปิดโอกาสให้เขาทันที แต่เท่าที่ดูแล้ว คิดว่าเด็กที่เรียนรู้อยู่กับบ้านแล้วจะไม่อยากเข้า โรงเรียนเลย ยิ่งถ้าใจชีวิตของเขาเสี้ยวหนึ่งเคยสัมผัสกับวิธีการเรียนในระบบ เพราะเขาจะรู้ดีว่าการที่เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำด้วยความใฝ่รู้ ของเขาเองต่างจากการที่เขาต้องทำในสิ่งที่เหมือนกันกับเพื่อนทั้งห้องอย่างไร

เป้าหมายของการสอนลูกเองที่บ้านของครอบครัวเราคือ การที่พ่อแม่มีความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมฝึกพัฒนาการการเรียนรู้ชีวิต เบื้องต้นให้แก่ลูก บนพื้นฐานของวิถีชีวิตที่เป็นความจริง เพื่อให้ลูกได้สร้างสรรค์และเลือกวิถีทางของการฝึกพัฒนาการอย่างมีความสุขใน กรอบชีวิตที่ดีงามตามหลักพุทธศาสนา โดยเรียนรู้ว่าเขามีชีวิตและเติบโตมาเพื่ออะไร ไม่ใช่เติบโตมาโดยไม่รู้จักตัวเอง และจะรักษาชีวิตได้อย่างไร ที่จะสร้างคุณและค่าเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสังคมและเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันควรเป็นที่รักของคนในชาติทุกคนได้อย่าง ถูกต้องเหมาะสม

อาจารย์สำเร็จ จันทร์โอกุล (ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก)

ผมเห็นด้วยกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่เปิดโอกาสให้มีโฮมสคูลเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษานั้น นอกจากจะเน้นปฏิรูปการจัดการ ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยเน้นให้เด็กได้พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพแล้ว ยังมุ่งให้บุคคล ครอบครัว องค์กร ชุมชนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากกว่าเดิม

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษาในระบบโรงเรียนยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง เช่น ด้านคุณภาพ และความเสมอภาค ดังนั้นโฮมสคูลจึงเป็น อีกทางเลือกหนึ่งของผู้ปกครอง นอกจากนั้นการมีโฮมสคูลยังจุดประกายการแข่งขันให้ระบบโรงเรียน พร้อม ๆ ไปกับการเกิดการทำงาน ประสานกันอย่างเข้มแข็งเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนและการเป็นเครือข่ายการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองที่จะจัดโฮมสคูลควรตระหนักด้วยว่า การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไม่ใช่เพียงแค่เรียนความรู้ให้ดีที่สุดเท่านั้น จะต้องพัฒนาทุกด้าน ต้องจัดกิจกรรมให้หลากหลายคุณภาพจริง ๆ หากผู้ปกครองขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและไม่มีเวลาเพียงพอในการอบรม เลี้ยงดูแลจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ การเรียนของเด็กก็อาจจะไม่ดี หรือต่างไปจากการเรียนในโรงเรียน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กโฮมสคูลคือเรื่องการปรับตัว การเข้าสังคมและการเผชิญปัญหาชีวิตในสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน หลากหลาย เพราะเด็กคงไม่ได้อยู่ในหมู่เพื่อนจำนวนมาก เหมือนในโรงเรียน ประสบการณ์การสื่อสารอารมณ์และความรู้สึก การทำงานและการอยู่ร่วมกัน กับผู้อื่นน่าจะน้อยกว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียน ผมเชื่อว่าประสบการณ์จริงเป็นสิ่งมีค่าที่สุด เด็กโฮมสคูลอาจได้รับแต่ความรู้และประสบการณ์ที่ดีที่สุด ตลอดเวลา แต่ในโลกของความเป็นจริง มันจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องอยู่คนเดดียวหรือออกไปสู่สังคมใหญ่ เขาอาจจะด้อย ประสบการณ์ในการเผชิญปัญหาหรือตัสินใจ การตัดสินใจผิดในบางเรื่อง เขาอาจจะไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกเลย

ผมมั่นใจว่าจริง ๆ แล้วคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบการศึกษา แต่ขึ้นกับคุณภาพการจัดการศึกษามากกว่า ข้อค้นพบที่ชัดเจนในเวลานี้คือ สติปัญญาหรือความรู้ดีมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิตไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 75 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่อง ของอารมณ์และการเข้ากับคนอื่นได้ คนที่จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดี เข้าใจคนอื่นและมีความมุ่งมั่นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ทุกวันนี้การศึกษาในระบบโรงเรียน เราพยายามลดการยัดเยียดความรู้ลง เราพยายามเน้นกระบวนการประสบการณ์ตรงและพัฒนาด้านอารมณ์ มากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือโฮมสคูล ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเด็กเหมือนกัน

ผู้ที่จะจัดการศึกษาเองควรเข้าใจธรรมชาติของเด็กและหน้าที่ของการศึกษาแต่ละระดับเป็นอย่างดีด้วยว่า ในวัยแรกเกิดถึงวัยอนุบาลเป็น ช่วงเวลาของการสร้างเสริมพัฒนาการทุก ๆ ด้าน เพื่อเป็นรากฐานที่ถูกต้องมั่นคงของชีวิต ในระดับประถมศึกษาเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้พื้นฐาน ทุกวิชาและพัฒนาจริยธรรม พอถึงช่วงมัธยมศึกษาก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสำรวจ ค้นหาความสนใจ ความถนัดที่แท้จริงก่อนจะเลือกก้าวเข้าสู่ สาขาวิชาชีพใดในอนาคต

เด็กอนุบาลจะเรียนรู้ผ่านการเล่นและประสบการณ์ตรงที่เหมาะสมตามวัย เด็กประถมก็ยังเรียนได้ดีจากประสบการณ์ตรงแบบต่าง ๆ ทั้งเด็กอนุบาลและประถมจะเป็นวัยที่ชอบเล่นมาก ๆ ขนาดเด็ก ป.2 - ป.4 หมอยังเรียกว่า Dirty age หรือวัยสกปรก เด็กจะเล่นเป็นกลุ่ม ๆ และเริ่มแยกเพศชัดเจนขึ้นช่วง ป.4 - ป.6 ครั้งถึงระดับมัธยม การเล่นแบบเด็ก ๆ ค่อย ๆ หมดไป เด็กจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อน และสนใจเพศตรงข้ามมากขึ้น

ความจริงการส่งลูกเข้าโรงเรียนก็มีข้อดีอยู่มาก โดยเฉพาะประสบการณ์จริงด้านการปรับตัว การแก้ปัยหา และด้านสังคม เวลาเขาอยูในกลุ่ม เพื่อนมากกมายนั้น เขาจะพบเหตุการณืต่าง ๆ ไม่เหมือนอยู่บ้านหรือกับกลุ่มเล็ก บางครั้งเมื่อเขากระทบกระทั่งกันจนบาดเจ็บเป็นแผล เขาเรียนรู้ ที่จะอดทนและดูแลตนเองได้ทั้งวัน ถ้าอยู่กับพ่อแม่คงไม่ใช่ เพราะความรักอาจทำให้ปกป้องมากไป ลูกเจ็บนิดเดียว พ่อแม่บางคนทุกข์แทบตายและ รีบพาไปรักษาราคาแพง ๆ โดยไม่จำเป็น เด็กจะเรียนรู้ความทุกข์นั้นจากพ่อแม่ ทำให้เปราะบางกว่าที่ควร นอกจากนั้นกิจกรรมหลายอย่างในโรงเรียน ยังเป็นเป้าหลอมชีวิตที่มีค่ายิ่ง อย่างเช่น การแข่งขันกีฬาสี เด็ก ๆ จะได้ในเรื่องสปิริต การร่วมมือ การแก้ปัญหา การวางแผน รักกัน สุขและทุกข์ ร่วมกัน เรียนรู้ที่จะยอมรับความพ่ายแพ้และสุขใจเมื่อได้ชัย ตรงนี้จะติดตัวเขาไปกระทั่งเติบใหญ่ในการดำรงชีวิต ทำงาน และอยู่ร่วมกับผู้อื่น เด็กโฮมสคูลจะมีโอกาสได้รับประสบการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าคิดคือ สังคมไทยยังให้ความสำคัญในเรื่องศักดิ์ศรีสถาบัน และรุ่นกันอยู่มาก หลายครอบครัวต้องการให้ลูกเข้าโรงเรียนดี ๆ จะได้มีเพื่อนร่วมรุ่นคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีความภาคภูมิใจในตนเองเมื่ออยู่ในสังคม ในส่วนี้เด็กโฮมสคูลจะด้อยกว่าไหม อีกอย่างคือ เมื่อเด็กโฮมสคูลเข้าสู่มหาวิทยาลัยเขาจะปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ได้ดีหรือไม่ จะรู้สึกแปลกแยกหรือไม่

โฮมสคูลอาจไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับหลายครอบครัว ระบบโรงเรียนเองก็มีข้อดีอยู่หลายประการ ไม่เช่นนั้นทุกประเทศคงไม่ยึดระบบโรงเรียนเป็นหลักใหญ่ของการจัดการศึกษา การมีโฮมสคูลมาร่วมแนวทางและแข่งขันกันพัฒนาก็ดีเหมือนกัน

ถ้าผมมีโอกาสเลือก มีความพร้อมและมีเวลา ผมก็อยากจะเลี้ยงลูกเองและจัดการศึกษาระยะแรกให้ลูกประมาณไม่เกิน ป.3 หลักจากนั้น ก็จะส่งลูกเข้าโรงเรียน เพราะอยากให้ลูกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ ได้เรียนรู้ชีวิตทั้งผิดหวัง สมหวัง ดีและไม่ดี เพื่อจะเป็นภูมิคุ้มกันและ มีประสบการณ์แท้จริง เมื่อโตขึ้น เมื่อเขาทำงานเพื่อส่วนร่วม เขาจะเป็นคนที่เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ดี


นิตยสาร สารคดี ปีที่ 15 ฉบับที่ 175 กันยายน 2542

คำสำคัญ (Tags): #โฮมสคูล
หมายเลขบันทึก: 206208เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท