BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประพฤติเป็นผู้ห่าง


ประพฤติเป็นผู้ห่าง

ว่าจะเขียนเล่าคำนี้นานแล้ว (อ้างถึง บันทึกนี้... ) ติดขัดอยู่ว่านึกไม่ออกว่าคำนี้บาลีใช้คำไหน ลองถามเพื่อนบางรูป ก็ยังไม่เจอผู้ที่พอรำลึกได้ จึงยืดระยะมา วันนี้จึงจะเล่าเพียงพอได้ความ ส่วนคำบาลีนั้น เจอเมื่อไหร่ก็จะนำเล่าต่ออีกครั้ง...

ประพฤติเป็นผู้ห่าง หมายถึง พระภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะใกล้ชิดหรือสนิทสนมคุ้นเคยกับญาติโยมคนใดหรือตระกูลใดเป็นการส่วนตัว แม้มีสาเหตุให้ต้องคุ้นเคยกัน ก็พยายามปลีกตัวออก เว้นระยะห่างไว้ มิให้ความสนิทคุ้นเคยนั้นใกล้ชิดยิ่งขึ้น... ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้น พระภิกษุผู้ได้รับการยกย่องว่าประพฤติเป็นผู้ห่าง เท่าที่พอจะจำได้ก็คือพระมหากัสสปะ...

ตามประวัติพระมหากัสสปะ ท่านเป็นลูกเศรษฐี เมื่อหมดบุญพ่อแม่ก็ยกทรัพย์สมบัติให้ญาติและบริวารทั้งหมด ส่วนตนเองสมัครใจออกบวช... เมื่อพิจารณาสถานะเดิมทำนองนี้แล้ว ก็อาจคาดหมายว่าท่านน่าจะเป็นผู้มีบารมีพอตัว (ตามสำนวนปัจจุบัน) ดังนั้น ท่านคงจะเบื่อต่อสถานะเดิม เมื่อบวชแล้วจึงไม่อยากจะข้องแวะใกล้ชิดกับใคร สมัครใจถือธุดงค์เพื่อเป็นกรอบกำหนดให้ใช้ชีวิตปลีกตัวหรือห่างเหินจากบรรดาญาติโยมมากยิ่งขึ้น...

ตรงข้ามกับประพฤติเป็นผู้ห่างก็คือ การประจบคฤหัสถ์ เช่น พระเทวทัต ผู้ซึ่งใช้วิธีการคลุกคลีกับญาติโยมเพื่อแสวงหาความเป็นใหญ่ โดยแสดงฤทธิ์ให้เป็นที่เลื่อมใสของอชาตศัตรูราชกุมาร... ภายหลังพระเทวทัตคิดการใหญ่โดยยุยงให้ราชกุมารปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วตนเองจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า...

นั่นคือเรื่องราวครั้งพุทธกาล...  สำหรับพระ-เณรในปัจจุบัน ก็ยังคงมีอยู่ทั้งผู้ที่ประพฤติออกห่าง ไม่ชอบการคลุกคลีกับคฤหัสถ์หรือสนิทสนมกับใครเป็นการส่วนตัว ท่านเล่าข้อเสียของการสนิทสนมคุ้นเคยกับคฤหัสถ์ไว้ทำนองว่า ต้องพลอยยินดียินร้ายกับพวกเค้าในเรื่องต่างๆ เช่น มีใครเกิดป่วยไข้ประสบเคราะห์กรรมบางอย่าง ก็ต้องมาเยี่ยมเยียนเพื่อเป็นกำลังใจ หรือมีใครถึงแก่กรรมก็ต้องไปร่วมเศร้าเสียใจร่วมไว้อาลัย... อีกเรื่องราวที่เค้ามาบอกมาเล่าให้ฟัง เราก็อาจต้องพลอยวิตกกังวลไปด้วยกับเค้า ลูกน้อยของเค้าจะสอบเรียนต่อได้หรือไม่ ลูกคนโตที่แต่งงานไปจะอยู่กันได้หรือไม่ หรือจะทำอย่างไรให้ผัวเมียคู่นั้นคืนดีกัน ไม่ระหองระแหงกันดังปัจจุบัน เพราะทั้งสองคนก็คุ้นเคยกับเรา... ซึ่งการมัวแต่พลอยยินดียินร้ายหรือวิตกกังวลเรื่องของเค้าทำนองนี้ จะก่อให้เกิดความเนิ่นช้าต่อเราในการบำเพ็ญสมณธรรม หรือเสียเวลาเปล่าๆ นั่นเอง

แต่อีกมุมมองหนึ่ง การประพฤติเพื่อจะเป็นผู้คุ้นเคยหรือใกล้ชิดกับคฤหัสถ์นั้น อาจช่วยให้เราเดินทางได้สะดวก อบอุ่นใจ มีที่พึ่งพิงในยามเจ็บไข้ หรือได้รับการช่วยเหลือคราวที่จำเป็นและไม่จำเป็นได้โดยไม่ยากนัก... บางรูปนั้น ก่อนบวชไร้ญาติขาดมิตร เมื่อบวชแล้วจึงพยายามสร้างญาติมิตรขึ้นมา... หรือบางรูปนั้น วงศาคณาญาติเดิมเป็นมิจฉาทิฎฐิ ตระกูลต่ำต้อย ขัดสน ฯลฯ เมื่อบวชแล้วจึงพยายามคบหาวงศาคณาญาติที่เป็นสัมมาทิฎฐิ ตระกูลสูงศักดิ์ ร่ำรวย... เป็นต้น

มีเรื่องเล่าที่เป็นจริงว่า... พ่อท่านเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง วัดอยู่นอกเมือง เมื่อเดินทางเข้ามายังตัวตลาดในเมืองเพื่อซื้ออุปกรณ์บางอย่าง มาเห็นเด็กสาวเล็กๆ บ้านใกล้ร้านขายอุปกรณ์ ก็เกิดความเอ็นดู จึงทำความรู้จักคุ้นเคยนิดหน่อย... ๒-๓ เดือนต่อมา ท่านเข้ามายังตลาดอีก ก็นำมะม่วงช่อหนึ่งจากวัดมาฝากหลานสาวตัวเล็กๆ.... รวมความว่า ครั้งใดที่ท่านมาก็มักจะนำมะม่วงหรือของอื่นมาฝากหลานสาวเสมอ จนก่อให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยในที่สุด จนกระทั้งหลายปีต่อมาพ่อแม่ของหลานสาวคนนั้นจึงนำชุดรับแขกราคา (.......) ไปถวายที่วัด... สรุปว่า ชุดรับแขกนั้น อาศัยมะม่วงเป็นเหยื่อล่อได้มา แต่ต้องใช้เวลาหลายปี...

การประจบคฤหัสถ์เพื่อจะได้เป็นที่คุ้นเคยสนิทสนมนั้น จัดเป็นอาบัติอย่างหนึ่ง ตามพระวินัยเรียกว่า การประทุษร้ายตระกูล... ส่วนวิธีการประจบอย่างไรนั้นมีเล่าไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค (คลิกที่นี้) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องกุหนวัตถุ ( คลิกที่นี้) ซึ่งอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า กุหนวัตถุ นี้แหละ คือวิธีการสอนพระ-เณรให้ประจบคฤหัสถ์ แต่บอกว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง...

ตามที่เล่ามาก็เพื่อต้องการย้ำเตือนว่า... ถ้าเจอพระ-เณรที่ไม่ค่อยมีน้ำใจ ไม่ค่อยพูด ค่อนข้างจะถือตัว ถามไม่ค่อยตอบ พูดขวานผ่าซาก ฯลฯ ก็ให้คิดเถิดว่า ท่านรูปนั้น อาจต้องการ ประพฤติเป็นผู้ห่างตามปฎิปทาของพระมหากัสสปะ... แต่ถ้าเจอพระ-เณรที่มีน้ำใจ เจ้ากี้เจ้าการช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ มากเกินกว่าที่ร้องขอ มีวาจาจับใจไพเราะอ่อนหวาน ฯลฯ ก็ให้คิดเถิดว่า ท่านรูปนั้น อาจกำลังใช้ กุหนวัตถุตามปฏิปทาของพระเทวทัต...

หมายเลขบันทึก: 206752เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2008 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการพระคุณเจ้า

แจ่งแจ้งดีแท้เจ้าข้า..

ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจของพระในศาสนาพุทธครับ ทำให้นึกถึงแนวทางงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ต้องไม่กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายเสียเองครับ

P ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

 

วิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสังเกตและการมีส่วนร่วม... ระหว่างพระๆ และโยมๆ ในชีวิตประจำวันเราก็มีการวิจัยเชิงคุณภาพกันอยู่ (ไม่แน่ว่าจะตรงตามที่อาจารย์ว่าหรือไม่ ?)

ความเหมาะสม เป็นสิ่งที่ดิ้นหรือยืดหยุ่นได้ ดังนั้น ระหว่างการถือตัวอวดดีกับการประจบประแจง จึงมีความเหมาะสมอยู่กลาง ซึ่งเราต้องค้นหาเองโดยการวิจัยเชิงคุณภาพในการดำเนินชีวิต...

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่มหาชัยวุธ

เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ต้องการประพฤติตัวเป็นผู้ห่างเป็นอย่างดีเลยค่ะ ชอบหรือถ้าเลือกได้ ก็จะประพฤติตัวเป็นผู้ห่างเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าหลายอย่างวุ่นวายเหลือเกิน หลีกๆ ออกมาได้บ้างก็จะเป็นการดี แต่ถ้าเป็นหน้าที่ก็ยังจะต้องกระทำต่อไปค่ะ

Pกมลวัลย์

 

คำนี้ แม้ใช้สำหรับนักบวช แต่ถ้าชาวบ้านเล็งเห็นคุณค่าบางอย่างแล้วนำไปประยุกต์ใช้ ก็น่าจะพอไปได้เหมือนกัน...

อันที่จริงศิลปะการใช้ชีวิตในสังคม และความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน มิได้แตกต่างจากอดีตเลย เพราะรู้สึกว่าเรื่องทำนองนี้ มีเล่าไว้ในคัมภีร์ และในนิทานดึกดำบรรพ์มานานแล้ว...

เจริญพร

_/\_กราบนมัสการค่ะ

เก็บไว้ย้ำเตือนใจตัวเองเพราะช่วงนี้ทำงานให้วัดอยู่ เพราะตัวเองยังเป็นปุถุชนคนกิเลสหนาอยู่ค่ะ

_/\_กราบนมัสการค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท