งานวิจัยไม่ยากอย่างที่คิด


R2R VS CAR

วันนี้ เป็นวันสุดท้ายของการนำเสนองานวิจัยในงาน Thailand Research Expo 2008 ที่ Central World ที่ตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมรวม 3 วัน 4 รายการ เนื่องจากมีภารกิจอื่น ๆ จึงได้พยายามเลือกเวลาที่สะดวก  และลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เรื่องที่สนใจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการวิจัยในประเทศไทย  การวิจัยเพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ ระดับช่วงชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของพี่น้อง สพท.พระนครศรีอยุธยา เขต 1   นับว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง มีผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมาย จนเลยเวลาอาหารเที่ยง  ทุกคนรู้สึกว่าเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและคุ้มค่ามาก ๆ  ต้องขอชื่นชมคณะวิจัย ซึ่งท่าน ผอ.สพท. พระนครศรีอยุธยา เขต 1 ได้ให้ข้อคิดที่น่าประทับใจคือ การเป็นผู้นำองค์กร ต้อง "คิดง่าย พูดง่าย และทำให้ได้อย่างที่คิด"   ซึ่งน่าจะหมายถึงการคิดที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน  พูดให้เข้าใจง่าย ๆ  เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทำได้ และผู้พูดก็ต้องทำให้สำเร็จตามที่คิดและพูดให้ได้

สำหรับวันนี้  ได้เลือกที่จะเข้าฟังในหัวข้อ "งานวิจัยไม่ยากอย่างที่คิด"  เพราะลืมดูรายละเอียดของคณะวิทยากร เลยปรากฏว่าเป็นงานวิจัยที่ท่านวิทยากร เป็นคุณหมอ 3 ท่าน ที่เก่งมาก ๆ เพราะมีตำแหน่งเป็นถึงระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลและสถาบันที่เกี่ยวกับการวิจัยในโรงพยาบาลศิริราช...ต้องขออภัยที่ความจำระยะสั้น เพราะเอกสารวางไว้ที่โต๊ะทำงาน และกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ที่บ้าน และนักวิจัยจากเครือบริษัท แปลน ที่ทำหนังสือเกี่ยวกับคุณแม่ คุณลูก  คณะวิทยากรพยายามถามนำว่า มีใครที่มีประสบการณ์ทำงานในโรงพยาบาล หรือเกี่ยวกับสาธารณสุข หรือเป็นนักวิจัยมาบ้าง  ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ เราจะฟังรู้เรื่องมั้ยนี่ เพราะไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์เลย  วิชาสถิติก็อ่อนแอ ระเบียบวิธีวิจัยพอได้เรื่อง   แล้วจะเข้าใจ R2R หรือเปล่า  เอาหละ มาเข้าเรื่อง R2R ดีกว่า  ท่านที่รู้จักแล้ว ก็คงจะไม่ว่า ว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ถือว่า ได้อ่านบรรยากาศของการเสวนาก็แล้วกัน

R2R เป็นคำที่โดนใจมาก เพราะใช้ภาษาทันสมัย ประสาวัยรุ่นใช้เน็ต คือ มาจาก Routine to Research  หมายถึง การวิจัยที่เกิดจากการปฏิบัติงานประจำ นั่นเอง โดยมีคุณหมอและพยาบาล เป็นผู้ร่วมกันทำวิจัย คิดหานวัตกรรมที่จะนำมาให้บริการแก่คนไข้ให้ดีที่สุด  ฟังไปฟังมา ก็พอเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันกับ CAR (Classroom Action Research) ใน ห้องเรียนคุณภาพ ของเรานั่นเอง เพราะการวิจัยในชั้นเรียน ก็เป็นการวิจัยที่เกิดจากการปฏิบัติการสอนในห้องเรียน แล้วมีการบันทึกผล ปรับปรุง พัฒนาหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่สุด จนเป็นวิธีปฏิบัติที่ดี  มีนวัตกรรมเกิดขึ้น เหมือนกับที่เคยได้ยินมาว่า "มือขวาก็ทำงานประจำไป มือซ้ายก็หาวิธี หานวัตกรรมมาช่วยมือขวาทำงานให้เร็วขึ้น ดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น"  และงานวิจัย ก็ไม่ยากอย่างที่คิดจริง ๆ หากเราจะทำวิจัยเพื่อนำผลไปปรับปรุงและพัฒนางานได้จริง ๆ โดยอาจจะไม่ต้องใช้ค่าสถิติที่ยาก หรือซับซ้อน เพราะแม้แต่คุณลุง คุณป้า หรือนักวิจัของโครงการวิจัยเพื่อชุมชนเข้มแข็งของวิทยากรจากบริษัทแปลน ที่นำเสนอผลสำเร็จของการทำวิจัยในโครงการ ก็ช่วยจุดประกายของการทำวิจัยให้หลาย ๆ คนในห้องเสวนาได้โชติช่วงชัชวาลย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

คำสำคัญ (Tags): #kmobesa1#r2r
หมายเลขบันทึก: 209273เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาดู
  • หายไปนานมากๆๆ
  • ดีใจที่พบคนคิดเหมือนกัน
  • ขอบคุณครับ

เรียน อ.ขจิต ที่นับถือ

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะที่เป็นกำลังใจและคิดเหมือนกัน แต่ถ้าจะให้ทำวิจัยแบบเข้ม ก็ยังกลัว ๆ เหมือนกันค่ะ

ที่หายไปนานมาก ๆ ๆ ก็เพราะไปราชการนอกสำนักงานค่ะ  ที่บ้านยังห่างไกลความเจริญ ไม่มีโทรศัพท์พื้นฐาน ก็เลยออนไลน์ไม่ได้  วันดีคืนดี สำนักงานขายของหมู่บ้านลืมปิด wireless ก็พลอยได้อานิสงฆ์ไปด้วย  ใช้สัญญาณ GPRS หรือ Edge ก็ไม่ค่อยสะดวก เพราะห่างไกลเสาส่งสัญญาณ ขนาดมือถือยังต้องออกมาเดินโทรกันนอกบ้านเลยค่ะ

ท่านใดมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับคน Low Technology ช่วยทีนะคะ 

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท