สภาวะแวดล้อม ผลกระทบต่ออนาคตองค์กร


การพัฒนาองค์กร

สภาวะแวดล้อม ผลกระทบต่ออนาคตองค์กร

                ในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันรุนแรงแบบไร้ขอบเขต โดยไม่เลือกสถานที่และเวลา ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ ไม่อาจอธิบายความเป็นไปในอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำ หรือไม่สามารถที่จะยึดเอาเหตุการณ์ในอดีตเป็นตัวอย่างในการเลียนแบบได้ ดังนั้น คำว่ายุทธศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยการคาดการณ์ที่แม่นยำและสร้างภาพหมายที่จะไขว่คว้าให้ได้ อันนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษสำหรับผู้นำ แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏคือ ผู้ที่ศึกษาค้นคว้ามาก คนที่อ่านหนังสือมาก เท่ากับเป็นการเติมทุนทางวิชาการตลอดเวลา มักจะเป็นคนที่คาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร    คุณบุญคลี ปลั่งศิริ  คุณชิน โสภณพานิช คุณธานินทร์ เจียรวานนท์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพที่จะทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจ ต้องจัดการเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้สอดคล้องได้อย่างลงตัวและคิดว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจในยุคของการแข่งขันแบบไร้ขอบเขต ของโลกไร้พรหมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวโน้มปรากฏการณ์ของเงื่อนไขสภาพแวดล้อมในอนาคต

                เงื่อนไขสภาพแวดล้อมในอนาคตที่อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กรหรือมีผลกระทบต่อการบริหารองค์กร โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจเอกชน มีดังนี้

1. การแข่งขันที่รุนแรงและไร้ขอบเขต ( Globalization) องค์กรธุรกิจในอดีตได้มองคู่แข่งเฉพาะตลาดภายใน (domestic market) และบอกว่ามีความเข้มแข็งหรือเก่งในบ้าน แต่เมื่อตลาดถูกขยายวงกว้างออกไปเป็นตลาดโลก หรืออีกด้านหนึ่งตลาดภายในประเทศถูกกลไกการค้าระหว่างประเทศบังคับทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้อยู่ในภาวะต้องเปิดกว้างและเสรีทางการค้า กระนั้นก็ตามในวงการค้าธุรกิจอุตสาหกรรมมีบางองค์การที่คิดที่จะแข่งขันเฉพาะตลาดภายใน เช่น ธุรกิจก่อสร้างของไทย ยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับงานในตลาดต่างประประเทศ หรือองค์กรที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันเสรีทางการค้า บริษัทไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มาจากต่างประประเทศที่กำลังเหนือกว่าทั้งทุน และความสามารถทางการบริหารจัดการ หากองค์กรไทยไม่พัฒนาตนเอง ในอนาคตอาจต้องสูญเสียสัดส่วนให้กับบริษัททุนต่างชาติ เช่น ปั๊มน้ำมัน ปตท. ปั๊มบางจาก ต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้ปั๊มเจ็ท เป็นต้น

                    ถ้ามองภาพของการแข่งขันในตลาดอื่น เช่น บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่น ต้องแข่งขันกับบริษัทยานยนต์ของอเมริกาและยุโรป ในการตลาดอเมริกา ตลาดยุโรป (EU market) หรือตลาดในภูมิภาคอื่น หรือบริษัทอังกฤษ ต้องปรับตัว เมื่อมีการแข่งขันในตลาดยุโรปการแข่งขันทางการค้าภายในตลาดทุนนิยมเสรีนับจะมีความรุนแรงและทวีความเข็มข้นขึ้นทุกขณะ องค์กรใดอ่อนแอที่สุดก็จะหายจากตลาดไปในที่สุดเช่นกัน

2. ความก้าวรุดหน้าของเทคโนโลยี ในอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาก้าวรุดหน้ามากและเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะธุรกิจคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะทำให้มีการผลิตสินค้าและบริหารใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เราจะเห็นรูปแบบบริการใหม่ ๆ เช่น หลายธุรกิจเข้าหาผู้บริโภค เช่น ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ อาทิ jusco , lotus และ 7- Eleven หลายธุรกิจมีการเสนอซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ธุรกิจร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าบริโภคจะลดขนาดพื้นที่ แต่มีของใช้ที่จะเป็นประจำวันให้เลือกมากมาย โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปควบคุม สต๊อกและควบคุมการจัดส่งสินค้า กล่าวคือ ทันทีที่หน้าร้านสะดวกซื้อจำหน่ายสินค้า ข้อมูลจะวิ่งเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดส่งสินค้า (logistics) แล้วสั่งการให้จัดส่งให้ร้านค้าโดยไม่ต้องมีการร้องขอจากทางร้านค้า ยิ่งมีการพัฒนานาโนเทคโนโลยี จะทำให้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ นี่คือเงื่อนไขสภาวะแวดล้อมที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารและพนักงานองค์กรยุคใหม่

3. ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเมืองโดยเฉพาะกระแสประชาธิปไตยได้แผ่ขยายไปทุกแห่งทั่วโลก ความเป็นประชาธิปไตยมีหลายระดับ ประเทศที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูง ก็พยายามจะใช้กระบวนการของความเป็นประชาธิปไตยปูทางเพื่อจะเข้าไปแข่งขันทางการค้าอุตสาหกรรม เพราะสังคมใดมีความเป็นประชาธิปไตย อำนาจตัดสินใจในนโยบายจะขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตได้ง่ายกว่าที่อำนาจตัดสินใจขึ้นอยู่กับรัฐบาล ที่มิได้มีฐานเสียงมาจากประชาชนส่วนใหญ่

                    ประเทศไทยก็เช่นกัน ระดับความเป็นประชาธิปไตยจะกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ระดับการพัฒนาจะไปอยู่ที่ท้องถิ่น ท้องถิ่นจะมีอำนาจมากขึ้น เมื่อประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ความมั่งคั่งจะกระจายไปยังภูมิภาค การที่ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นเท่ากับเป็นการชะลอความมั่งคั่งที่จะไหลบ่าเข้าส่วนกลางดังเช่นอดีต ในขณะเดียวกันสืบเนื่องจากความก้าวหน้ารุดหน้าของ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงกลายเป็นเส้นทางที่จะนำสินค้าและบริการมุ่งสู่ผู้บริโภคในท้องถิ่นจนถึงบ้าน กำลังซื้อจะกระจายไปยังท้องถิ่น ดังนั้น ธุรกิจบริการที่ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์จะเติบโต และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อสินค้าเสมอไป

4. องค์กรจะมีขนาดเล็กและมีความคล่องตัว การที่องค์กรใช้คนน้อยทำงานได้มาก จึงเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันตลาดการค้าเสรี การที่จะทำให้องค์การมีขนาดเล็กลงได้ จะมีองค์ประกอบอยู่สองประการใหญ่คือ พนักงานต้องมีความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติงานในอนาคต (competency) แม้งานในอนาคตจะมีความแตกต่างจากงานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถที่จะปรับตัวเรียนรู้งานได้เร็ว อีกประการหนึ่งคือ องค์กรต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยจัดการกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติงาน มิใช่ขึ้นอยู่กับความรู้ ความพอใจ ความเต็มใจและความขยันของพนักงาน อย่างไรก็ตาม องค์กรขนาดเล็กมิใช่คำตอบที่ถูกต้องที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จเสมอไป หากแต่ความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์กร (organizationl competency) ซึ่งจะมีส่วนผสมเป็นองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน คือ ทรัพยากร (resources) และความสามารถในการปฏิบัติงาน (capabilities)

5. พลังอำนาจของข้อมูลข่าวสาร Karl Mark  ปราชญ์เมธีการเมือง กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารเป็นแหล่งที่มาของอำนาจ และ Peter F.Drucker กูรูบริหารกล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารคือ อำนาจ  คำกล่าวของปราชญ์การเมือง และกูรูบริหารล้วนให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจทางการบริหาร และยิ่งตอกย้ำความสำคัญมากขึ้นไปอีก  เมื่อ David P. Norton และ Robert S. Kaplan ให้ข้อมูลข่าวสารเป็นทุนอย่างหนึ่ง (information capital) ที่มีความสำคัญในมิติของการเรียนรู้และการเติบโตที่เดียว (leaning & growth perspective) มีความสำคัญเท่าเทียมกับทุนมนุษย์ (human capital) และทุนองค์กร organizational capital) อธิบายขยายความ ทุนทั้งสามจะมีส่วนเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันที่จะพัฒนามิติกระบวนการภายในให้มีประสิทธิภาพ  (internal perspective)และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าในมิติของลูกค้า (customer perspective) และสร้างกำไรในมิติของการเงินตามลำดับ       ( financial perspective) ดังกล่าวคือ แนวคิดการบริหารของ David P. Norton และ Robert S. Kaplan

                    การบริหารจัดการในอดีตเราไม่ค่อยได้ยินผู้บริหารบ่นว่าขาดข้อมูลในการตัดสินใจเพราะรอข้อมูลได้ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้รุนแรงและรวดเร็วเช่นปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้เรามักได้ยินว่าผู้บริหารขาดข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและแม่นตรงในการตัดสินใจ ทั้งนี้แม้ข้อมูลที่ไหลบ่าไปทั่วทุกทิศทาง แต่ก็หาประโยชน์มิได้ หมายถึง ผู้บริหารและพนักงานมีฐานความคิดวิเคราะห์ไม่แข็งแรงพอ ก็จะทำให้ข้อมูลที่รับและส่งต่อไร้ค่า ไม่มีคุณค่าต่อการตัดสินใจใด ๆ นี่เป็นอีกภาระหนึ่งของผู้บริหารและพนักงานในปัจจุบันที่ต้องพัฒนาระบบความคิดให้มีความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลข่างสาร

6. ลูกค้าสำคัญตลอดกาล ในอดีตผู้ประกอบการมักยัดเยียดความต้องการให้แก่ลูกค้า เนื่องจากลูกค้าไม่มีโอกาสมากในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ แต่เมื่อมีการเปิดกว้างทางการค้ามากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต่างช่วงชิงลูกค้า จูงใจลูกค้า ให้ซื้อสินค้าของตน การค้าที่มุ่งเอากำไรในรูปของเงินอย่างเดียวอาจจะเกิดผลดีในระยะสั้น แต่จะทำลายความพึงพอใจของลูกค้าในระยะยาว ทางที่ดีที่ผู้ประกอบการควรกระทำคือ การสร้างคุณค่าสินค้าและบริการที่ลูกค้าควรจะได้รับ และเก็บเกี่ยวผลกำไรจากความพึงพอใจและความน่าเชื่อถือ ของลูกค้าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ และควรนำมาผสมเติมลงในตัวผลิตภัณฑ์ขององค์กรหากทำให้ลูกค้าจะเกิดความพึงพอใจแม้ใช้เงินมากในการซื้อสินค้าและบริการก็ไม่เสียดายเงินและเสียใจในภายหลัง ดังนั้น องค์กรธุรกิจผลิตสินค้าและบริการจะต้องตอบรับความต้องการของลูกค้าในเชิงคุณค่านอกเหนือจากรูปลักษณ์สินค้าแต่เพียงอย่างเดียว

7. อัตราการเพิ่มของประชากร สัดส่วนประชากรเพศหญิงจะมากกว่าเพศชายอายุเฉลี่ยของคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวกับเพศหญิงและคนชราจะมีอนาคตที่สดใส สำหรับตลาดโลกมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะประเทศที่เจริญ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อเมริกา ฯลฯ สังคมจะให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยมากขึ้น สินค้าที่ปนเปื้อนสารพิษจะถูกปฏิเสธ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค สินค้าที่อุปโภคบริโภคมีความปลอดภัยสูง

                    ในตลาดโลกแม้จะมีขนาดที่กว้างใหญ่ที่อิงกับฐานประชากร เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย บราซิล หรือการมองตลาดไปยังประเทศรอบข้างไทย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว เขมร หรือแม้กระทั่งในประเทศอาหรับ  แต่ก็มิได้หมายความว่าอำนาจการซื้อจะสูงตามไปด้วย ตลาดจะแบ่งเป็นสองระดับคือ ตลาดสินค้าที่จำเป็นต่อการยังชีพ เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ตลาดจะใหญ่มาก อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศมีกำลังซื่อไม่เท่ากัน สำหรับตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยตลาดที่มีฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เช่น ตลาดของกลุ่มคนรวยและคนชั้นกลางของประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย จะมีกำลังซื้อสูง จึงเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการ กล่าวคือ กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงเป็นตลาดอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของไทย ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ ตลาดสินค้าทางการเกษตร

8. การจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม องค์กรธุรกิจไทยจะประสบปัญหาด้านแรงงาน ทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานก่อสร้าง แรงงานเกษตร และประมง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยเปิดกว้างส่งเสริมทางการศึกษา คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก มีมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้จะเลือกงานและปฏิเสธการใช้แรงงานหรือแรงกาย ในขณะเดียวกันผู้ที่ผ่านกระบวนการศึกษาของระบบการศึกษาของไทยยังมีคุณภาพต่ำ ผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรี โท เขียนภาษาไทยไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อ่านแล้วไม่เข้าใจว่าประเด็นความสำคัญอยู่ตรงไหน ลำดับความคิดไม่ถูกต้อง สับสน เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงระบบการศึกษาที่เน้นประมาณมากกว่าคุณภาพ กระบวนการศึกษาเรียนรู้ของไทยอ่านและวงกลมเป็นก็สามารถจบปริญญาตรี โท ได้

                    ด้วยอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น องค์กรธุรกิจไทยต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของสังคม แรงงานต่างประเทศที่เข้าทำงานในประเทศไทยรวมทั้งต้องปรับกฎระเบียบที่รองรับการทำงานของสตรีเพศ ที่นับวันจะมีประมาณมากขึ้น

9. ขนาดของตลาดธุรกิจการค้า ตลาดการค้าเฉพาะภายในประเทศไม่เพียงพอต่อการค้าอุตสาหกรรมและดูเหมือนจะแคบลงถนัด เพราะจะมีผู้แข่งขันกันมากรายกว่าในอดีต และผลสืบเนื่องจากการเปิดกว้างทางการค้า และกระแสการค้าเสรีและการลดกำแพงการกีดกันทางการค้าในด้านภาษีจนไม่มีการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกัน ดังนั้นองค์กรจะมีการทำข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกัน (joint venture)หรือควบรวมกิจการ (merger & acquisition) การแข่งขันกันลดราคาสินค้าจะไม่ใช่แนวทางของการทำธุรกิจ เพราะในที่สุดเจ้งทั้งคู่ อุตสาหกรรมที่จะมีการจัดองค์กรเล็กลงและเป็นเครือข่าย โดยมีการ outsourcing มากขึ้น การค้าขายระหว่างประเทศจะมีการจับมือกันมากขึ้น มีการทำข้อตกลงในลักษณะทวิภาคี และขายความร่วมมือกันเป็นภูมิภาค แต่ความจริงใจระหว่างกันยังเป็นปัญหา เนื่องจากยังมีการคำนึงในเรื่องของความเป็นชาตินิยมและเชื้อชาติ ระหว่างกันซ่อนอยู่ภายใต้โต๊ะเจรจาการค้า

                10. กระแสประชาธิปไตย ลัทธิการเมืองแบบประชาธิปไตย กลายเป็นหัวหอกทางการค้า เพราะโดยเนื้อหาของระบบประชาธิปไตยเป็นการเคารพในความเป็นปัจเจกนิยม กล่าวคือ จะเคารพในลัทธิมนุษยชน และความเป็นมนุษย์ อธิบายขยายความ หมายถึง ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในนโยบายจะอิงกับฐานมวลชน ซึ่งจะมีลักษณะของการขับเคลื่อนที่มีทิศทางชัดเจนและเป็นวาระ  ต่างกับเผด็จการจะไม่ทราบทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ไม่ทราบว่าวันใดอาจถูกโค่นอำนาจลงเมื่อใดก็ได้ ความจริงฐานมวลชนก็คือ ขนาดของตลาดนั่นเองหากประเทศใดมีความเป็นประชาธิปไตยสูง นั่นหมายาถึง ถนนที่จะนำพาสินค้าและบริการมุ่งสู่ตลาดใหม่ เช่น ประเทศจีนเปิดกว้างทางการค้า รัสเซียเปิดกว้างทางการเมืองและการค้า ทำให้มีการติดต่อค้าขายกับโลกภายนอกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็กระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในของตนเอง กระทบต่อตลาดแรงงาน หากสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง อาจถูกสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าและมีมาตรฐานไม่ต่างกัน โจมตีตลาดเดิมของตนทำให้เสียส่วนแบ่งตลาด ในที่สุดต้องปิดกิจการลง โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูก มาตรฐานสมราคา

                11. อธิปไตยของรัฐลดลง สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อำนาจอธิปไตยของรัฐที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านองค์กรรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาลนั้น การใช้อำนาจมิอาจจะใช้ได้อย่างเต็มที่บนพื้นฐาน ในฐานะของความเป็นเอกรัฐ กล่าวคือ การใช้อำนาจนิติบัญญัติไม่สามารถออกกฎหมายให้ขัดต่อลัทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือขัดต่อมติของประชาคมโลกดังกล่าวจะกระทำมิได้ การกำหนดนโยบายของรัฐก็จะต้องคำนึงถึงหลักการสากล ไม่อาจกำหนดนโยบายที่ขัดต่อความเชื่อที่ยอมรับกัน เช่น การค้าต้องเปิดเสรีมากขึ้น การตัดสินใจต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่กว้างไกลออกไป และศาลเองต้องยึดหลักของกระบวนการยุติธรรมสากลเช่นกัน หากรัฐใดออกกฎหมาย หรือกำหนดนโยบายโดยไม่สนใจต่อกระแสความเป็นไปทางการเมืองประชาธิปไตย หลักความยุติธรรมสากล หรือกีดกันทางการค้าในลักษณะที่หยาบ เช่น การตั้งกำแพงภาษีหรือออกกฎข้อห้ามนำเข้าสินค้า ก็จะถูกต่อต้านจากประชาคมโลกเช่นกัน

                12. อิทธิพลนโยบายของรัฐต่อภาคธุรกิจ จากการศึกษาปรากฏการณ์เงื่อนไขสิ่งแวดล้อมของการบริหารองค์กรโดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลบางคน อาจจะบอกว่ายังห่างไกลหน้าที่งานที่ตนเองรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ความรู้สึกเช่นนี้ขึ้นอยู่กับระดับตำแหน่งงานและความสนใจของพนักงานแต่ละคน กล่าวคือ ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูง กรรมการผู้จัดการ (mamaging director) หรือเจ้าของผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวและมีอิทธิพลสูงมากต่อความเป็นอยู่และความเป็นไปขององค์กร แต่ถ้าเป็นพนักงานก็จะบอกว่าไกลเกินกว่าที่ตนเองจะศึกษาเรียนรู้ได้ เช่น นโยบายรัฐบาลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ นโยบายการสร้างระบบขนส่งมวลชน ย่อมกระทบต่ออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ดังที่ทราบแล้วว่าการบริหารองค์กรเป็นระบบเปิด (open system) ดังนั้น การบริหารองค์กรต้องวิเคราะห์นโยบายรัฐบาลให้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อสามารถกำหนดแผนกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

                นโยบายรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อการบริหารองค์กร ที่ผู้บริหารต้องติดตาม และรู้ทันให้ได้ อาทิ

1.       นโยบายภาษี หากการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงจะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ถ้าเก็บภาษีนิติบุคคลสูงจะมีผลกระทบต่อการลงทุนการลงทุน ในขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลเก็บภาษีต่ำก็จะไม่มีเงินเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศ ความพอดีที่รัฐบาลจะเก็บภาษีให้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศและประชาชนเต็มใจชำระภาษีเป็นความยากอย่างหนึ่งของการบริหารประเทศ

2.       การใช้จ่ายของภาครัฐ (public spending)การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการลงทุนในด้านใดมาก ด้านใดน้อยมีผลต่อการสร้างกำลังซื้อผ่านการสร้างงาน เช่น รัฐบาลมีการลงทุนในการสร้างระบบสาธารณูปโภค จะทำให้ธุรกิจการก่อสร้างขยายตัว และส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างขยายตัวตามไปด้วย

3. นโยบายการเงิน (monetary policy) หน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง ย่อมสงผลกระทบต่อการลงทุน ทำให้การลงทุนชะลอตัวหรือถ้ากำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำก็จะมีการกู้เงินไปลงทุนมาก อาจทำให้ขาดสภาพคล่องของเงินในระบบ เป็นต้น

4.       นโยบายการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (exchange ratemanagement) อัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว หรือคงที่ หรืออิงกับค่าเงินสกุลใด หรืออิงกับเงินหลายสกุลแบบถั่วเฉลี่ย เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าที่ส่งออก หรือนำเข้า กล่าวคือ ถ้าเป็นแบบลอยตัว ธุรกิจที่ค้าขายกับต่างประเทศจะต้องบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน

5.       นโยบายการส่งเสริมการลงทุน ไทยมีการส่งเสริมการลงทุนให้กระจายไปยังภูมิภาค โดยใช้เงื่อนไขภาษีเป็นปัจจัยจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อหวังสร้างงานให้ประชาชน การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศเจ้าของทุน เมื่อมีการส่งเสริมการลงทุนทำให้มีปริมาณเงินไหลเวียนเพิ่มในระบบ เป็นการสร้างความต้องการสินค้าและบริการอีกทางหนึ่ง

6.       นโยบายการกีดกันสินค้าหรือการกำหนดโควต้า ปัจจุบันการกีดกันทางการค้าที่ใช้ภาษีเป็นกำแพงกั้น ใช้ไม่ได้แล้วหากแต่มีการใช้มาตรฐานทางเทคนิค หรือความปลอดภัยในชีวิต หรือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องกีดขวางสินค้ามิให้ต่างประเทศ นำสินค้า เข้ามาขายแข่งในตลาดภายในของตน

7.       นโยบายการค้าเสรี การมีกฎหมายต่อต้านการผูกขาด สินค้าบริการใดที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ยอมปิดกั้นความสามารถและโอกาสในการแข่งขันการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ สังคมที่มีลักษณะผูกขาดธุรกิจที่จะไปได้ดีจะต้อง มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย

8.       นโยบายลดขั้นตอนการอนุญาต อนุมัติและการส่งเสริมภาคเอกชน รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการของภาคเอกชน สนับสนุนภาคเอกชนในการผลิตสินค้าและบริการวิธีการที่สำคัญ คือ ต้องมีการปรับแก้ไข ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวถ่วงต่อกระบวนการจัดตั้งโรงงาน การจดทะเบียนตั้งบริษัท ต่อการขนส่ง หรือต่อการส่งออก การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการลดต้นทุนสินค้าของภาคเอกชน และเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

9.       นโยบายการปราบปรามคอร์รัปชั่น การบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง การที่ราชการเป็นผู้กำหนดกฎกติกา โดยไม่มีความเข้าใจภาคธุรกิจ จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจ ระบบราชการเต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์และขั้นตอนมากมาย ผู้ประกอบการนักธุรกิจจะขยายธุรกิจของตนให้เติบโตได้ ต้องพึ่งพาคนราชการเร่งรัดอนุมัติ โดยมีการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกตามรายทาง ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง หรือไม่ก็ผลักภาระกลับไปยังสังคมและผู้บริโภคที่มีอำนาจด้อยกว่า

10.         เสถียรภาพทางการเมือง นับว่ามีความสำคัญมาก การที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง หรือมีการปฏิวัติ รัฐประหาร ทำให้ยากต่อการวางแผนพัฒนากิจการขององค์กรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ

11.   นโยบายอื่น ๆ เช่น นโยบายด้านพลังงาน การคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ นโยบายเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการบริหารองค์กร กระทบต่อต้นทุนการผลิต

เงื่อนไขทั้งหมดข้างต้น คือ สภาพแวดล้อมที่ผู้บริหารและพนักงานขององค์กรต้องรู้เท่าทันหาไม่แล้วจะทำให้ยุทธศาสตร์การบริหารองค์กรไม่มีความแหลมคม

หมายเลขบันทึก: 209295เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท