พุทธศาสนากับการทำบุญ


บุญที่แท้จริงคืออะไร ?

 

                ในบรรดาชนชาติต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาในโลก คนไทยนับว่าเป็นชนชาติที่นิยมการทำบุญมากที่สุดประเทศหนึ่ง  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ตามประวัติศาสตร์ยาวนานของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย   อยุธยา ธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตน-โกสินทร์ปัจจุบัน ด้วยคำสอนในทางพุทธศาสนาได้สอนให้ทำบุญให้ทาน จึงมีปรากฏว่า การทำบุญด้วยการให้ทาน ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาการทำบุญทั้งหลายของชาวไทย  วัดวาอารามได้ถูกสร้างขึ้นมากมาย ด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  สิ่งที่หวังจากการให้ทานก็คือ บุญ 

 ความเชื่อที่ผิดต่อการทำบุญ

                กาลเวลา ได้ผ่านเลยมาจากอดีตถึงปัจจุบัน  ทำให้ค่านิยมการทำบุญได้เปลี่ยนไป คงเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้สังคมไทยก้าวเข้ามาสู่สังคมแบบทุนนิยม ได้แก่สังคมที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในทางธุรกิจ  แนวคิดแบบวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ได้ติดตามมาระบบดังกล่าว จนยากหลีกเลี่ยงได้

                การทำบุญของชาวพุทธ มักจะมีเป้าหมายในทางวัตถุ มากกว่าเป้าหมายที่แท้จริงตามหลักพุทธศาสนา บางรายทำบุญเพื่ออยากร่ำรวย  ทำบุญเพื่อให้มีหน้ามีตาในสังคม  บางรายทำบุญเพื่อสะเดาะเคราะห์ เพื่อโชคลาภ  หรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย  เป้าหมายเหล่านี้เป็นเป้าหมายทางรูปธรรม หรือทางเพิ่มความโลภ ความเห็นผิดในการทำบุญมากกว่าที่จะเป็นการทำบุญด้วยปัญญา  บางรายถึงกับทำบุญแบบหมดเนื้อหมดตัว มีเงินมีทองเท่าไร ก็ทุ่มเทบริจาคอย่างสุดๆ จนเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว อันเกิดจากการทำบุญที่ผิดๆ

 ความหมายของบุญ

คำว่า บุญที่แท้จริงคืออะไร?  ทำอย่างไรจึงเรียกว่าทำบุญ  และการทำบุญทำได้กี่อย่างด้วยกัน ล้วนเป็นคำถามที่ชาวพุทธทุกคนควรตอบได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้องในเรือง บุญ

                บุญ คือความสุขใจ ความปีติเบิกบานใจ อิ่มเอิบใจ ความเย็นอกเย็นใจ อันเกิดขึ้นจากการกระทำความดี ประพฤติตนเป็นประโยชน์เกื้อแก่บุคคลอื่น  มีพฤติกรรมที่ดีงาม  มีวาจาที่ถูกต้อง  มีจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ  ก็ล้วนเป็นบุญทั้งสิ้น  ส่วนบาปก็มีลักษณะตรงกันข้ามคือ ความทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ คับแค้นใจ  กระสับกระส่าย ร้อนรนทางจิตใจ  อันเกิดขึ้นจากการกระทำความชั่ว

 ทำอย่างไร จึงเรียกว่าบุญ

                การกระทำที่เรียกว่าบุญ ได้แก่การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง  ดีงาม  ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ  เมื่อทำไปแล้ว ผู้ทำเกิดความรู้สึกเป็นสุขใจ เบิกบานใจ  มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ทำไว้ นี้เป็นผลแห่งบุญทีเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำในปัจจุบัน แม้ในขณะทำบุญก็มีความสุข  ซึ่งตรงข้ามกับการทำบาป เพราะในขณะที่ทำ จิตใจก็เป็นทุกข์ บาปที่ได้ทำแล้ว จะเกิดความทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ  เมื่อนึกถึงเมื่อใด ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ถือว่าเป็นการตกนรกทั้งเป็น

 เส้นทางแห่งการทำบุญ

                การทำบุญมีหลายอย่างด้วยกัน  ทำได้หลายประการ  แต่ชาวพุทธไม่น้อยมักจะเข้าใจว่าการทำบุญคือการบริจาคเงิน หรือสิ่งของเท่านั้น  พอนึกถึงการทำบุญ  ก็จะนึกถึงการบริจาค  ถือเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ครบถ้วนกระบวนการ เพราะการบริจาคเป็นเพียงการทำบุญอย่างหนึ่งในบรรดาของการทำบุญทั้งหลาย  หากกล่าวโดยย่อ การทำบุญมี ๓ ทางได้แก่  .การทำบุญทางกาย  คือใช้กายที่ถูกต้อง ไม่ใช้กายไปเบียดเบียนหรือสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่บุคคลอื่น,  .การทำบุญทางวาจา ได้แก่การใช้คำพูดในทางที่ถูกต้อง  ไม่ใช้วาจาในทางที่เสียหาย  ไม่เบียดเบียนทำลายผู้อื่นด้วยคำพูด, และ ๓.การทำบุญทางใจ  ได้แก่ การมีจิตใจที่เป็นธรรม  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตากรุณา ต่อผู้อื่น  เป็นต้น

                ลักษณะของการทำบุญ สามารถทำได้หลายประการอันได้แก่ การให้ทาน เสียสละวัตถุสิ่งของภายนอกแก่บุคคลอื่น เรียกว่า อามิสทาน หรือวัตถุทาน 

การทำบุญด้วยการให้ทาน นอกจากเป็นการเกื้อกูลแก่ผู้รับแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อการขจัดความหวงแหนในทรัพย์สินของเรา ไม่ให้มีการยึดติด ให้รู้จักการเสียสละ  เป็นการลดความตระหนี่ในใจให้ลดน้อยลง  ถือเป็นการขัดเกลากิเลสในใจเราด้วย, การให้อภัยแก่คนอื่นเมื่อพลั้งพลาด ไม่มุ่งร้าย ไม่อาฆาตพยาบาท เป็นการให้ทานประเภทที่สอง  เรียกว่าอภัยทาน ,

การให้คำแนะนำตักเตือนสั่งสอน ให้คำปรึกษาในเรื่องที่ดีมีประโยชน์แก่ผู้อื่น  ถือเป็นการให้ทานที่เรียกว่า ธรรมทาน  และเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ได้บุญมากที่สุด ในบรรดาการให้ทานทั้งหลาย  เพราะเป็นการให้สิ่งที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจ  ถ้าหากให้คำแนะนำ ตักเตือนให้เขาเป็นคนดีได้ ก็จะทำให้เขาสามารถมีความสุข หลีกหนีจากความชั่วได้

                การทำบุญสามารถทำได้หลายประการดังที่กล่าว  พระพุทธองค์ตรัสถึง สิ่งที่จะเป็นบุญได้ มี ๑๐ ประการ  ได้แก่   ทำบุญด้วยการให้ทาน   การรักษาศีล  เจริญภาวนา การฟังธรรม การแสดงธรรมหรือให้ธรรมทาน การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อกัน การเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น การมีจิตยินดีกับความดีกับผู้อื่น  การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น หรือแม้แต่การมีทัศนะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  ก็เป็นบุญตามหลักพุทธศาสนา

 เกณฑ์ตัดสินการทำบุญ

                ความเข้าใจในเรื่องการให้ทานมีเกณฑ์อย่างไร  บางท่านสงสัยว่าหากบริจาคมาก ก็ได้บุญมาก  หากบริจาคน้อย ก็ได้บุญน้อย อย่างนั้นหรือไม่  คำตอบที่ถูกต้องก็คือ  การให้ทานจะมีผลมากหรือผลน้อย หากขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการนี้ คือ

.  เจตนา คือความตั้งใจ จงใจจะถวาย และต้องมีเจตนาที่ดี  มีเจตนาที่เป็นกุศลในการถวายทาน ทั้งก่อนถวาย  เมื่อถวาย และหลังจากถวายแล้ว เจตนารมณ์ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

. วัตถุทาน  ได้แก่สิ่งของที่นำมาถวาย เป็นสิ่งของที่บริสุทธ์ ทั้งที่มาของสิ่งของ จะต้องได้มาโดยชอบธรรม  และลักษณะของสิ่งของที่ถวายจะต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับ ไม่เป็นสิ่งของอันเป็นโทษ

.  ผู้รับ  หมายถึงผู้ที่รับสิ่งของที่เราถวายเจาะจงผู้นั้น  ผู้รับอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ควรแก่การถวายทาน คือมีศีล มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง

เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๓ นี้แล้ว ก็จะทำให้ทานนั้นมีผลมาก  ถึงแม้วัตถุทานนั้นจะเป็นของน้อย มีราคาน้อยก็ตาม  ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าให้ทานที่ให้ ประกอบด้วยเจตนาที่แอบแผง เช่นให้ทานด้วยหวังจะได้ชื่อเสียง มีหน้ามีตา ให้ทานเพื่อหวังโชคลาภ อำนาจวาสนา แม้จะให้ทานมากก็จะได้ผลน้อย  ส่วนคนที่ให้ทานด้วยเจตนาที่ดี เพื่อหวังประโยชน์แก่ผู้รับ และหวังผลอันเป็นความสุขใจ เพื่อการขจัดกิเลสคือความโลภในสิ่งของให้เบาบางลงได้  แม้จะให้ทานน้อย  ก็จะมีผลมาก

สิ่งของที่เป็นวัตถุทานก็จะต้องเป็นสิ่งของที่บริสุทธิ์ หากโลภโกง คอรัปชั่น หรือลักขโมยของผู้อื่นมาถวาย  ทานนั้นก็จะไม่มีผลเป็นบุญ หรือมีผลน้อยที่สุด

ในส่วนของผู้รับ ถ้าเป็นผู้ที่มีศีล มีจริยาวัตรที่งดงาม ก็จะให้ทานนั้นมีผลมาก  ส่วนการให้ทานแก่ผู้ที่ไม่มีศีล หรือให้ทานแก่คนไม่ดี  รวมทั้งให้แก่สัตว์เดรัจฉาน  ก็ได้ผลเป็นบุญเช่นกัน  แต่ได้ผลน้อยกว่าผู้ทีมีศีล  พระพุทธองค์ตรัสว่า ทานที่พิจารณาดีแล้ว จึงให้ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ

ดังนั้นการทำบุญ  ควรคำให้ถูก  ไม่ควรให้ทานด้วยความโลภ ความขัดเคือง หรือด้วยความหลง ควรให้ทานโดยใช้ปัญญาประกอบ เราจะได้ผลบุญที่แท้จริง และการทำบุญใช่ว่าจะให้เงินทองวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น  หากแต่ทำได้หลายประการ

 

หมายเลขบันทึก: 209434เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท