KM2QA ที่คณะศิลปศาสตร์


“เชื่อว่าในองค์กรมีความสำเร็จอยู่ ถ้าจะจัดการความรู้ก็เริ่มที่ค้นหาความสำเร็จในองค์กรให้พบและพยายามหาทางขยายผลความสำเร็จนั้น”

          วันนี้ทางทีมคณะกรรมการการจัดการความรู้ คณะศิลปศาสตร์ชวนผมไปเป็นคุณอำนวย เพื่อจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะศิลปศาสตร์

          ผมได้พบกับทีมงาน และสอบถามถึงที่มาที่ไป เพื่อเตรียมความพร้อม ทราบมาว่าทางคณะได้มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานจากการประกันคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา (๒๕๕๐) และอยากทำให้เกิดการพัฒนาการประกันคุณภาพ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้มาช่วย ประเด็นแรกที่จะเริ่มแลกเปลี่ยน คือเรื่องของการจัดทำแผนกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน แผนการปฏิบัติการ และการกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ

          ทางคณะได้ชวน ผศ.โสภา อ่อนโอภาส และ ดร.จาตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ซึ่งเป็น Best Practice จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย ทำให้การเป็นคุณอำนวยของผมง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะทาง Best Practice ทั้งสองท่าน เตรียมสไลด์มาประกอบการแลกเปลี่ยนด้วย และยินดีที่จะตอบทุกคำถาม

          ส่วนตัวผมเองผมจะมีความรู้เรื่องของการวางแผนกลยุทธ์อยู่บ้าง จึงทำหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อให้ ความรู้ฝังลึกออกมาเยอะๆได้ง่ายขึ้น เรียกว่าพยายามตั้งคำถามที่เป็นเคล็ดลับในทำงานให้ออกมาให้ได้ ที่จริงผมก็ไม่ได้ถามอะไรมากครับ เพราะทางอาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์เองก็เตรียมคำถามไว้มากมายและถามเจาะลึกทีเดียว

          ประเด็นที่อาจารย์หลายท่านติดใจคือ วางแผนอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ง่าย แต่พอเอาเข้าจริงๆกลับทำยากเพราะมั่วแต่ถก หรือ ติดกับดักว่า คำนู้น คำนี้หมายความว่าอย่างไร  เช่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด ฯลฯ จนงงไปหมด กว่าจะลงตัวเรื่องตำตอบก็หมดแรงทำแผนแล้ว

          จากการแลกเปลี่ยนทาง Best Practice ทั้งสองท่านได้บอกว่า ระวังอย่าติดหล่ม ติดกับดัก ตัวนี้ ส่วนวิธีที่ท่านเสนอแนะให้กับทางคณะศิลปศาสตร์ คือ หาผู้รู้ (ซึ่งอาจเป็นภายในคณะศิลปศาสตร์เอง / ภายในมหาวิทยาลัย / หรือจะภายนอกก็ได้) แล้วใช้การประชุมโดยการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ ของแผนที่จะจัดทำขึ้น ตั้งแต่วิสัยทัศน์ ถึงโครงการกิจกรรมต่างๆ เลยทีเดียว ซึ่งสำคัญคือต้องเน้นที่การทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปร่วมกันด้วย อาจไปประชุมกันที่ต่างจังหวัดเพื่อให้ปลอดจากภาระงานและจะได้มุ่งความสนใจเต็มที่กับการวางแผน

          ผมชอบมากครับเพราะผมก็พยายามขายความคิดนี้อยู่หลายครั้ง (แต่อาจจะตัวเล็กเลยไม่ค่อยมีใครฟัง) ที่ชอบเพราะใช้คนที่ทำได้ ทำเป็น ซึ่งมีอยู่จริงในมหาวิทยาลัย คำแนะนำจากคนที่ทำจริงอยู่นี้จะปรับอีกเพียงเล็กน้อยก็ใช้ได้ เพราะได้ผ่านการพิสูจน์และทำจริงมาแล้วโดยเฉพาะผ่านการทำสำเร็จกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรของเราเอง และทำให้ผู้ทำงานจริงรู้สึกภาคภูมิใจและจะมีความสุขและรักองค์กรมากขึ้น  

         ไม่ใช้ว่าที่ปรึกษาภายนอกไม่ดีนะครับ ที่ปรึกษาภายนอกนั้นก็ช่วยได้เหมือนกันครับ แต่เรามักไม่เอาความรู้ที่ ที่ปรึกษาแนะนำมาต่อยอด มาปรับให้เข้ากับองค์กรของเรา บ่อยครั้งบางองค์กรก็ให้ที่ปรึกษาทำให้เลย อย่างนี้ก็ไม่เกิดการเรียนรู้ และการพัฒนาในหน่วยงาน เป็นการทำงานเพื่อให้มี เพื่อให้ผ่าน แต่ไม่มีจิตวิญญาณของการเรียนรู้ครับ

         สิ่งสำคัญที่ทาง Best Practice ได้บอกมาคือทางคณะเมื่อก่อนเกิด วิกฤติและปัญหามาก โชคดีที่ในคณะมีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพของอาจารย์ในคณะ พร้อมทั้งอาจารย์ทุกท่านคิดถึงคณะก่อน ต้องการให้คณะอยู่รอด จึงร่วมมือกันพัฒนาคณะได้ แต่การเดินทางครั้งนี้ไม่สวยหรูเพราะใช้ระยะเวลากว่า ๓ ปีในการถกเถียงและปรับทัศนคติต่างๆ จนปัจจุบันจึงเริ่มได้ชื่นชมกับผลสำเร็จนั้น และไม่ลืมที่จะพัฒนาต่อไป พร้อมทั้งชักชวนหาเพื่อนร่วมทางในมหาวิทยาลัยให้ไปด้วยกัน...

          การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้อย่างน้อยก็เป็นบทพิสูจน์ว่า เรามีบุคลากรที่เก่งและทำได้จริง และเป็นกำลังสำคัญขององค์กรได้....ตรงนี้ตรงกับหลักพื้นฐานของการจัดการความรู้ที่เป็น Tacit คือ “เชื่อว่าในองค์กรมีความสำเร็จอยู่ ถ้าจะจัดการความรู้ก็เริ่มที่ค้นหาความสำเร็จในองค์กรให้พบและพยายามหาทางขยายผลความสำเร็จนั้น”

หมายเลขบันทึก: 211303เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2008 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท