บทความต่อเนื่องช่วงปิดภาคฤดูร้อนสิ้นปีที่หนึ่ง... บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบเอ็ดและสิบสอง กรกฎาคมถึงสิงหาคม 2551


การทำวิจัยในวิชา Independent Study

บทความต่อเนื่องช่วงปิดภาคฤดูร้อนสิ้นปีที่หนึ่ง...    บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบเอ็ดและสิบสอง   กรกฎาคมถึงสิงหาคม 2551

 

 

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

 

ก่อนอื่นต้องขออภัยครูใหญ่และผู้อ่านทุกท่านนะคะที่บทความของครูน้อยหายไปนานผิดปกติ   เนื่องจากการวิจัยที่ยังค้างอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ผล     และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือเรื่องการลงทะเบียนเรียนที่ยังไม่ลงตัว    ดังนั้น  ก็จะขออนุญาตแบ่งบทความในช่วงสามเดือนที่ผ่านมานี้เป็นสองช่วงนะคะ   

 

ช่วงแรกคือเป็นช่วงของเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม  ก็จะขออนุญาตเล่าประสบการณ์ในการทำวิจัยแบบ Field Study เป็นครั้งแรกในชีวิตการเรียนปริญญาเอกของครูน้อย  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชา Independent Study ค่ะ

 

ส่วนช่วงที่สองจะขอเล่าเกี่ยวกับวิชาที่เรียนในเทอมแรกของปีที่สองนี้   โดยจะเล่าในบล็อกของเดือนกันยายน 2551 

 

 

ก็ขออนุญาตเริ่มเลยนะคะ

 

 

การเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยในวิชา Independent Study

 

 

ขอเท้าความเดิมเล็กน้อยก่อนเพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะลืมเลือนที่มาของงานวิจัยนี้ไปบ้างแล้ว  (เนื่องจากคนเขียนหายหน้าไปนาน)    การทำวิจัยนี้   มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบในเชิงบวกและลบ   ต่อการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับลูกค้า  หรือการแข่งขันด้านการตลาด   จากฝ่ายที่ติดต่อกับลูกค้าโดยตรงและฝ่ายต่างๆ ที่สนับสนุนกิจกรรมด้านการขายในบริษัท

 

ในงานวิจัยนี้  จะแบ่งงานช่วงแรกออกเป็นสองส่วน   คือการสัมภาษณ์และการให้ทำแบบสอบถาม   จากนั้นจึงจะเข้าสู่ช่วงประมวลผลและนำผลมาวิเคราะห์และเขียนเป็นบทความเพื่อนำเสนอต่อไป

 

สำหรับหน่วยงานที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการทำวิจัยครั้งนี้   และครูน้อยใคร่ขอขอบพระคุณในความอนุเคราะห์ของท่านผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย   มีรายนามดังต่อไปนี้ค่ะ 

 

  1. ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท NC True จำกัด
  4. บริษัท DTV Service จำกัด
  5. บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

 

ตามที่ได้เกริ่นไปบ้างในความที่แล้วนะคะ   ครูน้อยได้ออกแบบแบบสอบถามก่อน   ตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการ   คือ Professor Roger Calantone  ได้ให้แนวทางมา   ซึ่งมีทั้งข้อแนะนำในแง่หลักการและตัวอย่างแบบสอบถามสำหรับปัจจัยต่างๆ จากหนังสือ     จากนั้น  เราก็ออกแบบแบบสอบถามและส่งให้อาจารย์ดูอีกครั้งหนึ่ง  

 

จากนั้น  เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย    หลังจากได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานต่างๆ   ซึ่งบางหน่วยงาน เช่น  ธนาคารไทยพาณิชย์นั้น  ทางครูใหญ่ก็ได้กรุณาติดต่อประสานงานให้   จนได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับของธนาคาร   ก็ขอขอบพระคุณครูใหญ่มา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งด้วยค่ะ     ส่วนหน่วยงานอื่นๆ อีกสี่หน่วยงานนั้น   ครูน้อยก็ได้ขอความช่วยเหลือจากบรรดาเพื่อนๆ ที่เคยร่วมชั้นเรียนปริญญาโทด้วยกัน  ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงในหลายองค์กรที่มีชื่อเสียง    อีกทั้งเจ้านายเก่าหลายท่านผู้ให้ความเมตตาครูน้อยมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน   จนแม้กระทั่งไม่ได้ทำงานให้ท่านแล้ว   ท่านก็ยังยินดีให้การสนับสนุนในการให้ข้อมูล   และอนุญาตให้ครูน้อยเข้าไปทำวิจัยที่บริษัทได้   รวมถึงบรรดาเพื่อนร่วมงานเดิมที่น่ารักทั้งหลายที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์   และให้คำแนะนำให้การปรับปรุงงานวิจัยครั้งนี้มากมาย    ก็ถือเป็นโชคดีมือใหม่หัดทำวิจัยอย่างครูน้อยเป็นอย่างยิ่งที่ได้เริ่มต้นงานวิจัยชิ้นแรกอย่างราบรื่น    และหวังว่าจะได้รับความกรุณาจากทุกท่านในโอกาสต่อๆ ไปด้วยนะคะ   

 

ในช่วงแรกของการทำวิจัยนั้น   จะเป็นช่วงทำ Pre-test ค่ะ   อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในเชิงปฎิบัติว่า   ให้เริ่มต้นจากให้แปลงแบบสอบถามให้เป็นภาษามนุษย์ปกติทั่วไปก่อน   แล้วให้ทำเป็นภาษาไทย   โดยการแปลงเป็นภาษามนุษย์ปกตินั้น  ก็เพื่อให้คนอ่านอ่านแล้วเข้าใจอย่างที่เราอยากให้เขาเข้าใจจริงๆ  ซึ่งจะมีผลให้เขาสามารถให้คำตอบได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะศึกษาและต้องการรู้ด้วย

 

ขั้นตอนนี้   อาจารย์แนะนำว่าคนคิดแบบสอบถามไม่ควรทำเอง   ควรหาบุคคลอื่นมาอ่านแล้วลองทำดู    ไม่เช่นนั้นตนเองอาจจะคิดว่ามันดีอยู่แล้ว  เพราะตัวเองเป็นคนออกแบบมันขึ้นมา   และอีกอย่างก็คือ  คนคิดมักจะเข้าใจในเนื้อหาของแบบสอบถามดีอยู่แล้ว  จึงต้องหาบุคคลที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนมาลองอ่านดู 

 

ส่วนอีกขั้นตอนหนึ่งคือ  การทำ pilot study คือเลือกบางกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาคุยก่อน   อาจจะให้ลองอ่าน หรือลองทำแบบสอบถามชุดย่อยๆ ดู   แล้วดูว่าควรแก้ไขตรงไหน   ก่อนจะทำการแก้ไขแบบสอบถามเป็นครั้งสุดท้าย  

 

จากการทำ pilot study  โดยการสุ่มสัมภาษณ์ผู้บริหารหลายท่านในหลายหน่วยงาน  โดยใช้ข้อมูลคำถามส่วนใหญ่จากแบบสอบถาม    ได้ผลที่น่าตกใจสำหรับครูน้อยเป็นอย่างมาก  เมื่อพบว่า  กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำถามในแบบสอบถามที่เราใช้    ครูน้อยต้องเรียบเรียงคำถามใหม่เกือบทั้งหมดเพื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์เข้าใจว่าเรากำลังถามอะไร   ยิ่งไปกว่านั้น   หลายๆ คำนิยามที่ใช้ในแบบสอบถามก็คลุมเครือ  และทำให้คนอ่านสับสน   

 

ดังนั้น   ครูน้อยจึงเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำมา  และท่านเน้นหลายครั้งมากว่า  การทำ pre-test นั้นสำคัญที่สุด   และให้ทำมากที่สุดเท่าที่จะมากได้   เพราะจากประสบการณ์ที่ได้เจอมากับตัวนี้   ทำให้ได้กลับมาแก้ไขแบบสอบถามไปเยอะมาก   อีกทั้งยังได้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการถ่ายทอดความรู้ในหลายหน่วยงาน   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยชิ้นนี้   และที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตอีกด้วย

 

เมื่อแก้ไขแบบสอบถามเสร็จแล้ว   ครูน้อยก็ได้ส่งแบบสอบถามออกไปยังหน่วยงานต่างๆ ค่ะ   จากจำนวนประมาณเกือบสี่ร้อยชุด   ได้รับกลับคืนมาประมาณ 45% หรือเกือบสองร้อยชุดค่ะ   ก็จัดว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีพอสมควรทีเดียว  เมื่อเทียบกับงานวิจัยเชิงวิชาการในลักษณะเดียวกัน

 

จากนั้นก็เป็นช่วงสรุปผลการวิจัย  และนำเสนออาจารย์ในขั้นต้นค่ะ    อาจารย์ที่ปรึกษาท่านก็ค่อนข้างพอใจในผลการวิจัยพอสมควร   และคิดว่างานวิจัยนี้น่าจะมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อเพื่อนำเสนอตีพิมพ์ได้     ซึ่งก็คงจะได้ทำต่อไปหลังจากที่ครูน้อยสรุปความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ  เขียนในส่วน literature review และได้ทำการวิเคราะห์ในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งโดยใช้ research methodological tools ที่เหมาะสมแล้ว   จากนั้น  จึงจะเริ่มลงมือเขียนบทความในขั้นสุดท้ายค่ะ

 

ก็ขอจบในส่วนที่เกี่ยวกับ Independent Study ตัวแรกเพียงเท่านี้นะคะ   แต่ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้ research methodological tools หรืออื่นๆ  ก็จะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมกันอีกนะคะ

 

จริงๆ ครูน้อยยังต้องทำ Independent Study อีกสองครั้งค่ะ  ก่อนจะไปถึง Dissertation ที่จะเป็นงานวิจัยตัวจริงในชีวิตของนักศึกษาปริญญาเอกทุกคนได้   ก็คงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำวิจัยที่แตกต่างกันไปให้ฟังเพิ่มเติมอย่างแน่นอนค่ะ

 

แต่ตอนนี้.. ก็คงต้องชวนทุกท่านไปอ่านต่อในเรื่องชีวิตการเรียนของครูน้อยในเทอมแรกของปีการศึกษาที่สองนี้กันก่อนนะคะ   เพราะบทความของเดือนถัดไปมารออยู่แล้วล่ะค่ะ..

 

 

ไปอ่านกันต่อเลยนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #km#knowledge management
หมายเลขบันทึก: 213806เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท