03.แผนที่คนทุกข์ (ชูเมกเกอร์ เขียน)


"ปัจจุบันเราฉลาดเกินไปที่จะสามารถอยู่รอดได้โดยปราศจากปัญญา” และการพัฒนาความฉลาดของเราต่อไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย การที่เราทุ่มเทความสนใจทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ “ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์” มากยิ่งขึ้นทุกทีนั้นจะมีผลร้ายอย่างรุนแรงติดตามมา

 

       การเปลี่ยนแปลงของคนตะวันตกจาก ความรู้เพียงเล็กน้อยจากสิ่งสูงสุด (โทมัส อไควนัส) มาเป็นความรู้ที่แน่นอนทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิ่งต่ำกว่าซึ่ง ไม่มีความรู้อะไรในโลกที่จะเป็นที่พึงปรารถนาและมีประโยชน์มากไปกว่านี้อีกแล้ว (คริสเตียน ฮุยเจนส์ พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๒๓๘)ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ศาสตร์แห่งความเข้าใจ มาเป็น ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์ จุดมุ่งหมายของศาสตร์แรกอยู่ที่การรู้แจ้งของมนุษย์และอิสรภาพของเขา  จุดมุ่งหมายของศาสตร์หลังอยู่ที่อำนาจของมนุษย์ กล่าวคือ ความรู้ในตัวของมันเองก็คืออำนาจ(ฟรานซิส เบคอน พ.ศ.๒๑๐๔ - ๒๑๖๙)  และเดส์คาตส์คาดหวังให้มนุษย์เป็น นายและเป็นเจ้าของธรรมชาติ  ในการพัฒนาในระยะหลังๆ ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์ได้พัฒนาจากการเอาประโยชน์ธรรมชาติมาสู่การเอาประโยชน์มนุษย์ อย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

         “ศาสตร์แห่งการเข้าใจ มักจะเรียกกันว่าปัญญา ในขณะที่ วิทยาศาสตร์ สมควรแก่ฐานะของ ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์ นักบุญ ออกัสติน เช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกหลายคนได้แยกแยะความแตกต่างระหว่างสองศาสตร์นี้    อีไตน์ กิลชอง ได้มีอรรถาธิบายไว้ดังต่อไปนี้

ความแตกต่างที่แท้จริงที่ทำให้ทั้งสองแตกต่างกันก็คือธรรมชาติในด้านเนื้อหาของศาสตร์ทั้งสอง เนื้อหาของปัญญานั้น เพราะเหตุว่าต้องอาศัยความสามารถทางปัญญาแต่เพียงลำพัง  ความชั่วร้ายจึงไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์จะตกเป็นเหยื่อของโลภจริตได้เสมอเพราะลักษณะทางวัตถุนิยมของมัน  ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงมีเป้าหมายได้สองทาง ทางหนึ่งเป็นทาสของความโลภ ดังกรณีที่วิทยาศาสตร์ได้ถือเอาตัวเองเป็นจุดมุ่งหมาย  หรืออีกทางหนึ่งเป็นทาสของปัญญา ดังในกรณีที่วิทยาศาสตร์มุ่งสู่ความดีอันสูงสุดเป็นจุดหมาย

           ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์อยู่ใต้บัญชาของปัญญาหรือศาสตร์แห่งความเข้าใจ ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์ก็จะเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าที่สุด และจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่ทุกวันนี้ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์ไม่ได้อยู่ใต้ปัญญา ปัญญาสาบสูญไปเพราะคนเลิกสนใจที่จะแสวงหา ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้กลายมาเป็นสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์ ความคิดของทางตะวันตกนับแต่สมัยเดส์คาตส์เป็นต้นมา  แต่เดิมศาสตร์เก่าแก่แห่ง  ปัญญา  หรือ  ศาสตร์แห่งความเข้าใจ  ได้ตั้งเข็ม  มุ่งไปสู่ความดีอันสูงสุด อันได้แก่ ความจริง ความดี และความงาม ซึ่งเป็นความรู้ที่จะให้ทั้งความสุขและการหลุดพ้น ศาสตร์ใหม่อันได้แก่ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์โดยส่วนใหญ่ตั้งเข็มมุ่งสู่อำนาจทางวัตถุ เป็นแนวโน้มที่ได้พัฒนาไปไกล ถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ได้ให้ความสนับสนุนแก่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มาเป็นอันดับหนึ่ง ศาสตร์เก่าถือว่าธรรมชาติเป็นงานสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นมารดาของมนุษย์ ศาสตร์ใหม่ถือว่าธรรมชาติปฏิปักษ์ ที่ต้องเอาชนะและเป็นเหยื่อที่จะเอาประโยชน์ได้

            ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดก็คือทัศนะของศาสตร์ทั้งสองที่มีต่อมนุษย์ ศาสตร์แห่งความเข้าใจเห็นมนุษย์เป็นภาพสะท้อนของพระผู้เป็นเจ้า เป็นมงกุฎอันรุ่งโรจน์เหนือบรรดาสรรพสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างขึ้น ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อโลก เนื่องเพราะมี พันธะอันสูงส่ง  ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์เป็นเพียงผลผลิตของการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้  เป็นสัตว์ชั้นสูง  เป็นสัตว์สังคม เป็นวัตถุที่ใช้ในการศึกษาซึ่งจะใช้วิธีการศึกษาเช่นเดียวกันกับที่ใช้กับสิ่งอื่นหรือปรากฏการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลก คือ เป็นการศึกษาแบบปรนัย ปัญญาเป็นความรู้ที่จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้มีการค้นหา และนำเอาอำนาจอันสูงส่งและสูงสุดของจิตใจออกมาใช้ได้แล้ว  ตรงกันข้ามศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์เป็นความรู้ที่นำเอามาใช้ได้เลย เพราะอำนาจในการรับรู้ศาสตร์นี้มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน ยกเว้นแต่พวกพิการทุพพลภาพเท่านั้น ทุกคนสามารถนำศาสตร์นี้มาใช้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าทำไมสูตรนี้จึงใช้การได้ เพียงแต่รู้ว่าสูตรนั้นทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ก็พอแล้ว ความรู้เช่นนี้จึงเป็นสาธารณะเพราะว่าสามารถอธิบายในลักษณะที่คนทั่วไปจะสามารถพิสูจน์ว่าเป็นจริงได้  
           
ดังนั้นเมื่อมีการบรรยายอย่างถูกต้องคนทุกคนก็จะเข้าใจได้ ด้วยเหตุที่ความรู้ชนิดนี้สามารถเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนได้ และเป็น
ประชาธิปไตย นั้นเองที่ทำให้ความรู้นี้ไม่อยู่ในฐานะที่จะเกี่ยวข้องกับความรู้ในระดับสัตภาวะที่สูงกว่า  มีการกล่าวกันว่าความรู้จะเป็น วิทยาศาสตร์ และเป็น ปรนัยได้ก็ต่อเมื่อเปิดให้สาธารณะมาพิสูจน์ว่าผิดหรือถูกได้ ความรู้ที่นอกเหนือไป จากนั้นถือว่า ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ไร้สาระ ปัญหาที่ถูกต้องในเรื่องของความรู้มีเพียงอย่างเดียวก็คือว่า  ความรู้นั้นจะเป็นสัจจะหรือไม่แค่ไหน

            การขจัดศาสตร์แห่งความเข้าใจหรือปัญญาออกไปอย่างรวดเร็วในอารยธรรมตะวันตก ทำให้การสะสมความรู้เพื่อการเอาประโยชน์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีอัตราเร่งสูงอันเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ ณ ที่อื่นว่า ปัจจุบันเราฉลาดเกินไปที่จะสามารถอยู่รอดได้โดยปราศจากปัญญา และการพัฒนาความฉลาดของเราต่อไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย การที่เราทุ่มเทความสนใจทางวิทยาศาสตร์ให้แก่  ศาสตร์แห่งการเอาประโยชน์ มากยิ่งขึ้นทุกทีนั้นจะมีผลร้ายอย่างรุนแรงติดตามมาสามประการ
           ประการแรก เราจะขาดการศึกษาในคำถามที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น
การมีอยู่ของมนุษย์มีความหมายและจุดหมายอะไร และ อะไรคือหน้าที่และสิทธิแท้จริงของมนุษย์ เมื่อขาดการศึกษาในคำถามเหล่านี้ อารยธรรมก็ยิ่งจะจมลึกลงไปในความเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ ความสิ้นหวัง ตลอดจนการสูญเสียอิสรภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์ในอารยธรรมเช่นนี้จะมีสุขภาพเสื่อมทรามลงและมีความสุขน้อยลงทุกขณะ แม้ว่ามาตรฐานการครองชีพจะดีขึ้นเพียงใดและแม้ว่าบริการทางด้านสุขภาพจะช่วยยืดชีวิตของมนุษย์ออกไปได้ก็ตาม ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าข้อความที่ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยขนมปังเท่านั้น 
          
ผลร้ายประการที่สองก็คือ ข้อจำกัดทางด้านวิธีการของวิทยาศาสตร์ได้ทำให้ความพยายามของวิทยาศาสตร์ดูว่างเปล่าและปราศจากความหมาย ทั้งนี้แม้จะมีผู้เห็นคุณค่าและความจำเป็นของศาสตร์แห่งความเข้าใจมากขึ้น แต่ฤทธิ์เดชยานอนหลับที่วิทยาศาสตร์วางเอาไว้ก็ยังออกผลอยู่  ทำให้คนโดยทั่วไปไม่กล้าหันกลับไปปรึกษาและหาประโยชน์จาก
มรดกทางปัญญาของมนุษย์ชาติ นับตั้งแต่มีการค้นพบวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ  เกี่ยวกับการมีอยู่ของระดับสัตภาวะที่สูงกว่า เหตุหนึ่งมาจากข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์และอีกเหตุหนึ่งมาจากการที่วิทยาศาสตร์ไม่สนใจใยดีต่อสัตภาวะในระดับที่สูงกว่า แต่กระนั้นวิทยาศาสตร์ก็มีวิธีการเสริมความมั่นใจให้กับตนเอง กล่าวคือ แทนที่ศรัทธาจะเป็นผู้นำปัญญาไปสู่ความเข้าใจในระดับสูงกว่า แต่ศรัทธาในวิทยาศาสตร์กลับเป็นปฏิปักษ์และปฏิเสธปัญญา ดังนั้น ศรัทธาจึงได้ปฏิเสธตัวเอง ด้วยเหตุนี้หนทางจึงเต็มไปด้วยขวากหนาม
            และผลร้าย ประการสุดท้ายก็คือ การที่มนุษย์ไม่ได้นำเอาอำนาจที่อยู่มนระดับสูงกว่ามาใช้ในการแสวงหาปัญญา อำนาจนั้นจึงเริ่มร่อยหรออ่อนกำลังลงและอาจจะถึงกับไม่มีเหลืออยู่อีกเลย ทำให้ปัญหาที่แต่ละคนตลอดจนสังคมจะต้องแก้ไข กลายเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อปัญหาที่ยังไม่ได้แก้กับปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้ได้นั้นสะสมพอกพูนยิ่งขึ้นทุกที  ก็ทำให้ความพยายามจะแก้ไขปัญหานับวันก็ยิ่งดูเหมือนความบ้าคลั่งเข้าไปทุกที อันนี้เองที่จะทำให้คุณภาพของมนุษย์เสื่อมทรามลง

.................................

โดย   อี. เอฟ ชูเมกเกอร์ เขียน, วิศิษฐ์  วังวิญญู แปล

หมายเลขบันทึก: 214105เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2008 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท