สติปัฏฐาน ๔ และอานิสงส์


พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ทั้งภายในและภายนอก

สติปัฏฐาน  ๔ และอานิสงส์

๑        ความหมายของสติปัฏฐาน  ๔ และ  อานิสงส์


“สติปัฏฐาน  ๔”  คือ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ  ๔  ประการ  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  ในขณะที่เสด็จประทับอยู่ในกัมมาสทัมมนิคม  กุรุชนบท


สติปัฏฐาน เป็น “เอกายนมรรค”  คือ  เป็นทางไปทางเดียว   เฉพาะบุคคล  เพื่อให้ได้รับ อานิสงส์  ๕ ประการ  (ถึงมรรคผลนิพพาน) คือ



๑.  สตฺตานํ   วิสุทฺธิยา เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย

๒.  โสกปริเทวานํ  สมติกฺกมาย เพื่อข้ามพ้นความโศก และความร่ำไร

๓.  ทุกฺขโทมนสฺสานํ  อตฺถงฺคมาย เพื่อความดับสูญ  แห่งทุกข์และโทมนัส

๔.  ญายสฺส  อธิคมาย   เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้

๕.  นิพฺพานสฺส  สจฺฉิกิริยาย เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง





๒.  ธรรมที่พึงถือเป็นหลักปฏิบัติ   และธรรมที่พึงนำออก  ของผู้บำเพ็ญสติปัฏฐาน

ธรรม  ๒  ประการนี้สำคัญมากแก่ผู้บำเพ็ญสติปัฏฐาน  ๔ จะละทิ้งเสียมิได้   ถ้าละทิ้งก็เสีย กัมมัฏฐาน  คือ



ก)      สัมปโยคธรรม  คือ ธรรมที่ผู้บำเพ็ญสติปัฏฐานจะพึงถือเป็นหลักปฏิบัติ  คือ


(๑)  อาตาปี  มีความเพียรเผากิเลสที่เร่าร้อน   ไม่เกียจคร้าน  ไม่ทำย่อหย่อน  ไม่ทำ ๆ  หยุด ๆ  เหมือนกิ้งก่า


(๒)  สัมปชาโน  มีความรู้ตัว ตื่นตัว   พร้อมอยู่เสมอ  ไม่เผลอตัวตกอยู่ในอำนาจของ กิเลสนิวรณ์  ได้แก่  ไม่ง่วง  ไม่หลับใน   ไม่ฟุ้งซ่านไปนอกเรื่องพระกัมมัฏฐาน  เป็นต้น


(๓)  สติมา  มีสติ  มีความระลึกกำหนดได้ตามเห็นอารมณ์  คือ กายในกายเวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม  ทั้ง  ณ  ภายใน  และทั้ง  ณ  ภาย นอก  ได้อยู่เสมอ   ไม่ปล่อยให้จิตไปยึดอารมณ์อื่น





ข.  ปหานังคธรรม  คือ  ธรรมที่ผู้บำเพ็ญสติปัฏฐานควรนำออก   มี ๒ ประการ  คือ


(๑)  อภิชฌา  ความยินดี   ได้แก่  กามฉันทนิวรณ์
(ความยินดี  พอใจ  ติดอยู่  อาลัยอยู่ในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ)


(๒)  โทมนัส  ความยินร้าย   ได้แก่  พยาบาทนิวรณ์






๓. จำแนกมหาสติปัฏฐาน  ๔  และ เหตุที่จำแนก


มหาสติปัฏฐานจำแนกโดยอารมณ์เป็น ๔ คือ


(๑)   กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  สติกำหนดพิจารณาเห็นกายในกาย

(๒)   เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  สติกำหนดพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา

(๓)  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน   สติกำหนดพิจารณาเห็นจิตในจิต

(๔)  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  สติกำหนดพิจารณาเห็นธรรมในธรรม



เหตุที่จำแนกเป็น ๔

เพราะจริต คือ ความประพฤติเป็นอาจิณ  เหมือนความประพฤติชนิดที่เป็นปกติของ คนในโลก  เมื่อรวมเข้ามี  ๔  จึงจำแนกมหาสติปัฏฐานเป็น ๔  เพื่อให้สมหรือเป็นคู่ปรับกับจริตนั้น ๆ



จริต ๔

(๑)  ตัณหาจริตอย่างอ่อน  เป็นผู้ติดกาย  มุ่งกายเป็นใหญ่   มักรักสวยรักงาม  อัน เป็นไปตามสมัยนิยม  แต่เปลี่ยนแปลงง่าย  เมื่อเขานิยมกันอย่างไร   ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น

(๒)  ตัณหาจริตอย่างแรงกล้า  เป็นผู้ติดเวทนา  มุ่งสุขเวทนาเป็นใหญ่   มักพอใจแต่ในความสะดวกสบายอย่างเดียว  เปลี่ยนแปลงยาก  เพราะมักถือเอาตามความชอบของตน

(๓)  ทิฏฐิจริตอย่างอ่อน  เป็นผู้ติดจิต  มุ่งจิตเป็นใหญ่  มักเห็นว่าจิตเท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าจิตไม่ถูกรบกวนให้เดือดร้อนขุนมัว  ก็เป็นที่พอใจ

(๔) ทิฏฐิจริตอย่างแรงกล้า  เป็นผู้ติดธรรม  คือ  อารมณ์ที่เกิดกับใจ  หนักอยู่ในธรรม มักเห็นว่าธรรมที่เกิดกับจิตเป็นสิ่งสำคัญ   มักหาเรื่องที่ชอบ  มาให้จิตนึก




สติปัฏฐานเป็นคู่ปรับกับจริต

(๑)  กายานุปัสสนา เป็นคู่ปรับแก่ตัณหาจริตอย่างอ่อน

(๒)  เวทนานุปัสสนา เป็นคู่ปรับแก่ตัณหาจริตอย่างกล้า

(๓)  จิตตานุปัสสนา เป็นคู่ปรับแก่ทิฏฐิจริตอย่างอ่อน

(๔)  ธัมมานุปัสสนา เป็นคู่ปรับแก่ทิฏฐิจริตอย่างกล้า

 

๔       อานิสงส์แก่ผู้บำเพ็ญ  คือ


ผู้บำเพ็ญสติปัฏฐาน  ๔ นี้  อย่างสูง  ๗  ปี  อย่างต่ำ  ๗  วัน  พึงหวังผลทั้ง  ๒  อย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ

๑      ความเป็นพระอรหันต์ในปัจจุบัน

๒      เมื่อกิเลสเป็นเหตุเข้าไปยึดถือยังเหลืออยู่  ก็ถึงความเป็นพระอนาคามี



การพิจารณาสติปัฏฐาน  ๔ ณ ภายใน  และ ณ ภายนอก



การมีสติพิจารณา เห็นกายในกาย  เห็นเวทนาในเวทนา  เห็นจิตในจิต  และ เห็นธรรมในธรรม  ณ  ภายใน  และ  ณ ภายนอก





๑.  การมีสติพิจารณา  ณ  ภายใน


คือ  เห็นในเบื้องต้น  (ส่วนหยาบ)   พิจารณากาย  เวทนา  จิต ธรรม  ของตน  ให้เห็นตามธรรมชาติที่เป็นจริงก่อน  เช่นว่า  พิจารณาเห็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของตัวเราเอง  ว่า ไม่งดงาม เป็นแต่ปฏิกูลโสโครก  น่าเกลียด   หรือเป็นที่ตั้งแห่งปฏิกูล  โสโครก  น่าเกลียด  ทั้งสิ้น  และพิจารณา  เห็นความเกิดขึ้น   เสื่อมไป  คือเห็นว่า  ไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)   เป็นทุกข์   (ทุกขํ)  เพราะแปรปรวนไป  และ  เป็นของไม่ใช่ตัวตนของใครที่แท้จริง  (อนตฺตา)



ในขั้นละเอียด  พิจารณาเห็นกายในกาย   และ เวทนา  จิต ธรรม  ของกายในกาย  ณ  ภาย ในต่อ ๆ  ไปจนสุดละเอียด  ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งด้วย  ปุญญาภิสังขาร
 (ปรุงแต่งด้วยบุญกุศล)  อเนญชาภิสังขาร  (ปรุงแต่งด้วยฌานสมาบัติที่ไม่หวั่นไหว   ได้แก่  จตุตถฌาน   ปัญจมฌาน และ อรูปฌาน  เป็นต้น  )  อปุญญาภิสังขาร  (ปรุงแต่งด้วยบาปอกุศล)  ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรมและที่เป็นโลกุตตรธรรม  (พ้นโลก)  พ้นความปรุงแต่ง  ได้แก่




ก)      กรณีปุญญาภิสังขาร และ อเนญชาภิสังขาร
 
ก็จะพิจารณาเห็นกายในกายที่ปรุงแต่งด้วยบุญกุศล  คุณความดี   ที่ได้ประกอบทานกุศล ศีลกุศล  และภาวนากุศล  


-->> ในระดับมนุษยธรรม  ซึ่งจะปรากฏกายมนุษย์ละเอียด  และ เวทนา  จิต  และ  ธรรม  ที่บริสุทธิ์  ผ่องใส  เป็นสุคติภพ



-->> ในระดับเทวธรรม  ก็จะปรากฏ  กายทิพย์  ทิพย์ละเอียด  และ  เวทนา  จิต ธรรม  ที่เป็น  สุขวเทนา  ที่ละเอียด  ประณีต   และบริสุทธิ์   ผ่องใส   ยิ่งไปกว่ากายมนุษย์



-->> ในระดับพรหมธรรม
 และรูปฌาน  ก็จะปรากฏกายรูปพรหม  รูปพรหมละเอียด  และ เวทนา  จิต ธรรม   ที่เป็นสุขเวทนา  ที่ละเอียด  ประณีต  บริสุทธิ์  ผ่องใส  และมีรัศมีสว่าง  ยิ่งกว่ากายทิพย์



-->> ในระดับอรูปฌาน
 เป็น อเนญชาภิสังขาร  ก็จะปรากฏ   กายอรูปพรหม  อรูปพรหม  อรูปพรหมละเอียด และ เวทนา  จิต ธรรม  ที่เป็นสุขเวทนา  ที่ละเอียด  ประณีต  บริสุทธิ์  ผ่องใส  และมีรัศมีสว่างยิ่งกว่ากายรูปพรหม



และเห็นว่า  แม้เป็นกายในกาย
 ที่ประกอบด้วยสุขเวทนาที่ละเอียด  ประณีต   ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสในระดับโลกิยธรรม  เป็นสุคติภพ  ก็ยังต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์  หรือมีสามัญญลักษณะ  คือไม่เที่ยง  (อนิจฺจํ)  เป็นทุกข์  (ทุกขํ)  เพราะแปรปรวนไป  (วิปริณามธมฺมโต)  และไม่ใช่  ตัวตนที่แท้จริงของใคร ๆ  (อนตฺตา)  เพราะไม่อยู่ในอำนาจ  (อวสวตฺตนโต)  ของใคร ๆ ว่า จงอย่าแก่  (มา  ชีรนฺตุ)  จงอย่าตาย  (มา  มียนฺตุ)





ข)     กรณีอปุญญาภิสังขาร  (ปรุงแต่งด้วยบาปอกุศล)


ก็จะพิจารณาเห็นกายในกายภายใน
 ที่ปรุงแต่งด้วยบาปอกุศลคือความชั่ว  ได้แก่  กายทุจจริต  วจีทุจริต   และ มโนทุจจริต  ปรากฏเป็นกายมนุษย์ละเอียดที่ซ่อมซ่อ   เศร้าหมอง  ด้วยทุกขเวทนา  ด้วยจิตใจ   (เห็น-จำ-คิด-รู้)  ที่มัวหมอง  และดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายก็ขุ่นมัวเป็นทุคติภพไป


และเห็นว่า  ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณะ หรือ มีสามัญลักษณะ  คือ  ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา  อีกเช่นกัน





ค)     กรณีเป็นโลกุตตรธรรม  (พ้นโลก)  พ้นความปรุงแต่ง

ก็จะเห็นเป็นกายธรรม
 คือ “ธรรมกาย” ปรากฏ  ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภูหยาบ-ละเอียดธรรมกายพระโสดาหยาบ  - ละเอียด   ธรรมกายพระสกิทาคาหยาบ  -ละเอียด, ธรรมกายพระอนาคา หยาบ-ละเอียด  และธรรมกายพระอรหัตหยาบ  -  ละเอียด  ซึ่งถ้ายังละสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลก]  อย่างน้อย ๓ ประการ  คือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฏา และ สีลัพพตปรามาส  ยังไม่ได้ ก็ยังไม่นับว่าได้เข้าถึง-รู้-เห็น และเป็น  ธรรมกายที่มั่นคงเที่ยงแท้  ถาวร คือ ยังอาจเห็น ๆ  หาย ๆ ได้



ต่อเมื่อละสัญโญชน์ได้แล้วเพียงไร ก็จึงเป็นธรรมกายมรรค-ผล-นิพพาน ตามระดับภูมิธรรม ที่ปฏิบัติได้เพียงนั้น







๒.     การมีสติพิจารณา  ณ  ภายนอก


คือ ในเบื้องต้น  (ขั้นหยาบ)  พิจารณากาย เวทนา  จิต และ  ธรรม  ของคนอื่น  ให้เห็นตามธรรมชาติที่เป็นจริง  เทียบเคียงกันกับของเรา  ว่า  ของเรามีสภาวะตามธรรมชาติเป็นเช่นไร ของผู้อื่นก็เป็นเช่นนั้น  เป็นต้นว่า  พิจารณาเห็นส่วนต่าง ๆของร่างกายของเราเป็นแต่ปฏิกูล  หรือ เป็นที่ตั้งแห่งปฏิกูล  โสโครก  น่าเกลียด   อย่างไร   ของผู้อื่นก็เป็นอย่างนั้น


กาย  เวทนา  จิต ธรรม  ของเราเอง   เป็นสังขารธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  มีความ เกิด แก่  เจ็บ  และตายเป็นธรรมดา  มีสามัญญลักษณะ  คือ  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง   และอนัตตา  เช่นไร ของผู้อื่นก็เป็นเช่นนั้น


ในขั้นละเอียด  เมื่อพิจารณา  เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต และ ธรรมในธรรมทั้งของตนเอง  และ  ของผู้อื่น  จากกายสุดหยาบ คือ  กายมนุษย์  ไปสุดละเอียด คือถึงกายธรรมเพียงใด ส่วนที่หยาบนั่นแหละเป็น  ณ  ภายนอก  ส่วนที่พิจารณา  เห็นละเอียด เข้าไป  เป็น  ณ  ภายใน  ต่อๆ  ไป  จนสุดละเอียด  เป็นต้นว่า


เมื่อ
ปฏิบัติได้เข้าถึง-รู้ – เห็น  และ เป็น  กายมนุษย์ละเอียด  กาย เวทนา  จิต  และ  ธรรม  ของกายมนุษย์  หยาบ เป็น  ณ  ภายนอก   ของกายมนุษย์ละเอียดเป็น ณ  ภายใน


เมื่อปฏิบัติถึงกายทิพย์  กาย เวทนา   จิต ธรรม  ของกายมนุษย์ละเอียด  เป็น  ณ  ภายนอกของกายทิพย์เป็น  ณ  ภายใน


ต่อๆ  ไปจนสุดละเอียดอย่างนี้  เมื่อเข้าถึงกาย  เวทนา  จิต และธรรม  ที่ละเอียด  ๆ  เข้าไปนั้น  เวทนาของกายหยาบก็เป็นทุกขเวทนา  ของกายละเอียดก็เป็นสุขเวทนา  ต่อๆ  ไปเป็นลำดับ  จนถึงธรรมกาย  ซึ่งเป็นกายพ้นโลก  ก็เป็นอุเบกขาเวทนาไป


จากหนังสือทางมรรคผลนิพพาน  (ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน)
โดย พระมหาเสริมชัย  ชยมงฺคโล
ป.ธ. ๖,  รป.ม.(เกีรตินิยมดี) มธ.
สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราบุรี

หมายเลขบันทึก: 215202เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท