คติที่ ๑๐ ด้วยความหมั่นมั่นใจไม่ประมาท (คำกลอน)


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๑๐ ด้วยความหมั่นมั่นใจไม่ประมาท (คำกลอน)
       

                 ด้วยความหมั่นมั่นใจไม่ประมาท
                 รักษาอาตม์ข่มจิตไว้เป็นศรี
                 ผู้ฉลาดอาจตั้งหลักพำนักดี
                 อันห้วงน้ำไม่มีมารังควาน


เป็นคติธรรมของหลวงพ่อ  หลังจากที่หลวงพ่อเป็นธรรมกายแล้ว  หลวงพ่อก็เรียนวิชาธรรมกายเรื่อยมา  เราทราบตรงกันแล้วว่า  ธรรมกายคือตถาคต  ตถาคตคือธรรมกาย  อีกนัยหนึ่งก็คือ  ธรรมกายคือพระรัตนตรัย  พระรัตนตรัยคือธรรมกาย  วิชาธรรมกายคือวิชาที่ว่าด้วย  พระรัตนตรัย  พระรัตนตรัยทรงศึกษาเล่าเรียนอย่างไร  เราก็เรียนอย่างนั้น  อยู่ที่ว่าเราจะเรียนได้มากหรือน้อยเท่านั้น  แต่การจะเรียนได้เราต้องเป็นธรรมกายก่อน  ถ้าไม่เป็นธรรมกายแล้วเรียนไม่ได้เลย  ความยากอยู่ตรงนี้  คือต้องเป็นธรรมกายจึงจะเรียนได้นั่นเอง


หลังจากที่หลวงพ่อเป็นธรรมกายแล้ว  หลวงพ่อก็เรียนวิชาธรรมกายเรื่อยมา  คือหลับตาเรียน  การเรียนวิชาการทางโลกใช้วิธีลืมตาเรียน  แต่การเรียนทางธรรมต้องหลับตาเรียน  คือเข้านิโรธค้นคว้าเรื่อยไป  จะเป็นหลักสูตรอะไรก็ไม่ทราบ  หลวงพ่อท่านแต่งคำประพันธ์มีข้อความว่า


“ด้วยความหมั่นมั่นใจไม่ประมาท               รักษาอาตม์ ข่มจิตไว้เป็นศรี
ผู้ฉลาดอาจตั้งหลักพำนักดี                       อันห้วงน้ำไม่มีมารังควาน


คำประพันธ์นี้ถอดออกมาแล้ว  ได้ความว่า  ตัวเรานี้ขยันหมั่นเพียรแล้ว  พบว่าการรักษาตนนั้นต้องสำรวมใจจึงจะชื่อว่าประเสริฐ  จึงจะชื่อว่าไม่ประมาท  การสำรวมใจนั้นทำให้ยิ่งแล้ว  จะเกิดความมั่นคงเป็นหลักฐานปราการทีเดียว  ทำได้อย่านี้กิเลสที่ชื่อว่าห้วงน้ำ ๔  หรือโอฆะ ๔  จะไม่มารังควาน  ใครทำได้อย่างนี้เรียกว่าคนฉลาด


ข่มใจก็คือสำรวมใจ  ตามแนวการฝึกวิชาธรรมกาย


ตั้งหลัก  คือเอาใจตั้งที่ศูนย์กลางกาย  เกิดพำนักคือเกิดหลักฐานมั่นคง  หรือเกิดปราการมั่นคง  ก็ต่อเมื่อเป็นธรรมกายแล้ว  หากยังไม่เป็นธรรมกายแปลว่ายังไม่เกิดพำนัก  ครั้นเมื่อเกิดพำนักแล้วจึงจะเห็น  ห้วงน้ำ ๔ หรือ โอฆะ ๔  ได้แก่  กาม  ภพ  ทิฏฐิ  อวิชชา  นั่นคือเรียนวิชาธรรมกายจนมั่นคงแล้ว  ท่านว่ากามตัณหาก็ดี  การเวียนเกิดเวียนตายก็ดี  ความคิดผิดก็ดี  และความเขลาก็ดี  จะไม่มีในเราอีกต่อไป  นั่นคือ  ย่อมห่างจากกาม  สิ้นสุดแห่งการเวียนว่าย  หมดจากทิฏฐิมานะ  ย่อมแจ้งในธรรม


สรุปแล้ว  เป็นธรรมกายแล้วดีด้วยประการทั้งปวง   ในทำนองเดียวกัน  หากไม่เป็นธรรมกายก็ไม่ดี  ไม่ดีอย่างไร  ขณะนี้มีข่าวเป็นที่รู้กันทั่ว  จากการเสนอข่าวของโทรทัศน์  ข่าวแรกคือลูกได้รับการศึกษาสูงฆ่าพ่อของตัวเอง  ข่าวที่สองคือข่าวบิดาข่มขืนลูกน้อยของตนเองอายุเพียง ๔ ขวบ  จนลูกถึงแก่ความตาย  หากเราคิดกันว่า  ถ้าให้เขาฝึกวิชาธรรมกายจนเขาเห็นดวงธรรมเบื้องต้น  เอาแค่นี้ก่อน  ถ้าคุณที่จบปริญญาโทต่างประเทศคนนั้นและคุณผู้เป็นบิดา  ซึ่งเป็นข่าวนั้น  ถ้าได้เรียนวิชาธรรมกายจนถึงขั้นเห็นดวงธรรม  ถามว่า  เขาจะฆ่าพ่อไหม  และคุณบิดาที่ข่มขืนลูกน้อยของเขา  จะกระทำบาปเช่นนั้นหรือไม่


นี่คือประเด็น  แน่นอน  ถ้าเขาเห็นดวงธรรมใส  ย่อมเกิดคุณธรรมทันใด ๒ ประการ  คือ  หิริและโอตตัปปะ  คือกลัวการบาปและละอายต่อบาป  เขาย่อมไม่ทำบาป  และหากเขาเพียรพยายามต่อไปจนถึงขั้นเห็นธรรมกาย  จิตใจของเขาก็จะเจริญไปในทางที่ดี  นี่คืออานิสงค์ของวิชาธรรมกายในเบื้องต้น  อานิสงค์อย่างสูงนั้น  สุดที่จะประมาณได้


บัดนี้  เราทราบชัดแล้วว่า  หลวงพ่อได้ให้ทรัพย์ประเสริฐแก่โลกไว้แล้ว  คือวิชาธรรมกาย ๓ หลักสูตร


ความรู้อีกอย่างหนึ่งเราทราบตรงกัน  คือเกิดสภาพใจต่ำในสังคมบ้านเราแล้ว  "บ่งบอกว่าการศึกษาสูงไม่ช่วยให้สภาพใจสูงไปตามความรู้"  เราควรเอาความรู้วิชาธรรมกายเบื้องต้นไปสอนในสถานศึกษาทุกสังกัด  แม้ในภาคเอกชนคือบริษัท  ห้างร้าน  องค์กรต่างๆ ต้องเรียนกันหมด  เพื่อเป็นการยกสภาพจิตใจ  พูดไปพูดมา  ก็จะมาถึงปัญหางานสร้างวิทยากร  ไม่มีปัญหาเพราะเรามีตำราให้แล้ว


********************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม  คตินิยม  การดำเนินชีวิต  ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215304เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท