คติที่ ๑๒ เกิดมา ว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำอะไร (คำคม)


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่  ๑๒   เกิดมา ว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำอะไร (คำคม)


      เกิดมา  ว่าจะมาหาแก้ว  พบแล้วไม่กำ  จะเกิดมาทำไม
      สิ่งที่อยากเขาก็หลอก  สิ่งที่หยอกเขาก็ลวง  ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย
      เลิกอยาก  ลาหยอก  รีบออกจากกาม  เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป
      เสร็จกิจสิบหก  ไม่ตกกันดาร  เรียกว่านิพพานก็ได้


คติธรรมของหลวงพ่อบทนี้  นับว่าสำคัญมาก  เพราะบอกวัตถุประสงค์ของการเกิด  ว่าเกิดมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร  คือบอกว่าเกิดมาคราวนี้  จะมาทำงานอะไรนั่นเอง


ท่านก็บอกชัดแล้วว่า  เกิดมาคราวนี้จะมาหาดวงแก้ว  หลวงพ่อได้ดั้นด้นจนพบดวงแก้ว  ตามความประสงค์ของท่านแล้ว  ดวงแก้วตามความหมายของหลวงพ่อคือ  ดวงปฐมมรรค  คือวิชาธรรมกาย  เมื่อพบแล้วต้องเรียนค้นคว้าให้จำเริญยิ่งขึ้นไป  หากไม่เรียนไม่ค้นคว้ากัน  ก็ไม่ควรที่จะเกิดมา  ถือว่าไม่มีประโยชน์ในการเกิดมาเลย  สรุปแล้วเกิดมาเพื่อค้นคว้าวิชาธรรมกาย  ทุ่มเทกันให้ตลอดชีวิตไปเลย  จึงจะเกิดผลคุ้มค่าแก่การมาเกิด


คราวนี้มาดูประโยคที่ว่า  “สิ่งที่อยากเขาก็หลอก  สิ่งที่หยอกเขาก็ลวง  ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย”  ว่าจะมีความหมายอย่างไร  สิ่งที่อยากคืออะไร  คือมรรคผลนิพพาน  หลวงพ่ออยากได้มรรคผลนิพพาน  แต่มรรคผลนิพพานไม่ใช่จะได้ง่ายอย่างที่เราอยาก  เพราะมีกิเลสมาหลอกอยู่  โดยกิเลสนั้นมันหลอกโดยที่เรารู้ไม่ทัน  คือมันจะแสดงการหยอกด้วยการทำเป็นทีเล่นทีจริง  แต่ว่าแฝงไว้ด้วยการลวงทั้งนั้น  การที่เราต้องมาพบการหลอก  การหยอก  การลวง  ของกิเลส นั้น  ทำให้ใจเราวกวนไม่เกินหน้า


“หลอก”  ก็คือของหลอกของปลอม  “ลวง”  ก็คือลวงตา  ให้คิดว่าเป็นจริง  “หยอก”  ก็คือทีเล่นทีจริง  เหมือนหมาหยอกไก่  พอได้ทีหมาก็กัดไก่ตาย  ตัวหลอก  หยอก  ลวง  ก็คือโลกธรรม ๘  ได้แก่  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  นินทา  ทุกข์  เส้นทางแห่งมรรคผลนิพพาน  จะต้องพบโลกธรรม  ๘  เพราะจะส่งผลให้ใจไม่ดิ่งไปสู่ธรรม  การที่ใจไม่ดิ่งนี่เอง  คือจิตเป็นห่วงเป็นใย  


คราวนี้มาดูประโยค  “เลิกอยาก  ลาหยอก  รีบออกจากกาม  เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป”  ว่าจะมีความหมายอย่างไร  คราวนี้เราไม่อยาก  เมื่อไม่อยากก็ไม่มีอะไรมาหยอก  ไม่มีอะไรมาลวง  ไม่มีอะไรมาหลอกท่านให้ออกจากกาม  คือให้เว้นจากการมีชีวิตระคนด้วยกามคุณ ๕  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  นั่นคือควรเป็นชีวิตถือบวช  จึงจะเว้นได้จริง  แล้วจะต้องประพฤติใจให้เข้าหลักของอริยมรรค  ให้ใจเดินเข้า  ดวงศีล  ดวงสมาธิ  ดวงปัญญา  ในกายของเราเรื่อยไป (ขันธ์ ๓)


สุดท้ายมาถึงประโยคที่ว่า  “เสร็จกิจสิบหก  ไม่ตกกันดาร  เรียกว่านิพพานก็ได้”  นั่นคือ  เมื่อใจเดินเข้าดวงศีล  ดวงสมาธิ  ดวงปัญญา  ในกายเรื่อยไปแล้ว  ก็มาถึงหลักสูตรกิจโสฬส  (คือกิจ ๑๖)  คือกายธรรมพระโสดา  กายธรรมพระสกิทาคามี  กายธรรมพระอนาคามี  กายธรรมพระอรหัตต์  รวม ๔ กาย  เห็นอริยสัจ ๔ , กายหนึ่งเห็นได้ ๔ รวม ๔ กาย เห็นได้  ๑๖ เสร็จกิจโสฬส  อย่างนี้นิพพานเป็นที่หวังได้  แต่ถ้าหากใจตกกันดาร  คือสภาพใจไม่ใส  ก็ไม่สามารถเห็นอริยสัจ ๔    คือไม่ผ่านหลักสูตรกิจ ๑๖ กรณีอย่างนี้  ต้องทำความเพียรกันต่อไป


สรุปแล้ว  คติธรรมของหลวงพ่อบทนี้  เกี่ยวข้องด้วยข้อธรรมหลายบท  เช่น  โลกธรรม ๘  ขันธ์ ๓  กามคุณ ๕  อริยสัจ ๔  โสฬส ๑๖  หากท่านมีเวลาก็ลองหาอ่านดู  ยากอยู่เรื่องหนึ่ง  คืออริยสัจ ๔  ให้ท่านติดตามหนังสือ  “แนวเดินวิชาหลักสูตรคู่มือสมภาร  ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ” เพราะพิมพ์ออกสู่ตลาดแล้ว  การเดินวิชาเพื่อดูอริยสัจ ๔ นั้นมีวิธีอย่างไร  และเรื่องกิจ ๑๖ หรือโสฬส ๑๖ นั้น  ไม่มีใครอธิบายได้  มีหลวงพ่อของเราองค์เดียวเท่านั้นที่อธิบายได้  การค้นมาอธิบาย  ใครๆ ก็ทำได้  แต่ถามว่าเดินวิชาอย่างไร  และทำอย่างไรจึงเรียกว่ากิจ ๑๖ ก็เห็นหลวงพ่อของเราเท่านั้นที่อธิบายได้  และหลวงปู่ชั้ว  โอภาโส  อีกองค์หนึ่งท่านอธิบายได้  เพราะท่านเรียนวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อ


*******************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม  คตินิยม  การดำเนินชีวิต  ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

หมายเลขบันทึก: 215308เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท