นิพพาน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ นั่นคือความเข้าใจผิด...?


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

นิพพาน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ นั่นคือความเข้าใจผิด...?

การที่เราจะเข้าใจภาวะของพระนิพพานได้นั้น  เป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับผู้สดับตรับฟังมาน้อย  และฝึกฝนอบรมในขั้นปฏิบัติมาน้อยด้วยแล้ว  ยิ่งเข้าใจภาวะของพระนิพพานได้ยากยิ่ง  เพราะเรามักนำเอาความรู้สึกของตนเองที่เป็นฝ่ายโลกียะมาวิเคราะห์หรือมาตัดสินพระนิพพาน แต่นิพพานเป็นโลกุตตระพ้นวิสัยสามัญหรือปุถุชนจะอนุมานใดๆ ได้  ดังนั้นการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับนิพพานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย


ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจสภาพของนิพพานก่อน  ดังนี้

พระอนุรุทธาจารย์  ได้พรรณาสภาพของนิพพาน  เพื่อแสดงให้รู้ว่า  นิพพาน  คืออะไร  ไว้ ๕ ประการ  โดยประพันธ์เป็นคาถาสังคหะ (คาถาที่ ๑๓)  ความว่า


๑๓. ปทมจฺจุตมจฺจนฺตํ        อสงฺขตมนุตฺตรํ
     นิพฺพานมิติ  ภาสนฺติ    วานมุตฺตา  มเหสโย ฯ



แปลความว่า  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่  พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด  ตรัสรู้  ธรรมส่วนหนึ่ง,  ธรรมที่ไม่ตาย,  ธรรมที่เที่ยง (คือพ้นจากกาลทั้ง ๓),  ธรรมที่ปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้,  ธรรมที่ไม่มีสิ่งใดจะประเสริฐยิ่งกว่า,  ธรรมนั้นคือ  นิพพาน


สภาพของ  นิพพาน ๕ ประการ  ที่กล่าวไว้ในคาถาสังคหะนี้  มีความหมายดังนี้  คือ

๑. ปทํ  แปลว่า  ส่วนหนึ่ง  หมายความว่า  นิพพานเป็นธรรมชนิดหนึ่ง  ส่วนหนึ่ง  บทหนึ่ง  ที่เข้าถึงได้และมีอยู่โดยเฉพาะ  ในปรมัตถทีปนีฎีกา  ขยายความว่า

สภาวธรรมอันเป็นส้วนหนึ่งของปรมัตถธรรม  ไม่คลุกเคล้าด้วยโลกียธรรมนั้น  ชื่อว่า  ปทะ  ได้แก่  นิพพาน



๒. อจฺจุตํ  แปลว่า  ธรรมที่ไม่ตาย  หมายความว่า  ไม่มีเกิดอีก  เมื่อไม่มีเกิดอีก ก็ไม่ต้องตาย  ในปรมัตถทีปนีฎีกา  ขยายความว่า

สภาวธรรมที่ไม่แตกดับนั้น  ชื่อว่า  อัจจุตะ  ไม่แก่ นิพพาน

--> ที่นี้ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ได้ว่า  คำว่า ธรรมที่ไม่ตาย เพราะไม่เกิดอีกย่อมชื่อว่าไม่ตายนั้น  มิได้หมายเอาว่า  พระอรหันต์ตายแล้วสูญ    ไม่ใช่เช่นนั้น  แต่เราต้องเข้าใจว่า  การเกิดอีกหมายเอาว่า ขันธ์ ๕ เกิดอีก  และการเกิดอย่านี้ถือว่าเป็นการเวียนว่ายตายเกิดของขันธ์ ๕ การเกิดแบบนี้มี ๔ ประเภท  ที่เรียกว่า  กำเนิด ๔ นั่นคือ

๑. กำเนิดจากไข่ กำเนิดจากปุ่มเปือก  (อัณฑชะ )
๒. เกิดจากครรภ์มารดา (ชลาพุชะ) ,
๓. กำเนิดจากของโสโครก เช่น ในของเปื่อยเน่า ในน้ำครำ  ( สังเสทชะ)
๓. เกิดเติบโตขึ้นทันที เช่น เทพ , สัตว์นรกบางจำพวก , มนุษย์บางจำพวก , เปรตบางจำพวก  ( โอปปาติกะ)

ดังนั้นนิพพานชื่อว่า  ธรรมที่ไม่ตาย เพราะไม่เกิดอีกจึงชื่อว่าไม่ตาย  ก็คือ ไม่เกิดอีกในกำเนิด ๔ ซึ่งเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ที่ยังมีกิเลสทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนั่นเอง



๓. อจฺจนฺตํ  แปลว่า  ธรรมที่เที่ยง  คือ  ก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เป็นอดีตและอนาคต  หมายความว่าเป็นธรรมที่พ้นจากกาลทั้ง ๓ ในปรมัตถทีปนีฎีกา  ขยายความว่า


สภาวธรรมที่เกิดโดยพ้นจากธรรมเบื้องต้นและเบื้องหลังนั้น  ชื่อว่า  อัจจันตะ  ได้แก่  นิพพาน



๔. อสงฺขตํ  แปลว่า  ไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย  หมายความว่า  นิพพานนี้ไม่ใช่  จิต  เจตสิก  รูป  เพราะ จิต เจตสิก รูป  นั้นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยปรุงแต่ง  ในปรมัตถทีปนีฎีกา  ขยายความว่า


สภาวธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่งนั้น  ชื่อว่า  อสังขตะ  ได้แก่  นิพพาน

บัญญัติ  ก็เป็นอสังขตธรรมเหมือนกัน  แต่ในที่นี้กล่าวเฉพาะธรรมที่เป็นปรมัตถ  บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม  ฉะนั้น  อสังขตธรรมในที่นี้จึงหมายถึง  นิพพาน  แต่อย่างเดียว



๕. อนุตฺตรํ  แปลว่า  ธรรมที่ประเสริฐอย่างที่ไม่มีธรรมใดๆ จะเทียมเท่า  หมายถึง  นิพพาน  ในปรมัตถทีปนีฎีกา  ขยายความว่า


สภาวธรรมที่ล้ำเลิศกว่าธรรมอื่นใดทั้งหมดนั้น  ชื่อว่า  อนุตตระ  ได้แก่  นิพพาน




วจนัตถะของนิพพาน  

คำว่า  นิพพาน  มี  วจนัตถะ  หรือ  มีวิเคราะห์  มีความหมายมากมายหลายนัย  จะนำมากล่าวแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


กล่าวอย่างธรรมดาสามัญที่สุด  ก็ว่า  นิพพาน  เป็นที่ดับสนิทแห่งตัณหา  คำว่า  ดับสนิท  มีความหมายว่า  เมื่อดับไปแล้ว  เป็นไม่มีเกิดขึ้นอีกได้เลย(หมายเอาการดับสิ้นของตัณหา)


อีกนัยหนึ่งก็ว่า  กิเลสดับสิ้นไปเมื่อใด  เมื่อนั้นแหละ  คือถึงซึ่งนิพพาน  คำว่า  ดับสิ้น  ก็หมายถึงว่าต้องดับสนิท


ใน  ธัมมสังคณี  อธิบายศัพท์ไว้ว่า  นิพพาน  มาจากคำว่า  นิ  ซึ่งแปลว่า  พ้นจาก  และคำว่า  วาน  แปลว่า  ตัณหา  ดังนั้นคำว่า  นิพพาน  จึงแปลว่า  ธรรมที่พ้นจากตัณหา


ในอภิธัมมัตถสังคหบาลี  แสดงว่า  วาน  สงฺขาตาย  ตณฺหาย  นิกฺขนฺตตฺตา นิพฺพานํ  ธรรมชาติที่พ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดนั้น  เรียกว่า  นิพพาน


ในปรมัตถทีปนีฎีกา  แสดงว่า  นตฺถิ  วานํ  เอตฺถาติ  นิพฺพานํ  ธรรมชาติของสันติที่เกิดโดยพ้นจากตัณหานั้น  เรียกว่า  นิพพาน


ใน วิสุทธิมัคค  แสดงว่า ตยิทํ  สนฺติ  ลกฺขณํ  นิพพานมีความสุขที่พ้นจากกิเลส  เป็นลักษณะ


สุข  

เวทยิตสุข  -->  สุขอันเกิดจากเวทนา

สันติสุข  -->  สุขอันเกิดโดยพ้นจากเวทนา


เวทยิตสุข  สุขอันเกิดจากเวทนานั้น  เป็นสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์  เป็นทุกขสัจจ

สันติสุข  สุขอันเกิดโดยพ้นจากเวทนานั้น  เป็นสุขที่ไม่ได้เกิดจากการเสวยอารมณ์  เป็นนิโรธสัจจ



นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ ฯ  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

สุขจะมีได้อย่างไรในพระนิพพาน  เพราะนิพพานไม่มีการเสวยอารมณ์

ใน  สุตตันตปิฎก  เล่ม ๓๓  หน้า ๒๒๕  แก้ได้ว่า  ความที่ไม่เสวยอารมณ์นั่นแหละ  เป็นความสุขที่แท้จริง  เป็นสุขอย่างยิ่ง  เพราะสุขที่เสวยอารมณ์นั้น  เป็นสุขที่ไม่เที่ยง  ก็คือเป็นทุกข์นั่นเอง

ดังนั้น  จึงจัด สุขเวทนา  ว่าเป็น  วิปริณามทุกข์  คือ  ความสุขนั้นจะต้องวิปริตผันแปรไปเป็นทุกข์อย่างแน่นอน


ส่วน  สุขในนิพพาน  ไม่ใช่สุขเวทนา  แต่เป็น  สันติสุข  จึงไม่ผันแปรไปเป็นอื่นได้



นิพพานโดยการณูปจารนัย


นิพพาน  กล่าวโดย  การณูปจารนัย  คือ  กล่าวโดยปริยายแห่งเหตุแล้วมี ๒ คือ

ก. สอุปาทิเสสนิพพาน  ดับสิ้นแต่กิเลสอย่างเดียว  ส่วนขันธ์ยังคงเหลืออยู่

ข. อนุปาทิเสสนิพพาน  ดับสิ้นจากกิเลสและดับสิ้นจากขันธ์(ขันธ์ ๕) ด้วย

นิพพานโดยอาการที่เข้าถึง


นิพพาน  กล่าวโดยอาการที่เข้าถึง  หรือกล่าวโดยสภาพที่บนนลุหรือโดยอาการที่เป็นไปแล้ว  มี ๓ คือ


ก. อนิมิตตนิพพาน

ข. อัปปณิหิตนิพพาน

ค. สุญญตนิพพาน



อนิมิตตนิพพาน  การสงัดจากนิมิตอารมณ์  ที่ยังให้เกิดกิเลสหรือชรามรณธรรมเป็นต้นนั้น  เรียกว่า  อนิมิตตนิพพาน

ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา  จนเห็น  สามัญญลักษณะ  หรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง  เห็นความไม่เที่ยง  อันปราศจากนิมิตเครื่องหมายเช่นนี้แล้ว  และเพ่งอนิจจังต่อไป  จนบรรลุมัคคผล  มีนิพพานเป็นอารมณ์  นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู่ที่เห็นอนิจจังนั้น  มีชื่อว่า  อนิมิตตนิพพาน  ผู้มีอนิมิตตนิพพานเป็นอารมณ์  บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วยศีล



อัปปณิหิตนิพพาน

การสงัดจากความดิ้นรน  อันเป็นเหตุให้เกิดสรรพทุกข์นั้น  เรียกว่า  อัปปณิหิตนิพพาน

ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา  จนเห็นไตรลักษณ์  คือ  ทุกข์  เห้นความทนอยู่ไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปรไป  อันหาเป็น  ปณิธิ  ที่ตั้งไม่ได้เช่นนี้แล้ว  และเพ่งทุกข์ต่อไป  จนบรรลุมัคคผล  มีนิพพานเป็นอารมณ์  นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห้นทุกข์นั้น  มีชื่อว่า  อัปปณิหิตนิพพาน  ผู้มีอัปปณิหิตนิพพานเป็นอารมณ์  บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วยสมาธิ



สุญญตนิพพาน

การสงัดจากปวงปลิโพธธรรมนั้น  เรียกว่า  สุญญตนิพพาน

ปลิโพธ  ความกังวลห่วงใย  อันได้แก่  ราคะมูล  โทสะมูล  โมหะมูล

ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา  จนเห็นไตรลักษณ์  คือ  อนัตตา  เห็นความไม่ใช่ตัวตน  บังคับบัญชาไม่ได้  อันเป็นความว่างเปล่าเช่นนี้แล้ว  และเพ่งอนัตตาต่อไป  จนบรรลุมัคคผล  มีนิพพานเป็นอารมณ์  นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้เห็นอนัตตานั้น  มีชื่อว่า สุญญตนิพพาน  ผู้ที่มีสุญญตนิพพานเป็นอารมณ์นี้  บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย  ปัญญา


--->> ผู้ที่เห็นสามัญญลักษณ์  หรือไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  กับอนัตตาแล้วก้าวขึ้นสู่มัคคผลนั้น  มีจำนวนมากกว่าผู้ที่เห็น  ทุกขัง



คุณนามของนิพพาน

เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  จะเห็นได้ว่า  นิพพาน  นั้น

ก. กล่าวโดยสภาพ  ก็มีเพียง ๑ คือ  สันติสุข  สงบจากกิเลสและขันธ์ ๕


ข. กล่าวโดยปริยายแห่งเหตุ  ก็มี ๒ คือ  สอุปาทิเสสนิพพาน  และ  อนุปาทิเสสนิพพาน


ค. กล่าวโดยอาการที่เข้าถึง  ก็มี ๓ คือ  อนิมิตตนิพพาน  อัปปณิหิตนิพพาน  และ สุญญตนิพพาน

 

ที่นี้จะขยายความที่ว่า  นิพพาน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ นั่นคือความเข้าใจผิด...? นั่นคืออย่างไร

โดยการพิจารณาเราต้องเข้าใจก่อนว่า  โดยธรรมดานั้น  สิ่งใดๆ บรรดามีในโลกียธรรม  ล้วนเป็น  อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา  ทั้งสิ้น  และกฏพระไตรลักษณ์เช่นนี้  มีปรากฏอยู่ในทุกสิ่งนั่นก็คือ  สิ่งๆ หนึ่ง  เมื่อนำมาพิจารณาแล้วจะปรากฏ ๓ ลักษณะนี้เสมอ  ดังนั้นพระไตรลักษณ์อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้  เพราะเป็นการปรากฏของสิ่งๆ หนึ่งที่อธิบายได้ ๓ ลักษณะเสมอนั่นเอง


สมดังพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตรอยู่ในพระวินัยปิฎก   ยกมาโดยสรุป  ดังนี้  


รูปเป็น-->อนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้ารูปนี้จักได้เป็น-->อัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.


และยังมีพุทธพจน์ตรัสอีกว่า  


"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา"


นั่นคือการพิจารณาสิ่งหนึ่งๆ ในโลกียธรรมย่อมปรากฏ ๓ ลักษณะนี้เสมอ นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะแยกกฏพระไตรลักษณ์ออกจากกันในการพิจารณาสิ่งนั้นๆ ไม่ได้ ต้องเอาไปทั้งชุดจึงจะชื่อว่าพระไตรลักษณ์


ที่นี้เรามาพิจารณากันว่า  อนัตตา  แปลว่า  ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน  ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา  บังคับบัญชาไม่ได้  ไม่อยู่ในอำนาจ  จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ  และต้องนำมารวมกับ  อนิจจัง  คือความไม่เที่ยงแท้  แปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง  และทุกขัง  ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  ถามว่าเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด   นั่นเป็นเพราะ  อำนาจของกิเลส  ตัณหา  อุปาทาน  และอวิชชานั่นเอง  มาปกครองสภาวของโลกียธรรมทั้งปวง  ธรรมในส่วนโลกียะจึงตกอยู่ในกฏพระไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา ทั้งสิ้น  ดังนั้นเมื่อเราจะพ้นจากสภาวของพระไตรลักษณ์ก็ต้องทำลายกิเลส  ดับอวิชชา  ถอนอุปาทาน  หมดอาลัยในตัณหาให้จงได้  นั่นคือหนทางสู่มรรคผลนิพพาน


--->>  นิพพาน  ถ้าอ้างว่า  บังคับบัญชาไม่ได้  ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  จึงชื่อว่า อนัตตา  ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน  เพราะเหตุแห่งว่า  เราต้องแยกก่อนว่า  นิพพานไม่ใช่ขันธ์ ๕  แต่พระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญ  นิพพานเป็นธรรมขันธ์  ไม่มีส่วนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ แต่นิพพานไม่สามารถบังคับบัญชาได้  ไม่มีใครเป็นเจ้าของจริงหรือ  ตอบว่า  จริงสำหรับ  ผู้ที่ยังอยู่ในภาวะของปุถุชนหรืออยู่ในฝั่งของโลกียชน  ย่อมไม่สามารถบังคับบัญชาให้นิพพานเป็นอย่างไรๆ ได้ตามใจปรารถนา  จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของนิพพานได้

แต่สำหรับพระอรหันต์  ผู้หมดกิเลสถึงฝั่งพะนิพพาน  ย่อมบังคับบัญชาสภาวของโลกกุตตระธรรมได้  แต่หาได้บังคับไปตามอำนาจกิเลส  เป็นเพียงบังคับให้ทรงอยู่ในนิพพานเป็นอารมณ์  และนิพพานอันบุคคลผู้เข้าถึงแล้วย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับภาวะนั้น  ไม่จำเป็นต้องให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อีก  การบังคับบัญชาได้และการเป็นเจ้าของนิพพานจึงสักแต่ว่าเพราะผู้เข้าถึงนิพพานเป็นหนึ่งเดียวกับภาวะนั้นโดยไม่ตกต่ำลงมาสู่ภูมิโลกียะอีก  จึงได้เชื่อว่าได้มรรผลนิพพาน,บรรลุมรรคผลนิพพาน,เข้าสู่ภูมิมรรคผลนิพพาน,มีนิพพานเป็นอารมณ์  ดังนั้นนี่จึงเป็นการยืนยันได้ว่านิพพานบังคับบัญชาได้ผู้เข้าถึงอยู่จึงชื่อว่าเป็นเจ้าของ  แต่โดยความเป็นผู้หมดกิเลสแล้วจึงไม่ถือมั่นอีกต่อไป  นิพพานจึงเป็นธรรมชาติที่บังคับบัญชาด้วยอำนาจของสติในส่วนโลกุตตระธรรมโดยปกติอยู่แล้ว


นิพพานเป็นธรรมขันธ์  ไม่ใช่ขันธ์ ๕  จึงไม่เกิดอีก  ไม่เกิดอีกไม่ได้แปลว่า  อันตรธานหายสูญ  หลังจากพระอรหันต์ดับขันธ์ปรินิพพานแล้วมิได้อันตรธานหายสูญ  แต่เข้าถึงสถานที่หรือธรรมชาติคือนิพพาน  ดังมีปรากฏในพระไตรปิฎก  ดังนี้


เล่ม ๒๒ หน้า ๓๒๓ “เพราะเห็นภัยในการยึดถือซึ่งเป็นแดนเกิดของชาติและมรณะ
ชนทั้งหลายจึงหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ดำเนินไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ
ชนเหล่านั้นถึงแดนเกษมมีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ผ่านพ้นเวรและภัยล่วงทุกข์ทั้งปวง”

ความนี้อธิบายลักษณะเกือบจะสมบูรณ์ คือ บ่งถึงสถานที่ซึ่งไปดำเนินอยู่ได้
บ่งถึงความรู้สึกในสถานที่นั้น และบ่งถึง
“ดับสนิท”(ซึ่งอาจจะตรงกับ”สุญญัง”)ว่าดับจากเวรภัยและทุกข์ทั้งปวงแล้ว



เล่ม ๒๓ หน้า ๑๗๘

“ดูกร ปหาราทะ ฉันนั้นก็เหมือนกัน
ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มีได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น”

ความนี้บ่งถึงนิพพานธาตุในฐานะสถานที่



เล่ม ๑๗ หน้า ๕๙

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ
ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้
อารมณ์ย่อมขาดสูญที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป
เพราะหลุดพ้นไปจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อมจึงไม่สะดุ้ง
เมื่อไม่สะดุ้ง(หวั่นไหว)ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น


วิญญาณที่ว่าไม่มีที่ตั้งนี้ แทนที่จะสลายไป สาบสูญ อันตรธานไป กลับ”ดำรงอยู่”

ดังนั้นพระอรหันต์ดับขันธ์ปรินิพพาน  จึงไม่สูญแบบอันตรธานหายสูญ  แต่กลับดำรงอยู่  ที่ดำรงอยู่ก็เพราะมีนิพพานเป็นเครื่องรองรับนั่นเอง



--->>  ธรรมดาทาสผู้โง่เขลา  ย่อมถูกนายทาสบังคับใช้งานได้ตามประสงค์ฉันใด  สัตว์โลกผู้ถูก  กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอวิชชาครอบงำ  ย่อมเป็นไปในอำนาจของธรรมดำเหล่านี้  เปรียบเหมือนทาสผู้โง่เขลา(สัตว์โลก)ยอมทำตามนายทาส(กิเลส ตัณหา อวิชชา)จะใช้สอยบังคับใดๆ ก็ได้ฉันนั้น

แต่เมื่อใดที่ ทาสผู้โง่เขลา เริ่มฉลาดขึ้น  ปลดโซ่ตรวนพันธนาการของนายทาสได้แล้วฉันใด  ความเป็นไทจึงปรากฏแก่เขาเมื่อนั้น  เขาย่อมเป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการและอำนาจใช้สอยของผู้อื่น  เป็นไทแก่ตัวเอง  ย่อมมีอิสระ  เมื่อไม่ตกอยู่ในอำนาจของใคร(กิเลส)อีก ย่อมมีอำนาจที่จะปกครองตัวเอง บังคับบัญชาตัวเอง  เป็นเจ้านายตัวเอง  ด้วยความเป็นอิสระนั้นไซร้  

สัตว์โลกผู้ออกจากเครื่องพันธนาการคือ กิเลส ตัญหา อวิชชา  ย่อมพ้นแล้วซึ่งเวรภัยทั้งปวง  ย่อมไม่กลับไปเป็นทาสของกิเลสอีกฉันใด  เขาย่อมต้องมีอิสระในการบังคับบัญชาและเป็นเจ้าของสมความปรารถนาเองแห่งตน


แต่ในเมื่อขันธ์ ๕ อันเป็นโซ่ตรวนของกิเลสยังครอบงำพระอริยเจ้าอยู่  เราอาจพิจารณาไปว่า  ท่านยังไม่สามารถบังคับบัญชาตนเองได้เลย  ยังต้อง  แก่  เจ็บ  แล้วก็ตาย(ดับขันธ์ปรินิพพาน)อยู่  นั่นเพราะขันธ์ ๕ เป็นโซ่ตรวนของกิเลส  ผู้พ้นขันธ์ ๕ จึงไม่มีความอาลัยในกายแห่งขันธ์นั้น  ย่อมถึงธรรมขันธ์ เป็นเป็นวิมุตติ  ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  ธรรมขันธ์นี่เองที่พระอริยะจ้าสามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจ  เพราะธรรมขันธ์ ไม่มีส่วนแห่งกิเลสเจือปนใดๆ เลย  พ้นแล้วจากอำนาจของกิเลสอวิชชาทั้งปวง


คำว่าสูญจากตัวตนนั้นก็คือสูญจากขันธ์ ๕ ในนิพพานไม่มีขันธ์ ๕ มีแต่ธรรมขันธ์จึงได้ชื่อว่าสูญจากตัวตน


นิพพานไม่สูญ  แต่นิพพานไม่มีตัวตนอันเกิดจากขันธ์ ๕ นิพพานมีธรรมขันธ์ หรือธรรมกาย  สถิตมั่นคงดำรงอยู่ในนิพพานอันปราศจากตัวตน(ที่เกิดจากขันธ์ ๕)

หมายเลขบันทึก: 215457เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท