อรูปาวจรภูมิ ๔


อรูปาวจรภูมิ  ๔



อรูปาวจรภูมิ ๔  ที่สถิตอยู่ของอรูปพรหม  ๔ ชั้น  ทั้งอรูปพรหมที่เป็นปุถุชน และที่เป็นอริยบุคคล เป็นที่เกิดของติเหตุกปุถุชน  ๑  และ อริยบุคคล  ๗  (เว้นพระโสดาปัตติมัคคบุคคล)  ผู้ที่ในอดีตชาติได้เจริญอรูปฌานแล้ว  ขณะกำลังจะจุติ  (เคลื่อนจากภพเก่า  คือ ตาย)    จิตยังไม่เสื่อมจากอรูปฌานชั้นใด   ก็จะได้มาเกิดเป็นอรูปพรหมในชั้นนั้น



อรูปพรหมปุถุชน  นั้น  เมื่อสิ้นอายุแล้ว  ก็มีโอกาสไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำกว่าตามกรรมเก่าที่กำลังรอให้ผลอยู่ได้เสมอ


ส่วนอรูปพรหมอริยบุคคล  ตั้งแต่ชั้นพระอนาคามีบุคคลลงมา   ที่สถิตอยู่ในอรูปภพชั้นที่  ๑-๒-๓ เมื่อสิ้นอายุก็มีโอกาสไปเกิดในภูมิที่สูงกว่าได้  แต่จะไม่ไปเกิดในภูมิที่ต่ำกว่าเดิมอีกจนกว่าจะบรรลุพระอรหัตตผลแล้ว  ก็จะปรินิพพานในชั้นนั้น


เฉพาะอรูปพรหมอนาคามีบุคคลลงมา  ที่สถิตอยู่ในอรูปภูมิชั้นที่ ๔  (ชั้นสูงสุด)  คือ  เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ  นั้น  เมื่อสิ้นอายุลงก็จะเกิดในภพในภูมิเดิมนี้  จนถึงบรรลุความเป็นพระอรหันต์ก็จะปรินิพพานในชั้นนี้



-->> ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกาย  ได้ปฏิบัติตามวิธีเจริญภาวนาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว   น้อมเอาอรูปภพมาเป็นกสิณ  คือมาตั้งตรงศูนย์กลางธรรมกาย  ธรรมกายเจริญสมาบัติในกสิณ  หรือ  พิสดารกาย  ดับหยาบไปหาละเอียดจนสุดละเอียด   แล้วขยายข่ายญาณพระธรรมกาย  ให้เห็นสุดอรูปภพ  ตรวจดูความเป็นไปในแต่ละอรูปภพจากสูงสุด  ถึงต่ำสุด   คือ ตั้งแต่ชั้นที่  ๔  ลงไปถึงชั้นที่ ๑  เป็นชั้น ๆ ไป ดังต่อไปนี้




ชั้นที่ ๔  เนวสัญญานาสัญญาตนภูมิ   เป็นที่เกิดของอรูปพรหมที่เมื่อชาติก่อนได้เจริญ อรูปฌาน ๔  (รวมรูปฌาน ๔  เป็นสมาบัติ ๘)  แล้วขณะเมื่อก่อนตาย  จิตยังไม่เสื่อมจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน  จึงได้มาเกิดในภพหรือภูมินี้  อรูปพรหมในภูมินี้มีอายุ  ๘๔,๐๐๐  มหากัป

อุทกดาบส  (ที่พระมหาบุรุษคือ พระโพธิสัตว์ของเราได้เคยมาเรียนในสำนักของท่านและได้บรรลุสมาบัติ  ๘  แต่ทรงพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ทางให้บรรลุโมกขธรรม  จึงได้เสด็จออกจากสำนัก นี้ไปบำเพ็ญสมณธรรมโดยลำพังพระองค์เอง  จนได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ) จุติจากมนุษย์โลกแล้วก็ได้มาอุบัติ คือ  เกิดในภพนี้ ก่อนวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไม่นาน




ชั้นที่  ๓  อากิญจัญญายตนภูมิ   เป็นที่เกิดของอรูปพรหม  ซึ่งเมื่อก่อนตายจิตยังไม่เสื่อมจากอากิญจัญญายตนฌาน  ก็จะมาเกิดในภพนี้  อรูปพรหมในภูมินี้มีอายุ  ๖๐,๐๐๐  มหากับ

อาฬารดาบส  (ที่พระมหาบุรุษของเราได้เคยมาเรียนในสำนักของท่านและได้บรรลุอรูปฌาน  ๓  (รวมรูปฌาน  ๔  เป็นสมาบัติ  ๗)  แต่ทรงพิจารณาเห็นว่ายังไม่ใช่ทางให้บรรลุโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกจากสำนักนี้  ไปศึกษาต่อยังสำนักอุทกดาบส )  จุติจากมนุษย์โลกแล้วก็ได้มาอุบัติในภพนี้  ในระยะเวลาไม่นาน  ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ




ชั้นที่ ๒  วิญญาณสัญจายตนภูมิ   เป็นที่เกิดของอรูปพรหม  ที่เมื่อก่อนตายจิตยังไม่เสื่อมจากวิญญาณัญจายตนฌาน  ก็จะมาเกิดในภพนี้  อรูปพรหมในชั้นนี้มีอายุ   ๔๐,๐๐๐ มหากัป




ชั้นที่  ๑  อากาสานัญจายตนภูมิ  เป็นที่เกิดของอรูปพรหม  ที่เมื่อก่อนตายจิตยังไม่เสื่อมจากอากาสานัญจายตนฌาน  ก็จะมาเกิดในภพนี้  อรูปพรหมในชั้นนี้มีอายุ  ๒๐,๐๐๐ มหากัป



-->> มีข้อสังเกตที่สำคัญว่า  เมื่อผู้ปฏิบัติถึงธรรมกายได้ปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวข้างต้นแล้ว  น้อมอรูปภพมาเป็นกสิณ  ธรรมกายเจริญสมาบัติในกสิณ  แล้วใช้ตาหรือญาณพระธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภูมิ  โดยขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้เต็มอรูปภพ  พิจารณาดูแต่ละภูมินั้น ต่างได้เห็นอรูปพรหมมีรูปร่างสวยงามมาก ๆ  วรกายใหญ่  มีเครื่องประดับที่สวยงาม  ละเอียดประณีตยิ่งนัก  และมีรัศมีสว่างกว่ารูปพรหมทั่ว ๆ ไป  ละเอียดมากจนแม้แต่อรูปพรหมด้วยกันก็ไม่เห็นรูปกายของซึ่งกันและกัน  คงติดต่อกันรู้กันได้ด้วยจิต   มีแต่ตาหรือญาณพระธรรมกายเท่านั้นที่ละเอียดกว่า และ สามารถเห็นรูปกายของอรูปพรหมได้ตามที่เป็นจริง  และ ได้เห็นว่ารัศมีของอรูปพรหมปุถุชนแม้จะมีรัศมีสว่างไสว  แต่ก็ยังไม่สว่างไสวเท่ารัศมีของอรูปพรหมอริยบุคคล  และ  แม้เท่ารัศมีรูปพรหมในชั้นสุทธาวาส  ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี  ผู้ตัดสัญโญชน์เบื้องต่ำ  ๔  ประการได้หมดแล้ว  และชั้นพระอรหันต์  ผู้ตัดสัญโญชน์เบื้องสูงอีก  ๕ ประการ  ได้หมดสิ้นแล้ว เพราะ อรูปพรหมอริยบุคคลใน อรูปาวจรภูมิและ พรหมอริยบุคคลในชั้นสุทธาวาส  เป็นพระอริยบุคคลผู้บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองกว่าอรูปพรหมปุถุชน   จึงมีรัศมีสว่างไสว กว่า  ด้วยประการฉะนี้




มีอาจารย์บางท่านได้แสดงว่า  อรูปพรหมเป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่นามขันธ์  ๔  ดังเช่น  “อธิบายว่า  ในอรูปภูมิทั้ง ๔  ถึงแม้จะเรียกว่าภูมิก็จริง  แต่ภูมินี้ไม่ปรากฏว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่งอย่างใด  เพราะเป็นภูมิที่มีแต่อากาศว่างเปล่าอยู่เท่านั้น  สำหรับอรูปพรหมนี้  ก็เป็นพรหมที่ไม่มีรูป  มีแต่นามขันธ์  ๔ เกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่นนับตั้งแต่ปฏิสนธิมา”



นี้เป็นคำอธิบายความหมายของอรูปพรหมตามความเข้าใจในตัวอักษรว่า  “อรูป”  ซึ่งท่านเข้าใจและอธิบายว่าดังนี้


“ความจริงนั้น  อรูปพรหมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจของภาวนาที่ปราศจากความยินดีในรูป  (รูปวิราคภาวนา)  เพราะ เหตุนี้ สถานที่อยู่ของอรูปพรหมจึงไม่มีรูปร่างปรากฏเลย”



แต่ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย  ต่างได้เห็นอรูปพรหมด้วยญาณพระธรรมกาย ว่า  มีรูปกายที่ละเอียดนัก จนแม้แต่อรูปพรหมด้วยกันเอง  ก็ยังมิอาจเห็นรูปกายซึ่งกันและกัน  เพราะอรูปาวจารวิบากที่ เมื่อเจริญอรูปฌานไม่ยินดีในรูป  แต่รูปขันธ์ย่อมต้องเกิดมีพร้อมกับนามขันธ์  ๔ ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม  คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร  สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ  วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป  (สฬายตนะ  ผัสสะ ฯลฯ)  เพียงแต่รูปกายของอรูปพรหมนั้นละเอียดนัก เพราะอรูปาวจรวิบาก  จนไม่อาจเห็นได้แม้ด้วยจักษุของอรูปพรหมด้วยกัน  หรือด้วยจักษุของสัตว์โลกในภูมิที่ต่ำกว่าเท่านั้น



ถ้าสัตว์โลกที่เกิดด้วยอำนาจของอวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  เกิดขึ้นแต่เฉพาะนามขันธ์  โดย ปราศจากรูปขันธ์ได้  พระพุทธดำรัสว่าด้วย  “ปฏิจจสมุปบาทธรรม”  ก็ไร้ความหมาย  และ พระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า


“ทูรงฺคมํ  เอกจรํ อสรีรํ  คุหาสยํ
เย  จิตฺตํ  สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ  มารพนฺธนา.”



“ผู้ใด จักสำรวจจิตที่ไปไกล  เที่ยวไปดวงเดียว  ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำคือ กายเป็นที่อาศัย  ผู้นั้นจักพ้นจากเครื่องผูกของมารได้.”


ก็ไม่จริง  ซึ่งเป็นไปไม่ได้  ที่สัตว์โลกจะมีแต่จิตใจ  โดยไม่มีรูปกายเป็นที่ตั้งอาศัย  และเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธพจน์จะเป็นอื่น  (คือไม่จริง)  พระพุทธพจน์ย่อมเป็นธรรมที่แท้จริงเสมอ  



จึงควรที่นักศึกษาจะพึงปฏิบัติไตรสิกขา  อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์  ๘  ให้ดี  ให้ได้ถึงธรรมกาย  ก็จะสามารถรู้-เห็น  ด้วยตนเองตามที่เป็นจริง





๒. รูปาวจรภูมิ  ๑๖

รูปาวจรภูมิ  (ภูมิเป็นที่อยู่ของรูปพรหม) ๑๖  ภูมิ  (มี  ๙  ขั้น) ได้แก่  ปฐมฌานภูมิ  ๓ ทุติย
ฌานภูมิ  ๓,  ตติยฌานภูมิ  ๓,  จตุตถฌาน/ปัญจมฌานภูมิ  ๒
(คือ  เวหัปผลาภูมิ  ๑  อสัญญสัตตาภูมิ  ๑)  และ สุทธาวาสภูมิ  ๕



สุทธาวาสภูมิ  ๕

อกนิฏฐภูมิ  ๑
สุทัสสีภูมิ ๑
สุทัสสาภูมิ  ๑
อตัปปาทูมิ ๑
อวิหาภูมิ  ๑

เวหัปผลาภมู  อสัญญสัตตภูมิ   จตุตถฌาน/ปัญจมฌานภูมิ  ๒
ปริตตสุภาภูมิ  อัปปมาณสุภาภูมิ  สุภกิณหาภูมิ ตติยฌานภูมิ  ๓
ปริตรตาภาภูมิ  อัปปมาณาภาภูมิ  อาภัสสราภูมิ ทุติยฌานภูมิ  ๓
มหาพรหมาภูมิ  พรหมปุโรหิตาภูมิ  พรหมปาริสัชชาภูมิ ปฐมฌานภูมิ  ๓


รูปภพอยู่ล่างลงไปจากอรูปภพ  ให้เริ่มตรวจดูจาก ชั้นภูมิที่สูงสุดไปจนถึงภูมิที่ต่ำสุดตามวิธีเดียว กันกับการตรวจ อรูปภพ  คือเอารูปภพเป็นกสิณ  ธรรมกายเจริญสมาบัติในกสิณต่อไปใช้ตาหรือญาณของธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภูมิ



**************************************************************************

จากหนังสือ  ทางมรรคผลนิพพาน
ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน

สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี

หมายเลขบันทึก: 215516เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท