ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๖)


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท ภาวะสัมพันธ์ (๖) 

ปฏิจจสมุปบาทกับการเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

คุณลักษณะพิเศษประการหนึ่งของพุทธศาสนา  คือ  การดำรงอยู่ในหลักแห่งมัชฌิมาปฏิปทา  ดังที่ได้กล่าวแล้ว  ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาทนี้.   พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา.

มีข้อความในนิทานวรรคสังยุคที่แสดงให้เห็นว่า  ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ทำให้ดำรงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาอย่างไร.ข้อความมีว่า

ดูกรพราหมณ์  โวหารที่ว่า  คนนั้นย่อมได้รับผลเอง  นี้เป็นส่วนสุด
อันหนึ่ง....ดูก่อนพราหมณ์  โวหารที่ว่าคนอื่นทำเหตุ  คนอื่นย่อมได้รับผล  นี้เป็น
ส่วนสุดอันที่สองดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่ข้องแวะ
ส่วนสุดทั้งสองนั้น  ดังนี้ว่า  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร....ความดับแห่ง
กองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
หรือที่ตรัสว่า

ดูก่อนพราหมณ์  โวหารที่ว่า  สิ่งทั้งปวงมีอยู่นี้เป็นสุดอันที่หนึ่ง...........
ดูก่อนพราหมณ์โวหารที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่นี้เป็นส่วนสุดอันที่สอง  ดูก่อนพราหมณ์
ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง  ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสองนั้น  ดังนี้ว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร.....ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้   ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

และที่ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนพราหมณ์ข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงมี นี้เป็นทิฏฐิว่าด้วยความสืบต่อแห่งโลกข้อที่หนึ่ง......... สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่...  เป็นข้อที่สอง....สิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน....เป็นข้อที่สาม...
สิ่งทั้งปวงมีสภาพต่างกัน ....เป็นข้อที่สี่  ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลางไม่ข้องแวะ
ส่วนสุดทั้งสองนั้น  ดังนี้ว่า  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร....ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

จากข้อความตัวอย่างข้างต้นนี้  ไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปสู่ข้อสรุปว่า  พุทธปรัชญาหาได้ยืนยันความจริงแท้ใด ๆ  ไม่ ,  เพราะนั่นเป็นการสรุปที่ลืมความเป็นจริงประการหนึ่งไป,   กล่าวคือ   ความเป็นกลาง,  ความเป็นกลางในที่นี้หาได้หมายถึงการยอมรับหรือประสานทั้งสองแนวความคิดเข้าด้วยกันไม่,  แต่คือการยอมรับความเป็นจริงตามเงื่อนไขแห่งภาวะสัมพันธ์  หรือตามหลักปฏิจจสมุปบาท.

ในข้ออ้างแรกเมื่อยอมรับว่ามีผู้ทำ  ก็เท่ากับยอมรับว่า  ผู้นั้นมีอยู่  หรือยอมรับถึงผู้อื่นก็เท่ากับยอมกับถึงความมีอยู่ของผู้นั้น,  นั่นหาใช่คำตอบที่ถูกต้องในหลักอภิปรัชญาเลยทั้งนี้เพราะว่าสรรพสิ่งเป็นเพียงกระบวนการแห่งเหตุผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น.   ในข้ออ้างอิงถัดมาที่เกี่ยวข้องกับความมีอยู่เช่นกัน.  เราไม่สามารถยืนยันได้อย่างถูกต้องว่า มี”  หรือ ไม่มี”   ดังนั้น  คำตอบที่ถูกและตรงที่สุด  คือ เป็นผลจากปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นผลกัน.  แม้ในข้ออ้างอิงประการที่สามก็เป็นเช่นเดียวกัน.

พุทธปรัชญามองว่า  ปัญหาความสับสนในเรื่องนี้เกิดจากการที่เรามักจะมองสิ่งต่าง ๆ และต้องการคำตอบว่า  “มี”  หรือ  ไม่มี”  เมื่อเป็นอย่างนี้  เราะจะตอบคำตอบทางอภิปรัชญาด้วยคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้อย่างไร? ถ้าเราตอบว่า มี”  ย่อมหมายถึงว่ามีสิ่งต่างๆ   มีอยู่จริง,  แต่เพราะสิ่งต่างๆ  เป็นเพียงผลรวมของปัจจัยเท่านั้นและมันก็หาได้มีมาก่อนไม่,   แต่ถ้าเราตอบว่าไม่มี,  ก็มีผลรวมของปัจจัยให้เราเห็นประจักษ์อยู่  เพราะเหตุนี้เอง  พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

ท่านกัจจายนะ  โลกนี้อิงไว้กับทฤษฎี ๒ อย่าง  คือ ความมี  และความไม่มี  เมื่อเห็นกำเนิดแห่งโลกตามที่มันเป็นด้วยปัญญาอันชอบ  ความไม่มีในโลกก็ไม่มี  เมื่อเห็นความดับแห่งโลกตามที่มันเป็น  ความมีอยู่ในโลกนี้ก็ไม่มี  โลกนี้โดยมากติดยึดอยู่ในอุบาย และถูกคล้องขังด้วยการเข้าไปยึดติด  ส่วนอริยสาวกย่อมไม่เข้าไปหาไม่ยึด ไม่ติด

วิธีการตอบปัญหาเช่นนี้ของพระพุทธองค์  ทำให้หลาย ๆ  ท่านสรุปว่าพุทธศาสนาไม่สนใจที่จะให้คำสอนตอบปัญหาทางอภิปรัชญา.  ข้ออ้างที่อ้างกันมากที่สุด ก็คือ  ที่ปรากฏในวัจฉโคตตสูตรว่า

วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค....ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  โลกเที่ยงหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  ดูกรวัจฉะ  ปัญหาขอนี้เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์วัจฉโคตรปริพาชก  ได้กราบทูลถามต่อว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  โลกไม่เที่ยง หรือ....  โลกมีที่สุดหรือ.....ชีพกับสรีระเป็นอย่างเดียวกันหรือ....ชีพเป็นอย่างหนึ่ง    สรีระเป็นอย่างหนึ่งหรือ....หลังจากตายแล้วสัตว์ย่อมเกิดอีกหรือ...หลังจากตายแล้ว สัตว์ย่อมไม่เกิดอีกหรือ....หลังจากตายแล้วสัตว์เกิดอีกก็มี   ไม่เกิดอีกก็มีหรือ....  หลังจากตายแล้ว  สัตว์ไม่ใช่ทั้งเกิดอีกก็มีไม่เกิดอีกก็มีหรือ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  ดูกรวัจฉะ  ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์


ในจูฬมาลุงกยสูตร   แห่งมัชฌิมปัณณาสก์   ได้ปรากฏเรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้และมีความรุนแรงถึงขนาดที่พระมาลุงกยบุตร  ได้ตั้งเงื่อนไขว่า หากพระพุทธเจ้าไม่ตรัสตอบปัญหาเช่นนี้  ตนจะไม่อยู่เป็นนักบวชต่อไป,  และได้กราบทูลต่อพระพุทธองค์ว่า
ถ้าพระพุทธองค์ทราบว่าโลกเที่ยง....ก็ขอจงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกเที่ยง..........
ถ้าพระพุทธองค์ทรงทราบว่าโลกไม่เที่ยง  ....ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า
โลกไม่เที่ยง ....ถ้าพระผู้มีพระภาค  ไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยง  หรือไม่เที่ยง.... ก็ขอให้ตรัสบอกมาตรง ๆ เถิดว่า เราไม่รู้  เราไม่เห็น

ในจุดนี้  พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า  เงื่อนไขของการเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้อยู่ที่พระองค์จะตอบปัญหาเรื่องนี้หรือไม่,  แล้วทรงยกอุปมาเรื่องหน้าที่ของแพทย์ผู้ฉลาด  ที่จะทำการรักษาผู้ที่ถูกยิงด้วยลูกศร,  พร้อมกับได้ตรัสถึงเงื่อนไขในการประพฤติพรหมจรรย์ว่า   หาได้เกี่ยวกับการตอบปัญหานี้ไม่ เพราะเราจะรู้คำตอบว่าเป็นอย่างไรก็ตาม,  ความทุกข์ยังคงมีอยู่  จุดที่โดดเด่นในที่นี้  ไม่ใช่อยู่ที่การตอบปัญหาหรือไม่  แต่อยู่ที่ความฉลาดในฐานะแห่งความเป็นศาสดาที่จะแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สาวก.  

เราคงต้องยอมรับอย่างที่พระองค์ตรัสว่า  ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร  ความทุกข์ยังคงมีอยู่และไม่ช่วยกำจัดทุกข์ได้ .  อย่างไรก็ตามนี้หาได้หมายความว่า  พุทธศาสนาจะไร้คำตอบในเรื่องนี้  เพราะนั่นหมายถึงการที่ระบบความคิดของพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ไม่ได้.

แม้ว่าอาจเป็นความจริงที่ไม่ทรงตอบไปตามที่มีผู้ถาม  แต่จริง ๆ  แล้ว  นั่นเพราะคำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่อิงพื้นฐานทางอภิปรัชญาที่ผิดพลาด.  พระพุทธองค์จึงตอบไม่ได้ว่า  มีหรือไม่มี พระสารีบุตร เป็นผู้ที่เข้าใจเหตุผลในข้อนี้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อท่านจะตอบคำถามของพระมหาโกฏฐิตะ,  ที่ได้ถามว่า ทำไมพระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาเช่นนี้,  ท่านจึงตอบว่า

ความเห็นว่า สัตว์หลังจากตายแล้ว  ย่อมเกิดอีก  สัตว์หลังจากตายแล้วไม่เกิดอีกสัตว์หลังจากตายแล้วเกิดอีกก็มี  ไม่เกิดอีกก็มี...ดังนี้  ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ไม่รู้ไม่เห็นรูป....เวทนา....สัญญา.....สังขาร.....วิญญาณตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นเหตุเกิดแห่งรูปตามความเป็นจริง  ไม่รู้   ไม่เห็นความดับแห่งรูป   ....ตามความเป็นจริงไม่รู้ไม่เห็นปฏิปทา  อันให้ถึงความดับรูป.....ตามความเป็นจริง

แนวความคิดนี้สอดคล้องกับที่พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบแก่วัจฉโคตรปริพาชกว่า
....ดูก่อน  วัจฉะ   ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า  ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตัวตน  ย่อมไม่เห็นตนว่ามีรูป  ย่อมไม่เห็นรูปในตน.....ย่อมไม่เห็นเวทนา.....สัญญา.....สังขาร....วิญญาณ.....เพราะฉะนั้น  เมื่อพระตถาคตเจ้าถูกถามอย่างนั้นจึงไม่พยากรณ์ว่า  โลกเที่ยง

ดังนั้น  เราสามารถที่จะลงความสรุปได้ว่า  เหตุผลที่แท้จริง  ไม่ใช่เพราะไม่มีคำตอบ  แต่เพราะคำตอบอยู่ในฐานะแห่งมัชฌิมาปฏิปทา.

ตัวอย่างที่คล้ายกัน   ก็คือ  เรื่องกรรมและผู้รับผลของกรรม.  เช่นที่ปรากฏในนิทานวรรคว่า  อเจลกัสสปะเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า  ทุกข์ตนกระทำเองหรือ....ผู้อื่นกระทำให้หรือ...ตนเองก็ไม่ได้กระทำหรือ.  พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธว่า  ไม่ให้ยืนยันอย่างนั้น  และทรงตรัสว่า

เมื่อบุคคลกล่าวอยู่ว่า  นั่นผู้กระทำ  นั่นผู้เสวย  เราก็กล่าวว่า  ทุกข์ตนทำเอง  ดังนี้อันนี้เป็นสัสสตทิฏฐิ  เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง  รู้อยู่ว่า  ผู้อื่นกระทำ  แต่ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง  อันนี้เป็นอุจเฉททิฏฐิ  ดูก่อนกัสสปะ  ตถาคตแสดงธรรมโดยทางสายกลางไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย.........

ในตัวอย่างนี้  ถ้าเราถือว่า  ทุกข์เรากระทำเอง  ก็หมายความว่า  เรายอมรับว่าเรามีอยู่ในฐานะผู้กระทำ  เรามักจะมองว่า  เมื่อการยืนยันว่า  เรากระทำเองเป็นเท็จ,การที่ผู้อื่นกระทำ  ก็ต้องเป็นจริง.  ทั้ง ๒  ส่วนนี้ยังเป็นการยืนยันที่ผิดพลาด  เพราะจริง ๆ แล้ว  การกระทำ,  ผู้กระทำ  และรวมทั้งผลที่เกิดจากการกระทำ  เป็นเพียงขบวนการทางปัจจัยสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น.

อีกตัวอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน  ที่ปรากฏในอุปริปัณณาสก์,  พระภิกษุรูปหนึ่งได้มีความดำริว่า  เมื่อมนุษย์มีความเป็นอนัตตา,  กรรมที่อนัตตากระทำจะให้ผลแก่ ตน”   ได้อย่างไร?   ปัญหาในเรื่องนี้มีพื้นฐานจากการมองว่ามีความเป็นตัวตนอยู่ก่อนแล้ว  ดังนั้น  จึงเกิดปัญหาว่า  กรรมที่อนัตตากระทำจะถูก  (ให้ผลแก่ )  ตนนั้นได้อย่างไร.  พระภิกษุรูปนี้ยืนยันความมีตัวตนกับความไม่มีตัวตนในเรื่องเดียวกัน.ความผิดพลาดเกิดจากการรวมสมมติสัจเข้ากับปรมัตถสัจ.

หลักมัชฌิมาปฏิปทาที่เป็นผลพวงมาจากหลักปฏิจจสมุปบาท ก่อให้เกิดหลักการที่ยอมรับความเป็นจริงในทางอภิปรัชญา  ตามธรรมชาติที่มันเป็น,”  อันเป็นส่วนของ  มัชเฌนธรรม.”   ในขณะเดียวกัน  ยังก่อให้เกิดผลในทางศาสนธรรม หรือ จริยศาสตร์อีกด้วย  ซึ่งเรียกชื่อหลักการนี้ว่า  หลักมัชฌิมาปฏิปทา”.  ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ได้กล่าวไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ที่สุด  ๒ อย่าง  ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ  คือ  การประกอบตนให้มัวเมาในกามสุขทั้งหลาย  ที่เป็นการประกอบที่ต่ำ  เป็นเรื่องของปุถุชน  ไม่ใช่ เรื่องของประเสริฐ  ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์  และการประพฤติทรมานตน  เป็นความลำบาก  ไม่ใช่ของประเสริฐ   ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ปฏิปทาสายกลาง  ไม่เอนไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น  ตถาคตได้รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง  ทำให้ดวงตาเกิดขึ้น  ทำให้ญาณเกิดขึ้น....
ปฏิปทาสายกลางนั้นได้แก่   อริยมรรคมีองค์  ๘  นี้  คือ   สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา.....

หลักมัชฌิมาปฏิปทา,  แม้จะเป็นผลจากการมองโลกและสรรพสิ่งตามพื้นฐานของมัชเฌนธรรมก็จริง,   ทำให้เกิดการใช้หลักปฏิจจสมุปบาทในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า  อริยสัจ  ดังนั้น  ในพระสูตรเดียวกันกับข้างต้น  จึงได้เริ่มการแสดงหลักอริยสัจเพื่อชี้ให้เห็นว่า  หลักมัชฌิมาปฏิปทาเกิดมาอย่างไร.  แม้ว่าพุทธทาสภิกขุจะเรียกว่า  จะเรียกหลักปฏิจจสมุปบาท  อริยสัจจ์ในชีวิตประจำวัน”  แต่ในที่นี้ถือว่าหลักอริยสัจ  คือ  รูปแบบสำเร็จรูปของหลักปฏิจจสมุปบาท.

หมายเลขบันทึก: 215573เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท