สมถะวิปัสสนาตามแนววิชชาธรรมกาย


สมถะวิปัสสนาตามแนววิชชาธรรมกาย 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานหลัก คือ  ธรรมเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน   อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้ถึงธรรมอันเป็นรากเหง้าให้วิปัสสนาเกิด  เจริญขึ้น   และตั้งอยู่   เพื่อเจริญปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้งและรู้แจ้ง   ในสภาวะของสังขารธรรม   และวิสังขารธรรมคือ พระนิพพาน  โดยปรมัตถ์  และในพระอริยสัจ ๔   ตาม ที่เป็นจริง ไว้หลายวิธี  อันผู้เจริญภาวนาพึงเลือกปฏิบัติให้ ถูกจริตอัธยาศัยของตน


ข้าพเจ้าจึงขอเสนอวิธีเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ที่ให้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง ตามหลักปฏิบัติพระสัทธรรมเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง  ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว  คือ  วิธีเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ถึงธรรมกายมรรคผลนิพพาน  ตามรอยบาทพระพุทธองค์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลเทพมุนี  (สด  จนฺทสโร)  ท่านปฏิบัติได้เข้าถึง  ได้รู้เห็นและเป็นธรรมกายแล้ว  จึงได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์จนตลอดชีวิตของพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน  และได้ถ่ายทอดสืบต่อ  ๆ  กันมาจนถึงปัจจุบัน   ปรากฏผลดีเป็นอย่างสูงแก่ผู้ปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม


โดยมี  หลักปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ถึงธรรมกาย  ให้เกิดอภิญญา   และ วิชชา   คือ  ความรู้ความสามารถพิเศษ  ได้แก่  วิชชา  ๓   วิชชา  ๘  (รวมอภิญญา)  ชื่อว่า  “วิชชาธรรมกาย”  เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญวิปัสสนาถึงโลกกุตตรปัญญา  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังต่อไปนี้

๑        ขั้นสมถกัมมัฏฐาน


มีหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้นที่สำคัญ   ๓ ประการ  คือ


๑  กำหนด “  ฐานที่ตั้งของใจ”  ไว้ ณ  ศูนย์กลางกาย  เหนือระดับสะดือ  ๒ นิ้วมือ  อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม  และเป็นที่ตั้งกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม

ศูนย์กลางกายระดับสะดือเป็นที่สุด   และเป็นต้นทางลมหายใจ  (เข้า-ออก)


๒  กำหนด “บริกรรมนิมิต”  นึกให้เห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส ให้ใจรวมอยู่  ณ ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสนั้น  ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ   ๒ นิ้วมือ  (ตามข้อ  ๑)


การเพ่งดวงแก้วกลมใส  มีลักษณะเป็นการเพ่งแสงสว่าง  (อาโลกกสิณ)  กล่าวคือ  ถ้าพระโยคาวจรเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์  ถึงได้อุคคหนิมิต  ก็จะเห็นเป็นดวงใสสว่าง  หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงใช้ดวงแก้วกลมใส  (แทนดวงใสสว่าง)  เป็นบริกรรมนิมิต



๓  กำหนด “บริกรรมภาวนา” คือ ท่องในใจด้วยองค์บริกรรมภาวนาว่า  “สัมมา  อรหัง  ๆ ๆ” ที่กลางของกลางจุดเล็กใส   กลางดวงแก้วกลมใส.  ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ  ๒ นิ้วมือนั้น  เพื่อประครองใจให้หยุดนิ่งตรงนั้น


คำว่า “สัมมา”  เป็นคำย่อจากคำว่า  “สัมมาสัมพุทโธ”    แปลว่า  พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบซึ่งหมาย ถึงพระ ปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า  ส่วนคำว่า  “อรหัง”  แปลว่า  พระผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง  ซึ่งหมายถึง   พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า   เมื่อบริกรรมภาวนา ว่า   “สัมมาอรหัง ๆ ๆ”  นึกน้อมพระพุทธคุณ  คือ พระปัญญาคุณ  และ พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า  มาสู่ใจเรา  ด้วย  เป็นพุทธานุสสติ


ถ้าผู้ปฏิบัติภาวนากำหนดบริกรรมนิมิต  คือ  นึกเห็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสด้วยใจได้ยาก  ก็ให้สังเกตลมหายใจเข้า-ออก  ที่ผ่านและกระทบดวงแก้ว  ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับ  สะดือ  ๒  นิ้วมือ  อยู่ตรงนั้น   (เป็นอาณาปานสติอีกโสดหนึ่ง)  โดยไม่ต้องตามลมหายใจเข้า-ออก  ก็จะช่วยให้เห็นดวงนิมิตได้ง่ายเข้า  เมื่อเห็นดวงใสปรากฏขึ้นแล้ว   ก็ปล่อยความสนใจในลม


เมื่อรวมใจหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ  ๒ นิ้ว มือ  อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม  ก็จะเข้าถึง  และ  ได้รู้เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา   จิตในจิต  และ  ธรรมในธรรม  จนถึง ธรรมกาย   อันเป็นกายที่พ้นโลก  เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์   เป็นอุปการะสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้ง และรู้แจ้ง


(ก)  ในสภาวะของสังขาร คือ  ธรรมอันไปในภูมิ   ๓  ทั้งสิ้น   และธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔  เฉพาะที่เป็นสังขตธรรม ตามที่เป็นจริง

(ข)   ในสภาวะของวิสังขาร   คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์  ทั้ง  สภาวะนิพพาน  ผู้ทรงสภาวะ และอายตนะนิพพาน ตามที่เป็นจริง และ

(ค)  ในอริยสัจ  ๔ อันเป็นไปในญาณ  ๓ คือ สัจจญาณ  กิจจญาณ และ กตญาณ มีรอบ  ๑๒ 


 ๒ ขั้นอนุวิปัสสนา


เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว  ย่อมสามารถเจริญภาวนาทั้งสมถะ และ
วิปัสสนา
ให้เกิดอภิญญา
 ความรู้ความสามารถพิเศษ   และวิชชา  ได้แก่  วิชชา   ๓ วิชชา  ๘ (รวมอภิญญา  ๖)  จึง ชื่อว่า  “วิชชาธรรมกาย” ให้เกิดและเจริญความรู้ความสามารถพิเศษ   ให้สามารถพิจารณาเห็นกายในกายเวทนา  ในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม ให้เจริญ  “วิปัสสนาปัญญา”  เห็นแจ้งรู้แจ้ง  สภาวะของสังขาร   อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม)   ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น  อนิจจํ ทุกฺขํ  และอนตฺตา  อย่างไร  อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญโลกุตตรวิปัสสนา  ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔   เป็น  “โลกุตตรปัญญา” ต่อไป


กล่าวคือ   เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว

๑) พึงฝึกเจริญฌานสมาบัติให้เป็นวสี  แล้วย่อมเกิดอภิญญา  มีทิพพจักษุ  ทิพพโสต เป็นต้น ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้  (การเริ่มเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแล้วกลมใสนั้น มีลักษณะเป็นการเพ่งกสิณแสงสว่าง  ชื่อว่า“อาโลกกสิณ”  อันเป็นกสิณกลาง  และมีผลให้เกิดอภิญญาได้ง่าย


๒)    สามารถน้อมไปเพื่อ  “อตีตังสญาณ”  เห็นอัตตาภาพของตนและสัตว์อื่นในภพชาติ  
ก่อน ๆ   น้อมไปเพื่อ  “อนาคตังสญาณ”  เห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม  และน้อมไปเพื่อ “ปัจจุปปันนังสญาณ”   เห็นสัตว์โลกในทุคคติภูมิ  ได้แก่   ภูมิของเปรต  สัตว์นรก   อสุรกาย  และใน สุคติภูมิ  ได้แก่  เทวโลก  และพรหมโลก  ตามที่เป็นจริง   ตามพระพุทธดำรัสได้


ให้สามารถรู้เห็นสภาวะของสังขาร  ได้แก่   เบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย  
อันปัจจัยปรุงแต่งด้วย  ปุญญาภิสังขาร   คือความปรุงแต่งด้วยบุญคือกุศลกรรม   อปุญญาภิสังขาร   คือความปรุงแต่ง  ด้วยบาปคืออกุศลกรรม และ อเนญชาภิสังขาร  คือ  ความปรุงแต่งที่ไม่หวั่นไหว  (ด้วยรูปฌานที่  ๔  ถึงอรูปฌานทั้ง๔  )


ได้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกในสังสารจักร     อันเป็นไปตามกรรม  
โดยวัฏฏะ  ๓
 คือ กิเลสวัฏ  กัมมวัฏ  และวิปากวัฏ  และให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของสังขารธรรม   คือ  ธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม)   กล่าวคือ  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓  ทั้งสิ้น   ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ  ทุกขํ  และ อนตฺตา  อย่างไร  อย่างละเอียด  และกว้างขวาง


ให้เจริญวิปัสสนาญาณ  รวบยอดผ่านถึงโคตรภูญาณของธรรมกายได้อย่างรวดเร็ว
และเป็นบาทฐานให้เจริญโลกุตตรวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี


๓       ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา

เมื่อพระโยคาวจรเจริญอนุวิปัสสนา  เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต
 และ
ธรรมในธรรม  ทั้ง  ณ  ภายใน  และ ณ  ภายนอก   เห็นแจ้งรู้แจ้งในสามัญญลักษณะของสังสารธรรมทั้งหลายอยู่แล้วนั้น


ธรรมกายย่อมเจริญฌานสมาบัติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม   คือ  อริยสัจ  ๔  ของกายในภพ  ๓  แล้วทำนิโรธ  (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ)  ดับสมุทัย  ปหานอกุศลจิตของกายในภพ ๓  โดยวิธีดับหยาบไปหาละเอียด  ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  อันเป็นที่ตั้งของธาตุธรรม   เห็น  - จำ – คิด – รู้ คือ  “ใจ”  อันกิเลส  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ยึดครองอยู่   ปหานอกุศลจิต ชำระธาตุธรรม เห็น – จำ – คิด – รู้  คือ  “ใจ”  ของกายในกาย (รวมเวทนา   จิต และธรรม)   จากกายสุดหยาบถึงสุดละเอียด   จนเป็นแต่ธาตุล้วนธรรมล้วนของธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด   ถึงปล่อยวางอุปาทานในเบญจขันธ์ของกายในภพ ๓
และ ปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติเสียได้


ปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว  ธรรมกายที่หยาบตกศูนย์  ธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด
นั้นจะไปปรากฏในอายตนะนิพพาน
อันเป็นที่สถิตอยู่  ของพระนิพพาน คือ ธรรมกายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ พระอรหันตเจ้า  ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ประทับเข้านิโรธสงบตลอดกันหมดนับไม่ถ้วน  สว่างไสวด้วยธรรมรังสีของธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตาผลแล้ว  เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม  ที่ว่างอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพราะไม่มีสังขาร ชื่อว่า  “ปรมัตถสูญ”



โคตรภูจิต คือ  ธรรมกายโคตรภูของพระโยคาวจรนั้นย่อมยึดหน่วงพระนิพพานอันละเอียดประณีต  สุขุมลุ่มลึก  นั้นเป็นอารมณ์  (แต่นิพพานธาตุโดยปรมัตถ์เป็นธรรมธาตุที่ไม่มีอารมณ์)


เมื่อมรรคจิต  และ มรรคปัญญา  อันรวมเรียกว่า  มรรคญาณ  ของธรรมกายมรรคของพระโยคาวจรนั้นและเจริญขึ้น  ปหานสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย ๓ ประการ คือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  ลีลัพพตปรามาส  ขึ้นไปได้   ย่อมก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้  และ ณ  บัดนั้น ธรรมกายมรรค  ได้แก่  ธรรมกายพระโสดาปัตติมรรค  ก็จะตกศูนย์   และปรากฏผลจิต  ได้แก่  ธรรมกายพระโสดาปัตติผล  เข้าผลสมาบัติ พิจารณาปัจจเวกขณ์  ๕   คือ  พิจารณา  มรรค  ผล  กิเลสที่ละได้  กิเลสที่ยังเหลือ  (ในกรณีเสขบุคคล)  และ  พิจารณาพระนิพพาน ต่อไป


นี้คือขั้นตอนของเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ถึงมรรคผลนิพพาน  ตามรอยบาทพระพุทธองค์ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี  (สด  จนฺทสโร)  ได้ปฏิบัติเข้าถึงได้รู้เห็น  และเป็นธรรมกาย  แล้วได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์   และได้ถ่ายทอดสืบต่อ ๆ  กันมาถึงปัจจุบัน

ณ  ที่ใด มีผู้ปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้านี้ด้วยดี  ตรงตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านแนะนำสั่งสอนไว้  และรักษาสืบต่อไว้ด้วยดี  บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ และสถานที่ นั้น ๆ  มีความเจริญรุ่งเรือง  และสันติสุขดี  ทั้งนั้น  ไม่มีเสื่อมสลาย  จึงขอแนะนำให้ท่านผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ลองปฏิบัติดูเถิด  เมื่อท่านปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย  ก็จะทราบผลดีด้วยตัวของท่านเอง


๔       วิชชาธรรมกายชั้นสูง


สำหรับผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย และได้ฝึกเจริญภาวนา   พิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนาใน เวทนา  จิตในจิต  และ ธรรมในธรรม  ทั้ง  ณ  ภายนอก และ  ณ  ภายใน  ได้ผลดีพอสมควรแล้ว  ยัง ควรได้รับการฝึกเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง  อีกต่อไป  ซึ่งจะเป็นธรรมเครื่องช่วย  “บำบัดทุกข์” และ  “บำรุงสุข”   ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  รวมทั้งสังคมประเทศชาติได้มาก  ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้   แต่ในเรื่องนี้ผู้ปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง  เขาจะไม่ค่อยเผยหรือแสดงความโอ้อวดใด ๆ  กับใคร ๆ  นอกจากจะเป็นที่รู้กันเฉพาะในหมู่ครูอาจารย์ และ ศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดเท่านั้น


วิชชาธรรมกายชั้นสูงนี่แหละ  ที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่า  พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน  ได้เคยกล่าว กับ ศิษยานุศิษย์ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า




“ธรรมกายคนหนึ่ง   ช่วยคนได้ครึ่งเมือง”

หมายถึง  ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย  เจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง   ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่นสาธุชนพลเมืองได้มาก.

จากหนังสือ  :  ทางมรรคผลนิพพาน  (ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน)

สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย  อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี

 

ศึกษาเกี่ยวกับ "ธรรมกาย" เพิ่มเติมได้ที่ http://www.khunsamatha.com/

 

หมายเลขบันทึก: 215629เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ธรรมกายเป็นคำพูดรวมๆในพระไตรปิฎก หมายถึงธรรมต่างๆของพระพุทธเจ้า ที่เห็นเป็นคำโดดๆในพระไตรปิฏกเพียง 3 แห่งเท่านั้น
ธรรมกายที่มาเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มาเป็นเรื่องเป็นราวในพระสูตรนั้น
พระพุทธเจ้าทรงเรียกนามพระองค์เองเพียงครั้งเดียว เพื่อเทียบหลักการระหว่าพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์เท่านั้น

ธรรมกายไม่มีความหมายอะไรที่นอกเหนือไปจากนี้เลยคะ

ขอเรียนคุณวลัยลักษณ์ว่าคำว่า "ธรรมกาย" มีปรากฏเป็นหลักฐานในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหลายแห่ง เท่าที่ปรากฏค้นพบคือ ในพระไตรปิฎก ๔ แห่ง ในอรรถกถา ๒๘ แห่ง ในฎีกา ๗ แห่ง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๒ แห่ง ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกา ๓ แห่ง ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ๑ แห่ง ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ๑ แห่ง ในหนังสือพระสมถวิปัสสนาแบบโบราณ ๑ แห่ง และเมื่ออ่านแล้วจะทราบว่า เป็นการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงไม่ใช่เพียงแต่อ่านเป็นความรู้เฉพาะตัวหนังสือนะครับ

ถ้าท่านเข้าใจได้เพียงนั้นก็สุดแต่ท่านเถิด แต่ความรู้ในพระพุทธศาสนาเมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติแล้วมันไม่มีสิ้นสุดครับ กิเลสดับหมดได้ แต่วิชชาความรู้ในระดับโลกุตตระไม่มีสิ้นสุดดอกครับ ดังนั้นอย่ามองอะไรเพียงแค่ชั้นเดียว ขอให้อดทนเรียนรู้ให้รอบด้านเถิดครับ

ไม่มีพระไตรปิฎกฉบับใดที่แสดงถึงวิธีเข้าถึงธรรมกาย
เนื่องจากเป็นคำพูดรวมๆถึงธรรมต่างๆเบื้องต้น เช่น
โลกุตรธรรมทั้ง 9 เมื่อ มรรค ผล นิพพาน มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว
จึงไม่ต้องมีวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกายพระองค์ท่านจัดวางระบบ วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงเรียบร้อยแล้ว

ขึ้นมาอีก

เพียงแต่ว่าผู้ที่ปฎิบัติเข้าถึง มรรค ผล นิพพานแล้ว
ก็จะมีธรรมกายที่ประกอบด้วยธรรม คือคุณสมบัติต่างๆมากมาย
ธรรมกายไม่ใช่หลักธรรมอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ ท่านใช้ขึ้นมาในความหายพิเศษดังกล่าวเท่านั้น 

คำว่าธรรมกายนั้นมีมาในพระไตรปิฎกรวมที่มาในคำโดดๆ 3 ครั้ง
และมาในคำสมาส คือคำว่า “พหุธรรมฺมกายา” 1 ครั้ง รวมป็นสี่ครั้ง
ที่มาในคำโด 3 ครั้งนั้นมาในรูป “ธมฺมกาโย” 2 ครั้ง และ “ธมฺมกายัง” 1 ครั้ง

ในสี่ครั้งนั้น  ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ  ที่มาในตัวพระสูตรแท้ๆ ซึ่งเป็นข้อความร้อยแก้วมีครั้งเดียว
นอกนั้นมาในคัมภีร์ “อปทาน” (พระไตรปิฎกเล่ม 32-33)
เป็นคำร้อยกรองประเภทเล่าประวัติเชิงสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพระพุทธเจ้า

ธรรมกายที่มาปรากฏครั้งเดียวเป็นเรื่องเป็นราวในพระสูตรนั้น
พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นพระนามเรียกพระองค์เองและที่เรียกเป็นพระนามอย่างนี้
ก็เกิดจากการทรงเปรียบเทียบหลักการระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์

โดยให้การอธิบายแก่สองพราหมณ์มานพหนุ่มที่มาขอบวช

 

 

มุมมองต่างกันนั้นมีได้ครับ ใครจะมองอย่างไรไม่แปลก แต่เอาเข้าจริงๆ ความเข้าใจจริงอาจหยั่งไม่ถึงด้วยการคิดเพียงผิวเผินเบื้องต้น ศึกษาให้มากแล้วจะพบคำว่า ธรรมกาย นั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลในรูปของการเข้าถึง ไม่ใช่เพียงชื่อ และต่อให้เป็นชื่อ ชื่อหรือพระนามนั้นก็มีที่มาจากการเข้าถึงหรือผลของการปฏิบัตินั่นเอง

เราจะทำความรู้ให้กว้างขวาง เราจะพิสูจน์ความจริง หาใช่เพียงสุตตมยปัญญา และจินตมยปัญญา เราต้องเข้าไปพิสูจน์ด้วยภาวนามยปัญญาซีขอรับ

พระธรรมของพระพุทธเจ้า ต้องปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมจึงจะรู้แจ่งแจ้งได้

โปรดเข้าใจว่า มิได้ต้องการวิวาทะแต่ประการใด เพียงแต่เป็นการมองจากอีกมุมหนึ่งเท่านั้น และเป็นมุมที่ผู้ปฏิบัติได้ผลแล้วจึงจะเข้าใจได้ ถ้ายังใช้ตรรกะมาคุยกันต่างคนต่างคิดได้ร้อยแปดครับ

ขอบคุณที่ได้กรุณาแสดงความเห็นเข้ามา สิ่งที่เป็นความรู้ใดๆ เรายังไม่เข้าถึงยังไม่แจ้งแทงตลอดก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ไม่มี ไม่จริง เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไรเรามีข้อมูลมากพอเราอาจมีมุมมองที่กว้างขวางขึ้นกว่านี้ได้ครับ

เจริญธรรม...ขอรับ

ในอดีตมีกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมอันทำให้เกิดความสงสัยกันว่า
กำลังทำความเสียหายต่อพระธรรมวินัย และต่อประโยชน์สุขทางปัญญาของประชาชน
จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวพุทธที่ต้องสนใจช่วยกันปกป้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ให้บริสุทธิ์
จึงเป็นเหตุให้มาสนใจพระธรรมวินัยนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาจริงๆนะคะ

ถูกต้องครับ ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการใช้ปัญญาจริงๆ แต่วิธีการใช้ปัญญามี 3 แบบ

สุตตมยปัญญา ปัญญาจากการฟัง

จินตมยปัญญา ปัญญาจาการคิด

ภาวนามยปัญญา ปัญญาจากการเจริญภาวนา

การจะใช้ปัญญาได้แค่ไหน อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติตัวอย่างไร การสร้างอคติฝังแน่นในใจก็จะทำให้ปัญญาทุรพลลงได้ ก็คือเมื่อใดที่ใช้ปัญญาโดยถืออคติในใจปัญญาก็เขวไปในทาง อคติ ๔ ทีเดียว แปลว่าปัญญาไม่เกิดจริง เพราะไม่ใช้ปัญญาจากการปล่อยวาง

ผมเห็นว่าเราควรศึกษาธรรมด้วยเจตนากุศล และมองสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินเพียงเห็นว่าพูดเรื่อง ธรรมกาย เท่านั้น

การรักษาพระธรรมตามที่อ้างบางครั้งเราประมาทหรือใช้วิธีที่มิควรก็คือชื่อว่าทำลายเช่นเดียวกัน เราอ้างว่าเรารักษาแต่ผลออกมาอาจเป็นการทำลาย ก็คือก่อให้เกิดความแตกแยก ความจริงถ้าจะรักษาเราต้องเอาข้อมูลเข้าสู่กระบวนการแก้ไขที่ถูกต้อง เช่น มหาเถรสมาคม ไม่ใช่คิดเองเออเอง ทำกันเองตามอัธยาสัย จนเกิดความปั่นป่วนในบ้านเมือง

ผมเองก็ไม่นิยมชมชอบการอ้างเรื่อง ธรรมกาย ไปในทางพุทธพาณิชย์และสร้างค่ายิยมที่ผิดๆ จากพระธรรมวินัย ขอกล่าวให้เข้าใจความว่า เรื่องการสอนให้ยึดถือ อัตตา นั้นไม่มีในคำสอนวิชชาธรรมกายเลย แต่ใครจะไปสอนผิดๆ พูดกันผิดๆ ก็ต้องไปจัดการคนนั้นเอาเอง ผมเองก็พยายามห้ามปามตักเตือนบางกลุ่มบางคณะให้เข้าใจแนวปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่อง ธรรมกาย มานานหลายปี ผมทราบดีว่าท่านเป็นห่วงอะไร แต่ผมก็ทราบดีว่าถ้าทำไม่ถูกที่ถูกทาง ก็แปลว่าปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข แต่กลับยิ่งไปทำให้ปัญญามันบานปลายไปใหญ่โตได้

ขอฝากไว้เป็นข้อพิจารณานะครับ

ศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถึง "ธรรมกาย" เพิ่มเติมได้ที่ http://www.khunsamatha.com/

เป็นการตั้งกระทู้ การแสดงข้อคิดเห็นและตอบกระทู้สร้างสรรค์มากๆ
อยากเห็นการตอบสนทนาแบบนี้มานานแล้วครับ ได้ทั้งปัญญาและได้ทั้งความรู้

เรายังไม่ได้ปฏิบัติถึงขั้นตรัสรู้อย่าพึ่งปฏิเสธ

อ่านพระไตรปิฏกแล้วก็ใช่จะสามารถรู้แจ้งว่าอะไรมีไม่มี

ธรรมของพระพุทธองค์คงลึกซึ้งมากจริงๆ

ต้องด้วยการปฏิบัติแค่ยกจากคัมภีร์ คงไม่อาจนำมาอ้างอิงได้แน่

ถ้ายิ่งเอาธรรมกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มาเทียบกับวัดธรรมกายยิ่งจะไปกันใหญ๋

ธรรมกายที่มีมานั้น หลวงพ่อท่านก็ย้ำว่าของจริง ไม่ใช่ของเทียม ไม่ใช่เก๊

ถ้าเป็นของเทียมจริงป่านนี้คงสูญไปแล้วล่ะครับ

แต่เดิมหลวงพ่อท่านไม่ได้หวังเพื่อยกธรรมกายให้วัดปากน้ำโด่งดังอย่างเดียว

ปัจจุบันก็ยังเป็นวัดธรรมดา แต่วิชาธรรมกายต่างหากที่โด่งดัง

โด่งดังเพื่อให้คนพ้นจากความทุกข์ไงล่ะครับ

พระพุทธศาสนามีมา 2500 กว่าปีแล้ว

ความรู้ตามปกติผ่านมา 40 - 50 ปีก็เพื้ยนกันไปบ้างอยู่แล้วล่ะครับ

มาถึง 2500 กว่าปีจะไม่มีคนอื่นมาแต่งในพระไตรปิฏกบ้างหรอครับ

แล้วธรรมจริงๆล่ะอยู่ไหน คำตอบคือไม่มีใครรู้

หลวงพ่อท่านก็ร่ำเรียนมาตั้งแต่บวช จนอายุ 30 กว่าๆ

ก็เห็นว่าความรู้ของพระที่เรียนด้านปฏิบัติกัน ยังอ่อนอยู่

จึงค้นคว้าวิชาธรรมกายมาได้ วิชาอื่นๆ ทำให้ติดอยู่ในภพ 3

ข้ามไปไม่ถึงฝั่งนิพพาน ดังนั้นผมจึงมุ่งมั่นในวิชาธรรมกายครับผม

ใครจะว่าไงก็ช่างครับ 555

รู้สึกว่าในคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรจะมีเกี่ยวกับ ธรรมกาย ด้วยนะครับ

ไม่ใช่เนื้อหาในหลักตรีกายด้วยครับ เป็นกายแห่งธรรม อะไรสักอย่างเนี่ยแหละครับ

ของแบบนี้ ต้องปฏิบัติเอง รู้เอง เห็นเองค่ะ ขอบคุณบทความดีๆและสนทนาที่เปี่ยมล้นไปด้วยความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท