สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ


สัมมาสติ   ความระลึกชอบ  หมายถึง  ความระลึกที่ถูกต้องตามความเป็นจริงในความเกิดขึ้นและดับไปของสรรพสิ่ง  ท่านสอนให้ตั้งสติไว้ในฐานะทั้ง 4  คือ  กาย  เวทนา  จิต  และธรรม เรียกว่า  “สติปัฏฐาน 4”   แล้วให้ใช้สติพิจารณาในที่ตั้งทั้ง 4 นี้ เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงของการเกิดและการดับของสรรพสิ่ง  หัวข้อทั้ง 4  ของหมวดธรรมดังกล่าว นี้คือ


1. กายานุปัสสนา (การพิจารณากาย)

2. เวทนานุปัสสนา (การพิจารณาเวทนา)

3. จิตตานุปัสสนา (การพิจารณาจิต)

4. ธัมมานุปัสสนา  (การพิจารณาธรรม)


การระลึกในที่ตั้งทั้ง 4  ข้างต้นนั้น  เรียกว่า “สัมมาสติ”   การระลึกหรือการพิจารณา  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในทีฆนิกายสูตรที่  22  อย่างละเอียดถี่ถ้วน  เช่น   บุคคลควรพิจารณาด้วยปัญญาเนือง ๆ  ว่า  ร่างกายนี้ก็สักว่าเป็นที่รวมของธาตุ  4  เป็นการผสมผสานกันของธาตุ  4  คือ ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม   และธาตุไฟ  อันเต็มไปด้วยวัตถุธาตุ  เนื้อหนัง  กระดูก  ลำไส้  พังผืด  เลือด น้ำเหลือง  ตับ  และสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ   เมื่อโยคีบุคคลเข้าไปสู่ป่าช้า   ก็ควรพิจารณาว่า...  


ร่างกายที่ตายนี้จะต้องเน่าเหม็นและผุพังไป  เป็นอาหารของสุนัข   แร้งกา   ต่อจากนั้นมันก็จะค่อย ๆ  กลายเป็นธาตุเดิมของมันคือ   ที่เป็นดินก็ไปสู่ดิน   ที่เป็นน้ำก็ไปสู่น้ำ   ที่เป็นลมก็ไปสู่ลม   และที่เป็นอุณหภูมิหรือไฟก็ไปสู่ไฟ  หากพิจารณาเนือง ๆ  เช่นนี้  ก็จะทำให้รู้ว่าร่างกายนี้ก็สักว่าร่างกายมันเป็นสิ่งปฏิกูล  เป็นสิ่งที่ต้องเสื่อมและสลายไป  


ในการพิจารณาเวทนา (ความรู้สึก)   ก็ให้เห็นเป็นเพียงสักว่าเวทนา   จิตก็สักว่าจิต  ธรรมารมณ์ก็สักว่าธรรมารมณ์  โยคีบุคคลก็สามารถเปลื้องตนออกจากความยึดมั่นถือมั่น   และไม่เสียใจเมื่อสิ่งที่รักพลัดพรากจากตนไป   ผลที่ได้จากการพิจารณาทั้ง  4  ประการนี้   ผลอันเป็นยอดก็คือการปลดเปลื้องตนออกจากความยึดถือสิ่งทั้งปวงซึ่งเป็นพันธนาการผูกมัดบุคคลไว้ให้ติดอยู่กับโลก

สัมมาสมาธิ   ตั้งจิตชอบ (Right   Concentration)


สมาธิ  แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต   หรือการตั้งใจชอบ  หมายถึง  ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด   ตามคำจำกัดความในพระสูตร  มีชื่อเรียกเจาะจงว่า  “ฌาน 4”   ซึ่งเป็นคำจำกัดความในเชิงยกตัวอย่างมากกว่า   เพราะในหลักปฏิบัติบุคคลสามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยใช้สมาธิเบื้องต้นเท่านั้น   ซึ่งเรียกว่า  วิปัสสนาสมาธิ   อันเป็นสมาธิระดับกลางอยู่ระหว่างขณิกสมาธิกับอุปจารสมาธิเท่านั้น


สัมมาสมาธิเป็นองค์มรรคข้อสุดท้าย  และองค์มรรคนี้มีเนื้อหาให้ศึกษามากมายเพราะเป็นเรื่องของการฝึกอบรมจิตในขั้นต่าง ๆ   จนถึงขั้นละเอียดลึกซึ้ง   เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ประณีตและละเอียดอ่อน   กว้างขวางและสลับซับซ้อนมาก   เพราะเป็นเรื่องนามธรรมการที่จะฝึกจิตก็เป็นเรื่องยาก  และยากกว่าการฝึกกาย  ดังนั้น  สัมมาสมาธิ  จึงมีความสำคัญในแง่ของการปฏิบัติอันจะสนับสนุนให้เกิดปัญญาเพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางคือนิพพานการจะมีจิตตั้งมั่นหรือการตั้งใจชอบนั้น  จะต้องผ่านขั้นทั้ง  4  คือ


ขั้นที่หนึ่งได้แก่  วิตก  วิจาร  ในสภาวะความจริงตามที่เป็นจริง   แล้วมีปีติความคิดบริสุทธิ์เกิดขึ้น


ขั้นที่สองได้แก่   การพ้นจากความสุขในความสงบ   ความติดอยู่ในความสุขทางกายนั้นยังคงอยู่


ขั้นที่สาม    คือ  การทำตนให้หลุดพ้นจากความสุขทางกาย   ความสมดุลและอุเบกขาก็เกิดขึ้น   ขั้นนี้เป็นขั้นของนิพพานหรือปัญญาบริสุทธิ์แท้ ๆ



สมาธิ  3  ระดับ
 

ในสังคณี  อัฏฐกถา  (อัฉฐสาลินี)   ท่านแบ่งขั้นของสมาธิไว้ 3  ระดับ  คือ


1.  ขณิกสมาธิ   สมาธิชั่วขณะ

2.  อุปจารสมาธิ   สมาธิจวนจะแน่วแน่

3.  อัปปนาสมาธิ   สมาธิแน่วแน่สนิท


การเจริญสมาธินั้น   จะประณีตขึ้นไปเป็นขั้น ๆ  หากภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว   เรียกว่า  “ฌาน”   และฌานก็มีหลายขั้นหลายระดับ   โดยทั่วไปนิยมแบ่งออกเป็น  2  ระดับ  และแต่ละระดับยังแยกย่อยออกได้อีก  4  ขั้น  ซึ่งรวมเป็น  ฌาน 8  หรือสมาบัติ 8  ได้แก่



1. รูปฌาน 4   คือ


1.1  ปฐมฌาน  (ฌานที่ 1)  มีองค์ประกอบ  5 คือ  วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  เอกัคคตา

1.2  ทุติยฌาน  (ฌานที่  2)  มีองค์ประกอบ 3  คือ  ปีติ  สุข  เอกัคคตา

1.3  ตติยฌาน  (ฌานที่  3)   มีองค์ประกอบ 2  คือ  สุข  เอกัคคตา

1.4  จตุตถฌาน (ฌานที่  4)  มีองค์ประกอบ  2 คือ  อุเบกขา  เอกัคคตา



2. อรูปฌาน  4  คือ


2.1  อากาสานัญจายตนะ   (ฌานที่กำหนดอากาศเป็นอนันต์)

2.2  วิญญาณัญจายตนะ     (ฌานที่กำหนดวิญญาณเป็นอนันต์)

2.3  อากิญจัญญายตนะ    (ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไร ๆ เป็นอารมณ์)

2.4  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  (ฌานที่เข้าถึงสภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่  ไม่มี  สัญญาก็ไม่ใช่)



การเพียรพยายามบำเพ็ญสมาธินั้น  จะใช้กลวิธีใดก็ตามก็เพื่อให้บรรลุถึงความแน่วแน่ของจิต  ท่านเรียกว่า  “สมถะ”  สมถะล้วน ๆ  จะนำไปสู่สภาวะจิตที่เป็นสมาธิได้ขั้นสูงสุดได้ก็เพียงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเท่านั้น   หากบุคคลผู้ที่บรรลุผลสำเร็จควบทั้งสองอย่างคือสมถะและวิปัสสนา  จึงจะสามารถเข้าถึงสภาวะที่ประณีตสูงสุดคือขั้นที่  9  คือ  สัญญาเวทยิตนิโรธหรือนิโรธสมาบัติ   เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาหยุดการปฏิบัติหน้าที่และเป็นความสุขขั้นสูงสุด

วิธีการสร้างสมาธิ


วิธีการสร้างสมาธิ  หรือวิธีทำให้เกิดสมาธินั้น  มีมากมายหลายวิธี  การที่มีวิธีการหลากหลายก็เพื่อให้เหมาะสมกับบุคคลแต่ละคน   และแต่ละคนย่อมมีอุปนิสัยใจคอแตกต่างกันหากจะศึกษาและพิจารณาถึงวิธีการที่มีอย่างหลากหลายนั้น   ก็จะพบว่ามีวิธีการบางอย่างซึ่งเป็นกลาง ๆ  เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป  ในที่นี้จะนำวิธีการสร้างสมาธิมากล่าวไว้เพียง  4 แบบและจะกล่าวถึงเฉพาะหลักการใหญ่ๆ   เท่านั้น  คือ


1.  วิธีการสร้างสมาธิโดยใช้สติสัมปชัญญะ   คือ   วิธีการสร้างสมาธิด้วยการกำหนดรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับร่างกาย  เช่น  หายใจเข้า  หายใจออก  อาการของกาย   (เช่น ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  การก้าวไปข้างหน้า  การถอยหลัง  เป็นต้น)   ให้ระลึกและรู้ตัวอยู่เสมอใช้สติสัมปชัญญะกำหนดรู้ถึงความรู้สึกสุข  ทุกข์   หรือไม่สุข   ไม่ทุกข์   กำหนดรู้จิตใจที่ประกอบด้วยกิเลส  หรือไม่ประกอบด้วยกิเลส  กำหนดรู้ธรรมทั้งที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว   หรือที่ไม่ใช่ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว  วิธีการนี้   “สติปัฏฐาน”   แปลว่า การตั้งสติให้มั่น   และเมื่อตั้งสติไว้ในฐานทั้ง 4  แล้วก็พิจารณาที่ตั้งเหล่านี้  คือ


1.1  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

1.2  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

1.3  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

1.4  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


การสร้างสมาธิแบบที่หนึ่ง   ผู้บำเพ็ญสมาธิจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในการกำหนดรู้  กาย  เวทนา  จิต  หรือธรรม   ไม่ใช่กำหนดรู้ทีเดียว  4  อย่าง

2.  วิธีการสร้างสมาธิด้วยการแผ่ความรู้สึกดีงามไปยังมนุษย์และสัตว์  คือวิธีการนำเอาหลักพรหมวิหารมาสร้างสมาธิ  คือ   เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  โดยเลือกเอาข้อใดข้อหนึ่ง  มิใช่แผ่ทีเดียวทั้ง 4  ข้อ  การแผ่ความรู้สึกดีงามไปยังมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายโดยไม่จำกัดทิศทาง  ไม่แบ่งแยก   ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง   ไม่เอาอารมณ์มาเป็นตัวกำหนดการแผ่   ท่านเรียกว่า  “อัปปมัญญา”    แปลว่า  การแผ่ความรู้สึกดีงาม  โดยไม่มีประมาณจำกัด

3.  วิธีการสร้างสมาธิโดยการเพ่งวัตถุธาตุหรือสีต่าง ๆ  ที่เรียกว่า  “กสิณ”   จุดมุ่งหมายของการสร้างสมาธิตามวิธีนี้  ก็เพียงเพื่อให้จิตใจสงบนิ่ง  โดยการเพ่งสิ่งต่าง ๆ  เท่านั้น

4.  วิธีการสร้างสมาธิด้วยการส่งใจระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม  เรียกว่า  “อนุสสติ”   มี 10  อย่างคือ


4.1  การระลึกถึงพระพุทธเจ้า

4..2  การระลึกถึงพระธรรม

4.3  การระลึกถึงพระสงฆ์

4.4  การระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

4.5   การระลึกถึงทานที่ตนบริจาค

4.6  การระลึกถึงคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดา

4.7  การระลึกถึงความสงบระงับ

4.8  การระลึกถึงความตาย

4.9  การระลึกไปในกาย

4.10 การระลึกลมหายใจเข้าออก


วิธีการสร้างสมาธิทั้ง  4  แบบ  ดังกล่าวข้างต้น   เรียกชื่อตามลำดับคือ 1.  สติปัฏฐาน  2.  พรหมวิหาร  3.กสิณ      และ  4.  อนุสสติ

ประโยชน์ของการเจริญสมาธิ

การฝึกอบรมสมาธินั้น  ย่อมมีจุดมุ่งหมายในประโยชน์ต่าง ๆ กัน  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  สมาธิภาวนา  (การเจริญสมาธิ  ย่อมให้ประโยชน์ )  4 ประการ  คือ


1. การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  (ทิฏฐธรรมสุขวิหาร)

2. การได้ญาณทัสสนะ

3. การมีสติสัมปชัญญะ

4. ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

หมายเลขบันทึก: 215813เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คำว่าสติปัฏฐาน 4 คือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท