การบวชในพุทธศาสนา


การบวชในพุทธศาสนา
ความหมาย
 



คำว่า  “บวช”  เป็นคำที่คนไทยนิยมใช้     มาจากภาษาบาลี  “ปพฺพชฺชา”   ซึ่งหมายถึงบรรพชา  มีรากศัพท์มาจาก  ป  (ปะ)  แปลว่า  ทั่ว  และ  วช  (วะชะ)   แปลว่า  เว้น  มาเป็นคำว่า “บรรพชา”  แล้วกลายมาเป็นคำว่า  “บวช”  ในที่สุด


คำว่า  “ปพฺพชฺชา”  หรือ “บรรพชา”  แปลว่า  เว้นทั่ว  หมายถึง  การงดเว้นจากความชั่วทั้งปวง  หรือหมายถึง   ออกไป  คือ  ออกไปจากธุรการงานทุกประเภทของคฤหัสถ์   ผู้ที่ถือบวชในพุทธศาสนา  จะได้นามว่า    พระบ้าง  ภิกษุบ้าง  บรรพชิตบ้าง  ในปัจจุบันคำว่า “การบวช”  ที่เราพูดกันนั้น  มิได้หมายเอาเฉพาะความหมายที่ตรงกับคำว่า   “บรรพชา”  เท่านั้น  แต่หมายถึงคำว่า  “อุปสมบท”   ด้วย  เพราะตามความหมายเดิม บรรพชา  หมายถึง   การบวชเป็นสามเณรเท่านั้น   ดังนั้น  คำว่า   “บวช”   จึงใช้เป็นคำกลาง ๆ หากต้องการจะสื่อสารให้รู้ว่าบวชเป็นอะไรก็เพิ่มคำใหม่ต่อท้าย   เช่น   บวชเณร   บวชพระ   บวชชี  เป็นต้น   การบวชในพุทธศาสนาแยกได้  2  ประเภท คือ


1. การบรรพชา  คือ   การบวชเป็นสามเณรในพุทธศาสนา  ผู้ชายมีอายุต่ำกว่า  20 ปี   มีศรัทธาจะบวชในพุทธศาสนา  พระวินัยได้กำหนดไว้ให้บวชเป็นสามเณร   เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์  หากมีคุณสมบัติอย่างอื่นครบ    และมีความประพฤติดีงาม   ก็สามารถขอบวชเป็นพระภิกษุได้


คุณสมบัติของผู้จะบรรพชา

ผู้ที่จะขอบรรพชา  หรือขอบวชเป็นสาเณรในพุทธศาสนานั้น  คุณสมบัติสำคัญมีดังนี้คือ

1. เป็นชาย  อายุอย่างต่ำ 7  ปี

2. ไม่เป็นโรคติดต่อ

3. ไม่เป็นคนมีอวัยวะบกพร่องน่ารังเกียจ   เช่น   มือเท่าขาด   นิ้วมือนิ้วเท้าขาดใบหูขาด จมูกวิ่น   เป็นต้น

4. ไม่เป็นคนพิการ   เช่น  ตาบอดใส   คนง่อยเปลี้ย  คนมีมือหยิก   หูหนวก เป็นต้น


การเข้าสู่ภาวะเป็นสามเณร
 
เมื่อผู้ที่จะบวชมีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วนแล้ว   ก่อนเข้าสู่พิธีการบวช   (บรรพชา)  ต้องปลงผม  โกนหนวด  เตรียมบริขารต่าง ๆ  ให้พร้อม  กำหนดวัน  เวลา   สถานที่จะบวชมีพระอุปัชฌาย์บวชให้   การบวชเป็นสามเณรเสร็จสิ้นลงหลังจากคำกล่าวรับเอาไตรสรณคมน์จบลงเพื่อให้เกิดความบริบูรณ์ในการปฏิบัติในภาวะของสามเณรจึงต้องรับศีล 10  ข้อเพิ่มอีก   การเข้าถึงไตรสรณคมน์ก็คือ   การยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง   ที่ระลึก   โดยกล่าวคำต่อไปนี้


พุทฺธํ   สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธว่าเป็นที่พึ่ง  (สรณะ)

ธมฺมํ  สรณํ  คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง  (สรณะ)

สงฆํ  สรณํ  คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง  (สรณะ)

ทุติยมฺปิ      (ข้อความซ้ำกับข้างต้น)   แม้ครั้งที่สอง    (ข้อความซ้ำกันข้างต้น)

ตติยมฺปิ      (ข้อความซ้ำกับข้างต้น)    แม้ครั้งที่สาม    (ข้อความซ้ำกับข้างต้น)


การที่ต้องให้ผู้ขอบวชเป็นสามเณรกล่าวย้ำถึง  3  ครั้ง   ก็เพราะต้องการให้ทราบถึงความตั้งใจจริงของผู้จะบวช   หากให้กล่าวเพียงครั้งเดียวเท่านั้น   อาจจะกระทำโดยเผลอสติไม่ทันคิด การกล่าวย้ำถึง  3  ครั้ง  จึงเป็นการย้ำถึงเจตนาของตนอย่างแท้จริง



การรับสิกขาบท  10

หลังจากรับไตรสรณคมน์   ผู้บวชก็เข้าสู่ภาวะของสามเณรแล้ว   แต่เพื่อให้ความเป็นสามเณรสมบูรณ์   จึงจำเป็นต้องสมาทานศีลจำนวน  10 ข้อ  คือ


1.  ปาณาติปาตา  เวรมณี   สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ   การงดเว้นจากการยังมีชีวิตสัตว์ให้ตกไป

2. อทินฺนาทาวา  เวรมณี  สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบาท  คือ  การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

3.  อพฺรหฺมจริยา  เวรมณี  สิกฺขาปทํ   สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ   การงดเว้นจากประพฤติไม่ประเสริฐ

4.  มุสาวาทา  เวรมณี   สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท   คือ  การงดเว้นจากการพูดเท็จ

5.  สุราเมรยมชฺชปมาทฏฐานา  เวรมณี สิกฺขาปทํ   สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ   การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา  คือ  สุราและเมรัย  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

6.  วิกาลโภชนา   เวรมณี  สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  การงดเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล  (เริ่มตั้งแต่เที่ยงวัน   กระทั่งถึงรุ่งเช้าของวันรุ่งขึ้น)

7.  นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา   เวรมณี สิกฺขาปทํ   สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ   การงดเว้นจากการฟ้อนรำ  ขับร้อง   ประโคม  ดนตรี  และดูการละเล่นต่าง ๆ  อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์

8. มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฐานา  เวรมณี  สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  การงดเว้น จากการทัดทรงดอกไม้    และลูบไล้ตกแต่งด้วยของหอมและเครื่องย้อม   เครื่องทา

9.  อุจฺจาสยนมหาสยนา   เวรมณี  สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  การงดเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงและใหญ่

10.  ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา   เวรมณี  สิกฺขาปทํ   สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  การงดเว้นจากการรับเงินและทอง



การบวชเป็นสามเณรนั้น  แม้ตามหลักการจะยึดเอาการเข้าถึงไตรสรณคมน์เป็นสำคัญการสมาทานสิกขาบททั้ง  10 ก็เพื่อให้ความเป็นสามเณรบริบูรณ์เท่านั้นก็จริง    แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  หลังจากได้ภาวะเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีลทั้ง  10  ข้อมิให้ด่างพร้อย   ถ้าประพฤติละเมิด  โดยมิได้เจตนา  หรือทำด้วยความประมาท  ก็จะถูกลง  “ทัณฑกรรม”   แล้วทำพิธีรับศีลใหม่ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า  “ต่อศีล”

หมายเลขบันทึก: 215833เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

2. การอุปสมบท คำว่า “อุปสมบท” หมายถึง การบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา บางทีก็ใช้รวมกับคำว่า “บรรพชา” เป็น “บรรพชาอุปสมบท” หมายถึง การบวชเป็นสามเณรและภิกษุในพุทธศาสนา มีคำที่ใช้แทนผู้ที่บวชเป็นภิกษุแล้ว คือ “อุปสัมบัน” แปลว่าผู้ที่อุปสมบทแล้วก็หมายถึงภิกษุนั่นเอง

ชายผู้ที่จะบวช (อุปสมบท) ในพุทธศาสนาจะต้องเตรียมตัวก่อน เพื่อให้พร้อมในตอนประกอบพิธีบวช ผู้เตรียมตัวเรียกว่า “นาค” ซึ่งแปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้ทำบาปไม่ได้ หมายความว่า การบวชเป็นการละเพศคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเพศที่อาจทำบาปได้ทุกขณะ แต่การมาบวชจะทำอย่างนั้นไม่ได้

-->> ประเภทของการบวช

การบวชพระหรือการอุปสมบทในพุทธศาสนาแยกได้ 3 ประเภท คือ

1. เอหิภิกขุอุปสัมปทา การบวชประเภทนี้ เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าประทาน แก่กุลบุตรผู้ขอบวชด้วยพระองค์เอง เป็นการอนุญาตให้มาเป็นภิกษุโดยการตรัสด้วยพระวาจาแต่จะมีอยู่ 2 แบบ คือ...

หากบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาขอบวช พระองค์ก็จะตรัสเรียกให้เข้าเป็นภิกษุว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” การตรัสพระวาจาเพียงแค่นี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว

สำหรับแบบที่สองเป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้แก่บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ สามารถกำจัดกิเลสได้แล้ว พระองค์จะตรัสพระวาจาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด ธรรมเรากล่าวดีแล้วเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” จะพบ พระพุทธเจ้าจะตัดข้อความตอนสุดท้ายออก คือ “ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพราะผู้ที่กำจัดกิเลสตัณหาได้แล้ว จะไม่มีความทุกข์โดยสิ้นเชิง

2. ติสรณคมนูปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยวิธีให้ผู้ขอบวชกล่าวคำรับเอาและเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง(สรณะ) เป็นที่ระลึก ซึ่งได้กล่าวถึงรายละเอียดไว้แล้วในเรื่อง “การบรรพชา” แต่การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทานี้ เดิมใช้บวชพระมาก่อน กล่าวคือ ตอนที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยออกประกาศศาสนา ได้เสร็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ประทานการบวชแก่บุคคลผู้เลื่อมใสศรัทธา ขณะที่ประทับอยู่ในเขตเมืองพาราณสีนั้น มีจำนวนถึง 60 รูป แล้วพระองค์ก็ทรงส่งพระสาวกเหล่านั้นออกประกาศศาสนาไปตามบ้าน คาม นิคมและราชธานี โดยส่งไปแห่งละรูป มิให้เดินทางไปแห่งเดียวกันสองรูป

เมื่อมีผู้ศรัทธาจะขอบวชในพุทธศาสนา พระสาวกก็ไม่อาจจะบวชให้แก่ผู้เลื่อมใสเหล่านั้นได้ ต้องพาผู้มีศรัทธาเหล่านั้นเดินทางรอนแรม หนทางก็ทุรกันดาร พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากเหล่านี้จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสามารถบวชด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทานี้ โดยไม่ต้องพาผู้ขอบวชเดินทางมาหาพระพุทธองค์อีกต่อไป

3. ญัตติจตุตถกรรมวาจา คือ การอุปสมบทด้วยการสวดญัตติเป็นที่ 4 การอุปสมบทหรือบวชพระในปัจจุบัน ใช้วิธีการอุปสมบทแบบบัตติจตุตถกรรมวาจานี้โดยหมู่สงฆ์เป็นผู้ใช้ ซึ่งเดิมใช้วิธีแบบติสรณคมนูปสัมปทา แต่วิธีการเดิมทำให้เกิดข้อผิดพลาดและบกพร่องในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาบวชเป็นภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกให้เป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขถึงจำนวนสงฆ์ไว้ 2 อย่าง คือ

3.1 ในท้องถิ่นที่กันดารและห่างไกล ให้ใช้สงฆ์จำนวน 5 รูป ในการทำพิธีบวช

3.2 ในเมืองอันเป็นถิ่นที่หาภิกษุได้ง่าย กำหนดให้ใช้สงฆ์จำนวน 10 รูป

ในจำนวนภิกษุ 5 หรือ 10 รูปนั้น ให้รวมกันเป็นคณะ แล้วให้มีพระอุปัชฌาย์ 1 รูปและพระคู่สวด 2 รูป ส่วนภิกษุที่เหลือให้เป็นพระอันดับ การรับรองการบวชในคณะสงฆ์จะต้องได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์ หลังจากกำหนดใช้การบวชพระด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้แล้ว ก็ยกเลิกวิธีแบบติสรณคมนูปสัมปทา และใช้วิธีหลังนี้สำหรับบวชให้แก่ผู้จะบวชเณร (บรรพชา)

-->> บุคคลที่ห้ามอุปสมบท

ผู้ที่จะขออุปสมบทในพุทธศาสนา จะต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย วุฒิภาวะ แล้วอัฏฐบริขารครบวินัยบัญญัติ ในพระวินัยได้กำหนดคุณสมบัติไว้มากมายสำหรับผู้จะเข้าสู่พระธรรมวินัย เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสม ซึ่งคุณสมบัติที่ต้องห้ามมีดังต่อไปนี้

--> หมวดที่ 1 วัตถุวิบัติ ห้ามอุปสมบทในพุทธศาสนา ได้แก่

1.1 อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

1.2 บัณเฑาะก์ หรือกะเทย

1.3 อุภโตพยัญชนกะ คือ คนที่มีทั้งเพศชายและเพศหญิง

1.4 ภิกขุณีทูสกะ คือ คนที่ประทุษร้ายนางภิกษุณี

1.5 เถยยสังวาสกะ คือ คนที่ถือเพศเป็นภิกษุเอาเอง

1.6 ติตติยปักกันตกะ ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์ ซึ่งขาดจากความเป็นภิกษุมาแล้วจะกลับมาบวชอีกไม่ได้

1.7 มาตุฆาตกะ คือ คนที่ฆ่ามารดา

1.8 ปิตุฆาตกะ คือ คนที่ฆ่าบิดา

1.9 อรหันตฆาตกะ คือ คนที่ฆ่าพระอรหันต์

1.10 โลหิตุปาทกะ คือ คนที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า แม้เพียงทำพระโลหิตให้ห้อเลือด

1.11 สังฆเภทกะ คือ คนผู้ยุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน (ทำลายสงฆ์)

1.12 ภิกษุที่ต้องปาราชิก ซึ่งขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ไม่อาจบวชใหม่ในพุทธศาสนาได้อีก

--> หมวดที่ 2 บุคคลวิบัติ หมายถึง บุคคลผู้มีโรคร้ายแรงและมีอวัยวะบกพร่องห้ามบวชในพุทธศาสนา มีดังนี้

2.1 คนมีโรคร้ายแรง เช่น โรคเรื้อน กลาก หืด ฝี ลมบ้าหมู

2.2 คนที่มีอวัยวะบกพร่อง เช่น มีเท้า ขาดวิ่น หรือมีมือ เท้า เป็นแผ่น นิ้วมือ นิ้วท้าว ติดกันเป็นแผ่น

2.3 คนพิการ เช่น คนค่อม ตาบอด มือหงิก เท้าหงิก

2.4 คนทุพพลภาพ เช่น คนชรา คนมีแรงน้อย ซึ่งไม่อาจปฏิบัติศาสนกิจได้

2.5 คนที่มีพันธะผูกพัน เช่น คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว คนที่มารดาบิดาไม่อนุญาตให้บวช

2.6 โจรผู้ร้ายที่มีชื่อโด่งดังที่คนทั่วไปรู้จักถึงความโหดเหี้ยม

--> หมวดที่ 3 ข้อห้ามตามระเบียบของคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน คณะสงฆ์ไทยได้วางระเบียบสำหรับผู้จะขอบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา โดยห้ามบุคคลต่อไปนี้อุปสมบท

3.1 คนที่ทำผิดกำลังหลบหนีอาชญาแผ่นดิน

3.2 คนที่หลบหนีราชการ

3.3 คนที่มีคดีค้างอยู่ในศาล

3.4 คนที่เคยถูกศาลยุติธรรมตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายอุฉกรรจ์

3.5 คนที่เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง

--> หมวดที่ 4 คนที่ยังไม่พร้อมในด้านอื่น ๆ ห้ามบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา คือ

4.1 ผู้ที่ไม่มีพระอุปัชฌาย์ที่จะบวชให้

4.2 ผู้ที่ไม่มีบาตร

4.3 ผู้ที่ไม่มีจีวร

4.4 ผู้ที่ไม่มีทั้งบาตรและจีวร

4.5 ผู้ที่ยืมบาตรหรือขโมยบาตรเขามา

4.6 ผู้ที่ยืมจีวรหรือขโมยจีวรเขามา

4.7 ผู้ที่ยืมบาตรและจีวร หรือขโมยทั้งบาตรและจีวรเขามา

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ขออุปสมบท

ในพระวินัยได้กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของผู้จะขออุปสมบทในพุทธศาสนาไว้พอสรุปได้ 9 ข้อ คือ

1. ไม่มีโรคติดเชื้อ โรคเรื้อรัง เช่น โรคเรื้อน โรคผี โรคหืด โรคลมบ้าหมู

2. เป็นมนุษย์

3. เป็นชาย

4. ไม่เป็นทาส

5. ไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

6. ถ้าเป็นข้าราชการจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน

7. ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา

8. อายุครบ 20 ปี บริบูรณ์

9. มีอัฏฐบริขารครบ (บริขาร 8 ) ได้แก่

9.1 บาตร

9.2 อันตรวาสก คือ ผ้านุ่ง (สบง)

9.3 อุตตราสงค์ คือ ผ้าห่ม (จีวร)

9.4 สังฆาฏิ คือ ผ้าพาดบ่า (ผ้าสังฆาฏิ)

9.5 กายพันธ์ คือ ผ้าประคดเอว (ผ้าคาดเอว ผ้ารัดเอว)

9.6 ธมกรก คือ หม้อกรองน้ำ

9.7 มีดโกน (สำหรับใช้ปรงผม โกนหนวด)

9.8 กล่องเข็มพร้อมด้าย (สำหรับเย็บ ชุนผ้า)

สำหรับข้อที่ 9 คือเครื่องอัฏฐบริขาร (บริขาร 8) นี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บวชเป็นภิกษุอย่างมาก เพราะภิกษุต้องใช้สิ่งของเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน พระวินัยได้บัญญัติกำหนดให้ผู้จะอุปสมบทมีเครื่องบริขารทั้ง 8 อย่างครบถ้วน สำหรับเครื่องใช้ที่ให้ความสะดวกอื่น ๆ นั้น เพราะวินัยมิได้บัญญัติไว้ว่าต้องมี เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น จะมีไว้ก็เป็นเพียงเครื่องอาศัย เช่น อังสะ (ผ้าเฉวียงบ่า) และผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น ที่กำหนดไว้เช่นนี้ ก็เพื่อให้ภิกษุเป็นผู้มักน้อย ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งอื่น ๆ อันไม่จำเป็น อันจะทำให้เป็นการพอกพูนกิเลส ตัณหา แล้วกลายมาเป็นความโลภในที่สุด

-->> ขั้นตอนของการอุปสมบท

หลังจากผู้ที่จะขอบวชไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม และมีคุณสมบัติของผู้จะบวชครบถ้วนมีศรัทธาแน่วแน่ที่จะบวช แจ้งวัตถุประสงค์ต่อวัดที่จะบวช กำหนดวัน เวลาและสถานที่ เตรียมตัวให้พร้อม และท่องคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว ก็นำนาคไปวัดตามธรรมเนียมมีการเวียนประทักษิณ (เวียนขวา) รอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วเข้าโบสถ์เพื่อประกอบกิจในการบรรพชาอุปสมบท ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

1. ให้บรรพชาเป็นสามเณร

2. ขอนิสัย (ขอให้พระอุปัชฌาย์เป็นที่พึ่ง หรือเป็นต้นแบบแห่งความประพฤติ)

3. ถืออุปัชฌาย์

4. ตั้งชื่อภาษาบาลีให้แก่ผู้อุปสมบท และบอกนามของพระอุปัชฌาย์

5. ขอบาตรและจีวรให้แก่ผู้ขออุปสมบท

6. สั่งให้ผู้อุปสมบทออกไปยืนนอกหัตบาทสงฆ์เพื่อตอบคำถาม (อันตรายิกธรรม)

7. สมมุติให้ภิกษุรูปหนึ่งหรือสองรูปซักถามอันตรายิกธรรมกับผู้ขออุปสมบท

8. ผู้ขออุปสมบทมีคุณสมบัติครบถ้วน จะถูกเรียกเข้าท่ามกลางสงฆ์

9. ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาขออุปสมบท (ขอบวช)

10. สมมุติภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือสองรูปสอบถามอันตรายิกธรรม

11. ขอมติจากสงฆ์ เมื่อได้รับมติเอกฉันท์ การบวชจึงสามารถดำเนินต่อไป

12. เมื่อพิธีบวชเสร็จสิ้นแล้ว พระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ เป็นเสร็จพิธี

อนุศาสน์ 8 อย่าง

ขั้นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับพิธีการอุปสมบท เมื่อผู้ที่ขอบวชผ่านพิธีการบวชเข้าสู่ภาวะ ภิกษุเรียบร้อยแล้ว พระอุปัชฌาย์จะสอนอนุศาสน์แก่ภิกษุใหม่ เพื่อเป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นอนุศาสน์ มี 8 อย่าง แยกออกเป็น 2 ตอน คือ

1. นิสสัย 4 เครื่องอาศัยในการดำเนินชีวิตของบรรพชิต เรียกว่า “นิสสัย” แยก ได้ 4 ข้อ คือ

1.1 เที่ยวบิณฑบาต

1.2 นุ่งห่มผ้าบังสุกุล

1.3 อยู่โคนไม้เป็นวัตร

1.4 ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

2. อกรณียกิจ 4 กิจที่ไม่ควรทำ เรียกว่า “อกรณียกิจ” แยกได้ 4 ข้อ คือ

2.1 เสพเมถุน

2.2 ลักของเขา

2.3 ฆ่าสัตว์

2.4 พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

-->> อาบัติ

โทษที่เกิดเพราะความละเมิดของภิกษุในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เรียกว่า “อาบัติ” อาบัติว่าโดยชื่อมี 7 อย่าง คือ

1. ปาราชิก

2. สังฆาทิเสส

3. ถุลลัจจัย

4. ปาจิตตีย์

5. ปาฏิเทสนียะ

6. ทุกกฎ

7. ทุพภาสิต

-->> สิกขาบทในพระปาติโมกข์

ข้อห้ามที่ยกขึ้นเป็นสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งอาจมีชื่อแตกต่างกับอาบัติหรือสิกขาบทที่มานอกพระปาติโมกข์ สิกขาบทที่ปรากฏอยู่ในพระปาติโมกข์ มีดังนี้

1. ปาราชิก 4

2. สังฆาทิเสส 13

3. อนิยต 2

4. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30

5. ปาจิตตีย์ 92

6. ปาฏิเทสนียะ 4

7. เสขิยะ 75

8. อธิกรณสมถะ 7

นามต่าง ๆ ของพระสงฆ์

พระสงฆ์ในพุธศาสนา มีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้

1. สาวก แปลว่า ผู้ฟัง ศิษย์

2. ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ ผู้เห็นภัย

3. สมณะ แปลว่า ผู้สงบ

4. บรรพชิต แปลว่า ผู้ละเว้นจากความชั่ว คือบาปอกุศลทั้งปวง

5. อนาคาริก แปลว่า ผู้ไม่มีเรือน คือ สละบ้านเรือนแล้ว

6. ศากยบุตร แปลว่า บุตรของพระศากยมุนี

-->> ภิกษุณี

ภิกษุณีเป็นสาวิกาในพุทธสาวก เรียกว่า “ภิกขุณีบริษัท” ในบริษัท 4 ประวัติการเกิดขึ้นของภิกษุณีนั้น เกิดจากพระนางมหาปชาบดีโคตรมี ผู้เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า (กนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา) มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า เดิมทีพระพุทธเจ้าไม่มีพระประสงค์จะให้สตรีบวชในพุทธศาสนา เพราะทรงเห็นว่าการบวชของสตรีจะทำให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่ได้นาน แต่เนื่องจากพระนางมหาปชาบดีโคตรมีเป็นผู้ที่มีอุปการคุณต่อพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และพระอานนท์ก็ได้ขอพระพุทธานุญาตให้สตรีบวช ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพุทธศาสนา แต่ทรงกำหนดครุธรรม 8 ประการ ให้สตรีที่ขอบวชเป็นภิกษุณียึดถือปฏิบัติไม่บกพร่อง ดังนั้นพระนางมหาปชาดีโคตมีจึงได้บวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพุทธศาสนา ในกาลต่อมา สตรีจำนวนมากมีศรัทธาขอบวชเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนา

การเข้าสู่ภาวะภิกษุณี

สตรีที่อายุยังน้อยจะให้บวชเป็นสามเณรีก่อน เมื่ออายุครบ 18 ปี หากปฏิบัติดีจะได้รับการบวชเป็นนางสิกขมานา โดยรักษาศีลข้อที่ 1-6 ไม่ให้บกพร่องเป็นระยะเวลา 2 ปี แล้วได้รับฉันทานุมัติจากสงฆ์ จึงจะสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ หากนางสิกขมานามีความบกพร่องในความประพฤติ ก็จะตั้งต้นนับเวลาใหม่ การขอบวชของสิกขมานาในรุ่นหลัง ๆ จะปฏิบัติในสองขั้นตอนคือ...

ตอนแรกจะต้องได้รับสิกขาสมมุติจากภิกษุสงฆ์ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาก่อน และขั้นที่สองจะต้องถืออุปัชฌาย์เช่นเดียวกับการบวชเป็นภิกษุ แต่เรียกชื่อว่า “ปวัตตินี” ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติคือมีพรรษาไม่ต่ำกว่า 12 พรรษา

อย่างไรก็ตาม แม้ภิกษุณีจะถูกจัดอยู่ในบริษัท 1 ใน 4 ของพระพุทธเจ้า ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสืบต่อศาสนามาตามลำดับ แต่ครั้นกาลล่วงมาถึงตอนปลายพุทธกาล จำนวนภิกษุณีก็ลดน้อยลง หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ชื่อของภิกษุณีก็เลือนหายไป ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งหลัง ๆ ก็ไม่มีการเอ่ยถึงภิกษุณีว่ามีอยู่หรือมีบทบาทในการทำสังคายนาแต่ประการใด

ครุธรรม 8 ประการ

ครุธรรม หมายถึง ธรรมอันหนักหรือข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดสำหรับภิกษุณีในพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 8 ประการ คือ

1. ภิกษุณีแม้อุปสมบทตั้ง 100 ปี จะต้องแสดงความเคารพต่อภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น

2. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุเท่านั้น

3. ภิกษุณีต้องถามอุโบสถและฟังโอวาทของภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

4. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย

5. ภิกษุณีต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ต้องประพฤติมานัตปักษ์หนึ่งในสงฆ์สองฝ่าย

6. ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย (ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์)

7. ภิกษุณีไม่พึงด่าว่าภิกษุ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

8. ภิกษุณีไม่พึงสอนภิกษุ แต่เปิดโอกาสให้ภิกษุสอนตน

ฐานะของภิกษุณี

การบวชเป็นภิกษุณีนั้น จะมีสถานภาพที่แตกต่างไปจากการบวชเป็นภิกษุ แนวปฏิบัติของภิกษุณีถูกกำหนดขึ้นมาให้ปฏิบัติอย่างมากมาย และถูกจำกัดด้วยหลักการดำเนินชีวิตในแง่ต่าง ๆ ดังข้อบัญญัติต่อไปนี้

1. ภิกษุณีเป็นอุปสัมบันในหมู่ของภิกษุณีและผู้อื่น แต่เป็นอนุปสัมบันในหมู่ภิกษุ คือไม่มีฐานะเท่ากัน

2. ภิกษุณีจะร่วมสังฆกรรมต่าง ๆ กับภิกษุไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิจะห้ามอุโบสถปวารณาแก่ภิกษุในทุกกรณี

3. ภิกษุณีมีสิทธิโดยชอบตามพระวินัยที่จะให้ภิกษุกล่าวคำหยาบคายต่อตน

4. ในกรณีที่ภิกษุณีด่าว่า คุกคามภิกษุ ภิกษุมีสิทธิที่จะห้ามอุโบสถปวารณาแก่ภิกษุณีได้

5. เมื่อภิกษุณีจะถามปัญหาแก่ภิกษุ ให้บอกก่อนว่าจะถามอะไร ถามในเรื่องพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม เมื่อบอกไว้อย่างหนึ่งแล้ว แต่กลับถามอีกอย่างหนึ่งเป็นอาบัติ

สำหรับข้อปฏิบัติของภิกษุณีที่เรียกว่า “ศีล” นั้น ศีลของภิกษุณีมีถึง 311 ข้อ การที่ศีลของภิกษุณีมีมากกว่าศีลของภิกษุนั้น ส่วนใหญ่บัญญัติขึ้นเกี่ยวกับข้อห้ามของสตรีเพศเพื่อป้องกันรักษาให้ภิกษุณีปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ เปรียบได้กับการเลี้ยงดูบุตรในครอบครัวบิดามารดาย่อมมีหลักปฏิบัติแก่บุตรสาวไว้มากกว่า บุตรชาย สาเหตุของข้อปฏิบัติก็มาจากความเป็นเพศหญิงของบุตรนั่นเอง

-->> อุบาสก คำว่า “อุบาสก” มาจากคำภาษาบาลี คือ “อุปาสกะ” แปลว่าผู้เข้าไปนั่งใกล้ ๆ คือผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย หมายถึง ฆราวาสชายที่มีศรัทธาในพุทธศาสนา แล้วนำเอาหลักธรรมไปเป็นแนวในการดำเนินชีวิต บุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นอุบาสก นอกจากจะเข้าถึงพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ก็จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการ คือ

3.1 ประกอบด้วยศรัทธา (เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ)

3.2 มีศีลบริสุทธิ์

3.3 ไม่เชื่อถือมงคลตื่นข่าว

3.4 ไม่แสวงบุญนอกพุทธศาสนา

3.5 บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา

อุบาสกที่ถือว่า ผู้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงนั้น ควรเป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในธรรมอันเป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก เรียกว่า “อุปาสกธรรม 7 ประการ” คือ

1. ไม่ขาดจากการเยี่ยมเยียนพบปะพระภิกษุสงฆ์

2. ไม่ละเลยในการฟังธรรม

3. ศึกษาในอธิศีล คือ การอบรมฝึกฝนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป

4. ถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใสในภิกษุสงฆ์ทั้งที่เป็นพระเถระพระนวกะและปูนกลาง

5. ฟังธรรมด้วยใจบริสุทธิ์ คือไม่ฟังเพื่อจ้องจับผิด หาช่องเพื่อตำหนิติเตียน

6. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพุทธศาสนา

7. ให้การสนับสนุนพระศาสนานี้เป็นที่ต้น คือเอาใจใส่ในการทำนุบำรุงและช่วยกิจการของพุทธศาสนา

-->> อุบาสิกา คำว่า “อุบาสิกา” มาจากคำว่าภาษาบาลีว่า “ อุปาสิกา” แปลว่าผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย หมายถึง ฆราวาสหญิงที่ศรัทธายอมรับเอาพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก นอกจากนี้ก็จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการ เช่นเดียวกับอุบาสกดังกล่าวข้างต้น

อุบาสกและอุบาสิกา ผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้นำเอาหลักคำสอนที่พระสงฆ์สาวกได้อบรมสั่งสอน แล้วนำไปปฏิบัติตามความสามารถของตน ๆ จนเกิดผลอันเป็นประโยชน์สุขและประโยชน์เกื้อกูลในการปฏิบัตินั้นควรจะให้มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับพระพุทธศาสนาได้สอนหลักธรรมหมวดหนึ่งไว้ เพื่อให้อุบาสกและอุบาสิกานำมาเป็นเครื่องวัดความเจริญก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นหลักธรรมวัดความเจริญในพระศาสนาธรรมหมวดนี้ เรียกว่า “อารยวัฒิธรรม” มี 5 ประการ คือ

1. ศรัทธา เชื่อมั่นในหลักพุทธศาสนา โดยไม่หลงงมงายและไขว้เขว

2. ศีล ประพฤติและเลี้ยงชีพสุจริต เป็นแบบอย่างในทางที่ดี

3. สุตะ รู้และเข้าใจในหลักศาสนาเพียงพอต่อการปฏิบัติและแนะนำผู้อื่น

4. จาคะ มีน้ำใจเผื่อแผ่และเสียสละ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ

5. ปัญญา รู้เท่าทันโลกและชีวิต ทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นอิสระ

พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ พิธีที่บุคคลมีศรัทธาในพุทธศาสนา ประกาศตนยอมรับเอาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกการบวชเป็นภิกษุ สามเณร การประกาศตนของคฤหัสถ์ทั่วไปในการยึดเอาพระรัตนตรัยล้วนถือว่าเป็นการแสดงตนเป็นพุทธมามกะทั้งสิ้น

พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะของคฤหัสถ์ทั่วไปนั้น อาจจะกระทำเป็นรายบุคคลหรือเป็นหมู่เป็นคณะก็ได้ ก่อนเริ่มพิธีจะต้องจัดสถานที่ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หรือหอประชุมขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ที่จะเข้าแสดงตนเป็นชาวพุทธมามกะว่ามีมากหรือน้อย แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีและรับรู้ในการประกาศตน ซึ่งเริ่มพิธีตามขั้นตอนดังนี้

1. ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

2. ประธานกล่าวนำคำบูชาพระรัตนตรัย

3. ประธานกล่าวนำคำนมัสการพระรัตนตรัย

4. หัวหน้าของกลุ่มผู้จะประกาศตนเป็นพุทธมามกะนำพานเครื่องสักการะถวายพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน

5. ทุกคนกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์พร้อมกัน

6. ทุกคนทุกเข่าหรือยืนประนมมือ (แล้วแต่กรณี)

คำปฏิญาณต่อหน้าพระสงฆ์

1. คำนอบน้อมพระพุทธเจ้า

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

2. ปฏิญาณสำหรับผู้ประกาศตนคนเดียว (ชาย)

เอสาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทธฺมามกาติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ

3. คำปฏิญาณสำหรับชายเป็นคณะ

เอเต มยํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉาม

ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทฺธมามกาติ โน สงฺโฆ ธาเรตุ

แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแม้ปรินิพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าทั้งหลายว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า

เมื่อจบคำปฏิญาณ พระสงฆ์ยอมรับเข้าเป็นพุทธมามกะ ด้วยการกล่าวคำ “สาธุ” แล้วผู้ปฏิญาณกล่าวคำขออาราธนาศีล 5 ต่อไป

(คนเดียว) อหํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปยฺจ สีลานิ ยาจามิ

ทุติยมฺปิ อหํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปยฺจ สีลานิ ยาจามิ

ตติยมฺปิ อหํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปยฺจ สีลานิ ยาจามิ

(เป็นคณะ) มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปยฺจ สีลานิ ยาจามิ

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปยฺจ สีลานิ ยาจามิ

ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห ปยฺจ สีลานิ ยาจามิ

ครั้นรับศีล 5 จบแล้ว พระสงฆ์ผู้เป็นประธานจะให้โอวาทเกี่ยวกับหลักของพระพุทธศาสนาโดยย่อ และกล่าวคำอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท