คัมภีร์วิสุทธิมรรค


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ความเป็นมาและโครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค


ในคัมภีร์มหาวงส์กล่าวถึงประวัติ พระพุทธโฆสะ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ว่าท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ ใกล้กับเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดียฝ่ายใต้ ในวัยเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียน ศิลปวิทยา ตามธรรมเนียมของพราหมณ์ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวทมาก ท่านได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ของอินเดีย เพื่อโต้ตอบเรื่องปรัชญากับนักปราชญ์ทั้งหลาย วันหนึ่งท่านได้พบกับพระเรวัตเถระที่วัดแห่งหนึ่ง หลังจากที่ไต่ถามปัญหาทางธรรมะ จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และขอออกบวช ได้สมญานามว่า พุทธโฆสะ เพราะเสียงของท่านมีความลึกซึ้ง สื่อความหมายทางธรรมดุจดังพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้า


เมื่อบวชแล้วพระพุทธโฆสะได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย และอัตถสาลินี - อรรถกถาของธัมมสังคณี อันเป็นคัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก เมื่อท่านเริ่มเขียนอรรถกถาปริตร พระเรวัตแนะนำให้ท่านเดินทางไปประเทศลังกา เพื่อศึกษาภาษาสิงหลและคัมภีร์อรรถกถาที่ลังกา แล้วแปลอรรถกถาสิงหลออกเป็นภาษามคธ (บาลี) เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาสิงหล เพราะในอินเดียเวลานั้นมีแต่พระไตรปิฎก ไม่มีอรรถกถาเหมือนอย่างลังกา


พระพุทธโฆสะเดินทางไปประเทศลังกา ตรงกับช่วงรัชกาลของพระมหานาม พระพุทธโฆสะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านสังฆปาล ในสำนักของฝ่ายมหาวิหาร และขออนุญาตแปลอรรถกถาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี) คณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารขอให้ท่านพิสูจน์ความสามารถด้วยการเขียนอธิบายขยายความคาถา 2 บท พระพุทธโฆสะอธิบายได้อย่างละเอียด มีเนื้อความครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า คือ กล่าวถึงเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญา ผลงานนี้คือ

คัมภีร์วิสุทธิมรรค


คัมภีร์วิสุทธิมรรค จัดเป็นคัมภีร์สำคัญฝ่ายเถรวาทคัมภีร์หนึ่งในชั้นนวัฎฐกถา
รจนาขึ้น เมื่อหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 956 ปี (ราวพุทธศตวรรษที่ 9) พระพุทธโฆสะอาศัยโบราณอรรถกถา 3 คัมภีร์ เป็นหลักใหญ่ในการแต่ง อรรถกถา 3 คัมภีร์ที่ว่านั้น คือ


1. มหาอรรถกถา  เป็นคัมภีร์เดิมที่เคยผ่านการสังคายนาครั้งแรก อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธานมาแล้ว และถูกถ่ายทอดเป็นภาษาสิงหลเมื่อสังคายนาครั้งที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนายังนานาประเทศ


2. มหาปัจจรีอรรถกถา  แต่งขึ้นที่ประเทศลังกา


3. กุรุณทีอรรถกถา  แต่งขึ้นที่ประเทศลังกาเช่นกัน


อรรถกถาทั้ง 3 คัมภีร์นี้จารึกไว้เป็นภาษาสิงหล ใช้เป็นคัมภีร์หลักในการแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคดังกล่าว

ความสำคัญของคัมภีร์วิสุทธิมรรค


อรรถกถาทั้งหลายในสมัยอนุราชปุระ ถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นหลักในการเขียนอรรถกถา และคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันบรรจุในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลีประโยค ปธ.8 วิชาการแปลมคธเป็นไทยด้วย
นับว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของพระพุทธโฆสะ ทำให้พุทธชนรุ่นหลังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีนักวิชาการชาวต่างประเทศหลายท่านที่กล่าวถึงคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ อาทิ


R.C. Cnilders กล่าวยกย่องไว้ในคำนำของหนังสือ Pali English Dictionary ว่า คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เปรียบเหมือนสารานุกรมแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาที่สั้นและชัดเจน แสดงถึงความเข้าใจทั่วถึงในเรื่องที่แต่งอย่างน่าอัศจรรย์ (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : ง)


Dr. B.C.Law กล่าวไว้ในหนังสือ Buddhaghosa ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 1946 โดยให้ทัศนะว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้ภาพรวมที่แสดงถึงระบบแห่งพระพุทธศาสนาทั้งหมด มิได้เพิ่มอะไรให้แก่ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่มุ่งหมายในการจัดสารบาญของพระไตรปิฎกให้เป็นระบบระเบียบ (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : จ)


Spence Hardy เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Buddhism กล่าวว่างานชิ้นนี้เสนอเนื้อหาส่วนที่เป็นคำสอนและอภิปรัชญาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ทั้งหลักฐานและความถูกต้อง (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : ช)


พระธรรมปิฎก (สากัจฉา วิมุตติมรรค, 21 ก.ย.38) มีความเห็นว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรค ให้ความรู้ที่เป็นฐานเพื่อก้าวลงสู่มหาสมุทรแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา มีจุดยืนที่การนำเสนอภาคปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน

หมายเลขบันทึก: 215845เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

โครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

พระพุทธโฆสะ เริ่มจับประเด็นตรงที่ว่า ปรารภเทพบุตรองค์หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ในคืนหนึ่งได้ทูลถามปัญหาเพื่อแก้ไขความสงสัยของตนว่า

“ธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นชัฏทั้งภายใน ชัฏทั้งภายนอก ประชาชนถูกชัฏ (นั้น) เกี่ยวสอดไว้แล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์ ใครเล่าจะพึงถางชัฏนี้ได้”

ด้วยพระทสพลญาณอันหาประมาณมิได้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ (แก้ปัญหา) แก่เทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า

สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ

อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏฺเย ชฏํํ

นรชนผู้ฉลาด มีความเพียรเครื่องเผากิเลสอย่างต่อเนื่อง มีปัญหา คือ สัมปชัญญะ 4 (นับ) เป็นภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏะ (เมื่อ) ตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิต (สมาธิ) และปัญญาอยู่นรชนผู้นั้น จะพึงถางรกชัฏอันนี้ออกเสียได้

(สํ. ส. 15/20)

จากพระคาถาที่ทรงพยากรณ์แก่เทพบุตรนี้ พระพุทธโฆสะได้นำมาเป็นบทตั้งในการรจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ขยายความบทกระทู้ดังกล่าว ว่าด้วยไตรสิกขาไว้อย่างพิสดาร นับว่าเป็นปกรณ์สำคัญปกรณ์หนึ่ง ที่ประมวลธรรมในคัมภีร์พระไตรปิฎก มาแสดงไว้เป็นหมวดหมู่โดยตั้งเป็นรูปคำถาม-คำตอบ แบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ ๆ ถือแนววิสุทธิ 7 ประการเป็นหลัก โดยขยาย

สีลวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่งต่างหาก เรียกว่า สีลนิเทศ แยกจิตวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่ง เรียกว่า สมาธินิเทศ และแยกปัญญาวิสุทธิทั้ง 5 มีทิฏฐิวิสุทธิ เป็นต้น ออกเป็นอีกนิเทศหนึ่ง เรียกว่า ปัญญานิเทศ รวมทั้งหมดแล้วมี 23 นิเทศ เนื้อหาใน 3 ภาคใหญ่ ๆ นั้น ได้แก่

ภาคแรกกล่าวถึงเรื่องศีล เริ่มตั้งแต่อธิบายว่า ศีลคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร ศีลมีลักษณะ มีกิจ มีผลปรากฎ และมีอะไรเป็นเหตุใกล้ มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตอย่างไร มีกี่ชนิด มีอะไรเป็นอุปสรรค ควรรักษาศีลกันอย่างไร ตลอดจนกล่าวเฉพาะเรื่องการประพฤติปฏิบัติของผู้ถือบวชด้วย

ภาคที่ 2 กล่าวถึงเรื่องสมาธิ คล้ายกับเรื่องศีล คือ เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า สมาธิคืออะไร โดยความหมายอย่างไรจึงเรียกว่าสมาธิ มีกี่ชนิด อะไรเป็นอุปสรรคไม่ให้มีสมาธิ หรืออะไรทำให้สมาธิที่มีไม่พัฒนา อะไรคือวิธีเจริญสมาธิ ในเรื่องวิธีการเจริญสมาธินี้ได้กล่าวอย่างละเอียด เช่น เรื่องลักษณะสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เจริญสมาธิได้ดี การมีกัลยาณมิตรช่วยส่งเสริมแนะนำ ลักษณะจิตของผู้ที่ต้องการฝึกสมาธิและวิธีการเจริญที่เหมาะสมกับจริตแต่ละแบบ การเจริญสมาธิแบบ กสิณ ฌาน พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ มรณานุสสติ ฯลฯ การฝึกสมาธิแบบ อานาปานสติ รูปฌาน ประโยชน์ของการฝึกสมาธิอภิญญาจิต

ภาคที่ 3 กล่าวถึงเรื่องปัญญา เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่าปัญญา ลักษณะของปัญญา ชนิดของปัญญา วิธีการเจริญปัญญา ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาวความเป็นจริง ซึ่งจำเป็นต้องรู้อย่างชัดเจนเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น ได้แก่ การเข้าใจเรื่องชีวิตซึ่งเป็นเบญจขันธ์ คือ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ระดับของความเข้าใจเรื่องขันธ์ 5 ดังกล่าว อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจจ์ 4 ปฏิจจสมุปบาท วัฏจักรแห่งกรรมและผลแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์ ลำดับขั้นแห่งปัญญา ตลอดจนประโยชน์ของการเจริญปัญญาและการหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง ฯลฯ

-->> กล่าวโดยสรุป คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นการรวบรวมเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา และหมวดธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก มาอธิบายขยายความไว้อย่างเป็นระบบ ให้รายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของธรรมที่พึงทราบเหล่านั้น ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ว่า ถ้าหากจะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ความรู้เหล่านั้นมีหลักการอย่างไร จะต้องปฏิบัติอะไรก่อน และอะไรหลัง เป็นต้น

แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับกรรมฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

คำว่า วิสุทธิ ในที่นี้ พระพุทธโฆสะหมายเอาพระนิพพานเท่านั้น พระนิพพานเป็นธรรมอันปราศจากมลทินทั้งปวง และมีความบริสุทธิ์แท้จริง วิสุทธิมรรคจึงหมายถึงทางสู่ความบริสุทธิ์ หรืออุบายที่เป็นเครื่องบรรลุ (พระนิพพาน) ทางหรืออุบายที่ว่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้หลายนัยด้วยกัน เช่น

-->> ในที่บางแห่ง พระองค์ทรงแสดงถึงธรรมที่บริสุทธิ์เนื่องเพราะกรรมไว้ว่า

“มัจจะทั้งหลายหมดจดได้ด้วยธรรม 5 ประการนี้ คือ กรรม วิชา ธรรม ศีล และอุดมชีวิต ไม่ใช่ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์”

(สํ. ส. 15/78)

-->> บางแห่งพระองค์ทรงแสดงถึงธรรมที่บริสุทธิ์เนื่องเพราะศีล เช่น

“ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีปัญญา มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีตนอันส่งไปแล้วในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะอันยากที่จะข้ามได้”

(สํ. ส. 15/74)

-->> บางครั้งพระองค์ทรงแสดงธรรมที่บริสุทธิ์ได้เนื่องเพราะฌานและปัญญา เช่น

“ฌานย่อมไม่มีแต่ผู้หาปัญญามิได้ ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ใกล้พระนิพพาน”

(ขุ. จ. 25/65)

-->> บางครั้ง พระองค์ก็ทรงแสดงถึงความบริสุทธิ์มีได้ด้วยวิปัสสนาอย่างเดียว เช่น

“เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นเขาย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นคือ ทางแห่งวิสุทธิ”

(ขุ. ธ. 25/51)

-->> และบางครั้ง พระองค์ก็แสดงว่าความบริสุทธิ์มีได้เนื่องด้วยสติปัฏฐาน เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ไปอันเอกนี้ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อวิสุทธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี้คืออะไร คือสติปัฏฐาน 4”

(ที. ม. 10/325)

เนื่องจากธรรมที่ให้ถึงความบริสุทธิ์ มีลักษณะการอธิบายได้อย่างหลากหลาย ทั้งต่างสถานที่ ต่างบุคคล ต่างสถานการณ์ ดังนั้น ทางหรืออุบายจึงมีต่างระดับกัน เพราะภูมิธรรมของบุคคลและจริตอัธยาศัยความชอบไม่เหมือนกัน อุบายหรือทางต่างระดับนี้ แต่ละระดับมีขีดความสามารถไปถึงจุดหมายไม่เท่ากัน ระดับต่ำเป็นพื้นฐานไปสู่ระดับสูง เมื่อใช้เส้นทางระดับต่ำจนสุดทางที่ระยะหนึ่งแล้ว จำเป็นต้องผ่านจุดเชื่อมทาง เพื่อไปใช้เส้นทางอีกระดับที่สูงกว่าไปได้ไกลกว่าแทน จึงจะถึงจุดหมายได้ เช่น

การบริจาคทาน รักษาศีล เป็นการเตรียมพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ เพราะทานและศีลเป็นที่มาของโภคทรัพย์ เวลาว่าง และสุขภาพดี เหตุที่มีความเชื่อมั่นและเรียนรู้ง่ายก็ด้วยอำนาจของสมาธิ ส่วนการสร้างความเห็นถูกในการดำรงชีวิตอย่างมีเหตุผลเป็นอานุภาพของปัญญา เป็นต้น

พฤติกรรมต่างระดับของศีล สมาธิ และปัญญาจึงมีขีดความสามารถในหน้าที่ต่างกัน แต่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความสมบูรณ์ไม่อาจเกิดจากการเจริญเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จากการไม่ขัดสนในโภคทรัพย์ ทำให้มีเวลาสำหรับการศึกษาค้นหาความจริง ทานและศีลจึงเป็นทางเชื่อมโยงไปสู่ความมีปัญญา แต่มิได้เป็นเหตุให้เกิดปัญญาโดยตรง เป็นต้น

เมื่อทางมีอยู่มากมาย และระยะทางก็ไม่เท่ากัน จุดเชื่อมทางจึงมีความสำคัญอยู่ที่การขยายขีดความสามารถในการเดินทางได้ไกลกว่า ชุมทางสุดท้ายที่เชื่อมทางร่วมต่างระดับอื่นๆ จนเหลือทางเอกทางเดียวก่อนถึงจุดหมาย ก็คือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง

สติปัฏฐาน 4 เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาโดยตรง ดังนั้น สติปัฏฐาน 4 จึงเปรียบเป็นทางเชื่อมสำคัญทางเดียวที่นำไปสู่ทางเอกสุดท้าย ทางเอกนั้นคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะวิปัสสนากรรมฐานมีจุดหมายปลายทางแน่นอน คือ วิสุทธิเท่านั้น

เมื่อถึงที่หมายคือวิสุทธิแล้ว เป็นการสิ้นสุดการเดินทางท่องเที่ยวไปมาในวัฏฏะสงสาร กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิปัสสนากรรมฐาน มีสติปัฏฐานเป็นเหตุ และมีวิสุทธิเป็นผล ความบริสุทธิ์มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความเชื่อ หรือการอ้อนวอน แต่เกิดขึ้นด้วยการพิสูจน์หรือด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น

ศีล สมาธิ ปัญญา : แนวคิดและความสัมพันธ์

จากพระคาถาพยากรณ์ที่เป็นบทตั้งของวิสุทธิมรรคกล่าวถึงการตั้งอยู่ในศีลด้วยบทว่า

สีเล ปติฏฺฐาย หมายถึง ภิกษุผู้ทำศีลให้บริบูรณ์ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในศีล

นโร สปญฺโญ หมายถึง ผู้มีปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่มีมาพร้อมกับปฏิสนธิ

จิตตํ ปัญฺฺญญฺจภาวยํ หมายถึง การยังสมาธิ และวิปัสสนาให้เจริญอยู่ ทรงแสดงถึงสมาธิ ด้วยหัวข้อว่าจิต

ส่วนวิปัสสนาทรงแสดงโดยชื่อว่า ปัญญา หรือปญฺญญฺจ

อาตาปี หมายถึง ผู้มีความเพียร เป็นเหตุเผากิเลสให้เร่าร้อน

นิปโก หมายถึง ปัญญาอีกชนิดหนึ่ง ทรงแสดงถึงปาริหาริกปัญญา

ภิกฺฺขุ หมายถึง ผู้ใดเห็นภัยในสงสาร เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ภิกษุ

ในบทท้าย คือ โส อิมํ วิชฏฺฺเย ชฏํ เป็นการสรุปสภาวธรรมข้างต้นว่า

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 6 ประการ คือ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ (หรือจิต)

ด้วยปัญญา 3 ลักษณะ (ไตรเหตุปฏิสนธิ, วิปัสสนาปัญญา และปาริหาริก

ปัญญา) และด้วยความเพียรเผากิเลสนี้ เมื่อยืนอยู่บนแผ่นดินคือศีลแล้ว

ยกศัสตรา คือ วิปัสสนาปัญญา ที่ลับด้วยศิลาคือสมาธิ อยู่ในมือคือปาริหาริก

ปัญญา ที่มีกำลังวิริยะ พึงถาง ตัด ทำลาย ซึ่งชัฏ คือ ตัณหา อันตกอยู่ใน

สันดานของตนทั้งหมดได้ เปรียบเหมือนบุรุษยืนบนแผ่นดิน ยกศัสตราที่ลับ

ดีแล้ว ถางกอไผ่ใหญ่ฉะนั้น”

“ก็ในขณะแห่งมรรค ภิกษุนี้ชื่อว่า กำลังถางชัฏนั้นอยู่ ในขณะแห่งผลชื่อ

ว่าถางชัฏเสร็จแล้ว ย่อมเป็นอัครทักขิไณยของ (มนุษย์) โลก กับทั้ง

เทวโลก ทั้งหลาย”

การเจริญไตรสิกขาในที่นี้ ทรงหมายเอา ศีล สมาธิ และวิปัสสนาปัญญา ที่กำลังเกิดพร้อมในอารมณ์อันเดียวกันเท่านั้น มิใช่เจริญไปคนละขณะ เพราะ ศีล - สมาธิ - ปัญญา ที่เกิดในอารมณ์ต่างกัน จะไม่สามารถเป็นบาทฐานแก่กันได้เลย ศีลมีลักษณะเหมือนกับพื้นที่ สมาธิเหมือนกับผู้คอยประคองให้มีความมั่นคง ส่วนปัญญามีหน้าที่พิสูจน์ดูความจริง

ถ้าจะมีแต่เฉพาะศีล โดยที่ไม่ต้องมีสมาธิและปัญญาร่วมด้วยก็อาจมีได้ เช่น พระภิกษุที่บวชกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าท่านไม่ได้ทำสมาธิหรือวิปัสสนาแต่อย่างใด ก็จะมีเฉพาะศีลเท่านั้น ไม่มีสติกับปัญญาเกิดร่วมด้วย

บางครั้งมีศีลและสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาในขณะนั้นก็อาจมีได้เช่นกัน เช่น ภิกษุที่กำลังทำสมาธิเพ่งกสินต่าง ๆ เป็นต้น ขณะนั้นมีศีล มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาร่วม เพราะไม่ได้มีการพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของรูปนาม เป็นเพียงการข่มจิตให้นิ่งด้วยอารมณ์ภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้าผู้ใดกำลังเจริญวิปัสสนาปัญญาอย่างถูกต้องแล้ว จะต้องมีศีลและสมาธิอยู่ในที่นั้นด้วยเสมอ การทำลายกิเลสในส่วนลึกให้หมดไป จำเป็นต้องมีพร้อมทั้ง ศีล-สมาธิ-ปัญญา

โดยศีลมีหน้าที่ทำลายกิเลสอย่างหยาบที่แสดงออกทางกาย วาจา เป็นต้น

สมาธิมีหน้าที่ทำลายกิเลสอย่างกลาง ได้แก่ ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ

ส่วนปัญญามีหน้าที่ทำลายกิเลสอย่างละเอียด คือ อนุสัยต่าง ๆ แม้ในอนุสัย 2 อย่าง (อารัมมณานุสัย และสันตานานุสัย) นั้น วิปัสสนาปัญญาจะละได้ก็เพียงอารัมมณานุสัยเท่านั้น อำนาจวิปัสสนาปัญญาสามารถละความรัก ความชัง ที่เกิดจากการเห็นได้ยิน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดีและไม่ดีได้

ส่วนสันตานานุสัยนั้น เป็นอนุสัยที่ลึกและมั่นคงกว่า ต้องอาศัยมรรคจิตที่เป็นอรหัตตมรรคเท่านั้น จึงจะละสันตานานุสัยได้เด็ดขาด

(พระมหาแสวง โชติปาโล 2536 : 79)

ศีล สมาธิ และปัญญา แม้จะเกิดในขณะจิตเดียวหรือรับอารมณ์เดียวกัน แต่มีหน้าที่ต่างกัน เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้ก็เพื่ออุดหนุนกัน เจริญเป็นทางแห่งวิสุทธิเพื่อการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา

อานุภาพแห่งความบริสุทธิ์ของศีล สมาธิ ปัญญา จะมีขีดจำกัดเฉพาะตัว ในวิสุทธิมรรคกล่าวถึงองค์คุณของศีล สมาธิ ปัญญา และขีดจำกัดในการอุดหนุนกันแยกเป็น 9 ประการ ได้แก่

1. สิกขา 3

2. ศาสนามีความงาม 3

3. อุปนิสัยแห่งคุณวิเศษ มีความเป็นผู้ได้วิชชา 3 เป็นต้น

4. การเว้นที่สุดโต่ง 2 อย่าง และการเสพข้อปฏิบัติสายกลาง

5. อุบายที่เป็นเครื่องพ้นจากคติมีอบาย

6. การละกิเลสด้วยอาการ 3

7. ธรรมอันเป็นปฏิบัติต่อกิเลส มีวิติกกมะ

8. การชำระสังกิเลส 3

9. เหตุแห่งความเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน

ปัญญานิเทศ : :

-->> ในวิสุทธิมรรค กล่าวถึงปัญญา 3 อย่าง คือ

-> ปัญญาที่หนึ่งเป็นปัญญาที่มีมาพร้อมกับปฏิสนธิ

-> ปัญญาที่สองเป็นวิปัสสนาปัญญา

-> ปัญญาที่สามเป็นปัญญาที่นำในการบริหารกิจกรรม

ทุก ๆ อย่าง

สำหรับปัญญาที่หนึ่งที่มีมาพร้อมกับปฏิสนธิ หมายถึง ปัญญาเจตสิกที่ประกอบมาพร้อมกับวิบากจิตไตรเหตุ* ที่ทำหน้าที่เกิด ผู้ที่เกิดมาด้วยจิตดวงนี้เรียกว่า ติเหตุกบุคคล หรือคนไตรเหตุ

ส่วนวิปัสสนาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่สามารถละกิเลสอย่างละเอียดออกจากจิตได้ นับตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นไป จนถึงโคตรภูญาณเป็นที่สุด

สำหรับปัญญาที่สามชื่อว่าปาริหาริกปัญญานั้น พระธรรมปาละมหาเถระขยายความปัญญาชนิดนี้ไว้ในคัมภีร์มหาฎีกาว่า

“ปัญญาที่ได้นามว่า ปาริหาริกา ก็เพราะประกอบแล้วในการนำไปโดย

รอบคอบ ซึ่งพระกรรมฐานปัญญาใดที่กำหนดนำเอากิจทุกอย่าง มีการก้าว

ไปข้างหน้า เป็นต้น ด้วยอำนาจของสัมปชัญญะมีสาตถกสัมปชัญญะ เป็น

ต้น ปัญญานั้นชื่อว่า สรรพกิจปาริหาริกาปัญญา”

“อีกอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นด้วยการเรียน การถาม และการเจริญ คือ วิธีใส่

ใจในพระกรรมฐานนั้น ต้องมีปัญญาที่นำกิจทุกอย่างไปโดยรอบคอบ เช่น

ความเป็นผู้มีปกติทำไปด้วยความเคารพ โดยติดต่อโดยความเป็นสัปปายะ

ความเป็นคนฉลาดในนิมิต โดยความเป็นผู้ส่งใจในความสิ้นทุกข์ โดยไม่

ย่อท้อเสียในระหว่าง โดยความเพียรให้ถึงความสม่ำเสมอกัน ประกอบความ

เพียรให้เสมอภาคกัน ปัญญาเช่นนี้ชื่อว่า สรรพกิจปริณายิกาปัญญา”

-->> ดังนั้น จะเห็นว่าคนทุกคนอาจจะสร้างนิสัยในการเจริญวิปัสสนาได้ แต่มิใช่ทุกคนที่สามารถเจริญวิปัสสนาจนได้ญาณปัญญา จะมีบุคคลเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเจริญวิปัสสนาให้เกิดญาณปัญญาได้ บุคคลดังกล่าวได้แก่ ผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยไตรเหตุ นอกจากนี้ยังต้องเคยอบรมเคยศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนาจนได้เหตุผลมาก่อนแล้วเท่านั้น

การสั่งสมปัญญา ความรู้ และความเข้าใจในเหตุผล เป็นงานต่อเนื่องที่อาจทำสำเร็จภายในภพชาติเดียว ความคิดที่ควรสร้างสรรค์ขึ้นในแต่ละภพชาติ คือ ความคิดที่ไม่ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ที่จะพ้นไปจากความทุกข์หรือความวนเวียนของการเกิด แก่ ตาย นั่นเอง

หมวดปัญญานิเทศเป็นหมวดที่ขยายใจความสำคัญในปริจเฉทที่ 9 ของอภิธัมมัตถสังคหะให้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้จำเป็นต้องเข้าใจสภาวธรรมพื้นฐานของปรมัตถธรรมทั้ง 4 ที่กล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะตั้งแต่ปริจเฉทที่ 1 ถึงปริจเฉทที่ 8 มาก่อนด้วยเช่นกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงความรู้ก่อนการปฏิบัติ (แนบ มหานีรานนท์ 2529 : 9-13) อันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ใช้ตรวจสอบการปฏิบัติว่าเป็นไปตามบรรทัดฐานหรือไม่ นอกจากนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของญาณ 16 และวิสุทธิ 7 ตามลำดับต่อไป

แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ญาณ 16

ญาน 16 คือ ความรู้สึกด้วยปัญญาที่ได้มาจากการเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐาน ระดับของปัญญาแบ่งเป็นลำดับขั้น ดังนี้ (วิสุทธิ อ. ภาค 3/205)

1. นาม-รูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญารู้ว่านามและรูปเป็นคนละส่วน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

2. ปัจจยปริคหญาณ คือ ปัญญารู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดนาม-รูป

3. สัมมสนญาณ คือ ปัญญารู้ความไม่เที่ยงของนาม-รูป

4. อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญารู้ความเกิดขึ้นและดับไปของนาม-รูป

5. ภังคญาณ คือ ปัญญารู้ความดับไปของนาม-รูป

6. ภยญาณ คือ ปัญญารู้ว่านาม-รูปเป็นภัยที่น่ากลัว

7. อาทีนวญาณ คือ ปัญญารู้โทษของนาม-รูป

8. นิพพิทาญาณ คือ ปัญญารู้สึกเบื่อหน่ายนาม-รูป

9. มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ ปัญญารู้สึกอยากพ้นจากนาม-รูป

10. ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญารู้ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากนาม-รูป

11. สังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญารู้การทำลายความยินดี ยินร้าย ในนาม-รูป แล้ววางเฉยได้

12. อนุโลมญาณ คือ ปัญญารู้ธรรมที่จะอนุโลมให้เห็นอริยสัจจธรรมทั้ง 4

13. โคตรภูญาณ คือ ปัญญารู้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่จิตเป็นโลกีย์

14. มัคคญาณ คือ ปัญญารู้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่จิตเป็นโลกุตตระ

15. ผลญาณ คือ ปัญญารู้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่จิตเป็นโลกุตตระ

16. ปัจจเวกขณญาณ คือ ปัญญารู้มรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลือ

ดังได้กล่าวแล้วว่า วิปัสสนามีสติปัฏฐานเป็นเหตุ มีวิสุทธิคือความหมดจดเป็นผล นอกจากนั้นแล้ววิปัสสนาที่เกิดก่อน ๆ ก็เป็นเหตุของวิปัสสนาที่เกิดหลัง ๆ วิปัสสนาบางอย่างเป็นได้แต่เหตุอย่างเดียว บางอย่างเป็นได้แต่ผลอย่างเดียว

สำหรับที่เป็นเหตุอย่างเดียวกัน ก็ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะไม่มีวิปัสสนาญาณอื่นที่นอกเหนือไปจากตนจะเป็นเหตุให้ อาจจะมีปัญญาอื่นเป็นปัจจัยให้ได้ก็เฉพาะสุตมยปัญญาและจินตมยปัญญาเท่านั้น

สำหรับโคตรภูญาณก็เป็นได้เฉพาะผลของอนุโลมญาณเพียงญาณเดียวเท่านั้น ตนเองไม่อาจเป็นเหตุของวิปัสสนาอื่นอีก เพราะหลังจากตนไม่มีวิปัสสนาญาณอื่นเกิดได้อีกแล้ว เมื่อตนดับลงก็เกิดมรรคญาณ คือ พระโสดาปัตติมรรค ซึ่งเป็นโลกุตตรมรรค และโลกุตตรมรรคนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

ส่วนวิปัสสนาในระหว่างคือตั้งแต่ปัจจยปริคหญาณเป็นต้นไป จนถึง อนุโลมญาณ เป็นได้ทั้งเหตุและผล

(พระมหาแสวง โชติปาโล ; 2536 : 73)

การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์พระไตรปิฎกกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค

จะเปรียบเทียบใน 3 ลักษณะ คือ ด้านโครงสร้าง ด้านเนื้อหา และหลักวิชาการของแต่ละคัมภีร์

-->> โครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

คัมภีร์วิสุทธิมรรคแต่งขึ้นโดยพระพุทธโฆสะ ท่านเป็นผู้ประมวลธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก อันได้แก่ พระวินัยปิฎกพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก มาเรียบเรียงใหม่ในลักษณะของไตรสิกขา

โดยนำไตรสิกขามาตั้งเป็นบทกระทู้ แล้วอธิบายขยายความบทกระทู้ดังกล่าว แสดงหมวดหมู่ของไตรสิกขาเป็นรูปคำถาม-คำตอบ แบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ ๆ ถือแนววิสุทธิ 7 ประการเป็นหลัก

โดยขยายสีลวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่งต่างหาก เรียกว่า สีลนิเทศ แยกจิตวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่ง เรียกว่า สมาธินิเทศ และแยกปัญญาวิสุทธิทั้ง 5 มีทิฏฐิวิสุทธิ เป็นต้น ออกเป็นอีกนิเทศหนึ่ง เรียกว่า ปัญญานิเทศ รวมทั้ง 3 ภาค มี 23 นิเทศ

โครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงต่างจากคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ใหญ่ และมีการแบ่งหมวดหมู่ในลักษณะของนิกายรวม 5 นิกาย ซึ่งกว้างขวางและลุ่มลึกกว่าหลายเท่านัก

เนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ใน 3 ภาคใหญ่ ๆ นั้น แต่ละภาคจะชี้ให้เห็นถึงกระบวนความรู้ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันตั้งแต่ความรู้อย่างหยาบ ๆ จนถึงความรู้ขั้นละเอียดลึกซึ้ง

ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ว่า ขั้นตอนการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นทำอย่างไร จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ความรู้เหล่านั้นมีหลักการอย่างไร ต้องเรียนรู้อะไรก่อน อะไรหลัง

กล่าวคือ แต่ละภาคจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความหมาย ลักษณะ กิจ ผลปรากฏ เหตุใกล้ คุณประโยชน์ต่อชีวิต อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนวิธีการเจริญไปตามขั้นตอนทั้งของศีล สมาธิ และปัญญา เป็นภาพรวมของวิถีชีวิตที่ดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยตรง

ซึ่งต่างจากมหาสติปัฏฐานสูตรในพระไตรปิฎก คือ มหาสติปัฏฐานสูตร จะกล่าวถึงเรื่องการเจริญสติโดยตรง ไม่มีการกล่าวถึงลำดับของการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาอย่างในวิสุทธิมรรค

เนื้อหาโดยรวมในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จะเน้นการดำเนินชีวิตเยี่ยงพระสงฆ์มากกว่าการดำเนินชีวิตอย่างคฤหัสถ์ เพราะชีวิตของพระเป็นชีวิตแห่งไตรสิกขาโดยตรง วิสุทธิมรรคจึงเปรียบเสมือนคู่มือของนักปฏิบัติธรรมฝ่ายเถรวาท เพื่อใช้เป็นฐานที่จะก้าวลงสู่มหาสมุทรของพระพุทธศาสนา (คือคัมภีร์พระไตรปิฎก) แต่ไม่ควรสรุปว่าวิสุทธิมรรคคือทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป็นเพียงภาคของการปฏิบัติที่จะทำให้ชีวิตถึงจุดหมายสูงสุด คือ ความบริสุทธิหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย (พระธรรมปิฎก, สากัจฉา วิมุตติมรรค 21 ก.ย.38)

หลักวิชาการของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

คัมภีร์วิสุทธิมรรคจัดเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ซึ่งแต่งขึ้นในภายหลังโดยพระพุทธโฆสะ ในวงวิชาการทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคัมภีร์หลักขั้นปฐมภูมิ เช่นเดียวกับคัมภีร์พระไตรปิฎก B.C.Law (1946 : 80) กล่าวว่า คัมภีร์นี้มิได้เพิ่มอะไรให้แก่ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นแต่มุ่งหมายในการจัดสารบัญของพระไตรปิฎกในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : จ)

นอกจากนี้ทางการคณะสงฆ์ไทยยังจัดคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาการแปลมคธเป็นไทย ประโยค ปธ.8-9 นับว่าเป็นปกรณ์สำคัญปกรณ์หนึ่งที่นิยมศึกษากันมาก ประวัติแห่งการแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความแตกฉานในคัมภีร์พระไตรปิฎกของท่านพระพุทธโฆสะ จนเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารแห่งประเทศลังกาในยุคนั้นเช่นกัน

คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นคัมภีร์ ที่แสดงการประมวลความรู้ความเข้าใจในพุทธธรรมของฝ่ายเถรวาทอย่างสมบูรณ์ ทั้งการอุปมาอุปไมยและตัวอย่างประกอบมากมาย (สุภาพรรณ ณ บางช้าง 2526 : 292) สามารถรวบรวมเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา และหมวดธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมาอธิบายขยายความไว้อย่างเป็นระบบให้รายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของธรรมที่พึงทราบเหล่านั้น

เค้าโครงทั่วไปของการปฏิบัติถือตามหลักการของไตรสิกขาแล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ 7 นอกจากแสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกด้านกิจกรรมภายนอกแล้ว (เช่น ศีล สมาธิ) ยังแสดงลำดับขั้นของความเจริญก้าวหน้าภายใน คือ การที่ปัญญาแก่กล้าขึ้นเป็นระดับ ๆ จนถึงการตรัสรู้ (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2525 : 359)

ไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญานั้น แต่ละส่วนมีหลักเกณฑ์เฉพาะของตนเอง นอกจากนี้วิธีการ ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน แต่ในความแตกต่างเหล่านั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเป็นเอกเทศ การเจริญไตรสิกขาไปสู่ความวิสุทธินั้น หมายเอาศีล สมาธิ ปัญญาที่กำลังเกิด พร้อมในอารมณ์เดียวกัน ขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น คนทุกคนสามารถสร้างนิสัยในเจริญวิปัสสนาได้ และเป็นสิ่งที่ควรสั่งสมอบรม แต่มิใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเหตุผลและญาณปัญญา ทั้งนี้มีเงื่อนไขบางอย่างของญาณปัญญา โดยเฉพาะคือต้องเป็นผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยไตรเหตุ (อโลภะเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ)

นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ฉลาดรอบคอบในการนำกิจของพระกรรมฐานทุกอย่าง เริ่มต้นด้วย การเรียน การถาม และการเจริญ เป็นต้น เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเหตุของวิปัสสนาญาณในระดับต่าง ๆ เท่าที่ตนเคยสั่งสมไว้ วิปัสสนาญาณแต่ละระดับก็มีความสามารถปหานกิเลสชนิดต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดวิสุทธิได้ไม่เท่ากันด้วย

กฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กล่าวมาเป็นการยืนยันถึงหลักอนัตตาอย่างหนึ่งว่า ญาณปัญญาและวิสุทธิที่มีอยู่หลายระดับนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจการจัดสรรของผู้ใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดกับใครโดยไม่สร้างเหตุที่ถูกต้องก็ไม่ได้ ความบริสุทธิ์มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความเชื่อ หรือการอ้อนวอน แต่เกิดขึ้นจากการพิสูจน์หรือจากการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยตนเองเท่านั้น

ขอบคุนมากเลยขอบคุณครับ

ดีจัง กำลังอยากรู้เรื่อง ญาณ 16 พอดี

สาธุค่ะ คุณปราชญ์ขยะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท