วิญญาณดับ จิตไม่สูญ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

วิญญาณดับ จิตไม่สูญ 

เมื่อพิจารณาดูตามความในบาลีต่อไปนี้   มีอยู่ใน สุตตันตปิฎก  ติกนิบาต  ปฐโม  ภาโค  เล่ม ๑ หน้า ๓๐๔  ว่า


"วิญฺญาณสฺส  นิโรเธน  ตณฺหกฺขยวิมุตฺติโน  ปชฺโชตสฺเสว  นิพฺพานํ  วิโมกฺโข  เจตโส  อหุ"  


ความว่า ความพ้นไปแห่งจิต ของพระขีณาสพ เหมือนเปลวเพลิงที่ดับ ไป  เพราะ ดับไปแห่งวิญญาณ  ดังนี้  



ศัพท์ว่า   ตณฺหกฺขยวิมุตฺติโน  เป็นคุณบทแปลว่า  "พ้นพิเศษ  เพราะเหตุสิ้นตัณหา"  แต่เอาเป็นชื่อพระขีณสพ  เพราะท่านได้คุณสมบัตินั้นเพื่อต้องการความสะดวกฟังง่ายขึ้น  คราวนี้กลับไปดูคำแปลนั้นเสียอีกหนหนึ่งว่า


ความพ้นไปแห่งจิตของพระขีณาสพเหมือนเปลวเพลิงที่ดับไป  เพราะดับไปแห่งวิญญาณ  ดังนี้  


ที่เข้าใจกันว่า  จิตกับวิญญาณเป็นอันเดียวกันนั้นในที่นี้จะได้เห็นว่ามีอยู่ทั้ง ๒ วิญญาณใช้กิริยาว่า ดับ  (นิโรธ)  จิต ว่า  พ้น  (วิโมกข์)  จะเหมือนกันหรือต่างกันคงจักทราบได้และในที่นี้แสดงว่า  เพราะเหตุวิญญาณดับ  จิตของพระขีณาสพ(พระอรหันต์) จึงพ้นไป  วิญญาณนั้นเป็นสังขตนามธรรม  ในพวกนามขันธ์ ๔  คือ  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ท่านยกมาพูดไว้แต่วิญญาณขันธ์  ถึงดังนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นอันพูดหมดทั้ง ๔ ขันธ์ด้วย  


เมื่อพูดถึงวิญญาณดับแล้ว  นามขันธ์นั้นๆ จะอยู่ได้อย่างไร  ก็ต้องดับไปตามกันหมด  แม้ไม่ปรากฏเป็นถ้อยคำ  ก็หมายหมดทั้ง ๔ ขันธ์  เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็ควรทำความเข้าใจว่าเพราะ รูปขันธ์ ตาย  นามขันธ์ ๔ เหล่านั้นจึง ดับ เพราะ นามขันธ์ ๔ เหล่านั้น ดับ  จิตของพระขีณาสพจึง พ้นไป  เมื่อจิตของพระขีณาสพพ้นไปจากสังขตนามธรรมสิ้นเสร็จเช่นนี้แล้ว  สภาพแห่งอสังขตธาตุของท่านก็เกิดปรากฏเต็มที่  พร้อมด้วยอริยผลเข้าเป็นเครื่องกำกับ  ไม่กลับเกิดในโลกอีกต่อไป  


ส่วนจิตของคนสามัญ  เมื่อตายแล้วต้องกล่าวว่า  วิญญาณย่อมถือปฏิสนธิเกิดอีกในโลกต่อไปด้วยอำนาจสังขตธรรมที่เจือปนดังกล่าวแล้ว  ตามความในพระพุทธภาษิตที่ยกมากล่าวนี้เห็นได้ว่า  จิตพ้นไป จากโลกนี้เท่านั้น  หาได้ดับสูญหายไปไหนไม่  พระอหันต์ก็เป็นบัญญัติลงที่จิต  จิตนั้นเล่าก็เป็นบัญญัติลงที่อสังขตธาตุ  อสังขตธาตุก็เป็นบัญญัติลงในธรรมธาตุ  ซึ่งเป็นของเดิม  เป็นธาตุที่ไม่ตาย  เพราะฉะนั้นเราก็พยากรณ์ได้ว่า พระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญ  เรื่องนี้มีนัยอันสุขุมลุ่มลึก  เห็นได้ยากในเมื่อไม่พิจารณาให้ถึงใจ  


ในสมัยครั้งพุทธกาล  ใครๆ เมื่อเกิดความสงสัยเข้าไปเฝ้า  ทูลถามถึงเรื่องนี้อยากทราบว่ามีคติเป็นอย่างไร  พระองค์ทรงแสดงยกคติแห่งเปลวไฟที่ดับมาเปรียบเทียบให้ฟังเสมอ  


เท่าที่ได้พบเห็นเช่นที่มาอีกแห่งหนึ่งว่า  


“อจฺจิยถาวาตเว  เคน  ขิตตํ  อตฺถํ  ปเลติ  น  อุเปติ  สงฺขํ  เอวํ  มุนี  นาม  กายา    วิมุตฺโต  อตฺถํ  ปเลติ  น  อุเปติ  สงฺขํ  เอวํ  มุนี  นาม  กายา  วิมุตฺโต  อตฺถํ  ปเลติ  น  อุเปติ  สงฺขํ”  ดังนี้


ความว่า  เหมือนเปลวไปที่ถูกลมพัดโดยแรงย่อมดับไป  ไม่นับว่าตั้งอยู่อย่างไร  ที่ไหน  มุนี (พระอรหันต์)  ที่พ้นแล้วจากนามกาย(นามขันธ์ ๔) ก็อย่างนั้น  ย่อมดับไป  ไม่นับว่าไปตั้งอยู่อย่างไร  ที่ไหน  ดังนี้


ถ้าพระอหันต์พ้นจากอัตตภาพนี้แล้วสูญไป  อย่างความเข้าใจของคนบางจำพวกแล้ว  เหตุใดจึงไม่ทรงแสดงว่าสูญไว้ให้ชัดความเล่า  เข้าใจว่าเพราะพระองค์เป็นสัพพัญญูแท้จริงทีเดียว  เป็นเอกอัครมหาบัณฑิตโดยเที่ยงแท้  ความเป็น...ของพระองค์ย่อมบังคับพระวาจาไม่ให้ผิดจากความเป็นจริง  ถ้าพระองค์ตรัสว่าสูญแล้ว  ความรู้ของพระองค์เองในที่ทั้งปวงจะขัดกันขึ้นทำให้ฟั่นเฝือ  ผู้รู้ตริตรองแล้ว  จะไม่เชื่อว่าพระองค์เป็นสัพพัญญูโดยจริงแท้  


การที่ทรงยกเอาคติแห่งไฟเข้ามาเปรียบเทียบนั้น  ทำให้เห็นว่าคติของพระอรหันต์คล้ายกันกับคติแห่งไฟมาก  จึงควรยกไฟขึ้นพิจารณาก่อน  ไฟเท่าที่เรารู้จัก  ก็คือ  ร้อนอย่างหนึ่ง  เปลวอย่างหนึ่ง  แสงสว่างอย่างหนึ่ง  ๓  อย่างนี้ไม่เหมือนกัน  ก็ที่เรียกว่าไฟนั้นหมายเอาอย่างไหน  เข้าใจว่าหมายเอาความร้อนเรียกว่า  อัคคี  ไฟ  ส่วนเปลวและแสงสว่างเป็นอาการของไฟ  หรือคุณภาพของไฟ  อาการย่อมเป็นของเกิดดับ  แม้พุทธภาษิตที่ยกมาพูดนั้น  พระองค์ก็ตรัสว่า เปลวไฟดับ เหมือนกัน  อาการของไฟจะกล่าวว่าสูญได้อยู่แล  แต่ธาตุไฟซึ่งเป็นตัวประธานจะสูญด้วยหรือ  


ถ้าธาตุไฟสูญ  ธาตุดินและธาตุน้ำ  ก็อยู่ในคติแห่งของสูญเป็นอย่างเดียวกัน  ของที่สูญไปแล้วไม่กลับมีอีกได้  แต่เราเห็นเกิดอยู่ในที่นั้นๆ โดยปกตินั้นมาจากไหน  เป็นอย่างไร  ไฟเมื่ออาการดับหมดแล้วก็ไม่ปรากฏด้วย จักษุ   คือ  ตาเนื้อ  ทั้ง ๒ ของท่านได้  แต่ชนผู้มีปัญญาจักษุยังเห็นอยู่ว่ามี  แต่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นรูปอย่างไร  ตั้งอยู่ที่ไหนนั้นยาก  เพราะ ไฟไม่ใช่วิสัยของจักษุ  เราจะต้องทราบได้ด้วยกายสัมผัสเพราะฉะนั้นไฟที่ดับจากอาการแล้ว  เป็นของมีคติอันนับว่าอย่างไรไม่ได้  ก็เพราะไม่เห็นอาการให้หมายรู้กันนั้นเอง  


นี่แหละฉันใดพระอรหันต์ที่พ้นจกโลกนี้ไปแล้ว  ก็มีคติอันถึงซึ่งอันนับว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้  ก็เพราะสิ้นอาการที่สามัญสัตว์โลกจะพึงเห็น  มีแต่อาการอัน พระอริยเจ้าจะพึงเห็น ได้ด้วย ปัญญาจักษุ ของท่านเท่านั้น  ฉันนั้นแล  จะกล่าวว่า  “สูญ”  นั้นไม่ได้เลยทีเดียว  ถ้าสูญแล้วจะบัญญัติเรียกสิ่งนั้นว่าอสังขตธาตุหรืออมตธรรมนั้นก็ผิด  อสังขตธาตุที่ได้ความบริสุทธิ์เป็นนิพพานแล้วย่อมเป็นธรรมธาตุที่เที่ยงถาวรและไม่ตาย  แต่ขันธ์ ๕ นั้นเป็นของไม่เที่ยงไม่ถาวรก็ต้องแปรปรวนแตกดับไป เมื่อเช่นนั้นขันธ์ ๕ เท่านั้นเป็นของตายสูญ  พระอรหันต์หาได้สูญด้วยไม่  


พระอรหันต์ไม่ใช่ขันธ์ ๕  ยังตั้งอยู่  พระอรหันต์ก็เกี่ยวเนื่องอยู่กับขันธ์ ๕ ถ้าไม่เกี่ยวเนื่องกันแล้ว  ท่านจะครองขันธ์ ๕ อยู่ทำอะไรเล่า  ออกไปเสียมิดีกว่าหรือ  ไม่พักรอให้กายตาย  เพราะความจริงมีอยู่ว่า  “ภาราหเว  ปญฺจกฺขนธา”  ขันธ์ทั้ง ๕ แล  เป็นภาระหนักจะต้องบริหาร  จะบริหารเอาประโยชน์อะไรเล่า  แต่นี้ออกไปไม่ได้ง่ายอย่างนั้น  หากจะได้ก็ต้องฆ่าตัวตายเท่านั้น  เรื่องนี้เข้าใจว่า  สังขตธรรม  คือ  นามขันธ์ ๔ เหล่านั้น  เป็นลักษณะอาการแห่งอสังขตธาตุอย่างที่พูดมาแล้วแต่ต้นๆ แยกให้ออกจากกันยากในเมื่อเหตุตั้งอยู่  นามขันธ์ ๔ ซึ่งเป็นลักษณะอาการแห่งอสังขตธาตุนั้นอาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้น ผัสสะ นั้นเล่าก็อาศัย อายตนะ มีตาเป็นต้นจึงเกิดขึ้น  อายตนะ นั้นเล่าก็อาศัย รูปขันธ์ คืออัตตภาพร่างกายนี้แหละตั้งอยู่  ก็เมื่อรูปขันธ์ยังไม่แตกตาย  อายตนะก็ยังตั้งอยู่ได้  ก็เมื่ออายตนะยังมีอยู่ผัสสะก็ยังมี  เมื่อผัสสะยังมีอยู่  นามขันธ์ ๔ ก็ยังมี  เมื่อนามขันธ์ ๔ ยังเป็นไปอยู่  พระอรหันต์ก็ยังเกี่ยวเนื่อง  แต่ต้องทำความเข้าใจให้มั่นว่าพะอรหันต์นั้นไม่ใช่ขันธ์  ๕  เพราะฉะนั้น  จึงว่าพระอรหันต์จะออกไปเสียง่ายๆ ก่อนที่รูปขันธ์จะแตกตายตามประสงค์นั้นไม่ได้


ในเมื่อเหตุยังตั้งอยู่เหมือนเปลวและแสงสว่างของดวงประทีป  จะดับไปก่อนเหตุนั้นไม่ได้  ก็ครั้นรูปขันธ์กล่าวคือ  อัตตภาพร่างกายอันนั้นถึงความพิบัติตายลง  เพราะสิ้นไปแห่งเหตุแล้วเมื่อใด  เมื่อนั้นนามขันธ์ ๔ ก็ดับไปตามหมดสิ้น  เมื่อนั้นพระอรหันต์จึงเป็นอสังขตธาตุเต็มที่พระอรหันต์หาได้สูญไปไหนไม่  ดังว่ามานี้แล


เรื่องพระอรหันต์ตายสูญ  หรือไม่สูญ  วิญาณดับ  จิตไม่สูญ  ตามที่ได้พูดมามากมายถึงเพียงนี้  หากจะพูดว่ายังไม่แจ่มแจ้งชัดเจนยังมืดมนมัวซัวอยู่อีกมากก็ตาม  ก็พอเป็นเงื่อนเงาเลาทางให้แก่ผู้ที่สนใจในทางนิพพานได้บ้างแล้ว  การแจ่มแจ้งชัดเจนนั้นเป็นเพราะอำนาจบารมี  การอบรมสร้างสมของผู้อ่าน  ผู้ฟังด้วยก็ได้  ไม่ใช่เป็นเพราะผู้แสดงผู้เขียนอย่างเดียว  ถ้าเช่นนั้น  ได้พูดกันมามากแล้วก็ควรจะเอวังจบกันเสียเท่านี้

หมายเลขบันทึก: 215860เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท