อภิปรัชญาว่าด้วยจิตและวิญญาณ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

อภิปรัชญาว่าด้วยจิตและวิญญาณ 

ธรรมชาติของจิต  วิญญาณ  หรือมโน


-->> จิต  (mind)  

หลักฐานทางพระพุทธศาสนา  นั้นยืนยันว่า   มนุษย์เรานั้นมีวิญญาณ  ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นมีวิญญาณ  สัตว์ดิรัจฉาน  ตั้งแต่เล็กที่สุด  ถึงใหญ่ที่สุดก็มีวิญญาณ  เหมือนกัน


ธรรมชาติที่เรียกว่า  “วิญญาณ”   นี้   ในที่บางแห่ง  พระพุทธเจ้าทรงใช้  คำว่า   “วิญญาณ”  โดยตรง  เช่น ในปฏิจจสมุปบาท   มีคำว่า   วิญญาณปจฺจยานามรูปํ  =  นามรูปย่อมมีขึ้นเพราะอาศัยวิญญาณเป็นปัจจัย


-->> ในที่บางแห่ง   พระพุทธเจ้าตรัสถึงการเกิดใหม่ของสัตว์ว่า

วิญญาณพีชํ-   สัตว์ไปเกิดได้   เพราะมีวิญญาณเป็นเสมือนเมล็ดพืช

ตณฺหาสิเนหํ-  ในวิญญาณนั้นมีตัณหาเป็นเสมือนยางเหนียว  หรือน้ำเชื้อชีวิต  ถ้าวิญญาณไม่มีตัณหา   ก็เป็นเสมือนเมล็ดพืชที่ตายแล้ว  ปลูกไม่ขึ้น

กมฺมเขตตํ     มีกรรมเป็นเนื้อหา   คือ   เป็นที่เพาะเมล็ดพืช   วิญญาณจะไปเกิดในภพดี   หรือชั่วก็แล้วแต่กรรม


-->> ในที่บางแห่ง   พระพุทธเจ้าทรงเรียก  วิญญาณ  ว่า จิต  เช่นคำว่า  จิตฺเต   สงฺกิลิฏเฐ  ทุคฺคติปาฏิกงขา   เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง  ก็มีหวังไปเกิดในสุคคติ


-->> ในที่บางแห่ง   พระพุทธองค์  ทรงเรียกว่า     “มโน”   เช่นในคาถาพระธรรมบท  ที่ว่า

มโนปุพพงฺคมา   ธมฺมา   ธรรมทั้งหลายมีใจไปก่อน

มโนเสฏฐา  มีใจเป็นนาย

มโนมยา   สำเร็จด้วยใจ

มโนกรรม  หมายถึงการกระทำทางใจ  คือ   การคิดนั่นเอง


-->>  ลักษณะของจิต

ในคาถาพระธรรมบท    พระพุทธเจ้า   ตรัสถึงลักษณะของจิตไว้อย่างชัดเจนว่า


เอกจรํ  เที่ยวไปดวงเดียว

อสรีรํ  ไม่มีร่างกาย

คูหาสยํ  มีถ้ำ  คือร่างกายเป็นที่อยู่


-->> การที่จิต  สามารถทำงานได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลา   และสถานที่  (time  and  space)  เช่นคนที่อยู่  ณ ที่แห่งหนึ่ง  อาจรู้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ   อีกแห่งหนึ่ง  ด้วยจิต  


เช่นพระอาจารย์มั่น   ในขณะที่บำเพ็ญสมาธิอยู่ในถ้ำสาริกา  เขาใหญ่  นครนายก   ได้กำหนดส่งกระแสจิตลงไปดู  พระหลวงตาองค์หนึ่ง  ซึ่งตั้งสำนักสงฆ์บำเพ็ญวิปัสสนาอยู่   ณ  เชิงเขา  ว่า   หลวงตาองค์นั้นท่านทำอะไรอยู่  ก็รู้ว่าหลวงตากำลังคิดวุ่นวายกับกิจการ    ในครอบครัวเดิมที่ยังตัดไม่ขาดซึ่งตามเรื่องนั้น   พระอาจารย์มั่นได้   กำหนดส่งกระแสจิต  มาดูหลวงตานั้นถึงสามยาม  คือ  ตอนค่ำ  ตอนดึก  และจวนสว่าง   ก็พบว่า      หลวงตาองค์นั้นวุ่นวายอยู่กับอดีตของตัว  คิดห่วงลูกคนนั้นห่วงหลานคนนี้อยู่ร่ำไป

-->> วิญญาณ  เป็นอมตะหรือไม่  ?


เกี่ยวกับปัญหานี้   เรามาพิจารณาดู  จากหลาย  ๆ  ทัศนะว่ามีความเห็นแตกต่างกันอย่างไร ?


พุทธปรัชญาฝ่ายเถรวาท  จะตอบทันที   “วิญญาณอมตะไม่มี ”  เพราะวิญญาณเกิดขึ้นเป็นคราว ๆ  ตามการกระทบกันระหว่างประสาท   และสิ่งเร้า   และเรียกชื่อเป็นอย่างๆ ไปตามประสาทนั้น ๆ เช่น  จักษุวิญญาณ,โสตวิญญาณ  เป็นต้น


เปรียบเหมือนไฟที่เราใส่เชื้อเพลิงเข้าไปเป็นระยะ ๆ   เมื่อใส่เชื้อเพลิงเข้าไป   เปลวเพลิงก็ลุกโพลงขึ้น   สว่างวาบขึ้นคราวหนึ่ง   แล้วก็หรี่ลง  เมื่อเราใส่เชื้อเพลิงชุดใหม่เข้าไปก็วาบขึ้นอีก


ในอัสสุตวตาสูตรที่  1  มหาวรรคที่  1  นิทานวรรค  สังยุตนิกาย  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!  ปุถุชนผู้มิได้สดับ   จะพึงเข้าไปยึด
ถือเอาร่างกาย  อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต  4  (ดิน  น้ำ
ลม  ไฟ ) นี้  โดยความเป็นตน  ยังชอบกว่า   แต่จะเข้าไป
ยึดถือ เอาจิต  โดยความเป็นตน  นั้น จิต (มโน-วิญญาณ)  
นั้น  ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน”


-->> ในคัมภีร์พระอภิธรรม ได้จำแนกจิตออกเป็นดวง ๆ  เช่นเดียวกับในพระสูตร   แต่อธิบายละเอียดกว่า   แม้ในชั่วขณะหนึ่ง   จิตก็เกิดดับ  ติดต่อกันไป  นับเป็นร้อยเป็นพันดวงทีเดียว



-->>>   ภาษา  2  ระดับ

ในการอ่านหลักฐานจากคัมภีร์  ทางพระพุทธศาสนา   เราควรจะทราบว่าท่านใช้ภาษา  2  ระดับ  คือ


1. ภาษาธรรมดาหรือโลกียะ   สำหรับคนธรรมดาตามสมมติบัญญัติทางโลกเขาใช้เรียกกัน  


2.  ภาษาขันปรมัตถ์ สำหรับผู้มีความรู้ทาง  พระพุทธศาสนาดีแล้ว เป็นเรื่องลึกซึ้งเป็นความจริงเหนือโลก  


-->> ในระดับภาษาธรรมดาหรือโลกียวิสัย  นั้น  พระพุทธเจ้าตรัสตามสำนวนนิยมชาวโลก  มุ่งให้ชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจทันที  ในระดับนี้พระองค์ตรัสคล้ายกับว่า   คนเรามีวิญญาณอมตะ  เมื่อคนเราตายลงไปวิญญาณนั้นล่องลอยไปเกิดในภพนั้น   ภพนี้   ดังที่พระองค์ตรัสไว้ใน  จูฬวัจฉโคตรสูตร  มัชฌิม ปัณณาสถ์  มัชฌิมนิกาย ว่า…


“ดูก่อนวัจฉะ  ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น   ย่อมระลึก
ถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก   คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง  
สองชาติบ้าง  ตลอดสังวัฏฏกัปปวิวัฏกัป   เป็นอันมาก
บ้างว่า  ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น   มีโคตรอย่าง
นั้น   มีผิวพรรณอย่างนั้น   ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว  
ได้ไปเกิดในภพโน้น”



เราจะเห็นได้ว่า   ในพระสูตรนี้  พระพุทธเจ้าตรัสคล้ายกับว่า  “เรา”  เป็นคนเดียวไม่ว่าจะไปเกิดในภพใดชาติใด  นี้เป็นการตรัสด้วย   ภาษาธรรดาหรือโลกียวิสัย   เราจะถือเอาภาษาคนเป็นหลักแล้วลงความเห็นว่า   พระพุทธเจ้า   ทรงยอมรับว่า   วิญญาณเป็นอมตะ  จัดว่ายังไม่เข้าใจอรรถแห่งคัมภีร์



-->> ในระดับปรมัตถ์สัจจ์  หรือระดับพ้นสมมติสัจจะ   พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าคนเราไม่มีวิญญาณอมตะ


ในมหาตัณหาสังขยสูตร  (มัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์  เล่ม  12  หน้า  472)  กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่ง  ชื่อ  สาติ  เป็นบุตรของชาวประมง    มีความเห็นว่า   วิญญาณไปเกิด  เหตุไฉนพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  เธอมีความเห็นผิด ?


ตอบว่า     เพราะเธอเห็นไปตามแบบ  พราหมณ์  คือ  เห็นไปว่า   “วิญญาณดวงนั้นเท่านั้นไปเกิดไม่ใช่ดวงอื่น”


ทางพระพุทธศาสนา   แม้จะถือว่า  วิญญาณเป็นตัวไปเกิด   แต่ก็ไม่ถือว่า     วิญญาณดวงเดียวเป็นตัวเกิด  แต่ถือว่า  วิญญาณมีเกิดมีดับ  มีสันตติความสืบต่อ  ไม่ใช่คงทนแน่นอนเที่ยงอยู่อย่างเดียว

หมายเลขบันทึก: 215862เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจมีมติแย้งตามมาอีก

ปัญหาใหม่ จะเกิดขึ้นตามมาทันทีว่า ถ้าวิญญาณเกิดดับ ๆ ไม่ใช่ดวงไหนก็ดวงนั้น แล้วน่าจะไม่มีความยุติธรรม หรือความสมเหตุสมผลเลย เพราะจะเป็นเสมือน [นาย ก. ทำดี แต่ นาย ข. ได้ผล หรือ นาย ก. เป็นผู้ร้าย แต่นาย ข. ติดคุก

ข้อแย้งนี้ มีมาแล้วแม้ในครั้งพุทธกาล ผู้แย้งคือ สัจจกนิครนถ์ เขาแย้งว่า “ถ้าวิญญาณ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนแล้ว อะไรเล่า จะเสวยบุญเสวยบาป” คือ แย้งเข้าลักษณะที่ว่า ถ้าวิญญาณเกิดดับเรื่อย ๆ วิญญาณดวงหนึ่งทำอะไรไว้ ตัวเองก็ไม่ได้รับ แต่วิญญาณดวงอื่นรับแทน หรือเช่น พระพุทธเจ้า แต่ครั้งยังเป็นโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมีไว้หลายแสนชาติ ถ้าไม่ใช่วิญญาณดวงเดียวกันแล้ว เหตุไฉน พระพุทธเจ้าจึงมารับผลของบารมีต่าง ๆ ที่บำเพ็ญไว้เดิมได้ ?

คำตอบของพระพุทธศาสนา

คำตอบปัญหานี้มีอยู่ว่า แม้ทางพระพุทธศาสนาจะปฏิเสธความเที่ยงแท้ของวิญญาณ แต่ก็รับรองสันตติ คือ ความสืบต่อแห่งวิญญาณนั้น เช่น เปลวไฟที่เทียน เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเปลวไฟในขณะนี้ เป็นดวงเดียวกับเมื่อนาทีที่ล่วงมาแล้ว หรือดวงเดียวกับเปลวไฟอีก 1 นาที ข้างหน้า หรือ กระแสไฟในหลอดไฟฟ้า มีความเกิดดับถี่ จนเราเห็นเป็นอันเดียวกัน หรือ ตัวอย่างอื่นอีก...

ฟิล์มภาพยนตร์ ที่เขาฉายให้เราดูนั้น ความจริงแต่ละรูปนั้นมีท่าทางอาการอย่างหนึ่ง ๆและแยกกันโดยเด็ดขาด แต่เมื่อติดต่อฟิล์ม เข้าเครื่องฉายแล้ว เราจะเห็นเป็นรูปเคลื่อนไหว พูดได้ ยกมือได้ เพราะความสืบต่อกัน

รูปตอนหนึ่งอาจกำลังเป็นผู้ร้าย อีกตอนหนึ่งกำลังถูกจับเป็นคนละรูปแท้ ๆ รูปถูกจับไม่ใช่รูปกำลังขโมย จะเป็นการยุติธรรมหรือ?

ในข้อแย้งที่ว่า วิญญาณไม่ใช่ดวงเดียวกัน นาย ก. ทำ แต่นาย ข. ได้รับจะยุติธรรมหรือ?

ตอบว่า ถ้าหลักเรื่องสันตติแล้ว จะไม่เห็นอยุติธรรมเลย เพราะความสืบต่อจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคน ๆ เดียวกัน ความสืบต่อทางกายมีฉันใด ความสืบต่อทางจิตก็มีฉันนั้น...

เหตุผลสนับสนุนเรื่องสันตติ

เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา คือ สรีรวิทยา (Physiology) ในวิชานี้ แสดงให้เห็นว่า ร่างกายของคนเรา ประกอบไปด้วยเซลล์มีชีวิตหลายล้านรวมตัวขึ้น เหมือนตึกประกอบด้วย อิฐ หรือ อิฐประกอบด้วยดินทรายก้อนเล็ก ๆ รวมตัวกันเข้าฉะนั้น เซลล์ชีวิตนี้ อยู่ภายในผนัง หรือเยื่อหุ้มระหว่างผนังเซลล์มีช่องว่างเล็ก ๆ เต็มไปด้วยน้ำเหลือง (Lymph) เซลล์ต้องอาศัยอาหารหล่อเลี้ยง ผ่านทางน้ำเหลือง ซึ่งเอิบอาบล้อมรอบ

เซลล์ได้อาหารทางน้ำเหลือง แม้ว่าถ่ายของเสียออกก็ถ่ายออกผ่านทางน้ำเหลืองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น น้ำเหลืองจึงเป็นสื่อกลาง สำหรับการติดต่อโดยตรงกับเซลล์ ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นร่างกาย

เซลล์มีหลายร้อยชนิด แต่ละชนิดก็มีหน้าที่เฉพาะอย่าง ๆ ไป มีการเกิด การเติบโต การตายไป การเกิดใหม่แทนของเก่า เหมือนกับคนในชาติประเทศหนึ่ง ๆ มีการเกิด การตายสืบต่อกันมา ประเทศและชาตินั้น ๆ จึงคงอยู่ได้เป็นพัน ๆ ปี แต่ถ้าจะตัดตอนกล่าวกันจริง ๆ แล้ว คนเมื่อ 200 ปี ล่วงมาแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ในขณะนี้เลย ต่างตายไปหมดแล้ว มีอยู่แต่คนที่สืบเชื้อสายมาเท่านั้น

เซลล์ในร่างกายมนุษย์ก็เหมือนกัน เท่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้ากันแล้ว เพียง 7 ปีก็เปลี่ยนหมดทุกส่วน ทุกชิ้น แม้แต่เซลล์กระดูก

ตกลงว่า เราเมื่อเป็นเด็กแดง ๆ กับตัวเราในปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ของเก่าหมดไปนานแล้ว มีของใหม่เกิดสืบแทน แต่ลักษณะสันตติ หรือการสืบต่อนี้ค่อยเป็น ค่อยไปเราจึงไม่รู้สึกตัว

แม้ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เก่าก็หมดไป มีของใหม่เกิดสืบแทนที่อยู่เสมอ เพราะเหตุมีสันตติ จึงรักษาทรง เค้าหน้าท่าทาง ไว้เหมือนคน ๆ เดียวกัน

อันที่จริง ร่างกายของเรา เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที บางทีเราถูตัว แต่ธุลีที่ออกมานั้นส่วนหนึ่ง คือ เซลล์ผิวหนังที่ตายไป และออกมานั่นเอง มีสุภาษิตของวงการวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนหลักพุทธศาสนาเรื่องความไม่เที่ยงอยู่ว่า

“Nothing Persists change”

“ไม่มีอะไร คงอยู่ นอกจากความเปลี่ยนแปลง”

“Change is one that is Permanent”

“ความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งเดียวที่ถาวร”

จิตกับร่างกายมีเกิดดับเหมือน ๆ กัน

-->> คราวนี้ ปัญหาข้างต้นนั้นก็ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว อย่าว่าแต่ วิญญาณ เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะเลย แม้ ร่างกาย เราก็เกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ

-->>> ลองตั้งตัวอย่างขึ้น นาย ก. ไปปล้นฆ่าเขาตายเมื่อ 8 ปี มาแล้ว มาถูกจับในวันนี้ ในร่างกายของนาย ก. เมื่อ 8 ปี มาแล้ว ไม่มีอะไรเลยที่คงเหลืออยู่จนบัดนี้ แม้จะเป็นเลือดเนื้อหรือกระดูกสักชิ้นหนึ่ง มีแต่ของใหม่ซึ่งเกิดขึ้นแทนที่ ถ้าอย่างนั้น ตำรวจจับนาย ก. วันนี้ก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกัน เพราะพิสูจน์ได้จริง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ว่า นาย ก. วันนี้ กับเมื่อ 8 ปีก่อนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

ทำไมเราไม่มีแก้กฎหมาย ทำไม่เราจึงยอมรับว่า เด็กคนนั้น คนนี้เป็นคนเดียวกับคนแก่ ผู้ครั้งหนึ่งเคยผ่านความเป็นเด็กนั้นมาแล้ว ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเรายอมรับสันตติคือ ความสืบต่อทางกายนั่นเอง

ก็เมื่อเรายอมรับสันตติ คือ ความสืบต่อทางกายแล้วไฉนเราจะปฏิเสธ ความสืบต่อทางวิญญาณ และเกณฑ์ให้วิญญาณ เท่านั้นเที่ยง (เป็นอมตะ)ไปเล่า...?

-->> เพราะเหตุนี้แหละ เมื่อภิกษุสาติ เห็นว่า วิญญาณดวงนั้นเองไม่ใช่ดวงอื่นเป็นตัวไปเกิดมาเกิด อันเป็นมติของศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เธอเห็นผิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท