ธรรมสัจจะ กับ สัจธรรม


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ธรรมสัจจะ  กับ  สัจธรรม


ธรรมสัจจะ   เป็นคำที่บัญญัติกันใช้ใหม่   ซึ่งหมายถึง  สิ่งที่เป็นความจริงเฉพาะเรื่อง   เฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะเรื่องเท่านั้น เป็น Particular   ไม่สากล ไม่เป็น  Universal



สัจธรรม  โดยธรรมดาเรานำคำมาต่อกันคือ สัจจะกับธรรม  ในบาลีส่วนมากจะมีคำเดียวคือ สัจจะ หรือ มิเช่นนั้นก็มีธรรมะ เช่น  ยมฺหิ  สจฺจญฺจ  ธมฺโม  จ  อหึสา   สญฺญโม   ทโม  สเว  วนฺตมโล  ธีโร โส  เถโรติ ปวุจฺจติ   สัจจะและธรรมะมีอยู่ในท่านผู้ใด ผู้นั้นจัดว่าเป็นสัตบุรุษหรือผู้ประเสริฐ  


อะไรก็แล้วแต่จะว่าไปในวรรคต่อไป  แต่จะไม่มีคำต่อกันว่า  สจฺจธมฺโม  หรือ สจฺจธมฺ  เพราะเรานำมาผูกศัพท์ใช้ นำมาเชื่อมโยงกันใช้  หมายถึงสิ่งที่เป็นความจริงสากล


แต่คำหนึ่งที่จะให้หมายถึงความจริงเฉพาะเรื่องเฉพาะเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเฉพาะเหตุการณ์...ก็บัญญัติคำว่า  “ ธรรมสัจจะ”  มาใช้ตัวอย่าง   พระพุทธพจน์ที่ว่า    ไม่ควรพร่าประโยชน์ตนเพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก  เห็นประโยชน์ของตนแล้วก็ควรขวนขวาย  ขวนขวายในประโยชน์ของตน  อย่างนี้ดูเหมือว่าจะเป็นการสอนให้คนเห็นแก่ตัว  คือว่าไม่ควรพร่าประโยชน์ของตัวเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแม้จะเห็นว่ามากมายสักเท่าไรก็ตาม  รู้ประโยชน์ของตนแล้วก็ควรจะขวนขวายในประโยชน์ของตน พระพุทธดำรัสแบบนี้ท่านตรัสเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี


มีเรื่องนิทานวจนะเล่ามาก่อน  คือเมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะปรินิพานพระทั้งหลายอื่นจับกลุ่มกันคอยแวดล้อมพระพุทธเจ้า จับกลุ่มกันวิพากย์  วิจารณ์  ร้องห่มร้องไห้  แสดงความเศร้าโศกเสียใจ ในการที่พระ
พุทธเจ้า  จะต้องนิพพานไป  


มีพระรูปหนึ่งท่านคิดว่าตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  ท่านยังไม่นิพพาน  เราควรจะขวนขวายในประโยชน์ของตน  บรรลุอรหัตผลเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าก่อนที่จะนิพพาน ท่านก็ปลีกตัวออกมา  ไม่สุงสิงกับใคร พระรูปนั้นสมมุติชื่อว่า  พระอัตตทัตถะ  อัตตทัตถะ แปลว่าประโยชน์ของตน  เห็นพระอัตตทัตถะ แล้วก็รู้สึกว่าไม่มีความรักในพระพุทธเจ้า ก็ได้นำความนั้นไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าพระรูปนี้ไม่มีความอาลัยรักในพระองค์  


พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกมาถาม ได้ความตามที่เล่ามา มีความคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไรจึงทำอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่าดีแล้วภิกษุ ดีแล้ว  ทำอย่างนี้แหละถูกต้องแล้ว  ผู้ที่เคารพบูชาเรา  ต้องการจะบูชาเราก็ควรจะทำอย่างภิกษุรูปนี้แล  พระพุทธจ้าก็ตรัสพระพุทธพจน์ที่ว่า  อตฺตทตฺถํ   ปรตฺเถน  พหุนาปิ  นหาปเย  อตฺตทตฺถมภิญฺญาย  สทตฺถปสุโต  สิยา  ไม่พึงพร่าประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก  รู้ประโยชน์ของตนแล้วพึงขวนขวายในประโยชน์ของตนอย่างนี้


ทีนี้ประโยชน์ของตนที่ท่านหมายถึงในที่นี้ก็คือ  นิพพาน  ท่านต้องการจะให้ถึงนิพพานโดยเร็วที่สุดเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนพระพุทธเจ้าจะนิพพาน  เพราะฉะนั้นเรารีบทำความเพียรเพื่อเอาอรหัตผลให้ได้  เพื่อเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นการบูชาที่แท้จริง   เป็นการเคารพที่แท้จริง พระพุทธเจ้าท่านต้องการอย่างนี้  ท่านไม่ต้องการให้ใครมาแวดล้อมพระองค์  ไม่ต้องการให้ใครมามัวบูชาสักการะพระองค์โดยไม่ทำหน้าที่ของตน



--->> ผมคิดว่าแม้พระพุทธเจ้าจะนิพพานไปแล้ว แต่เวลานี้เราทำสิ่งแทนพระองค์คือ พระพุทธรูป  ขึ้นมามากมายก่ายกองใหญ่โตมโหฬาร  วิจิตรพิสดารหลายแบบหลายชนิด  ต้องการให้คนบูชา  ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่และไปทูลถามพระองค์ว่า   พระองค์ต้องการอย่างนี้ไหมผมคิดว่าท่านจะตอบปฏิเสธ


ถ้าโดยปฏิปทา  โดยแนวทางของพระองค์..พระองค์จะตอบปฏิเสธ   พระองค์จะตอบว่า  อย่างมามัวนั่งบูชาฉันอยู่เลย อย่ามาสวดอ้อนวอนฉันอยู่เลย    หน้าที่อะไรที่เป็นหน้าที่ของตัวก็ทำหน้าที่ไปเถิด  ทำหน้าที่ของตัวไปเถิด อย่ามามัวสวดอ้อนวอนฉันอยู่เลย  ถ้าพระพุทธเจ้าสามารถจะกลับมาได้และมาให้เห็นอะไรต่ออะไรที่เราทำกันอยู่เวลานี้ ใหญ่โตมโหฬาร วิจิตรพิสดาร  แปลก ๆ ใหม่ ๆ ต่าง ๆ ทำไมเราไม่สืบเจตนารมณ์ของพระศาสดา   ที่ต้องการให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องให้ดีงาม  แทนการที่จะมาเคารพกราบไหว้บูชาสักการะพระองค์อยู่  


ตัวอย่างก็มีก่อนที่จะนิพพาน  หากประชาชนทั้งหลายมาสักการบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ของหอมมากมายครืดไปหมดเลย  พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า  อานนท์เอย....อย่างนี้  ๆไม่ชื่อว่าบูชาตถาคตหรอก ไม่ชื่อ  ว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่ง  แต่ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมปฏิบัติชอบ    ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน  โหติ  สามีจิปฏิปนฺโน  อนุธมฺมจารี  ปฏิบัติตามธรรมอยู่  ผู้นั้นแหละชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

 
พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ไม่เห็นแก่พระองค์  พูดกันอย่างสามัญว่า  ความเห็นแก่ตัวท่านไม่มีแล้ว  ท่านเห็นแก่ผู้อื่น  ต้องการประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  อะไรที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  ท่านก็ทำอย่างนั้น  แต่สาวกรุ่นหลังเข้าใจเจตนารมณ์อันนี้ของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า  หรือเข้าใจ  แต่ทำเป็นไม่เข้าใจเพื่ออะไรบางอย่างที่แฝงอยู่  


อันนี้คือธรรมสัจจะกับสัจธรรม  ธรรมสัจจะเป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี    พระพุทธเจ้าท่านตรัสเฉพาะภิกษุรูปนั้นปรารภภิกษุรูปนั้นแล้วก็ตรัสอย่างนี้  เฉพาะภิกษุรูปนั้น  เฉพาะเรื่องนั้น หรือว่าข้อความในกาลามสูตรที่เราชอบอ้างอิงถึงกันอยู่อันนั้น   พระพุทธเจ้าตรัสกับชาวกาลามะ  ดูเหมือนจะไม่ใช่เทศนาทั่วไปที่จะเทศน์กับใคร ๆ เหมือนอย่างอริยทรัพย์  เหมือนอย่างอนุปุพพิกถา  เหมือนอย่างไตรลักษณ์หรือปฏิจจสมุปบาท  หรือกฎแห่งกรรม  ซึ่งเป็นสากลและพระองค์ตรัสอยู่เสมอ ๆ  แก่คนทั้งปวง อันนี้เรียกว่าเป็นสัจจธรรม  อริยสัจ  กฎแห่งกรรม ปฏิจจสมุปบาท  ไตรลักษณ์  เหล่านี้เป็นสัจธรรม  เป็นสิ่งสากล  มีความหมายครอบคลุมทั่วไปหมดกับคนทุกคน


ขอยกตัวอย่างอีกอันหนึ่งที่เป็นธรรมสัจจะ  คือวินัยพระ  วินัยพระเป็นจริงเหมือนกัน  แต่เป็นธรรมสัจจะ  จริงเฉพาะเรื่อง  เฉพาะกรณี   เฉพาะพระ  เฉพาะกลุ่มพระเท่านั้นที่จะต้องปฏิบัติตามนั้น  แต่ถ้าไม่ต้องการจะปฏิบัติก็ออกมาจากหมู่เสีย  พอออกมาจากหมู่แล้วก็ไม่ต้องทำตามวินัยนั้น  เพราะวินัยเป็นความจริงเฉพาะกรณี  เฉพาะหมู่  เฉพาะกลุ่ม  ถ้าเราไม่ต้องการจะทำตามวินัยที่ท่านวางเอาไว้เพื่อหมู่คณะ  ถ้าเราไม่ต้องการจะปฏิบัติตามบัญญัติหรือระเบียบของสมาคม  ก็ออกมาเสียจากสมาคม  เราก็ไม่ต้องทำ


-->>  ดังนั้นการอ่านพระไตรปิฎกมามากนั้น  สมควรที่จะแยกให้ออกว่า  พระสูตรหรือพุทธพจน์แบบใดเป็นธรรมสัจจะ  และแบบใดเป็นสัจธรรม  เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งและเข้าใจที่มาที่ไปตลอดจนเหตุผลของข้อธรรมนั้นๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  แล้วเราจักไม่นำข้อความบางตอน  บางคำ  บางประโยค  มากล่าวอ้างเพื่อเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงตามที่ควรจักเป็นตามเจตนาของการตรัสเทศนาในพระพุทธพจน์นั้นๆ



ขอให้เจริญในธรรมที่พระศาสดาทรงตรัสไว้ดีแล้ว...



******************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง : "สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง"  โดย  วศิน  อินทสระ

หมายเลขบันทึก: 215992เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท