ถือว่า...จิตมีสภาวะเดิมบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ถือว่า...จิตมีสภาวะเดิมบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว

->>  ฝ่ายมหาสังฆิกะอธิบายว่า  กิเลสต่างๆ เป็นเพียงสิ่งภายนอกที่มาหุ้มห่อจิตอันบริสุทธิ์ไว้  เหมือนเมฆมาบังดวงอาทิตย์  กิเลสก็ไม่ใช่จิต  ธรรมชาติจิตนี้สะอาดหมดจด  แต่ที่เห็นขุ่นหมองเพราะกิเลสมาเคลือบ  เหมือนน้ำบริสุทธิ์กับสี  เมื่อเอาสีแดงเจือลงไปน้ำก็มีสีแดง  เอาสีเขียวเจือลงไปน้ำก็มีสีเขียว  สภาวะเดิมของจิตบริสุทธิ์ปลอดโปร่งจากปวงกิเลส

->>  มติฝ่ายเถรวาทไม่รับทรรศนะนี้  เพราะไม่ถือว่าจิตมีธรรมชาติบริสุทธิ์  แต่ถือว่าจิตมีธรรมชาติประภัสสร (มีแสงในตัวหรือผุดผ่อง)  ดังพระพุทธภาษิตในบาลีอังคุตตรนิกายเอกนิบาตว่า  "ปภสฺสรมิหํ  ภิกฺขเว  จิตตํ  ตญฺจ  โข  อาคนฺตุเกหิ  อุปกฺกิเลเสหิ  อุปกฺกิลิฏฐํ  ตญฺจ  โข  อาคนฺตุเกหิ  อุปกฺกิเลเสหิ  วิปฺปมุตฺตํ"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  จิตนี้ประภัสสร  แต่จิตนี้แลเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา  และจิตนั่นแลพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา"  

อุปกิเลสในที่นี้คือ

อภิชฌาวิสมโลภะ  ความละโมบเพ่งเล็ง ๑

พยาปาทะ  ความคิดปองร้าย ๑

โกธะ  ความโกรธ ๑

อุปนาหะ  ความผูกโกรธไว้ในใจ ๑

มักขะ  ลบหลู่คุณท่าน ๑

ปลาสะ  ความตีเสมอทระนง ๑

อิสสา  ความริษยา ๑

มัจฉริยะ  ความตระหนี่ ๑

มายา  ความเจ้าเล่ห์แสนกล ๑

สาเถยยะ  ความโอ้อวด ๑

ถัมภะ  ความหัวดื้อ ๑

สารัมภะ  ความแข่งดี ๑

มานะ  ความถือตัว ๑

อติมานะ  ความดูหมิ่นท่าน ๑

มทะ  ความมัวเมา ๑

ปมาทะ  ความเลินเล่อ ๑  

รวม ๑๖  อย่าง

อุปมาดุจอาคันตุกะจรมาเยี่ยมจิตผู้เป็นเจ้าบ้านคราวใด  เจ้าบ้านต้องวุ่นวายไปด้วยคราวนั้น  เมื่ออาคันตุกะกลับแล้ว  จิตใช่ว่าจะได้พักผ่อนสบายก็เปล่า  ยังต้องวุ่นกับงานบ้านอีกมากมาย  งานบ้านนี้มีมาพร้อมกับตัวบ้าน  ซึ่งสร้างสำเร็จด้วยอวิชชาเป็นมูล  และมีขึ้นพร้อมกับเจ้าของบ้านมาอาศัย  งานบ้านที่กล่าวคือ  

อาสวะกิเลส  กิเลสเครื่องหมักดองอยู่ในขันธสันดานหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  อนุสัยกิเลส  กิเลสตามนอนเนื่องในสันดาน  มีมาพร้อมกับจิตนับแต่กาลเบื้องต้นไม่ปรากฏ  เป็นกิเลสประเภทละเอียดอ่อนมักไม่ปรากฏง่ายๆ บางคราวต้องมีอารมณ์มารบกวนมากๆ จึงปรากฏขึ้น  มีอยู่ ๗ อย่าง  คือ

กามราคานุสัย  ความกำหนัดในกาม

ปฏิฆานุสัย  ความหงุดหงิด

ทิฏฐานุสัย  ความเห็นผิด  

วิจิกิจฉานุสัย  ความลังเลสงสัย

มานานุสัย  ความถือตัว

ภวราคานุสัย  ความกำหนัดติดในภพ  

อวิชชานุสัย  ความไม่รอบรู้ความจริง

ทั้ง ๗ นี้พอจะย่อลงเป็น ๓ คือ  ราคานุสัย  ปฏิฆานุสัย  อวิชชานุสัย  หรือเรียกว่า  โลภะมูล  โทสะมูล  โมหะมูล ก็ได้  จะหมดสิ้นจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิงก็ต่อเมื่อสำเร็จอรหัตตผล  
ฉะนั้นฝ่ายเถรวาทจึงกล่าวจิตว่างจากอาคันตุกะขั้นอุปกิเลสชื่อว่าปภัสสร  คือ  ผุดผ่องมีแสง(รัศมี)ในตัว  เช่น  จิตของผู้สำเร็จฌาณสมาบัติชั้นสูง  แต่ไม่ใช่จิตบริสุทธิ์ดุจมติฝ่ายมหาสังฆิกะ  ทั้งนี้เพราะยังมีอนุสัยกิเลสอยู่  อนึ่งหากเป็นจิตธรรมชาติบริสุทธิ์แล้วก็ไม่ควรต้องถูกกิเลสหุ้มห่ออีก...

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 216078เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท