หลักธรรมเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

หลักธรรมเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานหลัก คือ  ธรรมเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน   อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้ถึงธรรมอันเป็นรากเหง้าให้วิปัสสนาเกิด  เจริญขึ้น   และตั้งอยู่   เพื่อเจริญปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้งและรู้แจ้ง   ในสภาวะของสังขารธรรม   และวิสังขารธรรมคือ พระนิพพาน  โดยปรมัตถ์  และในพระอริยสัจ ๔   ตาม ที่เป็นจริง ไว้หลายวิธี  อันผู้เจริญภาวนาพึงเลือกปฏิบัติให้ ถูกจริตอัธยาศัยของตน

               ข้าพเจ้าจึงขอเสนอวิธีเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ที่ให้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง ตามหลักปฏิบัติพระสัทธรรมเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง  ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว  คือ  วิธีเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ถึงธรรมกายมรรคผลนิพพาน  ตามรอยบาทพระพุทธองค์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลเทพมุนี  (สด  จนฺทสโร)  ท่านปฏิบัติได้เข้าถึง  ได้รู้เห็นและเป็นธรรมกายแล้ว  จึงได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์จนตลอดชีวิตของพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน  และได้ถ่ายทอดสืบต่อ  ๆ  กันมาจนถึงปัจจุบัน   ปรากฏผลดีเป็นอย่างสูงแก่ผู้ปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม

                โดยมี  หลักปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ถึงธรรมกาย  ให้เกิดอภิญญา   และ วิชชา   คือ  ความรู้ความสามารถพิเศษ  ได้แก่  วิชชา  ๓   วิชชา  ๘  (รวมอภิญญา)  ชื่อว่า  วิชชาธรรมกาย”  เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญวิปัสสนาถึงโลกกุตตรปัญญา  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังต่อไปนี้

๑.        ขั้นสมถกัมมัฏฐาน

มีหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้นที่สำคัญ   ๓ ประการ  คือ

(๑)  กำหนด “  ฐานที่ตั้งของใจ  ไว้ ณ  ศูนย์กลางกาย  เหนือระดับสะดือ   ๒ นิ้วมือ  อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม  และเป็นที่ตั้งกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม

               ศูนย์กลางกายระดับสะดือเป็นที่สุด   และเป็นต้นทางลมหายใจ  (เข้า-ออก)

(๒)  กำหนด บริกรรมนิมิต  นึกให้เห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส ให้ใจรวมอยู่  ณ ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสนั้น  ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ   ๒ นิ้วมือ  (ตามข้อ  ๑)            

               การเพ่งดวงแก้วกลมใส  มีลักษณะเป็นการเพ่งแสงสว่าง  (อาโลกกสิณ)  กล่าวคือ  ถ้าพระโยคาวจรเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์  ถึงได้อุคคหนิมิต  ก็จะเห็นเป็นดวงใสสว่าง  หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงใช้ดวงแก้วกลมใส  (แทนดวงใสสว่าง)  เป็นบริกรรมนิมิต

(๓)  กำหนด บริกรรมภาวนา คือ ท่องในใจด้วยองค์บริกรรมภาวนาว่า  สัมมา  อรหัง  ๆ ๆ ที่กลางของกลางจุดเล็กใส   กลางดวงแก้วกลมใส.  ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ  ๒ นิ้วมือนั้น  เพื่อประครองใจให้หยุดนิ่งตรงนั้น

               คำว่า สัมมา  เป็นคำย่อจากคำว่า  สัมมาสัมพุทโธ    แปลว่า  พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบซึ่งหมาย ถึงพระ ปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า  ส่วนคำว่า  อรหัง แปลว่า  พระผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง  ซึ่งหมายถึง   พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า   เมื่อบริกรรมภาวนา ว่า  สัมมาอรหัง ๆ ๆ”  นึกน้อมพระพุทธคุณ  คือ พระปัญญาคุณ  และ พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า  มาสู่ใจเรา  ด้วย  เป็นพุทธานุสสติ

               ถ้าผู้ปฏิบัติภาวนากำหนดบริกรรมนิมิต  คือ  นึกเห็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสด้วยใจได้ยาก  ก็ให้สังเกตลมหายใจเข้า-ออก  ที่ผ่านและกระทบดวงแก้ว  ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับ  สะดือ  ๒  นิ้วมือ  อยู่ตรงนั้น   (เป็นอาณาปานสติอีกโสดหนึ่ง)  โดยไม่ต้องตามลมหายใจเข้า-ออก  ก็จะช่วยให้เห็นดวงนิมิตได้ง่ายเข้า  เมื่อเห็นดวงใสปรากฏขึ้นแล้ว   ก็ปล่อยความสนใจในลม

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ  ๒ นิ้ว มือ  อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม  ก็จะเข้าถึง  และ  ได้รู้เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา   จิตในจิต  และ  ธรรมในธรรม  จนถึง ธรรมกาย   อันเป็นกายที่พ้นโลก  เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์   เป็นอุปการะสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้ง และรู้แจ้ง

(ก)  ในสภาวะของสังขาร คือ  ธรรมอันไปในภูมิ   ๓  ทั้งสิ้น   และธรรมที่เป็นไปในภูมิที่  ๔  เฉพาะที่เป็นสังขตธรรม ตามที่เป็นจริง

(ข)   ในสภาวะของวิสังขาร   คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์  ทั้ง  สภาวะนิพพาน  ผู้ทรงสภาวะ และอายตนะนิพพาน ตามที่เป็นจริง และ 

(ค)  ในอริยสัจ  ๔ อันเป็นไปในญาณ  ๓ คือ สัจจญาณ  กิจจญาณ และ กตญาณ มีรอบ  ๑๒  
               
๒.      ขั้นอนุวิปัสสนา

เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว  ย่อมสามารถเจริญภาวนาทั้งสมถะ และวิปัสสนา
ให้เกิดอภิญญา
 ความรู้ความสามารถพิเศษ   และวิชชา  ได้แก่  วิชชา   ๓ วิชชา  ๘ (รวมอภิญญา  ๖)  จึง ชื่อว่า  วิชชาธรรมกาย ให้เกิดและเจริญความรู้ความสามารถพิเศษ   ให้สามารถพิจารณาเห็นกายในกายเวทนา  ในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม ให้เจริญ  วิปัสสนาปัญญา  เห็นแจ้งรู้แจ้ง  สภาวะของสังขาร   อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม)   ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น  อนิจจํ ทุกฺขํ  และอนตฺตา  อย่างไร  อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญโลกุตตรวิปัสสนา  ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔   เป็น  โลกุตตรปัญญา ต่อไป

กล่าวคือ   เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว

๑)       พึงฝึกเจริญฌานสมาบัติให้เป็นวสี  แล้วย่อมเกิดอภิญญา  มีทิพพจักษุ  ทิพพโสต เป็นต้น ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้  (การเริ่มเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแล้วกลมใสนั้น มีลักษณะเป็นการเพ่งกสิณแสงสว่าง  ชื่อว่าอาโลกกสิณ  อันเป็นกสิณกลาง  และมีผลให้เกิดอภิญญาได้ง่าย

๒)    สามารถน้อมไปเพื่อ  อตีตังสญาณ  เห็นอัตตาภาพของตนและสัตว์อื่นในภพชาติ  
ก่อน ๆ   น้อมไปเพื่อ  อนาคตังสญาณ  เห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม  และน้อมไปเพื่อ ปัจจุปปันนังสญาณ   เห็นสัตว์โลกในทุคคติภูมิ  ได้แก่   ภูมิของเปรต  สัตว์นรก   อสุรกาย  และใน สุคติภูมิ  ได้แก่  เทวโลก  และพรหมโลก  ตามที่เป็นจริง   ตามพระพุทธดำรัสได้
ให้สามารถรู้เห็นสภาวะของสังขาร  ได้แก่   เบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย  
อันปัจจัยปรุงแต่งด้วย  ปุญญาภิสังขาร   คือความปรุงแต่งด้วยบุญคือกุศลกรรม   อปุญญาภิสังขาร   คือความปรุงแต่ง  ด้วยบาปคืออกุศลกรรม และ อเนญชาภิสังขาร  คือ  ความปรุงแต่งที่ไม่หวั่นไหว  (ด้วยรูปฌานที่  ๔  ถึงอรูปฌานทั้ง๔  )

ได้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกในสังสารจักร     อันเป็นไปตามกรรม  
โดยวัฏฏะ  ๓
 คือ กิเลสวัฏ  กัมมวัฏ  และวิปากวัฏ  และให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของสังขารธรรม   คือ  ธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม)   กล่าวคือ  ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓  ทั้งสิ้น   ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ  ทุกขํ  และ อนตฺตา  อย่างไร  อย่างละเอียด  และกว้างขวาง

ให้เจริญวิปัสสนาญาณ  รวบยอดผ่านถึงโคตรภูญาณของธรรมกายได้อย่างรวดเร็ว
และเป็นบาทฐานให้เจริญโลกุตตรวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี


๓.       ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา

เมื่อพระโยคาวจรเจริญอนุวิปัสสนา  เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และ
ธรรมในธรรม  ทั้ง  ณ  ภายใน  และ ณ  ภายนอก   เห็นแจ้งรู้แจ้งในสามัญญลักษณะของสังสารธรรมทั้งหลายอยู่แล้วนั้น

               ธรรมกายย่อมเจริญฌานสมาบัติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม   คือ  อริยสัจ  ๔  ของกายในภพ  ๓  แล้วทำนิโรธ  (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ)  ดับสมุทัย  ปหานอกุศลจิตของกายในภพ ๓  โดยวิธีดับหยาบไปหาละเอียด  ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  อันเป็นที่ตั้งของธาตุธรรม   เห็น  - จำคิด รู้ คือ  ใจ  อันกิเลส  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  ยึดครองอยู่   ปหานอกุศลจิต ชำระธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้  คือ  ใจ”  ของกายในกาย (รวมเวทนา   จิต และธรรม)   จากกายสุดหยาบถึงสุดละเอียด   จนเป็นแต่ธาตุล้วนธรรมล้วนของธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด   ถึงปล่อยวางอุปาทานในเบญจขันธ์ของกายในภพ ๓และ ปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติเสียได้

ปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว  ธรรมกายที่หยาบตกศูนย์  ธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด
นั้นจะไปปรากฏในอายตนะนิพพาน
อันเป็นที่สถิตอยู่  ของพระนิพพาน คือ ธรรมกายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ พระอรหันตเจ้า  ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ประทับเข้านิโรธสงบตลอดกันหมดนับไม่ถ้วน  สว่างไสวด้วยธรรมรังสีของธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตาผลแล้ว  เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม  ที่ว่างอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพราะไม่มีสังขาร ชื่อว่า  ปรมัตถสูญ

               โคตรภูจิต คือ  ธรรมกายโคตรภูของพระโยคาวจรนั้นย่อมยึดหน่วงพระนิพพานอันละเอียดประณีต  สุขุมลุ่มลึก  นั้นเป็นอารมณ์  (แต่นิพพานธาตุโดยปรมัตถ์เป็นธรรมธาตุที่ไม่มีอารมณ์)

               เมื่อมรรคจิต  และ มรรคปัญญา  อันรวมเรียกว่า  มรรคญาณ  ของธรรมกายมรรคของพระโยคาวจรนั้นและเจริญขึ้น  ปหานสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย ๓ ประการ คือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  ลีลัพพตปรามาส  ขึ้นไปได้   ย่อมก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้  และ ณ  บัดนั้น ธรรมกายมรรค  ได้แก่  ธรรมกายพระโสดาปัตติมรรค  ก็จะตกศูนย์   และปรากฏผลจิต  ได้แก่  ธรรมกายพระโสดาปัตติผล  เข้าผลสมาบัติ พิจารณาปัจจเวกขณ์  ๕   คือ  พิจารณา  มรรค  ผล  กิเลสที่ละได้  กิเลสที่ยังเหลือ  (ในกรณีเสขบุคคล)  และ  พิจารณาพระนิพพาน ต่อไป

               นี้คือขั้นตอนของเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ถึงมรรคผลนิพพาน  ตามรอยบาทพระพุทธองค์ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี  (สด  จนฺทสโร)  ได้ปฏิบัติเข้าถึงได้รู้เห็น  และเป็นธรรมกาย  แล้วได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์   และได้ถ่ายทอดสืบต่อ ๆ  กันมาถึงปัจจุบัน

               ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติ  ให้ทดลองปฏิบัติให้เห็นผลด้วยตนเองแล้วท่านจะซาบซึ้งในคุณของวิชชาธรรมกาย  ด้วยตัวของท่านเอง และท่านจะพบว่าพระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์นั่นแหละ  เป็นตัวตน (อตฺตา)  ที่แท้จริง  เพราะเป็นอมตธรรม  ที่ไม่ต้องเกิด   แก่ เจ็บ  และตายอีก  มีสภาวะที่เที่ยง  (นิจฺจํ)  เป็นบรมสุข  (ปรมํ  สุขํ)  และยั่งยืน  (ธุวํ)  มั่นคง  (สสฺสตํ)  อันเป็นอัตตลักษณะของวิสังขารธรรม  ที่ตรงกันข้ามกับอนัตตาลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวงโดยสิ้นเชิง


               พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์  คือ ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้วนี้แหละ  คือ  พระพุทธรัตนะ  พระธรรมรัตนะ   พระสังฆรัตนะ  (กรณีพระอริยสาวก)  กล่าวคือ  พระรัตนตรัย  ที่พึ่งอันประเสริฐของสัตว์โลกแท้ ๆ

               ณ  ที่ใด มีผู้ปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้านี้ด้วยดี  ตรงตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านแนะนำสั่งสอนไว้  และรักษาสืบต่อไว้ด้วยดี  บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ และสถานที่ นั้น ๆ  มีความเจริญรุ่งเรือง  และสันติสุขดี  ทั้งนั้น  ไม่มีเสื่อมสลาย  จึงขอแนะนำให้ท่านผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ลองปฏิบัติดูเถิด  เมื่อท่านปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย  ก็จะทราบผลดีด้วยตัวของท่านเอง

๔ .      วิชชาธรรมกายชั้นสูง

สำหรับผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย และได้ฝึกเจริญภาวนา   พิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนาใน เวทนา  จิตในจิต  และ ธรรมในธรรม  ทั้ง  ณ  ภายนอก และ  ณ  ภายใน  ได้ผลดีพอสมควรแล้ว  ยัง ควรได้รับการฝึกเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง  อีกต่อไป  ซึ่งจะเป็นธรรมเครื่องช่วย  บำบัดทุกข์และ  บำรุงสุข”   ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  รวมทั้งสังคมประเทศชาติได้มาก  ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้   แต่ในเรื่องนี้ผู้ปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง  เขาจะไม่ค่อยเผยหรือแสดงความโอ้อวดใด ๆ  กับใคร ๆ  นอกจากจะเป็นที่รู้กันเฉพาะในหมู่ครูอาจารย์ และ ศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดเท่านั้น

               วิชชาธรรมกายชั้นสูงนี่แหละ  ที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่า  พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน  ได้เคยกล่าว กับ ศิษยานุศิษย์ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า

               ธรรมกายคนหนึ่ง   ช่วยคนได้ครึ่งเมือง

หมายถึง  ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย  เจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง   ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่นสาธุชนพลเมืองได้มาก.

 

รวบรวมข้อมูลจาก : หนังสือ "ทางมรรคผลนิพพาน" พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖, รป.ม. (เกียรตินิยมดี) มธ.

หมายเลขบันทึก: 216094เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท