ผู้ช่วยวิจัย: บทบาทและหน้าที่ ที่ท้าทาย


            วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551 มีโอกาสได้ร่วมงานกับรองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากร หัวหน้าโครงการฯ รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณวดี พุธวัฒนะ และผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมศรี นันทวรรณ เพื่อทำหน้าที่ผู้ช่วยวิจัยในการเก็บข้อมูล โครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 กรกฎาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2551  ดำเนินการโดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย (สสท.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำรวจในกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ จำนวน 32,000 คน ในเขตพื้นที่ 4 ภาค ภาคละ 5 จังหวัด และเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและเครือข่ายการสำรวจสุขภาพ ดังนี้

 

·         สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย (สสท.)

·         สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

·         สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

·         คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

·         คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

·         วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

·         คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

·         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 20 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

            เพื่อการสำรวจภาวะสุขภาพของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย

 

วิธีการเก็บข้อมูล

            การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร สถานที่นัดตรวจร่างกาย คือ ศูนย์สุขภาพชุมชน หมู่บ้านเก้าแสนเจ็ด(สงสัยราคาบ้านคงเท่ากันหมดทุกหลัง) เขตคันนายาว กรุงเทพฯ มีรายการตรวจสุขภาพประมาณ 12 รายการ  การทำงานมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ (อาจจะไม่เรียงตามลำดับ)

1.       อธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ

2.       ตอบคำถามที่สงสัย และขอใบยินยอมเข้าร่วมการสำรวจ

3.       สัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสุขภาพ

4.       ตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต วัดส่วนสูง น้ำหนัก รอบเอว รอบสะโพก

5.       การทดสอบพิเศษตามกลุ่มอายุ เช่น ในเด็กวัยเรียนมีการทดสอบทางสติปัญญา ในวัย 40 ปีขึ้นไปมีการทดสอบสมรรถภาพปอด และทดสอบสายตา ในวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการทดสอบความจำ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ เป็นต้น

6.       สำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะทำการขอเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจ ความเข้มข้นของเลือด ลักษณะเม็ดเลือดแดง ระดับน้ำตาลในเลือด(โดยต้องอดอาหารหลัง 20.00 น. ในคืนก่อนนัดตรวจร่างกาย) ตรวจระดับไขมันในเลือด เพื่อดูความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ได้แก่ คอเลสเตอรอล ไขมัน เอชดีแอล ไตกลีเซอไรด์ และ ครีอะตินีน เพื่อดูหน้าที่ของไต และมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจระดับไอโอดีนและโปรตีน

 

ประโยชน์ที่จะได้รับ

            กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สสส.  สปสช. และโรงพยาบาลในพื้นที่จะใช้ในการกำหนดนโยบาย การจัดทำโครงการทางสุขภาพเพื่อดูแล รักษาสุขภาพ ควบคุมและป้องกันโรคในประชาชนไทยต่อไป

 

ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ

            ทราบภาวะสุขภาพของตนเอง ภายหลังจากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจเลือดแล้ว ทางผู้สำรวจจะแจ้งผล และข้อแนะนำทางสุขภาพ ถ้าพบว่าการตรวจมีภาวะผิดปกติ จะได้รับการส่งต่อไปรับการรักษาในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านต่อไป

 

            เวลานัดหมายคือ 6.00 น. ล้อ(รถ)หมุน แต่ทุกคนต้องมาก่อนเวลา เซ็นชื่อทำงานและรับอาหารว่างเป็นซาลาเปากับนมถั่วเหลืองคนละ 1 กล่อง (ยี่ห้อ 7-Eleven) ช่วยกันขนของ อุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นรถ(ตู้)โดยสาร จำนวน 2 คัน ออกเดินทางจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กว่าจะถึงที่หมายก็ปาเข้าไปเจ็ดโมงเช้ากว่าๆ ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในส่วนของการทดสอบการมองเห็น (Vision test) ก่อนที่จะทำการทดสอบนั้นผู้ช่วยวิจัยจะต้องทำการศึกษารายละเอียดให้แจ่มชัดก่อนลงมือปฏิบัติจริงตามขั้นตอนดังนี้ ให้วางแผ่น Near Vision Chart ห่างจากตาผู้ตอบสัมภาษณ์ ระยะ 40 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ที่เตรียมมาความยาว 40 ซม. ซึ่งเป็นการทดสอบการมองระยะใกล้ ในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยอธิบายลำดับขั้นตอนการตรวจวัดสายตาให้กับผู้ตอบสัมภาษณ์ทราบว่าจะให้อ่านออกเสียงตัวเลขจำนวน 1 ชุด โดยอ่านตัวเลขแต่ละแถวจากซ้ายไปขวา และจากแถวบนลงแถวล่าง ถ้าอ่านผิดเกิน 3 คำขึ้นไปให้จบการทดสอบ อธิบายเสร็จสอบถามเพิ่มเติม(ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุการได้ยินลดลง) ถ้ามีปัญหายังไม่เข้าใจให้ถามและอธิบายซ้ำให้เข้าใจ ลักษณะของข้อคำถาม(Item)นั้น เป็นการถามว่าขณะอ่านหนังสือปกติใส่แว่นสายตาหรือไม่ บันทึกข้อมูล โดยต้องกาเครื่องหมายกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แล้วค่อยวัดสายตา ขณะวัดการมองเห็นใกล้ ให้บันทึกด้วยว่าผู้ตอบสัมภาษณ์ใส่แว่นสายตาหรือไม่ บันทึกข้อมูล ทำการทดสอบการมองระยะใกล้ เริ่มที่ตาซ้ายก่อนโดยใช้มือขวาปิดตาขวาอ่านตัวเลข(ห้ามกดตาแรงๆ เพราะจะต้องใช้อ่านตัวเลขอีกอาจทำให้การมองเห็นลดลงได้) บันทึกระยะของแถวตัวอักษรตัวเล็กที่สุดที่สามารถอ่านได้(ผิดน้อยกว่า 3 คำ) หลังจากนั้นสลับข้างจากตาซ้ายเป็นตาขวา บันทึกข้อมูลเช่นเดิม

 

            ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ครั้งที่ 3 กับการร่วมกิจกรรม การเก็บข้อมูลภาคสนามจริงนั้นทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ชัดเจน หากแต่ละจุดบริการยังไม่มีผู้ตอบสัมภาษณ์ก็สามารถไปช่วยเหลือยังจุดบริการอื่นๆ ได้ มีผู้ตอบสัมภาษณ์คนหนึ่งเป็นคุณตาอายุประมาณ 80 ปี รับการทดสอบความจำโดยให้คุณตาคิดคำๆ หนึ่ง แล้วเขียนใส่กระดาษแบบสัมภาษณ์ คุณตาเขียนว่า พันธมิตรเขียนเสร็จอ่านข้อความ แอบอมยิ้มนิดๆ ในใจคิดแต่เพียงว่า แหม...คุณตาช่างเขียนคำที่สอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองจริงๆ แสดงว่าความจำยังดี

 

            นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่คนอื่นที่ยังไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เพื่อให้การทำงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เสร็จงานประมาณบ่ายกว่าๆ ร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเตรียมไว้ให้ มีรายการอาหารกลางวันดังนี้ ลาบหมู ข้าวเหนียว ขนมจีนน้ำยาป่า ผักสด ส้มตำไทย ส้มตำไทย-ปู ส้มตำปู ส้มตำปู-ปลาร้า รสชาติ เผ็ดมาก เผ็ดน้อย เลือกได้ตามใจชอบ แซ๊ปอีหลี..เด้อ  นี่เลย..ประทับใจกับกาแฟเย็นโบราณ(ดื่มหลังทานส้มตำเผ็ดๆ) เย็น หวาน หอม อร่อย ชื่นใจจริงๆ นั่งรถ(ตู้)แอร์เย็นฉ่ำ เดินทางกลับถึงคณะฯ โดยสวัสดิภาพ เวลาประมาณ 15.00 น. รับค่าเหนื่อย กลับบ้าน จบ!

 

 

สุเทพ ธุระพันธ์

30 กันยายน 2551

(ป.ล. อ.อู๊ด และ อ.ติ่ง ครับ มีงานอีกเมื่อไหร่อย่าลืมเรียกใช้บริการนะคร๊าบ! ด้วยความเคารพ..)

 

หมายเลขบันทึก: 216330เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2008 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รายงานวิจัย การสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย / การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 ที่นี่ครับ http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/123456789/3363

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท