ปกครองบ้านเมืองให้เจริญไม่เสื่อม


หากพวกวัชชีไม่ฉุดคร่า ไม่ขืนใจสตรี หรือกุมารีให้มาอยู่ร่วมด้วยเพียงใดพึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น(ไม่ใช้อำนาจ ยศตำแหน่งอำนาจเงินทองข่มเหงผู้ออ่นแอกว่าไม่บังคับข่มขู่ชนชั้นผู้น้อยแต่ให้ความเป็นธรรมมีความยุติธรรมแก่ชนทุกชั้น)

           

 

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางโกศลเทวี ได้เป็นกษัตริย์ครองแคว้นมคธ ทรงปรารถนาจะยกทัพไปปราบ พวกกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ซึ่งปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม จึงตรัสสั่ง วัสสการพราหมณ์ ซึ่งเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ให้ไปปรึกษาทูลถามกับพระผู้มีพระภาคเจ้า

          วัสสการพราหมณ์จึงไปขาเฝ้าพระศาสดา ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์นครหลวงของแคว้นมคธ พอได้โอกาสก็ทูลถามว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าอชาติศัตรูทรงมีความปรารถนา จะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี เพื่อจัดการพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากให้แคว้นวัชชีถึงความพินาศวอดวาย ก็แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีความคิดเห็นอย่างไรพระเจ้าข้า”

          พระศาสดาทรงสดับอย่างนั้น ทรงหันไปรับสั่งกับพระอานนท์ที่ยืนถวายงานพัดอยู่

 

                             

 

          “ดูก่อน อานนท์”

๑.หากพวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

 (ให้หมั่นเปิดประชุมสภาเสมอๆเพื่อปรึกษากันพัฒนาประเทศชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้ทันเหตุการณ์)

๒.หากพวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

  (มาร่วมประชุมกันทั้งหมด ไม่หนีประชุม ไม่มานั่งหลับในที่ประชุม ไม่ฮั้วกันในที่ประชุม มีอิสระแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่)

๓.หากพวกวัชชีไม่บัญญัติ (กฏเกณฑ์หรือกฎหมาย)สิ่งที่ไม่ได้บัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือประพฤติปฏิบัติในวัชชีธรรมของเก่า(หลักการเดิม กฎหมายประเพณีดีงามที่เคยมีมา) ตามที่บัญญัติไว้อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

   (ไม่กำหนดกฏเกณฑ์ออกกฎหมายใหม่ ที่จะลบล้างกฏหมายเก่าที่ดีงามอยู่แล้ว แต่จะรักษากฎหมายประเพณีอันถูกต้องดีงาม ที่เคยมีมาเอาไว้ให้ยั่งยืนยาวนาน)

๔.หากพวกวัชชีสักการะเคารพ เคารพ นับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

   (เคารพให้เกียรติแก่ผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม ซึ่งเป็นผู้มีความคิดเห็นถูกต้องตรงธรรม โดยให้ความเชื่อถือในความเห็นที่ถูกต้องนั้นอย่างไม่โอนเอนหวั่นไหว)

๕.หากพวกวัชชีไม่ฉุดคร่า ไม่ขืนใจสตรีหรือกุมารี ให้มาอยู่ร่วมด้วยเพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

    (ไม่ใช้อำนาจ ยศ ตำแหน่ง อำนาจเงินทอง อำนาจพละกำลังเข้าข่มเหงผู้ออ่นแอกว่า ไม่บังคับข่มขู่ชนชั้นผู้น้อย แต่ให้ความเป็นธรรมมีความยุติธรรมแก่ชนทุกชั้น)

๖.หากพวกวัชชี สักการะ เคารพ นับถือบูชาเจดีย์(สิ่งอันเป็นที่เคารพ) ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี(การพลีของผู้มีธรรม) ที่เคยให้ ที่เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

   ( รักษายัญพิธีหรือพลีกรรมที่ถูกต้องดีงามเอาไว้ไม่ปล่อยให้สูญหายไป เพื่อสร้างศรัทธาอันมั่นคง ให้เกิดแก่มหาชนสืบไปส่วนพลีกรรมที่มิจฉาทิฐิ งมงาย ไร้สาระ ให้ละทิ้งเสีย)

๗.หากพวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้ว อารักขาป้องกัน คุ้มครองอย่างเป็นธรรม แก่พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา(ผู้หมดกิเลส ไม่เห็นแก่ตัว) ทั้งหลาย  ด้วยตั้งใจว่า ทำไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นนี้ และพระอรหันต์ที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุกในแคว้นนี้เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น

  ( มีช่วยเหลือคุ้มครองดูแลคนดีไม่ให้โดนรังแก โดนทำร้าย โดยเฉพาะคนมีคุณธรรมที่ดีมากในทางโลก หรือผู้ที่ดีมากในทางในทางธรรม เพราะคนดีมากมักเป็นผู้เสียสละ ไม่มีกิเลสเห็นแก่ตัว มีแต่เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม)

          เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงหันมารับสั่ง กับวัสสการพราหมณ์

          “ดูก่อนพราหมณ์ เราเคยอยู่ที่สารันททเจดีย์ เมืองเวสาลีนครหลวงของแคว้นวัชชี  ได้แสดงอปริหานิยธรรม (ธรรมที่พาเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม)ทั้ง๗ ข้อนี้แก่พวกเจ้าวัชชี หวกพวกเจ้าวัชชีสนใจ ตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น”

 

 

 

 

 

                                   

        วัสสการพราหมณ์ได้ยินคำตรัสแล้ว ชื่นชมยินดีคำสอนเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองนั้นทูลตอบไปว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียงข้อเดียว ก็ยังเจริญไม่เสื่อม จะกล่าวไปใยถึงอปริหานิยธรรมทั้ง๗ข้อเล่า ดังนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ควรทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดองกัน หรือจะยุให้เจ้าวัชชีแตกกันเท่านั้น”

                             

          กล่าวแล้ววัสสการพราหมณ์ก็ถวายนมัสการลากลับไปยังราชสำนัก นำเรื่องราวทั้งหมดกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ทรงทราบ  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับรู้แล้ว แต่ก็ทรงปรารถนาต้องการปราบพวกกษัตริย์ลิจฉวีแห่ง แคว้นวัชชีอยู่อีก วัสสการพราหมณ์จึงออกอุบายให้พระราชาลงโทษตน แล้วเนรเทศขับไล่

          จากนั้นพราหมณ์ก็แกล้งหาที่พึ่งพิง ไปสวามิภักดิ์กับพวกเจ้าวัชชี ทำให้กษัตริย์ลิจฉวีนั้นวางใจ แล้วค่อยๆทำการส่อเสียด ยุให้เข้าใจผิดกัน แตกแยกกัน ไม่ประชุมกัน ระบอบสามัคคีธรรมก็ถูกทำลาย

           วัสสการพราหมณ์ทำอยู่อย่างนี้ ๓ ปี จนเห็นว่าแผนการของตนสำเร็จแล้ว จึงส่งข่าวให้พระเจ้าอชาตศัตรู ยกกองทัพมาตีเมืองเวสาลี พวกเจ้าวัชชีทั้งหมดก็ถึงแก่ความย่อยยับ !!

          (พระไตรปิฎกเล่ม๑๐ มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๖๘-๖๙)

           อรรถกถาแปลเล่ม ๑๓มหาปรินิพพานสูตร หน้า ๓๓๗ )   

                     

                    

                    

 

 

หมายเลขบันทึก: 217113เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2008 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการเจ้าค่ะ

เคยฟังนิทานตอนเด็ก มาแล้วแต่จำได้บ้างเล็กน้อย

วันนี้ได้อ่านเพิ่มเติม

ควรนำมาเป็นประเด็นเทศนาธรรมให้พวกข้าราชการไทยได้ฟังกันบ่อย ๆ นะเจ้าคะ

 

P

 

  • ธรรมสวัสดีโยมคุณ ครูคิม
  • อนุโมทนาสาธุ  ธรรมรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท