คำพ้อง ไทย-มลายู


ด้วยที่ผมยังเดินไม่ได้ ก็แก้ไขอาการเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นด้วยการ ต่อเน็ท อ่านไปเรื่อยๆ ทำเว็บ เขียนบล็อก ก็แล้วแต่อารมณ์ และสิ่งเดิมที่ขาดไม่ได้คือ อ่านหนังสือ หนังสือที่ผมอ่านส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหรับหรือไม่ก็มลายู (ไทยอ่านในเน็ท) ได้ข้อคิดเห็น หรือได้อะไรจะบอกกล่าวคนอื่นด้วยภาษาไทยก็จะไปโพสในเว็บ

วันนี้เลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ผ่านตู้หนังสือที่ได้สะสมหนังสือไว้พอควร ข้างบนหยิบไม่ได้ถ้าจะเอาต้องบอกชื่หนังสือชัดเจนในลูกช่วยหยิบให้ แต่ชั้นล่างวันนี้ผมหยิบเองได้ ก็ไปเจอหนังสือเก่าๆของตัวเองซื้อมาเล่มหนึ่ง ไม่ใช่เก่าเพราะใช้หรอกครับ ผมเปิดแค่ครั้งสองครั้ง หน้าสองหน้าก็เก็บไว้ ไม่ค่อยได้อ่านเท่าไร ที่มันเก่าเพราะซื้อมานานแล้วและหนังสือก็เก่าแล้ว ผมซื้อตรงแบกะดินหน้ารามครับ เห็นว่าน่าสนใจมากเลยซื้อมา วันนี้นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่นำมาอ่านจริงๆ

พจนานุกรมคำพ้อง ไทย-มลายู โดยแปลก ศิลปกรรมพิเศษ คือหนังสือที่ว่านั้น เล่มที่มีอยู่เป็นเล่มพิมพ์ครั้งแรก ปี 2539

ผมอ่านได้ข้อคิดหลายอย่าง ที่สำคัญคือการรับและให้ของภาษาที่ใช้ แม้กระทั้งในอัลกุรอานที่ภาพรวมทั้งเล่มแล้วเป็นภาษาอาหรับ แต่บางคำเป็นคำที่อื่นที่อาหรับนำมาใช้ และคำนี้มีบันทึกในหนังสือเล่มนี้ด้วย

คำพ้องของภาษาไทยกับภาษามลายยู ตามพจนานุกรมที่ผมอ่านนี้มีเยอะมาก หนังสือหนาเกือบสองร้อยหน้า แม้บางคำผมไม่ค่อยจะเห็นด้วย แต่โดยพื้นฐานแล้วแม้จะต่างภาษากันแต่เราก็แลกเปลี่ยนกันมานานแล้ว  โดยเฉพาะคนมลายู(พวกเดียวกับผม) ทุกวันนี้ได้รับภาษาไทยมาปนเปกับภาษามลายูเยอะมากบางครังแยกไม่ออกว่าเป็นคำภาษาใด เช่นคำหนึ่งที่ผมเองก็หาคำมลายูไม่ได้ คือ แบบ ปกติเราจะพูด แบะนุง แบะนิง คือแบบนั้น แบบนี้ เคยถามคนมาเลย์เขาก็บอกเป็นภาษาอังกฤษอีก แฟชันตู แฟชันนี อะไรทำนองนี้

อย่างน้องฟ้า เจ้าหน้าที่ห้องสมุด มอย. ไม่ใช่คนมลายูเพราะเป็นคนทางเหนือแต่กำเนิดและไม่มีเชื้อสายมลายูเลย แต่มาอยู่กับเรานานพอควร ปกติเวลาเราคุยกันเราจะพูดภาษาไทยตลอด แต่ระยะหลังทำให้ผมแปลใจ เขาจะแทนคนอื่นแทนที่สรรพนามว่า เขา เขาใช้คำว่า ยอ (ดิยอ) เป็นภาษามลายูแปลว่าเขา และไม่ใช่เขาเท่านั้นที่พูดแบบนั้น ผมเคยเจอคนอื่นก็พูดแบบนั้นเหมือนกัน เลยคิดว่า ไม่แน่วันหนึ่งในอนาคตพจนานุกรมไทย อาจจะบรรจุคำว่า ยอ แปลว่า เขา นี้นับเป็นภาษาไทยคำหนึงก็เป็นได้

ขอเริ่มคำบางคำในหนังสือที่ผมอ่านผนวกกับประสบการณ์ที่ผมมีอยู่

กบาล [กะบาน] น. ส่วนกลางของกะโหลกศีรษะ, หัว

    ก็ตรงกับคำที่เราพูดกัน คือ กือปาลอ kepala كفل ก็หมายถึง หัว

     กรง [กฺรง] น. สิ่งที่ทําเป็นซี่ ๆ สําหรับขังนกเป็นต้น

          ในหนังสือเล่มนี้ เทียบกับคำว่า กุรง kurong หรือ كوروغ ตามที่เราพูดกัน หมายถึง ขัง

     กระจง ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องในวงศ์ Tragulidae ที่เล็กที่สุด รูปร่างคล้ายกวาง แต่ไม่มีเขา

         พูดถึงคำนี้ผมนึกถึงรถมาเลยรุ่นหนึ่ง Kancil Perodua ลืมนึกไปว่าคือคำเดียวกันกับคำว่ากระจง เพราะเคยชินกับคำว่า ปลาโนะ ที่เรียกตามบ้านเรา

   

    กระจูด ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Lepironia articulata (Retz.) Domin ในวงศ์ Cyperaceae ลําต้นกลมภายในกลวง และมีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อ ๆ ใช้สานเสื่อหรือกระสอบ

         ผมก็รู้มาแต่ต้นแล้วเป็นคำมลายู แม่ผมเรียกว่า อุปุกือรือจุ (หญ้ากระจูด) رومفوت كرجوت Kerchut

กระโจน กระโดดพุ่งไปโดยเร็ว, เผ่นข้ามไป, โจน ก็ว่า.

       ในหนังสือเล่มนี้เทียบกับคำว่า Terjun บ้านเราเรียกว่า ترجون เป็นอากับกริยากระโดดลง

กระชับ แน่น, แนบแน่น, แนบกันสนิท, พอเหมาะ มาจากภาษาเขมร

       ในหนังสือเล่มนี้เทียบกับคำว่า kejap ผมก็นึกคำที่เราพูดกัน คือ กือจะอฺ كجأ หรือ كجف แปลว่า แน่น

กระดาษ  วัตถุเป็นแผ่นบาง ๆ โดยมากทําจากใยเปลือกไม้ ฟางหญ้า หรือ เศษผ้า เป็นต้น ใช้เขียนหรือพิมพ์หนังสือหรือห่อของและอื่น ๆ

      ผมก็รู้มานานแล้วเหมือนกัน เป็นคำเดียวกันที่เราเรียก เพราะบ้านเราเรียกว่า กรือตะฮฺ ซึ่งแผลงมาจากภาษาอาหรับ คือ กุรฏอสฺ قرطاس ในอัลกุรอานก็มีกล่าวถึงคำนี้ คือในอายัตที่ 7 สูเราะฮฺ อัล-อันอาม ซึ่งเท่าที่เรียนมาคำนี้เป็นคำสันสกฤต (แต่ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าเป็นคำอาหรับ)

وَلَوْ نَزَّلْنَا عَلَيْكَ كِتَاباً فِي قِرْطَاسٍ فَلَمَسُوهُ بِأَيْدِيهِمْ لَقَالَ الَّذِينَ كَفَرُواْ إِنْ هَـذَا إِلاَّ سِحْرٌ مُّبِينٌ [الأنعام : 7]

 

หมายเลขบันทึก: 218909เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณครับที่นำความรู้จากการศึกษาในเวลาว่างๆ มาคุยกัน ทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย

สวัสดีครับ

เคยเห็นร้าน/แผงหนังสือแถมหน้ารามฯ มีเกี่ยวกับภาษามลายู เรื่องอิสลามหลายเล่ม

เรื่องคำพ้องน่าสนใจครับ บางทีก็พ้องเพราะยืมกัน พ้องเพราะที่มาเดียวกัน พ้องเพราะบังเอิญ ก็มีเยอะ

ครับ อ. จรุวัจน์ ผมก็ว่าเหมือนถ้าเราได้คุยเรื่องนี้ อาจจะมีคำที่เรานึกไม่ถึง่ว่าเป็นคำเดียวกัน

ขอบคุณมากครับ ท่าน ธ.วัชชัย

ผมได้ซื้อหนังสือนี้ไม่ใช่จากร้านครับ เป็นที่เขากองๆไว้แบกะดิน มีหลายเล่มที่น่าสนใจ ที่ผมพลาดไม่ได้ซื้อและไปหาใหม่ก็ไม่มีแล้ว คือ การต่อสู้โรคมะเร็งของ อาร์มสตรอง ที่สนใจเพราะผมก็ขี่จักรยานเหมือนกัน

และเห็นด้วยกับท่านครับ พ้องเพราะยืมกัน พืองเพราะบังเอิญ พ้องเพราะทีมาเดียวกัน อย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างบน คำว่า กระโจน กับ terjun นี้ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องคล้ายกันมากกว่า คงต้องศึกษาต่อไป

ขอบคุณอาจารย์มากครับ ผมกำลังศึกษาภาษามลายูเพื่อทำบทเรียนช่วยสอนภาษาไทยแก้ปัญหาเด็กสามจังหวัดอยู่พอดี เพราะเป็นวิทยานิพนธ์ที่กำลังจะทำ อ่านบันทึกแล้วรู้สึกได้ความรู้และโล่งอีกเยอะเลยครับ

  • ขอบคุณมากครับ อ่านแล้วน่าสนใจมากครับ ภาษามลายูไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย และภาษาไทยก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนพูดมลายู
  • คนที่สามารถ สื่อด้วยภาษาที่เหมาะกับบริบทของผู้ฟัง ย่อมสามารถเข้าถึงผู้ฟัง และผู้ฟังก็จะให้การยอมรับ ปัญหาที่ไม่ว่าฝ่ายพูดไทยก็ดี หรือฝ่ายที่พูดมลายูก็ดี ต่างมั่นอยู่ในตำแหน่งของตน ผลก็คือ ล้มเหลวตั้งแต่การจะสื่อความแก่อีกฝ่ายหนึ่งแล้ว น่าเสียดายจริงๆ
  • อย่างยกตัวอย่าง ผู้มีความรู้ศาสนาที่พูดภาษาไทยไม่เป็น แม้จะมีความรู้มาก แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจให้กับคนที่ใช้ภาษาไทย ทำให้เสียโอกาส
  • ข้าราชการที่มาทำงานในถิ่นที่ชาวบ้านสื่อสารด้วยภาษามลายู แต่ไม่สามารถพูดภาษามลายูได้ ก็เป็นอีกปัญญหาหนึ่ง
  • ผิดกับฝรั่งมิชชั่นนารีที่ผมเคยเจอ สมัยวัยรุ่น ที่มาทำงานในพื้นที่ พวกเขาและเธอพูดภาษามลายูถิ่นได้ชัดเจน เป็นต้น

อาจารย์ทราบไหมค่ะว่าพจนานุกรมไทย-มาลายูฉบับแรกปีที่เท่าไรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท