ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ทบทวน


ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ทบทวน ใยไม่ทบทวน ?

นำบทความที่ลงมติชน วันที่ 25 ตุลา 51  มาให้อ่านค่ะ

ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ทบทวน

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

                ผ่านวันสำคัญทางประวัติศาสตร์มาไม่นาน คือวันที่  6  ตุลาคม  ซึ่งเป็นวันที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์แทบไม่อยากบันทึกว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น   หรือถ้าบันทึกไว้ก็บันทึกแบบเสียไม่ได้ว่าเกิดการนองเลือดในวันที่  6  ตุลาคม 2519  เป็นเหตุทำให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร  แต่ไม่มีรายละเอียด  ไม่มีคำอธิบายใด ๆ ว่าเพราะเหตุใดคนไทยถึงได้เผชิญหน้ากัน   เกิดการเข่นฆ่ากันครั้งใหญ่สุดในเมืองหลวงของประเทศไทย

                ผ่านเหตุการณ์นั้นมา  30 กว่าปี  สังคมไทยยังไม่เคยทบทวนว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น   แล้วทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก   ซึ่งเราไม่ได้ทั้งให้คนรุ่นต่อมาได้ศึกษาทบทวนหรือถกเถียงเพื่อให้เกิดการใช้วิจารณญาณกันสักเท่าไร

                อีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ  35  ปี เหตุการณ์  14  ตุลาคม  2516   ซึ่งเรายกย่องว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญของชาติ  เนื่องจากส่งผลให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  อย่างน้อยก็ทำให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ..  2517 หลังจากที่รัฐบาลในเวลานั้นงดเว้นการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลานาน  

หลังเหตุการณ์นี้สิทธิเสรีภาพของประชาชน  นิสิต นักศึกษาเบ่งบาน เกิดความตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น น่าจะทำให้ประเทศไทยเดินไปได้อย่างสวยงามมั่นคง พราะความเป็นประชาธิปไตย    ควรส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง   ย่อมทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข

                แต่ห่างเหตุการณ์  14  ตุลาคม  2516  มาเพียงไม่กี่ปี  ความแตกแยกทางความคิดของผู้คนในสังคม  ตลอดจนความหวาดระแวงที่มีต่อกัน   ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่   ที่กลายเป็นบาดแผลทาง ประวัติศาสตร์ที่เกิดการเข่นฆ่ากันในวันที่  6  ตุลาคม  2519   ผลของเหตุการณ์นี้สืบเนื่องต่อมาอีกหลายปี ที่ทำให้ความแตกแยกทางความคิดกลายเป็นการแบ่งขั้ว ความเป็นประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์   จนต้องหันไปจับอาวุธต่อสู้กันเองอยู่หลายปี  

ในที่สุดก็พบว่าการใช้ความรุนแรงไม่อาจทำให้ความแตกแยกทางความคิดยุติลงได้   การเรียนรู้จึงเกิดขึ้น   แล้วพบว่าวิธีการหันหน้าเข้าหากันอย่างสมานฉันท์   จะทำให้ความสูญเสียลดน้อยลงไป   และการหันมาร่วมมือร่วมใจกัน   น่าจะทำให้ประเทศไทยดำเนินต่อไปได้อย่างสวยงาม

                16  ปีต่อมา  ประเทศไทยกลับเข้ามาสู่วังวนเช่นเดิม  หลังเกิดการปฏิวัติรัฐประหารไม่นาน  เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง   แล้วจบลงด้วยการที่รัฐเลือกใช้ความรุนแรง   จึงทำให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ ชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อย   กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า                   เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ   .. 2535

                หลังเหตุการณ์นี้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่   แทนฉบับที่ร่างภายใต้คณะปฏิวัติรัฐประหาร   จึงทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ..  2540   ซึ่งได้รับการยอมรับในระยะแรกว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง

                แต่ประเทศไทยก็ไม่อาจยินดีปรีดากับสิ่งเหล่านี้ได้นาน   เพราะความแตกแยกทางความคิดของผู้คนในสังคม    .. ปัจจุบัน รุนแรงมากกว่าครั้งใด ๆ  ที่แบ่งให้คนในสังคมไม่ว่ากลุ่มใด  อาชีพใด   แทบจะถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือถ้าคิดไม่เหมือนเราก็ไม่ใช่พวกเรา   และมองกันเหมือนเป็นศัตรูที่ไม่อาจประนีประนอมหรือสมานฉันท์กันได้   ต่างฝ่ายต่างมุ่งเน้นเอาชนะคละคลานกัน  ถือว่าตัวเป็นฝ่ายดี  ฝ่ายถูก  และรักชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว

                การประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าถึงชัยชนะ  ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะครั้งแรก  หรือครั้งสุดท้ายก็ตาม   แต่กลับไม่คิดว่ายิ่งมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ   ย่อมเป็นชัยชนะท่ามกลางความพ่ายแพ้ของประเทศชาติ

                น่าเศร้าใจอยู่ไม่น้อยที่ก่อนหน้านี้   แม้แต่ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ชื่อว่าการเมือง  ความเป็นประชาธิปไตยยังไม่ก้าวหน้าเทียบเท่าไทย   ถึงกลับเอ่ยปากว่า   ไม่เข้าใจว่าการเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น   ในขณะที่คนไทยยังคงแบ่งฝักฝ่ายเพื่อเอาชนะคละคลานกัน ทำให้ดูเหมือนกลับว่าแต่ละฝ่ายไม่อยากให้ประเทศดำเนินต่อไปได้   เหมือนนานาอารยประเทศ

                ล่าสุดเช้าวันที่  7  ตุลาคม  2551  มีผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมรัฐสภา   เพื่อไม่ให้รัฐบาลได้เข้ามาแถลงนโยบาย   ดังนั้นในช่วงเช้าตำรวจจึงได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร   โดยการใช้แก๊สน้ำตา   ซึ่งทำให้คนได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง   เมื่อรัฐบาลเข้าไปแถลงนโยบายได้แล้วปรากฏว่าฝ่ายพันธมิตรได้ใช้โซ่ล่ามประตูรัฐสภา ทำให้สมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรี    ส่วนหนึ่งไม่สามารถกลับออกไปได้

                การสลายการชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรงจึงเกิดขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม   จนกระทั่งมีผู้บาดเจ็บล้มตาย   ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ยังมีเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งหลายครา  ที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงกับ               เจ้าหน้าที่ของรัฐ   แล้วผลสุดท้ายจบลงด้วยการใช้ความรุนแรง  

แม้ว่าครั้งนี้ยังไม่อาจทำให้เหตุการณ์จบลงก็ตาม แต่เราจะพบว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์   ที่ผ่านมา  ไม่เคยทำให้คนในสังคมไทยเกิดการเรียนรู้  ทบทวนความผิดพลาดในอดีต  ที่ควรแก่การระมัดระวัง  ป้องกันไม่ให้สถานการณ์เช่นในอดีต   ที่ถือเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอีก  

การไม่รู้จักทบทวนเท่ากับว่าการเรียนประวัติศาสตร์ทั้งในโรงเรียนและในสังคมล้มเหลว    เพราะไม่อาจสอนให้คนไทยใช้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ได้จริง ๆ    อีกทั้งยังพบการสร้างเงื่อนไขที่ควรจะรู้อยู่แก่ใจว่าอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง  ตลอดจนความไม่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเท่าที่ควรจะทำ   อย่างยิ่งยวดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

                เมื่อเป็นดังนี้จึงควรเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ต้องหันมาทบทวนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ให้เป็น                 บทเรียน   เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย   และไม่จำเป็นต้องทำให้ประวัติศาสตร์เดือนตุลาคมซ้ำรอย  กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาคม  2551ไว้ให้ลูกหลานต้องทบทวน    จดจำอยู่ร่ำไป

หมายเลขบันทึก: 218982เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2008 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยค่ะ วอนประวัติศาสตร์อย่าซ้ำรอยเลย

  • วงวิชาการชอบ BAR ประวัติศาสตร์กันอยู่บ่อย ๆ
  • แต่ไม่เคยเอาประวัติศาสตร์ที่สรุปบทเรียนมาใช้
  • วันนี้ก็หมุนเวียนมาอีกรอบ ก็เกิดบาดแผลอีก
  • เกิดแล้วเกิดเล่า
  • ดีใจที่ได้อ่านบันทึกของครูครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท