พื้นที่สร้างสรรค์บ้านธรรมรัตน์ใน จ.ฉะเชิงเทรา


พื้นที่สร้างสรรค์ Play Day เพื่อการพัฒนาเด็ก

พื้นที่สร้างสรรค์บ้านธรรมรัตน์ใน  ฉะเชิงเทรา

 

ààààààààààààààààààààààààààààà

 

                การอบรมการเชิงปฏิบัติการเล่นเพื่อการพัฒนาเด็ก เมื่อวันที่ 23 -24 กรกฎาคม  2551  ณ โรงเรียนบ้านโปร่งเกตุ  อ.สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กับคณะครูและอาสาสมัครผู้ปกครองโรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสระดับมัธยมต้น จำนวน 7 โรงเรียน และตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่  รวม 30 คน  บรรยากาศการอบรมคุณครูได้เรียนรู้และร่วมแลกเปลี่ยนกันในเรื่องความสำคัญและประโยชน์ของการเล่น  บทบาทของคุณครูในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเล่น   พร้อมกับดูตัวอย่างการจัด Play Day เพื่อการพัฒนาเด็ก และร่วมกันลองจัดมุมการเล่นเพื่อการพัฒนาโดยมีเด็กๆ มาร่วมทดลองเล่น  เพื่อให้ครูได้เห็นตัวอย่าง บรรยากาศจริงที่เด็กๆ เล่นและสังเกตพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับเด็กเวลาร่วมกิจกรรม

ซึ่งคุณครูหลายท่านได้สะท้อนออกมาว่าเด็กเกิดพัฒนาการจริงๆ และไม่ต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่และยุ่งยากเลยสามารถนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาเป็นอุปกรณ์การเล่นและประยุกต์ใช้ในการเล่นของเด็กได้ทั้งนั้น   โรงเรียนธรรมรัตน์ใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา  เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีคุณครูเข้าร่วม 2 ท่านคือ ครูตาล และครูกล้วย และมีอาสาสมัครผู้ปกครองเด็ก 1 ท่าน ระหว่างการดำเนินกระบวนการอบรมคณะวิทยากรได้สังเกตเห็นว่าทั้ง 3 ท่านมีความสนใจเป็นอย่างมากและมักจะตื้นเต้นเวลาที่เห็นตัวอย่างการทำเครื่องเล่นและของเล่นจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างใยแมงมุมที่ทำจากเชือก ไม้บาร์โหนที่ทำจากไม้ยูคาลิปตัล  บ้านบนต้นไม้ที่ทำจากเศษไม้จากการก่อสร้าง  อุโมงค์ยางรถยนต์   ไม้ทรงตัวจากต้นมะพร้าว  การทำคอกไม้เพื่อเป็นสนามทรายในบ้าน เครื่องดนตรีโปงลางไม้ไผ่  การทำชิงช้าจากยางรถยนต์และไม้ ฯลฯ วันสุดท้ายของการอบรมหลังจากกล่าวร่ำลากัน ครูตาลและครูกล้วยกล่าวว่า  เราอยากทำสนามเด็กเล่นแบบนี้ให้เด็กๆ ขอบคุณมากเลยคุณโรสการอบรมครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจเรื่องการเล่นของเด็กและได้แนวคิดไปประยุกต์เยอะเลย  เราจะทำให้เด็กๆ เล่นที่โรงเรียนของเรา

           

                และเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ตัวข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสเดินทางไปโรงเรียนบ้านธรรมรัตน์ในเป็นครั้งแรก ระยะทางไกลมากและอยู่บนเนินเขา  ทำให้นึกถึงการเข้าร่วมอบรมครั้งก่อน แสดงว่าคุณครูจากโรงเรียนนี้เดินทางมาไกลเพื่อที่จะเข้าร่วมอบรมกับเราโดยไม่ขาดเลยสักวัน และนั่นคือเขามีความตั้งใจจริงที่จะเรียนรู้และอยากทำพื้นที่เล่นให้กับเด็กๆจริงๆ ทำให้รู้สึกประทับใจมาก  

                พอมาถึงโรงเรียน ครูตาลซึ่งเคยเข้าอบรมฯ เดินมาต้อนรับและพาไปพบครูกล้วยกับครูกานต์ ซึ่งเป็นครูศูนย์เด็กเล็กและยังเป็นอาสาสมัครชุมชนอีกด้วย หลังจากอบรมมาครูตาลกับทีมก็นำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้คุณครูท่านอีกทราบ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ ในศูนย์เด็กเล็ก โดยเริ่มต้นใช้ไม้ไผ่มาทำชิงช้า และทำกะบะทรายในห้องเรียนในศูนย์เด็กเล็กโดยมถ้วยไอศกรีมเล็กๆ แก้วพลาสติก ขวดพลาสติก เป็นของเล่นสนามทราย และนำองค์ความรู้ที่ได้มาจัดบอร์ดและติดตามบันไดขึ้นลงในอาคารเรียน  โดยตอนนี้คุณครูต้องการหาองค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของการเล่น และเครื่องเล่น หรือโครงสร้างที่ทำจากทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นเช่นไม้ต่างๆ ล้อรถ แต่ละอย่างว่าทำให้เกิดพัฒนาการกับเด็กอย่างไรบ้าง เพื่อมาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนต่อไป   จากนั้นเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการทำสนามเด็กเล่นอีกสักพัก จนได้เวลาเดินทางกลับ   รถเคลื่อนตัวออกจากโรงเรียนแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มอกอิ่มใจมาก มองเห็นจัดบอร์ดให้เห็นประโยชน์ของการเล่นของเด็กสนามเด็กเล่นอยู่รำไร  รอยยิ้มที่เปื้อนบนใจหน้าของข้าพเจ้ายังไม่จางหาย อบอุ่นอย่างบอกไม่ถูกและคุ้มค่ากับการเดินทางไกล.....ก่อนกลับครูกล้วยเชิญชวนให้ข้าพเจ้ามาดูความก้าวหน้าของสนามเด็กเล่นของเด็กๆในเดือนตุลาคมนี้...ไว้เจอกันนะค่ะคุณครู กลับมาเยี่ยมแน่นอน

                                                                                                                               

บอกเล่าโดย...โรส

หมายเลขบันทึก: 219763เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท