คนตกหล่นจากทะเบียนราษฎร:กรณีศึกษาของนายน้อย คำสุ่ม


คนโดยทั่วไปที่ได้รับทราบเรื่องของนายน้อยก็อาจมองว่าเขาเป็นคนต่างด้าวอีกเช่นกัน แต่โดยแท้จริงแล้ว นายน้อยเป็นคนสัญชาติไทย แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการลงรายการสัญชาติไทยให้แก่นายน้อยในทะเบียนราษฎร

คนตกหล่นจากทะเบียนราษฎร : มีจำนวนเท่าไหร่? แก้ไขอย่างไรดี?

จากกรณีศึกษาของนายน้อย คำสุ่ม สู่ภาพสะท้อนบทบาทของนักกฎหมายกับปัญหาในสังคมไทย

โดย นางสาวชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง

บทความเพื่อวารสารภูกามยาวนิวส์ จดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา

ฉบับวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จากภาพข่าวเหตุการณ์ระทึกขวัญทางหน้าหนังสือพิมพ์ของนายน้อย คำสุ่ม บุคคลสัญชาติไทยคนหนึ่ง ที่ประสบปัญหาว่าไม่สามารถติดต่อทำบัตรประจำตัวประชาชนไทยกับอำเภอในท้องที่ได้มากว่า ๑๐ ปี ซึ่งผลกระทบของการไม่สามารถเข้าถึงการมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยและออกบัตรประจำตัวประชาชนของไทยทำให้นายน้อยต้องเผชิญกับการถูกปฏิบัติเช่นคนต่างด้าว และไม่สามารถใช้สิทธิในความเป็นคนสัญชาติไทยได้  นายน้อยอดทนกับความคับข้องใจจนเกิดความเครียด และในที่สุดก็ได้ตัดสินใจปีนเสาไฟฟ้าเพื่อกระโดดเพื่อประชดชีวิตกับปัญหาที่ยากจะแก้ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง[๑]

คนโดยทั่วไปที่ได้รับทราบเรื่องของนายน้อยก็อาจมองว่าเขาเป็นคนต่างด้าวอีกเช่นกัน แต่โดยแท้จริงแล้ว นายน้อยเป็นลูกของคนสัญชาติไทย คือ พ่อชื่อนายชัย และแม่ชื่อนางสมหมาย  ทั้งคู่เป็นคนจังหวัดอุทัยธานี มีบัตรประจำตัวประชาชนไทยมาตลอดตั้งแต่ก่อนที่นายน้อยและพี่น้องจะเกิด ดังนั้นนายน้อยย่อมเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ[๒] นอกจากนี้แล้วยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านายน้อยเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยที่โรงเลื่อยแห่งหนึ่งที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก  ดังนั้นนายน้อยย่อมได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดน[๓] โดยไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้นของการได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนอีกด้วย[๔]

แต่การเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยมาตั้งแต่เกิดที่เป็นไปตามกฎหมายของนายน้อยนั้น กลับไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการลงรายการสัญชาติไทยให้แก่นายน้อยในทะเบียนราษฎรของคนสัญชาติไทย ประกอบกับความที่นายน้อยเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมืองและไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ห่างไกลมักจะเผชิญ คือ การขาดพยานเอกสารเกี่ยวกับการเกิด ซึ่งแม้ว่าพ่อของนายน้อยจะได้แจ้งเกิดให้นายน้อยต่อกำนันในพื้นที่แต่ก็ไม่ได้รับเอกสารรับแจ้งการเกิดที่ควรจะได้จากกำนัน เมื่อภายหลังกำนันผู้รับแจ้งเสียชีวิตลงและเจ้าหน้าที่ในเวลาต่อมาก็ไม่มีเข้าใจในธรรมชาติของคนในพื้นที่และสถานการณ์เช่นนายน้อย ทำให้นายน้อยกลายเป็นบุคคลที่เรียกว่า คนตกหล่นจากทะเบียนราษฎร แม้ว่าจะเป็นคนเกิดในประเทศไทยในยุคที่รัฐไทยเชื่อว่าได้มีการพัฒนาระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐแล้วก็ตาม การตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของนายน้อยเป็นผลให้นายน้อยไม่เคยได้รับการรับรองตัวบุคคลจากรัฐไทยหรือรัฐใดๆ ว่าเป็น บุคคลตามกฎหมาย และด้วยเหตุนี้เองมีผลทำให้นายน้อยตกเป็น คนไร้รัฐ [๕] อีกด้วยแม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยมาตั้งแต่เกิดก็ตาม

แน่นอนว่านอกจากนายน้อยและพี่น้องอีก ๓ คนแล้ว ก็ยังคงมีคนที่เกิดและอยู่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากที่ได้ชื่อว่าเป็น คนตกหล่นจากทะเบียนราษฎร [๖] ส่วนตัวผู้เขียนเองได้พบกับ คนสัญชาติไทย ที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก[๗] ซึ่งจะมีจำนวนเท่าไหร่นั้นคงไม่สามารถมีใครตอบได้ แม้แต่หน่วยงานทางทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเอง เพราะบุคคลที่ตกหล่นเหล่านี้ย่อมคือ บุคคลที่ไม่เคยปรากฏตัวในฐานข้อมูลของระบบทะเบียนราษฎรไทยมาก่อนเลย

 และสาเหตุของปัญหาคนตกหล่นจากทะเบียนราษฎรนี้นอกจากเกิดจากความเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและความไม่รู้ของบุพการีแล้ว  สาเหตุประการสำคัญคือ ความไม่รู้และไม่เข้าใจในปัญหาของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เรียกร้องในสิ่งที่คนเหล่านี้ไม่มีและไม่อาจหาได้ ตลอดจนทัศนคติที่มองว่าคนตกหล่นจากทะเบียนราษฎรเป็นคนต่างด้าว โดยไม่ได้ทำการสอบข้อเท็จจริงเพื่อวิเคราะห์สถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างกรณีที่เกิดกับนายน้อยนั้นยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยระยะเวลาของปัญหาที่ก่อตัวมานานและการอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนที่ตกเป็นเหยื่อของทัศนคติเหมารวม นายน้อยจึงถูกมองอย่างปะปนว่าเป็นคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามา ปัญหาจึงดูยิ่งยากเย็นสำหรับนายน้อยที่จะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง[๘]

ซึ่งโดยแท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เพื่อที่จะแก้การตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของมนุษย์ทุกคนที่อยู่ในสังคมไทย ทางแก้ไขปัญหาหนึ่งคือ การที่รัฐไทยจะต้องทำการบันทึกการเกิดของบุคคลทุกคนที่เกิดในประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและชาติพันธุ์[๙] และโดยข้อกฎหมายไทยเกี่ยวกับการรับรองการเกิดก็บัญญัติให้เป็นเช่นนั้น[๑๐] แต่ปัญหายังคงเกิดขึ้นจากการถูกปฏิเสธที่จะทำตามกฎหมายจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

และทางแก้ไขที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเร่งบันทึกตัวบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไว้ในระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยตามกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยที่มีอยู่[๑๑] ที่แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ แต่การดำเนินงานก็เป็นไปอย่างล่าช้า ประเทศไทยจึงยังคงเต็มไปด้วยบุคคลผู้ไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนราษฎรไทยอยู่นั่นเอง และรัฐไทยยังคงไม่สามารถรู้ได้ถึงจำนวนที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดของคนที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรไทย

ขณะที่ในส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาโดยผู้ประสบปัญหาเองก็จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ทางกฎหมายเข้าแก้ไขปัญหา ในการนี้ทางสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการทางกฎหมายจึงเล็งเห็นความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของสำนักวิชาฯ ที่จะสามารถนำองค์ความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมายของคณาจารย์และนิสิตเข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวและปัญหาต่างๆ ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาทักษะทางกฎหมาย ขึ้นเพื่อให้บริการวิชาการทางข้อกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป[๑๒]  และการพัฒนาทักษะทางกฎหมายให้แก่นิสิตและคนในชุมชนในการใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาและติดตามปัญหาต่างๆ ของชุมชน โดยสำนักวิชาฯ มีความมุ่งมั่นและคาดหวังว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือและติดตามการแก้ไขปัญหาในกรณีของคนตกหล่นจากทะเบียนราษฎรในพื้นที่ของจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงต่อไปอีกด้วยเช่นกัน



[๑] จากหนังสือพิมพ์มติชน และข่าวสด ฉบับวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

[๒] ตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา ตามมาตรา ๗ (๑) และ (๒) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ปว.๓๓๗ พ.ศ.๒๕๑๕ ,พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉ.๒)และ(ฉ.๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉ.๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[๓] ตามมาตรา ๗ (๓) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฯ

[๔] ข้อยกเว้นของการได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนเป็นไปตาม ข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ พ.ศ. ๒๕๑๕ (มีผลใช้บังคับในระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๕๖ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕) และ มาตรา๗ ทวิวรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉ.๒) พ.ศ ๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉ.๔) พ.ศ.๒๕๕๑(มีผลใช้บังคับในระหว่างวันที่ ๒๖กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕-ปัจจุบัน)

[๕] โปรดอ่านงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับความหมายของคนไร้รัฐ เพิ่มเติมได้ใน พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร.ความเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คือ อะไร? ควรจัดการอย่างไร?,หนังสือวันรพี ๒๕๔๗ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า ๕๙-๖๙.

[๖] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร.โครงการวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย :  แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๕ ปัจจุบัน.

[๗] จากการศึกษาวิทยานิพนธ์ในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย (Unidentified Person in Thai State)พ.ศ. ๒๕๕๑

[๘] ปัจจุบันนายน้อยได้รับการบันทึกตัวบุคคลเป็นผู้มีสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทยแล้วด้วยการสอบพยานบุคคลต่ออ.แม่สอด จ.ตาก

[๙] เพราะการรับรองการเกิดเป็นเพียงการรับรองว่า บุคคลนั้นเกิดในประเทศไทย ซึ่งมิได้นำไปสู่การมีสัญชาติไทย  เพราะบุคคลหนึ่งจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ

[๑๐] ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๕๑

[๑๑] ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

[๑๒] ดังเช่นกรณีการให้ข้อวิเคราะห์สถานะบุคคลทางกฎหมายและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาของนายน้อย คำสุ่ม แก่ผู้สื่อข่าวรายการ เรื่องจริงผ่านจอ ออกอากาศเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ เวลา ๒๒.๓๐ น. และการเข้าสำรวจชุมชนของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลทางกฎหมายจำนวนกว่า ๑,๐๐๘ คน ของนิสิตชั้นปีที่๔ ที่หมู่บ้านร่องส้าน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 219796เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาอ่านแล้ว ค้นมาเจอโดยบังเอิญ น่าจะส่งให้อ่านบ้า

กำลังเขียนเรื่องไพรินทร์ มีอะไรให้อ่านไหมเธอ

เรื่องของไพรินทร์เหรอคะ เดี๋ยวจะลองค้นwhite paper ตอนที่เสนอให้คณะกรรมการของครูแดง ที่สนช.ค่ะดูให้ค่ะ

อาจารย์ขา เอางานเขียนเกี่ยวกับครอบครัววิลัยพร (นางไพรินทร์) ขึ้นเว็บให้แล้วค่ะ

ที่

-ประวัติของครอบครัววิลัยพร ครอบครัวไร้รัฐแห่งปากเกร็ด

http://gotoknow.org/blog/chon-statelessperson/227075

-ข้อเท็จจริงในการกำหนดสถานะบุคคลของครอบครัววิลัยพร ครอบครัวไร้รัฐแห่งปากเกร็ด http://gotoknow.org/blog/chon-statelessperson/227076

เรื่องของแม่หนูค่ะ

ความเป็นมาของแม่ เหมือน กับ นายน้อย เกิดเมืองไทย บิดา มารดา เป็นคนไทย ตอนนี้ แม่อายุ 54 แล้ว แต่ ไม่มีบัตรประชาชน แม่คิดจะทำ แต่ บิดา เสียชีวิต และมารดา หายสาปสุญ หาไม่พบ ไม่แน่ใจว่า มีชีวิตอยู่ จะทำ อย่างไรดี ค่ะ อยาก ให้แม่ ได้ บัตรประชาชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท