๓๑. สุขศึกษาและประชากรศึกษาตามบริบทจำเพาะกลุ่ม


"...ชุมชนในระดับพื้นที่หลายแห่งในสังคมไทย โดยเฉพาะในชนบทและภาคเมืองในภูมิภาคต่างๆของประเทศ ยังคงต้องการกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆอันพึงประสงค์ ผสมผสานไปกับการทำงานสุขภาพและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆในลักษณะนี้อยู่อีกมาก..."

              มานั่งคิดๆดู ผมก็ได้บทเรียนแก่ตนเองอย่างหนึ่งว่า นอกจากทำงานวิชาการ สนับสนุนงานพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพชุมชนแล้ว การรู้จักตัวแปรทางประชากรและวิธีการทางประชากรศึกษา

             รวมทั้งศาสตร์ทางการศึกษา  การจัดการสุขภาพชุมชน สื่อการเรียนรู้  ศิลปะและสุนทรียศาสตร์  ก็ทำให้ผมมีแนวที่จะมองเห็นกลุ่มสังคมสุขภาพได้หลายกรอบ

             มีวิธีระบุกลุ่มคนสำหรับการทำงาน ให้มีความละเอียดอ่อน ยืดหยุ่นและหลากหลาย สอดคล้องกับความซับซ้อนที่เป็นจริงของสังคมได้มากขึ้น

การระบุและจำแนกกลุ่มประชากรจำเพาะประเด็นให้เหมาะสม โดยการเรียนรู้กับชุมชน

             บางสถานการณ์ก็เป็นประโยชน์มากต่อการจัดเงื่อนไขสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้ เติมทักษะปัจเจกและเสริมพลังการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชุมชนทำเรื่องสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในวิถีตนเองตามที่ต้องการ มีความสมเหตุสมผลในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ  แตกต่างหลากหลายกันไป

             สุขภาพด้านที่มุ่งเพื่อปวงชน หรือสุขภาพและความสุขแบบต้นทุนน้อยแต่ก่อผลดีต่อคนส่วนใหญ่ และจากการริเริ่มด้วยคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชีวิตตนเอง จึงจะยิ่งเป็นไปได้มากยิ่งๆขึ้น  การทำงานหลากหลายไปตามบริบทจำเพาะของกลุ่มคน จึงมีความสำคัญและจำเป็น

             เป็นต้นว่า  การส่งเสริมความมีจิตสาธารณะหรือความเอาธุระเรื่องส่วนรวม เพื่อริเริ่มการมีส่วนร่วมด้วยจิตอาสาของชาวบ้านและกลุ่มคนต่างๆ ในการทำเรื่องสุขภาพในระดับที่เชื่อมโยงกับความเป็นส่วนรวมของชุมชนต่างๆด้วยนั้น กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มคนไร้โอกาส  โดยเฉพาะในชนบท และคนที่ไร้โอกาสในเมือง  กับกลุ่มคนชั้นกลางและกลุ่มคนที่มีโอกาสดีพอสมควรหลายด้านในเมือง ผมกับทีมจะมีแนวคิดและกลวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน 

การเสริมพลังกลุ่มคนยากจนและคนไร้โอกาส

           จากการถอดบทเรียน เครือข่ายการวิจัยและสร้างการมีส่วนร่วม ของกลุ่มคนในชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง แง่มุมหนึ่งที่เวทีวิเคราะห์และให้ข้อสรุปจากจุดยืนของเครือข่ายปฏิบัติว่า ความมีจิตสาธารณะ เอื้ออาทร และมีจิตอาสาต่อเรื่องส่วนร่วม เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของส่วนรวมระดับต่างๆให้ดีนั้น มักเกิดขึ้นจากกลุ่มประชาชนที่ไม่มีเงิน ยากจน และขาดโอกาสได้รับผลดีจากการพัฒนาของสังคม

          การไม่มีเงินและสื่อกลางอย่างอื่นในการแลกเปลี่ยนการผลิตและบริการกันและกัน ทำให้คนมีความมีน้ำใจต่อกันเป็นสิ่งทดแทน ซึ่งเป็นการมองตนเองและเข้าสู่วิธีอธิบายที่มีน้ำหนักและเป็นเหตุเป็นผล สื่อท่าทีการเชื่อมั่นต่อศักยภาพชุมชน และไม่ทำให้เกิดขั้วการเป็นปรป้กษ์ต่อกันของความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่จริงอื่นๆ

           การมีกิจกรรมสร้างสุขสาธารณะชีวิตส่วนรวม รวมไปจนถึงทรัพยากรและพื้นที่สาธารณะ และแหล่งกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม ที่ทำให้คนมีโอกาสหลากหลายในการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน  เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของการมีพลังการดูแลและสร้างความสุขสาธารณะด้วยกัน 

           ต้องเสริมพลังปัจเจกและยกระดับการจัดการจากศักยภาพและทุนทางสังคมอย่างนี้  ให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมกับเสริมศักยภาพและบูรณาการมิติอื่นๆ ที่ทำให้ความเป็นท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ มีความผสมกลมกลืน  พอดีและพอเพียงแก่ตน

           ดังนั้น ในกลุ่มคนระดับฐานรากอย่างนี้ จึงไม่ต้องเน้นมิติการศึกษาเรียนรู้ หรือการรณรงค์มากอีกแล้วถึงเรื่องการให้เสียสละ แบ่งปัน มีจิตสาธารณะและจิตอาสา ทว่า ต้องสนับสนุนให้มีความสามารถยืนขึ้นมาและพึ่งตนเองในการจัดการสิ่งต่างๆด้วยกันในวิถีทางใหม่ๆ เช่นการรวมกลุ่มกันแบบกลุ่มประชาคม

            เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีโอกาสดีอยู่แล้ว ต้องมุ่งพึ่งพากันเองให้ได้ก่อน  ความมีจิตสาธารณะอยู่ในขอบเขตการจัดการกลุ่มก้อน เป็นอันดับแรกก่อน

การสร้างเสริมพลังจิตสาธารณะและความเอื้ออาทร ในกลุ่มคนที่มีโอกาสดีกว่า

            ส่วนกลุ่มคนที่มีโอกาสดีนั้น กลุ่มนี้นั่นเอง ซึ่งก็มักจะมีเงื่อนไขดีต่อดีมาหนุนเสริมให้ได้โอกาสดีเพิ่มมากยิ่งๆขึ้น  จึงโดยทั่วไป  หากไม่มีกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมเข้าช่วยจัดการความเปลี่ยนแปลง ก็มักจะไหลขึ้นสู่ยอดปิรามิดในโครงสร้างเชิงอำนาจของสังคม ยิ่งเสริมต่อโครงสร้างที่ดีอยู่แล้วให้กลับดียิ่งขึ้น กลายเป็นวิถีปัจเจกที่มุ่งเอาตัวรอด ทิ้งห่างให้คนระดับฐานรากย่ำแย่มากยิ่งขึ้นไปอีก สุขภาวะส่วนรวมของชุมชนนั้นๆ จะไม่ดี

           เปรียบได้กับการเห็นมีบ้านเรือนหรูหรา อยู่อย่างเอกเทศ  มีขอบเขตความสุขส่วนตนที่ไม่มีแผ่ออกมาเป็นส่วนหนึ่งกับส่วนรวม ท่ามกลางชุมชนโดยรอบที่ดูย่อบแย่บ โกโรโกโส เหมือนกับเชื้อโรคซึ่งต้องป้องกันและขจัดออกไว้นอกรั้วรอบขอบชิด ขาดกิจกรรมส่วนรวม ที่รองรับการแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบ ให้เป็นที่ร่วมทุกข์ร้อนในการอยู่ร่วมกัน

           ดังนั้น  ต้องเพิ่มโอกาสที่กลุ่มพลเมืองและประชากรกลุ่มดังว่านี้  จะมีบางส่วนที่ไหลกลับลงสู่ฐานราก ไปเป็นพลังเพิ่มพูนโอกาสการพัฒนาให้กับชาวบ้านและคนที่ไม่ค่อยมีโอกาส  จึงต้องมีมิติการศึกษาเรียนรู้อีกทางหนึ่งที่เน้นการมีจิตสาธารณะ เอื้ออาทร เรียนรู้ที่จะมีจิตอาสาแบ่งปันและทำเพื่อผู้อื่น  โดยเฉพาะคนรอบข้างที่ไร้โอกาส

             เป็นกลุ่มที่มีโอกาสดีอยู่แล้ว จึงต้องเสริมพลังความมีจิตใหญ่ จิตสาธารณะ ให้พลังความเป็นปัจเจกอันเข้มแข็งและมีอิทธิพลมากกว่าของเขา  เผื่อแผ่ความเป็นชีวิตส่วนรวม  ถักทอโยงใยกับเครือข่ายสุขภาวะของผู้อื่น มากกว่ามุ่งเสริมความเป็นปัจเจกให้เข้มแข็งและคับแคบลงเพียงเพื่อตนเองมากยิ่งๆขึ้น

             จึงต้องทำให้จิตใจคนเปิดออก เรียนรู้ความเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาวะบนฐานชีวิตและทรัพยากรของความเป็นส่วนรวม เอื้ออาทรและมีมิติความสุขสาธารณะ และสุขภาวะที่เป็นสาธารณะมากยิ่งๆขึ้น

เครือข่ายความร่วมมือที่ดีขึ้นของชุมชน

             โดยกระบวนการดังกล่าวนี้ จะทำให้ผู้คนที่แตกต่างทั้งชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ประสบการณ์และการศึกษา มีวิถีการเดินปรับเข้าหากัน เติมเต็มมิติที่ขาดหาย มีสุขสาธารณะในขณะที่ความเป็นวิถีแห่งตนก็ยิ่งดีมากขึ้น มีพลังทางสังคม สามารถเรียนรู้เพื่อทำเรื่องส่วนรวมดังเช่นเรื่องสุขภาพในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ  ในขอบเขตที่กว้างขวางและซับซ้อนกว่าอดีต ได้มากยิ่งๆขึ้น

              การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของปัจเจกและชุมชน จึงนอกจากเป็นการแปรวิกฤติสุขภาพและอื่นๆให้เป็นห้องเรียนตลอดชีวิตในการที่ประชาชนพลเมืองจะมีโอกาสพัฒนาชีวิตและทักษะที่จำเป็นต่อการร่วมสร้างสรรค์สังคมแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นการเยียวยาและเสริมสร้างสุขภาพของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยและเงื่อนไขการก่อเกิดสุขภาวะและการพัฒนาสุขภาพชุมชน  อีกทั้งส่งเสริมให้ระบบสุขภาพโดยรวมดีขึ้น

             ชุมชนในระดับพื้นที่หลายแห่งในสังคมไทย  โดยเฉพาะในชนบทและภาคเมืองในภูมิภาคต่างๆของประเทศ ยังคงต้องการกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม  เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆอันพึงประสงค์  ผสมผสานไปกับการทำงานสุขภาพและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆในลักษณะนี้อยู่อีกมาก.

หมายเลขบันทึก: 219841เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

การขาดการเจือจานแบ่งปัน กลายเป็นอยู่คนเดียว มีความรู้สึกติดตัวมาจากวิถีการดำเนินชีวิตแบบในเมือง บ้านใกล้ ๆ วัดที่ขยายมาจากในเมืองเวลามีงานของตัวเองเห็นมีแต่คนในเมืองคนท้องถิ่นมีแค่ทายกนำทำพิธีกรรมทางศาสนาแค่นั้น มาอยู่ผู้เดียวไม่ค่อยสนใจใครที่อยู่รอบข้าง ยิ่งจะให้มีจิตสาธารณะต่อส่วนรวมวัดโรงเรียนหมู่บ้านก็ยิ่ิงน้อยไปอีก ซึ่งผิดกับคนเล็กคนน้อยในสังคมจะมีส่วนร่วมต่อชุมชนในระดับที่มากและการมีน้ำใจก็เห็นได้ชัดเจนกว่า คิดกันคนละแบบ โตมาจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน จริง ๆ คนจนปรับตัวง่ายกว่าเพราะไม่ต้องรักษาฟอร์มอะไรมากมายเหมือนคนมีอันจะกินปรับยากเหลือเกินอัตตาอีโก้มันสูง มีอาจารย์มน.ท่านหนึ่งบ้านท่านอยู่นอกเมืองไม่มีรั้วบ้านคนไปเยี่ยมเยือนก็ถามทำไมไม่ล้อมรั้วบ้าน ท่านตอบว่า ก็ชาวบ้านเขาไม่มีรั้วไม่ล้อมรั้วผมจะล้อมทำไมชาวบ้านก็รักนับถือท่าน ไม่อยู่บ้านของก็ไม่หาย.

กราบนมัสการรพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ความเป็นจริงของวัดและชุมชนเป็นจำนวนมากก็มีสภาพอย่างที่พระคุณเจ้าว่าละครับ บางทีไปเห็นก็ใจหาย ผมลิ๊งค์เรื่องของชุมชนและวัดห้วยส้ม อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ มาไว้เผื่อพระคุณเจ้าและผู้สนใจแวะเข้าไปอ่านและชมภาพนะครับ 
  • ผมกับครอบครัวไปทำบ้านและปักหลักที่จะอยู่ที่นั่นครับ กิจกรรมของวัดและชุมชนทำก็มีสภาพอย่างที่พระคุณเจ้าว่า ผมและครอบครัวเลยคิดว่าส่วนหนึ่งที่คงจะทำได้ก็คือเป็นเครือข่ายทำงานกับโรงเรียน วัด ชุมชน และหมออนามัยครับ เช่นเดียวกับที่บ้านเกิดผม-บ้านตาลิน และหนองบัว

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

จิตสำนึกสาธารณะ กับศรัทธาทางศาสนาและศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมีวิธีวิเคราะห์ให้เห็นความหลากหลายและวางแนวการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมต่อกลุ่มประชาชนพลเมืองอย่างไร ?

          เมื่อวานนี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังทำวิจัยให้กับสถาบันพระปกเกล้า เพื่อหาความรู้และพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาบทบาทของการเมืองและการบริหารท้องถิ่นในการทำงานแนวประชาคม เน้นการทำงานสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยจิตสำนึกสาธารณะ โดยมีคำถามการวิจัยสำคัญ ๒ ประเด็น คือ

          ๑. ในกลุ่มคนที่ทำงานส่วนรวมเรื่องต่างๆในแนวประชาคมและทำงานด้วยจิตสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ในชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ และมีการทำงานต่อส่วนรวมอยู่นอกองค์กรภาครัฐ  เป็นการทำให้ชีวิตส่วนรวมของสังคมเข้มแข็งขั้น  เราจะสามารถพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและการพัฒนาภาคการเมือง การบริหาร ของท้องถิ่น ให้ทำงานสนับสนุน และส่งเสริมให้แพร่หลายมากขึ้นได้อย่างไร ?

            ตัวอย่างการรวมกลุ่มกันของคนที่เขามีจิตสาธารณะ รวมทั้งมีความสำนึกต่อการเป็นพลเมืองที่มีหน้าที่ต่อการสร้างความเป็นส่วนรวมของสังคมและถิ่นฐานที่อยู่อาศัยด้วย เช่น กลุ่มอาสมัครทำงานสังคมในเรื่องต่างๆเพื่อคนด้อยโอกาส กลุ่มทำงานสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ เครือข่ายเคลื่อนไหวทางัสงคมตามประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

           ๒. ส่วนหนึ่งของคนทำงานแนวนี้ อาจเป็นคนของภาครัฐและบุคลากรขององค์กรท้องถิ่น ที่สามารถทำงานในแนวทางใหม่ๆและเปิดกว้างออกไปสู่ภาคประชาชน ถือว่าเป็นบุคลากรภาครัฐที่ทำงานกับชุมชนและประชาชนในแนวราบ สอดคล้องกับความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต  เราจะมีแนวทางส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์กรท้องถิ่นให้เอื้อต่อการเกิดคนทำงานในแนวนี้ให้มากขึ้นได้อย่างไร ?

           โดยมีบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมที่สำคัญมาให้ช่วยขบออกมาจากทรรศนะของผมด้วยว่า หากการมีแนวนโยบายและแนวการทำงานดังกล่าว ให้วางอยู่บนรากฐานของสังคมไทย โดยเฉพาะศาสนา และศรัทธาต่อสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องมองอย่างไรที่จะทำงานในแนวทางนี้ให้หลักคิดต่างๆสอดคล้องและเชื่อมโยงกันให้สังคมเข้มแข็ง

           ก็เหมือนการสัมภาษณ์ปลายเปิด ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ จากทรรศนะ ความคิดเห็น และประสบการณ์ของนักวิชาการตามที่นักวิจัยสุ่มเลือกไปตามหลักเณฑ์ทางวิชาการ เพื่อนำไปวิเคราะห์ประเด็นเชิงเนื้อหาและประเด็นหลักการ (Contents analysis and Thematic analysis) แต่บรรยากาศการคุยก็เป็นการแลกเปลี่ยนสนทนา สลับกับการตอบเหมือนสอบสัมภาษณ์ กึ่งๆสบายกึ่งๆแข็งๆ แต่ก็ได้เรียนรู้เหมือนเป็นเพื่อนกันทางวิชาการไปด้วย

          ผมได้แบ่งให้เห็นแนวในการพิจารณาให้เห็นว่า บนพื้นฐานของความศรัทธานั้น ต้องเห็นลักษณะของคนมีส่วนร่วมและแสดงออกในสังคมต่อแนวคิดเรื่องบุญกุศลและความศรัทธา ใน ๒ ลักษณะและ ๒ วิถีก่อน แล้วจึงจะสามารถเห็นแนวการทำงานที่ต้องเน้นพัฒนาความเป็นหน่วยบริการขององค์กรท้องถิ่นสำหรับกลุ่มประชาชนที่ยังมุ่งเป็นผู้บริโภคบริการของส่วนรวมและเป็นผู้ตาม พร้อมกับพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคม  กับเน้นบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนสำหรับปัจเจกและกลุ่มประชาชนที่มีภาวะความเป็นพลเมืองผู้มีจิตสาธารณะและลุกขึ้นมามีส่วนร่วมทำความจำเป็นของส่วนรวม ในวิถีประชาคม

           ควรพิจารณาให้เห็นการมีส่วนร่วมที่สะท้อนวิธีคิดและวิถีปฏิบัติที่ต่างกัน เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เหมาะสม คือ...........

           การทำบุญกุศลด้วยสำนึกสาธารณะกับบุญกุศลแบบติดกรอบตัวตน : ในกิจกรรมทางศาสนาและการทำบุญกุศลนั้น ผู้คนที่ทำกิจกรรมเพื่อเป็นบุญกุศลสำหรับตนเอง มุ่งทำเพื่อตนเอง สร้างความเป็นตัวกูของกูและสะท้อนความเป็นผู้มีจิตสาธารณะแคบลง ในลักษณะนี้ก็เป็นแบบแผนหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำบุญกุศลก็จริง แต่ไม่จัดว่าเป็นการทำออกมาจากความมีจิตสาธารณะ ตัวกิจกรรมอาจเป็นส่วนรวมอยู่ในตัวเอง แต่การปฏิบัติไม่ได้สนใจด้านที่เป็นส่วนรวม ทว่า สนใจด้านที่เป็นความดีและความสุข ความพอใจแก่ตนเอง การบรรลุเป้าหมายในจินตภาพตนเอง

            ปัจเจกและกลุ่มประชาชนพลเมืองอย่างนี้  ต้องเน้นการพัฒนาหน่วยบริการ และพัฒนาการมีส่วนร่วมให้ผสมผสานการเรียนรู้ทางสังคม ให้มากขึ้น

            อีกแบบแผนหนึ่ง ในทุกแห่ง ทุกท้องถิ่น ทุกชุมชน ก็จะมีปัจเจกและการรวมตัวของกลุ่มคนอีกแบบหนึ่ง ที่เห็นความเป็นส่วนรวมและความเป็นชีวิตของสาธารณะของศาสนาและกิจกรรมที่ทำเพื่อเป็นบุญกุศล อีกทั้ง เห็นความอันหนึ่งอันเดียวกันว่า ปัจเจกจะสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตและเกิดความสุขแก่ตนเองได้นั้น ต้องไปช่วยกันสร้างความเป็นส่วนรวมสำหรับการอยู่ร่วมกันของผู้คนให้มีความสุข

           ที่บ้านผม หรือที่ชุมชนอำเภอพุทธมณฑล และหลายชุมชน มีการทำกิจกรรมที่เป็นการทำบุญกุศลอีกในแบบแผนหนึ่ง ที่มีคนช่วยระดมพลังกันดูแลกิจกรรมศาสนาและการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพราะมาจากวิธีคิดว่าทำเพื่อตนเอง ทว่า มุ่งทำเพื่อจรรโลงและสืบทอดสิ่งดีให้แก่ส่วนรวม ทำเพื่อดูแลส่วนรวม

           การทำบุญกุศลอย่างเดียวกัน ทว่า ออกมาจากวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของตนเองที่มุ่งต่อกิจกรรมทางศาสนาในฐานะการสร้างความเป็นส่วนรวม  อย่างนี้ เป็นการทำบุญกุศลและทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยจิตสำนึกสาธารณะ ปัจเจกและกลุ่มคนอย่างนี้ ต้องสนับสนุนให้เขามีบทบาทการทำหน้าที่ต่อส่วนรวมและจัดกลไกรองรับอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถเป็นเครือข่ายบริการสาธารณะร่วมกับท้องถิ่น ในสิ่งที่เขาจะทำได้ดีกว่า และสังคมท้องถิ่นก็จะมีความหลากหลยและเข้มแข็งมากขึ้น

            ความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยสำนึกสาธารณะกับศรัทธาที่ติดกรอบตัวตน :  สังคมไทยมิกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทั้งสังคมหลายครั้งที่เห็นถึงความเป็นกลุ่มก้อนและพร้อมเพรียงกันอย่างมหาศาล เช่น การใส่เสื้อเหลืองแสดงความศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์ แต่เราจะเห็นว่า ผู้คนมากมายเกินจินตนาการเหล่านั้น  ทำไมมีพลังไม่ทัดเทียมสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือวิกฤติเล็กๆน้อยๆร่วมกันในสังคมได้ 

           กรณีอย่างนี้  อาจพิจารณาได้อย่างหนึ่งว่า พลังมหาชนที่แสดงความศรัทธาในลักษณะดังกล่าว เห็นการแสดงความศรัทธาเป็นการทำความดีให้แก่ตนเองอย่างหนึ่ง แต่ยังเชื่อมโยงกับสำนึกต่อส่วนรวมไม่ได้เช่นเดียวกัน ก็ต้องมองเพื่อยกระดับการพัฒนาการมีส่วนร่วมขึ้นจากความเป็นจริงของสังคมในลักษณะดังกล่าวนี้

          แต่ความเคลื่อนไหวของสังคม ชุมชน และกลุ่มคนหลากหลายอีกจำนวนหนึ่ง ก็จะเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือความเป็นส่วนรวมของผู้คนทุกคน ดังนั้น การทำหน้าที่ต่อส่วนรวมด้วยพลังแห่งความศรัทธา ก็จะเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของการแสดงอุดมคติและความศรัทธา กับความมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม จิตสำนึกสาธารณะ  ลักษณะอย่างนี้ก็มีอยู่จริงในชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ เช่นกัน การสนับสนุนขององค์กรท้องถิ่นก็จะต้องเป็นไปอีกแนวทางหนึ่ง

          ผมเคยออกแบบกระบวนการวิจัยสร้าง อาสามัครพลเมืองสูงวัย เพื่อเป็นรูปแบบการทำงานเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุระดับจังหวัด ของเมืองกาญจนบุรี  เรื่องเล็กน้อยอย่างนี้แต่เล่นกับวิธีคิดที่ใหญ่และสวนกระแสสังคม เนื่องจาก สังคมและผู้คนส่วนใหญ่ กับผู้สูงวัยโดยทั่วไป มักมีวิถีปฏิบัติที่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้แล้วสองอย่างคือ

         สังคมและผู้คนมักเดินเข้าไปหาผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมักมีบารมี มีอำนาจ มีความสำเร็จ มีลูกหลาน มีเงินทองสะสม หากเข้าไปทำงานชุมชน ก็มักเข้าไปหาผู้สูงอายุพอเป็นพิธีเพื่อขอการสนับสนุน เข้าไปขอให้บริจาคทำบุญเพื่อชาติหน้า เหล่านี้เป็นต้น ทำอย่างไรจะเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุได้เพียงแค่นี้

          ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มผู้สูงอายุในท้องถิ่น บางทีก็เป็นข้าราชการเกษียณ เป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าสัวในภูมิภาค หากรวมกลุ่มเพื่อจัดองค์กรเพื่อผู้สูงวัย เพียงรวมตัวกันได้คนสองคนเท่านั้น บารมีมากมาย ก็จะทำให้คนทั้งอำเภอ หรือทั้งจังหวัด หรือบางทีทั้งภูมิภาคของประเทศ ก็ไม่กล้าขัดใจหรือขึ้นเสียงให้เป็นการขัดแย้งแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับสังคมและวัฒนธรรมไทย

           ดังนั้น การหารูปแบบ ให้เกิดวิธีทำงานต่อส่วนรวมด้วยอาสาสมัครพลเมืองสูงวัย หรือกลุ่มจิตอาสาของผู้สูงอายุ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการได้วิธีคิดและแนวปฏิบัติใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงออกจากสิ่งที่เคยเป็นมา

           ครั้งหนึ่ง ผมจัดกลุ่มพลเมืองอาสาอาวุโส ไปดูงานและเรียนรู้ชุมชน รวมทั้งการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่า ที่นั่นมีกิจกรรมของผู้สูงอายุที่สอดคล้องกับแนวคิดที่เราต้องการทำ คือ กลุ่มอาสาสมัครผู้สูอายุ ที่รวมตัว พัฒนาตัวเอง จนเป็นเครือข่ายกระจายออกไปดูแลผู้สูงอายุในชุมชนได้ตั้งหลายเรื่อง

           และโครงการหนึ่งคือ การออกไปสำรวจ เรียนรู้ชุมชน เข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุยากไร้และมีปัญหาขั้นวิกฤติ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  องค์กรท้องถิ่น อสม เครือข่ายผู้นำชุมชน และกลุ่มอาสาสมัครผู้สูงวัย เขามีโครงการหนึ่ง  ซึ่งทำและยกระดับขึ้นเป็นโครงการทำเพื่อเทอดพระเกียรติในหลวง คือ โครงการระดมทำบ้านเพื่อผู้สูงอายุยากไร้ ถวายให้ในหลวง ทำได้ตั้ง ๓ หลังสำหรับผู้สูงอายุยากไร้ ๓ คน

           จากนั้นก็มีการอาสาแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนและดูแลกัน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและบรรลุความจำเป็นพื้นฐานของตนเองและด้วยตนเองได้ระดับหนึ่ง เป็นสุขภาพพอเพียงอย่างหนึ่ง

          ลักษณะอย่างนี้ จัดว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อศรัทธาครับ และเห็นความเป็นส่วนรวมของสถาบันหลักของสังคม ความศรัทธา และการปฏิบัติเพื่อแสดงพลังความศรัทธาดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นอีกอย่างหนึ่งคือเป็นการปฏิบัติด้วยจิตสำนึกสาธารณะ 

         สิ่งที่อยู่ในอุดมคติและเป็นความศรัทธา อันได้แก่ในหลวง ก็จะทรงเหน็ดเหนื่อยและถูกอ้อนวอนน้อยลง ประชาชนก็มีกำลังใจกำลังศรัทธา พึ่งตนเอง ร่วมสร้างสังคมให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระน้อมเกล้าในหลวง และเกิดการเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองอย่างพอเพียง สนองต่อแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

          โดยวิธีคิดวิธีพิจารณาอย่างนี้ ก็จะทำให้เรามารถระบุกลุ่มคนเพื่อพัฒนาแนวทำงานกับส่วนรวมให้เหมาะสม ได้สอดคล้องกับความหลากหลายของสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น

          องค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ก็ควรจะมีบุคลากรและแผนกที่สามารถทำหน้าที่พัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในลักษณะดังกล่าวนี้ให้เหมาะสม หรืออาจเริ่มพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรที่ทำงานแนวจิตสาธารณะ เป็นหน่วยประกอบการและจัดการธุรกิจเชิงสังคม ซึ่งก็จะทำให้องค์กรท้องถิ่นเป็นกลไกปฏิรูปแลเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้มแข็งที่ระดับฐานราก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท