๓๔. ธรรมนูญสมมติในกิจกรรมอีกาคาบไข่


"....สื่อกิจกรรมและเกมส์ และกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ที่บูรณาการอยู่ในการเล่นและเรียน อย่างอีกาคาบไข่นี้ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถผสมผสานมิติการเรียนรู้เพื่อสร้างคนได้อย่างครอบคลุมทุกด้านดังกล่าวมา..."

          การพัฒนาการมีส่วนร่วมในเรื่องการสร้างสรรค์ส่วนรวมด้วยกัน  ต้องการวิธีคิดและวิถีปฏิบัติใหม่ๆของสังคมมาก  แนวคิดพื้นฐาน  ความเข้าใจ และการรับรู้ต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากฐานคิดแบบเดิมๆด้วย 

         ขณะเดียวกัน โอกาสสร้างคน  พัฒนาคุณภาพประชากรและพลเมือง  รวมทั้งการสร้างการเรียนรู้ทางสังคมให้แก่กลุ่มชนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่ทำมาหากิน เด็ก และคนรุ่นใหม่  ก็ต้องส่งเสริมอย่างหลากหลาย ให้มีนัยสำคัญต่อการเรียนรู้ที่จะงอกงามและเติบโต เอื้อต่อการสร้างสังคมและสุขภาวะในการอยู่ร่วมกัน อย่างมีส่วนร่วม

         อีกาคาบไข่  เป็นกิจกรรมการเล่นของเด็กๆ ที่ทั้งสนุกและมีกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ที่มีนัยต่อการสร้างบทบาทตัวตน รวมทั้งเกิดประสบการตรงในการจัดโครงสร้างและวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ต้อง "ร่วมสร้างกับผู้อื่น"  ทำให้คนอื่นหลุดไปจากกรอบตนเอง หรือติดยึดอยู่กับความเป็นเอกเทศของตนเอง ไม่ได้ 

         ขณะเดียวกัน  หากมีพี่เลี้ยง กลุ่มจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กิจกรรมและการเล่นเกมเป็นสื่อ คอยจัดกระบวนการให้ได้วิธีคิดดีดี รวมไปจนถึงมีความแยบคาย พาคนเรียนรู้ไปจนถึงสุนทรียภาพในสิ่งที่ทำ ก็จะสามารถสร้างประสบการณ์ให้คนซาบซึ้งจริงๆจังๆ และได้สติปัญญาในการที่จะละวางสิ่งสมมติ ซึ่งเป็นสติและปัญญา ที่จำเป็นเสมอสำหรับการอยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง 

        ทั้งนี้  ก็เนื่องจากแนวคิดและวิธีการเล่น อีกาคาบไข่ เปรียบได้กับธรรมนูญ หรือสิ่งที่ต้องตกลงและสมมติขึ้นชั่วคราว จริงแท้และต้องจริงจัง ไม่อย่างนั้นเล่นไม่ได้และไม่สนุก ทว่า เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งละวางไปก่อนได้

       วิธีการก็คือ  ต้องมีคนเล่นด้วยกันอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป  3-5 คนกำลังเหมาะ

  • วาดวงกลมขนาดที่เด็กหนึ่งคนที่ต้องเล่นบทบาทสมมติเป็นอีกาเฝ้าระวังปกป้องไข่ เมื่อทำท่ายืนแบบสี่ขา ให้สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้โดยไม่หลุดจากกรอบวงกลม  พื้นที่ในกรอบวงกลมเป็นพื้นที่เอกสิทธิ์และคุ้มครองเด็กที่เป็นอีกาฟักไข่
  • มีสิ่งที่สมมติว่าเป็นไข่อีกา หรือหลักการสำคัญที่สุดของการเล่น วางอยู่ในวงกลมและบนพื้นดิน ให้ทุกคนเข้าถึงได้ เด็กที่เป็นอีกาฟักไข่ต้องเฝ้าคุ้มครองด้วยวิธีการต่างๆ โดยการใช้ตัวเองเคลื่อนไหวปกป้อง ห้ามถือ ห้ามหยิบมาเก็บในกระเป๋ากางเกง
  • เด็กๆที่อยู่นอกวงกลม อยากเป็นอะไรก็เป็น เป็นลิง เป็นค่าง เป็นนายพราน เป็นเทวดา อยากจะแสดงฤทธิ์เดชอย่างไรก็ทำได้ทั้งสิ้น ทั้งหลอกล่อ แว่บเข้าไปเขกหัวเด็กในวงกลม  โดยต้องไม่ให้เด็กที่เฝ้าไข่อีกา ง้างขาเตะถูก หรือเอามือมาแตะ  ซึ่งถ้าหากกลุ่มที่อยู่นอกวงกลม มีหลายคน และช่วยกันหลอกล่อ  คนที่เฝ้าระวังไข่อีกาก็จะโดนป่วนจนตับแล่บ  เป็นที่สนุกสนานของพวกที่อยู่นอกวงกลม
  • หากจะใช้มือแตะ มีข้อแม้ว่า สองขาและมืออีกข้างหนึ่งจะต้องแตะพื้น  ซึ่งก็จะทำให้พวกที่อยู่นอกวงกลมสามารถหลอกล่อได้ถนัดมากยิ่งขึ้น
  • เมื่อใครโดนคนที่เป็นอีกาคาบไข่  ง้างขาเตะถูก หรือแตะตัวได้  ก็จะเริ่มตั้งต้น  หรือ Resetting เหมือนการเล่นกลับเทปและ MP3 สลับสับเปลี่ยนบทบาท  จัดวางตนเองในบทบาทใหม่  แล้วก็เล่นอย่างจริงๆจังๆ

        ในอดีต  มียุคหนึ่งที่มุ่งพัฒนาการเรียนรู้ ที่บูรณาการและครอบคลุมองค์ประกอบ 4 ด้านของการพัฒนาปัจเจก ซึ่งก็เป็นแนวคิดและกลวิธีที่ครอบคลุมหมดจรดและเข้าใจได้ง่าย  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้เช่นกัน คือ

  • การพัฒนาด้านพุทธิปัญญา
  • การพัฒนาด้านจริยศึกษา
  • การพัฒนาด้านศิลปะและหัตถศึกา
  • การพัฒนาด้านสุขภาพและพลานามัย

        สื่อกิจกรรมและเกมส์  และกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม  ที่บูรณาการอยู่ในการเล่นและเรียน อย่างอีกาคาบไข่นี้ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถผสมผสานมิติการเรียนรู้เพื่อสร้างคนได้อย่างครอบคลุมทุกด้านดังกล่าวมา.

หมายเลขบันทึก: 220909เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2008 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบันทึกอาจารย์ ก็คิดถึงบรรยากาศเกมนี้ เมื่อครั้งยังเยาว์ ยังคิดถึงรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ...

เกมที่เล่นในวัยเด็ก เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กจริงๆครับ การปฏิสัมพันธ์ การวางบทบาท การสมมุติและ role play ล้วนแต่สร้างกระบวนการเรียนรู้ เสริมสร้างพัฒนาการทั้ง ด้านความคิด และร่างกาย

ผมเคย ถอดบทเรียนคุณครู สุขศึกษา ที่ใช้เกมในการพัฒนาเด็ก และยอมรับกันว่า พัฒนากระบวนการคิด พัฒนาสมองได้อย่างมีพัฒนาการ คือ เกมส์ ตารางเก้าช่อง ครับ

--------------------------------------------------------------------

ผม search มาประกอบที่นี่ครับ ม.เกษตร คิดค้น ” ตารางเก้าช่อง ” ฝึกทักษะสมอง

  • ดีจังเลยครับ เป็นระบบและเรียบง่ายดี
  • ผสมผสานหลากหลายยิ่งดีใหญ่เลย
  • กระนั้นก็ตาม กิจกรรมและเกมส์อย่างที่ลองนำมาคลี่คลายดู (อันที่จริงกลุ่มวิจัยชุมชนนำไปใช้ในพื้นที่ด้วย) ก็มีมิติเชิงกระบวนการที่ต้องเรียนรู้เป็นกลุ่มและพากันพัฒนาเป็นกลุ่ม ไม่ทำให้เข้มข้นไปในทางเก่งและพัฒนาประสบการณ์แบบเอกเทศ 
  • มีมิติการลดตัวตนและขยายความเป็นจิตสาธารณะ มีนัยต่อการเรียนรู้ในการพัฒนาการเอาใจใส่ดูแลกันของกลุ่มคน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท