พุทธศาสตร์การเมือง(ตอน สังคมสองขั้วจะทำตัวอย่างไร)


“วิสาขา เธอจงถวายทานภิกษุทั้งสองฝ่ายแล้วจงฟังธรรมของทั้งสองฝ่าย ทั้งธรรมวาทีทั้งอธรรมวาที ฟังแล้ว ฝ่ายใดเป็นธรรมวาที(ผู้กล่าวเป็นธรรม)เธอจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือในธรรมวาทีฝ่ายเดียวเถิด

 สังคมสองขั้วทำตัวอย่างไร?

                              

        โฆสิตารามในนครโกสัมพี เมืองหลวงของแคว้นวังสะ  มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระธรรมกถึก (นักเทศน์) ซึ่งคงแก่เรียนฉลาดมีปัญญา ได้กระทำความผิด (อาบัติ) เกิดขึ้น คือเข้าห้องส้วม (ถาน)แล้ว เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะตักน้ำ โดยตอนแรกตนเองก็เห็นว่า ตนกระทำผิดจริง  แต่พวกเพื่อนภิกษุของตนมีความเห็นว่า ไม่ผิด   ดังนั้นเอง ภิกษุรูปนั้นจึงพลอยเห็นด้วยว่า ตนไม่ผิด ...แต่ยังมีภิกษุวินัยธร(ผู้ทรงวินัย) อีกหมู่หนึ่ง  ที่ยังมีความเห็นว่า ภิกษุนั้นกระทำความผิดจริง แม้เป็นความผิดเล็กน้อยก็ตาม จึงกล่าวโทษพระธรรมกถึกนั้น  “ท่านทำความผิดแล้ว ท่านเห็นความผิดนั้นหรือไม่”      “ผมไม่มีความผิดที่พึงเห็น”

        เมื่อภิกษุธรรมกถึกปฏิเสธอย่างนี้ พวกภิกษุวินัยธรจึงยกภิกษุนั้นออกจากหมู่ ไม่นับเข้าในสงฆ์ภิกษุนั้นจึงเที่ยวบอกกับภิกษุที่เป็นพรรคพวกของตน ทั้งยังส่งทูตไปบอกเพื่อนภิกษุชาวชนบทด้วยโดยอ้างว่า

        “ผมไม่ได้ทำผิด ผมไม่ควรถูกลงโทษ ผมถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายเป็นฝ่ายของผมด้วยเถิด”     ครั้งพระธรรมกถึกนั้นหาพวกได้แล้ว เหล่าภิกษุที่สนับสนุนฝ่ายพระธรรมกถึก ก็พากันเข้าไปหาพวกภิกษุวินัยธร แล้วเอ่ยว่า  “ภิกษุธรรมกถึกนั้นไม่ได้ทำผิด ไม่ควรถูกห้ามเข้าหมู่สงฆ์ การลงโทษนั้นไม่เป็นธรรม” แต่ภิกษุวินัยที่เป็นโจทย์  กลับตอบว่า

         “ท่านทั้งหลาย ภิกษุนั้นกระทำผิดจริง เมื่อไม่เห็นความผิดของตน ต้องถูกลงโทษ ห้ามร่วมทำกิจวัตรและสังฆกรรม งดเข้าหมู่สงฆ์ นี้เป็นการกระทำที่เป็นธรรมแล้ว ขอพวกท่านทั้งหลายอย่าไปสนับสนุน อย่าห้อมล้อมเป็นฝ่ายภิกษุนั้นเลย”แม้ได้ฟังคำตอบอย่างนี้พวกภิกษุวินัยธร แต่พวกภิกษุธรรมกถึกก็ยังคงเชื่อถือ และสนับสนุนเป็นฝ่ายของพระธรรมกถึกนั้นเหมือนเดิม      สังคมสงฆ์จึงแตกแยกเป็นสองฝ่ายแล้ว พอเรื่องราวนี้รู้

ไปถึง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จไปตรัสให้สติแก่ภิกษุพวกวินัยธรที่เป็นโจทย์ว่า “พวกเธออย่านึกแต่ว่า พวกเราเท่านั้นเฉลียวฉลาด  จึงลงโทษแก่ภิกษุนั้น ซึ่งก็เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา แต่มองไม่เห็นความผิดของตนโดยไม่ให้ร่วมทำกิจวัตรไม่ให้ร่วมทำสังฆกรรมด้วย  เพราะหากพวกเธอทำอย่างนั้น ความบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน แก่งแย่งกัน แตกแยกกัน ย่อมเกิดขึ้นแก่หมู่สงฆ์ ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายผู้เกรงการแตกแยก  ก็อย่าห้ามภิกษุนั้นเข้าหมู่สงฆ์ เพราะโทษที่ไม่เห็นความไม่ผิดของตน

          ตรัสแล้ว ก็เสด็จไปรับสั่งกับพวกภิกษุที่สนับสนุนพระธรรมกถึก

“เมื่อพวกเธอกระทำผิดแล้ว แม้เรื่องเล็กน้อย ก็อย่าสำคัญว่า ทำผิดแล้วไม่ต้องแก้ไขทำคืน ด้วยเข้าใจว่า พวกเราไม่ได้ทำผิด  แต่พวกภิกษุอื่นเห็นว่า นั่นเป็นความผิด แม้ท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา คงจะไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะหลง ไม่ลำเอียงเพราะกลัว แล้วลงโทษห้ามเข้าหมู่  ก็เพราะถูกลงโทษ พวกเธอจึงคิดไม่ร่วมทำสังฆกรรมด้วย คิดแยกทำกิจของสงฆ์ พวกเธออย่าทำอย่างนั้นเลย ความบาดหมางกันทะเลาะวิวาทกัน แก่งแย่งกัน แตกแยกกัน ย่อมเกิดขึ้นแก่หมู่สงฆ์ ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายผู้เกรงการแตกแยก พึงยอมรับผิดนั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อของผู้อื่น “

         ตรัสสอนแล้ว ก็เสด็จกลับที่พัก แต่ภิกษุทั้งสองฝ่ายนั้นยังคงยึดตามความเห็นของตนเป็นใหญ่แม้อยู่ในโฆสิตารามเดียวกัน ก็ไม่ยอมกันอย่างนี้เรียกว่า นานาสังวาส (คือการอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างกัน) สถานการณ์ต่อมา ยิ่งทวีความบาดหมางรุนแรงมากขึ้น มีการแสดงออกทางกายวาจา ที่ไม่สมควรแก่กัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกปาก (มุขสัตติ) พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จไปหาภิกษุทั้งสองฝ่ายอีก ตรัสเตือนว่า “อย่าเลย พวกเธออย่าบาดหมางกัน อย่าทะเลาะวิวาทกัน อย่าแก่งแย่งกันเลย ” แต่ปรากฏว่ามี ภิกษุรูปหนึ่งเป็นอธรรมวาที (ผู้กล่าวไม่เป็นธรรม) ฟังแล้วกราบทูลว่า

        “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม จงทรงพระกรุณารอก่อน จงทรงมีความขวนขวายน้อย  มีความสุขเป็นเครื่องอาศัย(วิหารธรรม) ในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพเจ้าพระพุทธเจ้าจะยังคงบาดหมาง ทะเลาะวิวาท แก่งแย่งกัน พระพุทธเจ้าข้า” แม้พระองค์จะทรงถูกกล่าวอย่างนี้ ก็ยังทรงเตือนอีกเป็นครั้งที่สอง แต่ภิกษุอธรรมวาทีนั้นก็ยังคงกราบทูลอย่างเดิมเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ พระศาสดาจึงตรัสสอนเรื่อง “ทีฆาวุกุมาร” (เน้นให้อภัยกัน เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร) แก่ภิกษุทั้งหมดนั้น พอจบแล้วทรงเตือนสติเป็นคำรบสามว่า “อย่าเลย พวกเธออย่าบาดหมางกัน อย่าทะเลาะวิวาทกัน อย่าแก่งแย่งกันเลย”

         แม้ทรงพระกรุณาสั่งสอนเพียงใด ภิกษุอธรรมวาทีนั้นก็ยังคงกราบทูลให้พระองค์ ทรงมีความขวนขวายน้อยเช่นเดิมอยู่นั่นเอง เป็นอย่างนี้แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า “โมฆบุรุษ(คนสูญเปล่า) เหล่านี้หัวดื้อนัก จะให้โมฆบุรุษเหล่านี้เข้าใจกัน ทำไม่ได้ง่ายเลย ทรงปลงสังเวชดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับ หลังจากวันนั้นจึงเสด็จออกจากนครโกสัมพีจาริก(เดินทาง) ไปยังบ้านพาลกโลณการกคาม แล้วต่อไปยังบ้านปาริไลยกะ จนกระทั่งถึงนครสาวัตถีในแคว้นโกศล ประทับที่พระเชตวันมหาวิหาร   ส่วนที่นครโกสัมพี ชาวบ้านชาวเมืองพากันไม่พอใจพวกภิกษุที่แตกแยกกัน ไม่เชื่อฟังพระศาสดา รบกวนพระองค์ให้ลำบากจนต้องเสด็จหลีกไปที่อื่น จึงตกลงกันคว่ำบาตร (การไม่คบค้าสมาคมด้วย)      ไม่ทำความเคารพไม่ใส่บาตรภิกษุเหล่านั้น    ภิกษุโกสัมพีทั้งสองฝ่ายจึงอัตคัดขัดสน ต้องลำบากยิ่ง ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า จะพากันเดินทางไปนครสาวัตถี เพื่อให้พระศาสดาทรงระงับอธิกรณ์ (เรื่องที่เกิดขึ้น)นี้ 

          ข่าวคราวอื้อฉาวกรณีทะเลาะวิวาทกันของภิกษุโกสัมพี นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้สดับข่าวแล้วจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวว่าภิกษุชาวโกสัมพี บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน พากันมาสู่นครสาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติตัวอย่างไรกับภิกษุเหล่านั้น พระพุทธเจ้าข้า  พระศาสดาจึงทรงแนะนำวิธีการปฏิบัติ

“วิสาขา เธอจงถวายทานภิกษุทั้งสองฝ่ายแล้วจงฟังธรรมของทั้งสองฝ่าย ทั้งธรรมวาทีทั้งอธรรมวาที ฟังแล้ว ฝ่ายใดเป็นธรรมวาที(ผู้กล่าวเป็นธรรม)เธอจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือในธรรมวาทีฝ่ายเดียวเถิด

                    ผู้เป็นธรรมวาที ก็คือ

๑.แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม

    (สื่อตามจริง อะไรชั่ว ก็บอกว่าชั่ว )

๒.แสดงสิ่งที่เป็นธรรม  ว่าเป็นธรรม

    (สื่อตามจริง  อะไรดี  ก็บอกว่าดี )

 ๓.แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย

    (อะไรที่ไม่ผิดกฎหมายข้อบังคับ ก็บอกว่าไม่ผิด)

๔.แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าวินัย

    (อะไรที่ผิดกฎหมายข้อบังคับ   ก็บอกว่าผิด) 

๕.แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ว่า พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้

    (สื่อสารไม่บิดเบือน คำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง ก็บอกว่าไม่ถูกต้อง)

๖.แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่า พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้

    (สื่อสารไม่บิดเบือน คำกล่าวที่ถูกต้อง ก็บอกว่าถูกต้อง)

๗.แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา

    (สื่อสารไม่บิดเบือน พฤติกรรมใครไม่ดี ก็บอกว่าไม่ดี)

๘.แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมาว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา

    (สื่อสารไม่บิดเบือน พฤติกรรมใครดี  ก็บอกว่าดี)

๙.แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้

    (เปิดเผยกฎหมายฉ้อฉล ว่าเป็นกฎหมายฉ้อฉล)

 

๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตทรงบัญญัติไว้

    (เปิดเผยกฎหมายเป็นธรรม ว่าเป็นกฎหมายเป็นธรรม)

๑๑.แสดงสิ่งมิใช่อาบัติ  ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ

    (เปิดเผยการกระทำถูกต้อง ว่าเป็นความถูกต้อง)

๑๒.แสดงอาบัติ  ว่าเป็นอาบัติ

    (เปิดเผยการกระทำผิด  ว่าเป็นความผิด)

๑๓.แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติเบา

    (เปิดเผยความผิดเล็กน้อย ว่านี้เล็กน้อย)

๑๔.แสดงอาบัติหนัก  ว่าเป็นอาบัติหนัก

    (เปิดเผยความผิดร้ายแรง ว่านี้ร้ายแรง)

๑๕.แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ

    (จริงใจยังมีส่วนผิด  ก็ยอมรับผิด)

๑๖.แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้

     (ชัดเจนว่าบริสุทธิ์ ก็ยืนยันความบริสุทธิ์)

๑๗.แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ

     (กล้าประกาศความจริงว่า นี้ชั่วช้าเลวทราม)

๑๘.แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ

   (กล้าประกาศความจริงว่านี้ความผิดพลาดเล็กน้อย)

 ส่วน  ผู้เป็นอธรรมวาที ก็คือ

๑.แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม

   (สื่อโกหก อะไรชั่ว กลับบอกว่าดี)

๒.แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม

    (สื่อโกหก  อะไรดี กลับบอกไม่ดี)

๓.แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย

    (อะไรที่ไม่ผิดกฎหมายข้อบังคับ กลับบอกว่าผิด)

๔.แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย

    (อะไรที่ผิดกฎหมายข้อบังคับ กลับบอกว่าไม่ผิด)

๕.แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้

   (สื่อสารบิดเบือน คำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง กลับบอกว่าถูกต้อง)

๖.แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตมิได้ทรงไว้ ตรัสไว้

   (สื่อสารบิดเบือน คำกล่าวที่ถูกต้อง กลับบอกว่าไม่ถูกต้อง)

๗.แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา

   (สื่อสารบิดเบือน พฤติกรรมใครไม่ดี กลับบอกว่าดี)

๘.แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา

   (สื่อสารบิดเบือน พฤติกรรมใครดี กลับบอกว่าไม่ดี)

๙.แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตทรงบัญญัติไว้

   (อำพรางกฎหมายฉ้อฉล ว่ากฎหมายเป็นธรรม)

๑๐.แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้

   (อำพรางกฎหมายเป็นธรรม ว่าเป็นกฎหมายฉ้อฉล)

๑๑.แสดงสิ่งมิใช่อาบัติ    ว่าเป็นอาบัติ

   (อำพรางการกระทำถูกต้อง  ว่าไม่ถูกต้อง)

๑๒.แสดงอาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ

    (อำพรางการกระทำผิด ว่าไม่ผิด )

๑๓.แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติหนัก

   (อำพรางความผิดเล็กน้อย ว่านี้ผิดร้ายแรง)

๑๔.แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติเบา

   (อำพรางความผิดร้ายแรง ว่านี้ผิดเล็กน้อย)

๑๕.แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้

   (ทั้งที่ยังมีส่วนผิด เสแสร้งว่าบริสุทธิ์)      

๑๖.แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ

   (ทั้งที่บริสุทธิ์ กลับกล่าวหาว่ายังมีส่วนผิด)

๑๗.แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าไม่เป็นเป็นอาบัติชั่วหยาบ

   (ประกาศความชั่วช้าเลวทรามว่าเป็นความผิดเล็กน้อย)

๑๘.แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ

   (ประกาศความผิดเล็กน้อย ว่าเป็นความชั่วช้าเลวทราม)

นางวิสาขาได้ฟังข้อปฏิบัติแล้ว ก็น้อมนำไปปฏิบัติ

           ครั้นภิกษุเมืองโกสัมพีมาถึงนครสาวัตถีแล้ว ภิกษุธรรมกถึกรูปที่เป็นต้นเหตุนั้น ได้เกิดสำนึกผิดในเหตุการณ์ที่ลุกลามใหญ่โต “เราเป็นผู้กระทำผิดจริง จึงถูกสงฆ์ห้ามเข้าหมู่ การถูกห้ามนั้นเป็นการกระทำที่เป็นธรรมแล้ว”

           ดังนั้นจึงบอกพรรคพวกตนแล้วพากันไปกราบทูลพระศาสดา หลังจากนั้นก็ร่วมกันไปหาภิกษุ พวกวินัยธรถึงที่อยู่ โดยยอมรับผิดว่า

“ท่านทั้งหลาย ผมได้กระทำผิดไปแล้ว ผมถูกสงฆ์ห้ามเข้าหมู่ ผมถูกลงโทษอย่างเป็นธรรม เหมาะควรแก่ฐานะ บัดนี้ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด”  หมู่สงฆ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พระธรรมกถึกนั้นมองเห็นความผิดของตนได้แล้ว จึงรับเข้าหมู่ ด้วยการกล่าว่า

           “ท่านทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะวิวาท ความแก่งแย่ง ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั้นกระทำผิดไปแล้ว ถูกห้ามเข้าหมู่แล้ว บัดนี้ได้เห็นความผิดของตนแล้ว สงฆ์ยินดีรับเข้าหมู่ พวกเราทำสังฆสามัคคี (ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์) เพื่อสงบระงับเรื่องนั้น

             เรื่องการบาดหมางกันของภิกษุชาวเมืองโกสัมพีก็ยุติ กลับมาพร้อมเพรียงกันใหม่

 

    ( พระไตรปิฏกเล่ม ๕”โกสัมพีขันธกะ” ข้อ ๒๓๘

     อรรถกถาแปลเล่ม ๔๐ “ยมกวรรค” หน้า ๗๘ )

               

 

 

                      ภาพประกอบจาก Thang You


หมายเลขบันทึก: 222515เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการ พระคุณท่าน เพลงนี้ชอบกันทั้งครอบครัวเลยครับ สถานะการบ้านเมืองแบบนี้ ต้อง ช่วยกันให้กำลังใจ คนคนนี้ครับ

อภิรักษ์ โกษะโยธิน

สาธุ..พระคุณเจ้ารีบเก็บไว้ในบล็อกส่วนตัวครับ..สาธุ..บาบา..ครุ..ครุ

นมัสการค่ะ

ได้ข้อคิดเตือนใจค่ะ...

"คนพาลมีความเพ่งโทษเป็นกำลัง"

สาธุค่ะ

P

 

  • ธรรมสวัสดีโยม คนโรงงาน
  • อนุโมทนาสาธุ
  • ธรรมรักษา

P

 

  • ธรรมสวัสดีโยม อ.. ajankoy
  • อนุโมทนาสาธุ ที่แวะมาเยี่ยม
  • ธรรมรักษา

P

 

  • ธรรมสวัสดีโยม คนไม่มีราก
  • อนุโมทนาสาธุ...ธรรมรักษา
  • ๑.ทารกทั้งหลาย             มีการร้องไห้เป็นกำลัง
  • ๒.มาตุคาม(หญิง)           มีความโกรธเป็นกำลัง
  • ๓.โจรทั้งหลาย               มีอาวุธเป้นกำลัง
  • ๔.พระราชาทมั้งหลาย      มีอิสริยยศเป้นกำลัง
  • ๕.คนพาลทั้งหลาย          มีการเพ่งโทษ(ผู้อื่น) เป็นกำลัง
  • ๖.บัณฑิตทั้งหลาย           มีการไม่เพ่งโทษ ..เป็ฯกำลัง
  • ๗.พหูสูตรทั้งหลาย           มีการพิจารณา..เป็นกำลัง
  • ๘.สมณพราหมณ์ทั้งหลาย  มีขันติ เป้นกำลัง  

P

 

  • ธรรมสวัสดีหลานโก๊ะจิจัง แซ่เฮ~
  • นักอักษรศาสตร์มาแล้ว
  • อ่านไม่ออกเดาเดาเอา
  • อนุโมทนาสาธุนะ
  • ธรรมรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท