จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์


หมายเหตุ : ข้อเขียนดังต่อไปนี้ ข้าพเจ้าได้ไปคัดลอกมาจาก http://www.kickthemachine.com/FreeThai/FreeThaiCinemaLetter2.html ซึ่งเป็นจดหมายที่มีเนื้อหาให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่ทางเครือข่ายรณรง์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ได้เข้าร่วมเวทีประเมินสถานการณ์กับทางโครงการวิจัยฯ ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตรวบรวมข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเหล่านี้ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิจัยในขั้นตอนต่อๆ ไป

 

จดหมายเปิดผนึก 20 มี.ค. 2551

Open Letter to the Ministry of Culture 20 March 2008

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์

จากการเข้าร่วมเวทีประเมินสถานการณ์ภาพยนตร์ในสังคมไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 ณ กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมรวบข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สำหรับงานวิจัยเรื่องโครงการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เนต เกมคอมพิวเตอร์ และภาพยนตร์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำกฎหมายลูกบทของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไป ทางเครือข่ายฯ ได้นำข้อมูลที่ได้รับจากที่เวทีดังกล่าวมาประมวล และอยากจะขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมและนำเสนอข้อเสนอแนะจากทางเครือข่ายฯ เพื่อให้การจัดเวทีดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

1. ทางเครือข่ายฯ เห็นด้วยและขอสนับสนุนกับการจัดประเภทภาพยนตร์ (เรตติ้ง)

แทนการใช้ระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์แบบเก่า โดยเห็นด้วยกับ แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ เรื่องระบบเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ถือเป็น “ระบบต้องห้าม” ซึ่งจะไปขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้ ในขณะเดียวกันระบบเรตติ้ง ก็ยังสามารถรักษาผลประโยชน์และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีวุฒิภาวะ (ตามที่ท่านฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวตอนเปิดงาน) และเชื่อว่า ระบบเรตติ้งจะเป็นเสมือนเครื่องมือ “Pre-caution” สำหรับผู้ปกครองที่จะกลั่นกรองเนื้อหาของภาพยนตร์สำหรับผู้เยาว์ หรือผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองได้
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับประเภทที่ 1 ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู และ ประเภทที่ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ที่ถูกระบุใน มาตราที่ 26 ใน พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ และมาตราต่อเนื่องอย่างมาตราที่ 29 ที่ระบุว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์มีอำนาจสั่งให้เจ้าของภาพยนตร์แก้ไขหรือตัดทอนภาพยนตร์ก่อนจะอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

1.1) ภาพยนตร์ประเภทที่ 1 นั้น เปรียบเสมือนดาบสองคม ในแง่หนึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่จะมีเรตติ้งมาเป็นเครื่องมือช่วยในการประชาสัมพันธ์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรตติ้งนี้อาจจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการกำหนดกรอบความคิดของสังคมได้ และท้ายสุดภาพยนตร์ประเภทนี้สามารถจะกลายเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Film) ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเผด็จการนาซี ในสมัยฮิตเลอร์ในการปลุกระดมความคิดชาตินิยมเพื่อขจัดกลุ่มคนที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว คนพิการ และรักร่วมเพศ

1.2) ในที่ประชุมครั้งก่อนหน้านี้ มักจะมีการยกตัวอย่าง ภาพยนตร์อย่าง สุริโยไท หรือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร หรือ ก้านกล้วย ในฐานะตัวอย่างของภาพยนตร์ประเภทนี้ ซึ่ง ทางเครือข่ายฯ เล็งเห็นว่า หากแนวคิดดังกล่าวนี้บรรลุผลจริงๆ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเชิดชูชาตินิยม แต่เหยียดหยามเชื้อชาติที่แตกต่าง (ซึ่งในที่นี้คือ “ศัตรูในจินตนาการ” ตลอดกาลอย่าง ชาติพม่า) ก็จะได้รับการส่งเสริมต่อไปเรื่อยๆ สุดท้าย การกระทำดังกล่าวนี้อาจจะมีส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ดังกรณี ที่เกิดขึ้นกับ ประเทศลาว ที่ประท้วงภาพยนตร์เรื่อง “หมากเตะ” และโครงการสร้างภาพยนตร์เชิดชูชาตินิยมอย่าง เรื่องท้าวสุรนารี    
ดังนั้น หากมีการบังคับใช้ประเภทภาพยนตร์ประเภทนี้จริงๆ อาจจะต้องทบทวนให้รอบคอบและถี่ถ้วนว่าสิ่งที่สังคมไทยจะได้รับนั้นมันคุ้มเสียหรือไม่ ประเภทภาพยนตร์ที่ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรนั้น และมาตราที่ 29 นั้น ถือเป็นการสืบทอดระบบเซ็นเซอร์แบบเก่า โดยขัดต่อตรรกะในเรื่องของการเรียนรู้ และเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร ถึงแม้จะมีความกังวลว่า หากอนุญาตให้เผยแพร่ภาพยนตร์ทุกเรื่องได้ โดยไม่มีการห้ามนั้น จะทำให้มีการสร้างหรือฉายภาพยนตร์โป๊ หรือ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาล่อแหลมได้นั้น ทางเครือข่ายฯ เล็งเห็นว่า แท้จริงประเทศไทยมีกฎหมายอาญาควบคุมเรื่องลามกอนาจาร หรือ ความมั่นคงของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ รวมทั้งกระบวนการพิสูจน์ความผิด ต้องผ่านระบบศาล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอำนาจสูงสุดแห่งรัฐ ที่ได้รับสิทธิในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง และมีความน่าเชื่อถือต่อทุกๆ ฝ่าย

หลายครั้งในการใช้ พรบ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 (ฉบับเก่า) มักเกิดปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องของมาตรฐานระหว่างศิลปะหรืออนาจาร หรือ ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับแนวคิดของปัจเจกชน ซึ่งทำให้หามาตรฐานกลางที่จะได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่าย ได้ค่อนข้างยาก ระบบศาลจึงมีน่าจะเป็นทางออกที่มีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะช่วยตัดสินประเด็นล่อแหลมดังกล่าว

2. ทางเครือข่ายฯ ขอสนับสนุนแนวคิดการสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดประเภทภาพยนตร์

ซึ่งแนวคิดหลักสำคัญของโครงการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เนต เกมคอมพิวเตอร์ และภาพยนตร์ เนื่องจากประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ฉบับนี้ เพียงแต่ว่า ทางเครือข่ายฯ อยากจะเสนอว่า ภาคประชาชนในที่นี้จะต้องครอบคลุมมากว่า กลุ่มเครือข่ายครอบครัว เพราะ ภาคประชาชนที่แท้จริง จะต้องเป็นเสมือนตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นความหลากหลายที่แท้จริงของสังคมไทย อย่างกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มแรงงาน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ฯลฯ

นอกจากนี้ หลายครั้งเสียงของคนกลุ่มน้อยมักจะถูกมองข้าม ด้วยข้ออ้างเรื่องระบบประชาธิปไตย ที่จะต้องเคารพต่อเสียงส่วนมากนั้น กลายเป็นการกีดกันแนวความคิดที่หลากหลาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น สามารถนำไปสู่ทางออกที่ดีสุดได้ ทางเครือข่ายฯ ไม่อยากจะให้ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ละเลยความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อยไป เพียงเพราะว่าความคิดของพวกเขาเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับความคิดของผู้มีอำนาจ หรือ มาตรฐานทางสังคมเท่านั้น หากมีความคิดเห็นที่ต่าง ผู้รับผิดชอบโครงการก็ควรจะไตร่ตรองหาเหตุผลของความคิดที่ต่างนั้นอย่างถ้วนถี่ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และจะนำไปสู่ทางออกที่ทุกฝ่ายพึงพอใจที่สุด 
  

3. กลุ่มเครือข่ายฯ เห็นด้วยกับคุณลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

ในประเด็นที่ว่ากระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยประสานงานกับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กับกลุ่มผู้เดือดร้อนอันเนื่องจากเหตุภายใต้ พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เท่านั้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมจึงมีหน้าที่ต้องเปิดรับฟังการร้องเรียนจากทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่เพียงเฉพาะคำร้องเรียนที่สอดคล้องกับแนวคิดของผู้อำนาจในกระทรวงเท่านั้น

รวมทั้ง หากการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การปล่อยให้มีภาพยนตร์อนาจารวางขายตามแผงขายภาพยนตร์ย่านนนทบุรี ก็ไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมแต่อย่างไร แต่เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายอย่างแท้จริง ต่างหาก ด้วยตรรกะความคิดนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมจึงไม่ควรต้องเป็นกังวลในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย แต่ควรให้ความสำคัญกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างของประชาชนทุกๆ ภาคส่วน

4. ทางเครือข่ายฯ อยากจะขอแสดงความคิดเห็นเรื่องการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ทั้งชุดใหญ่ (คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตามมาตรา 7 และ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามมาตรา 16)

ทางเครือข่ายฯ ขอเสนอให้บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการทั้งสองชุดนั้น จะต้องเป็นผู้สนใจและติดตามชมภาพยนตร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงบุคคลที่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในคณะกรรมการเพียงเพราะต้องการปกป้องภาพลักษณ์ขององค์กรของตน หรือ ต้องปฏิบัติตามตำแหน่ง เท่านั้น จากประสบการณ์ของการใช้ พรบ.ภาพยนตร์ฉบับเก่า นั้น พบปัญหาว่า ผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในที่นี้คือสำนักงานตำรวจ จะคัดเลือกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ โดยเลือกตัวแทนขององค์กรวิชาชีพที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นกล่าวพาดพิงถึง นั้นทำให้ได้กรรมการที่ไม่ได้มีความเข้าใจในการรับชมภาพยนตร์อย่างลึกซึ้ง แต่ต้องการเพียงแค่ตรวจสอบว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นสร้างผลกระทบอย่างไรต่อหน่วยงานหรือวิชาชีพของเขาหรือเท่านั้น ผลที่ตามมาคือการปฏิบัติต่อภาพยนตร์เป็นเสมือนภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นจะต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีฐานความคิดที่หลากหลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คณะกรรมการไม่ควรประกอบด้วยบุคคลที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรมีบุคคลที่มีแนวคิดเชิงเสรีนิยมด้วย เพื่อทำให้การใช้อำนาจของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์นั้นเป็นกลางมากที่สุด และสามารถเป็นตัวแทนความคิดที่หลากหลายในสังคมไทย รวมทั้งจะก่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจของกันและกัน ซึ่งสุดท้ายภาพยนตร์ก็จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  

5. ทางเครือข่ายฯ ขอสนับสนุนแนวคิดของแพทย์หญิงพรรณพิมล และ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ต้องการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย

โดยการสนับสนุนการสร้างหรือการจัดฉายภาพยนตร์ที่อาจจะไม่สามารถพึ่งพิงระบบธุรกิจได้ รวมทั้งโครงการการจัดตั้งโรงภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกถึงความแตกต่าง

ในทางกลับกัน ทางเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนภาพยนตร์เพียงเพราะว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นสามารถแฝงโฆษณาวัฒนธรรมไทยเท่านั้น  

ข้างต้นนี่คือความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทางกลุ่มเครือข่ายฯ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเวทีประเมิน
สถานการณ์ภาพยนตร์ในสังคมไทยครั้งที่เพิ่งผ่านมานี้ ทางเครือข่ายฯ หวังว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้จะได้รับการพิจารณาจากผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เนต เกมคอมพิวเตอร์ และภาพยนตร์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างดี

จึงเรียนมาเพื่อให้ทราบ และโปรดพิจารณา

เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์

 

 

หมายเลขบันทึก: 222722เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำไมแทนตัวว่า ข้าพเจ้า ^__^

ก็กลัวคนอ่านสับสนนี่คะ ถ้าใช้คำว่า ผู้เขียน ก็ไม่ได้เขียนเอง เลยไม่รู้จะใช้อะไรดี

แทนตัว ข้าพเจ้า ไปเลยดีก่า ไม่ผิดตัวแน่ๆ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท