บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบสี่ ตุลาคม 2551


Job Talk สำคัญอย่างไร

บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบสี่  ตุลาคม 2551

 

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

 

          เดือนนี้ขอมาแปลกหน่อยนะคะ    อยากเล่าเรื่องชีวิตด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนโดยตรงบ้างค่ะ    คิดว่าหลายๆ ท่านที่จบปริญญาเอกแล้ว   หรือกำลังเรียนอยู่ก็อาจจะไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้   ก็เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

 

 

Job Talk

 

          การทำ Job Talk  เป็นสิ่งที่ทางภาควิชาจะขอให้นักศึกษาปริญญาเอกชั้นปีที่ห้า  ซึ่ง (มีแนวโน้มสูงว่า) เป็นปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษาต้องดำเนินการทุกคนค่ะ   เหตุผลก็คือเพื่อฝึกให้นักศึกษาเคยคุ้นกับการออกไปนำเสนอผลงานวิชาการของตนเองในการหางาน    ซึ่งงานที่ว่านั้นก็จะเน้นที่การสมัครเข้าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำนั่นเองค่ะ

 

          การนำเสนอผลงานเพื่อสมัครงานนี้  จะแตกต่างจากการนำเสนองานในการประชุมวิชาการ   ลักษณะการตอบคำถามจะเป็นทางการมากขึ้น   และเน้นการดูแลภาพลักษณ์และบุคลิกในการนำเสนอด้วย  นอกเหนือไปจากเนื้อหาวิชาการต่างๆ แล้ว   ทั้งนี้  อาจจะเป็นเพราะนักศึกษาของภาควิชานี้   ก็มุ่งหวังจะสมัครงานเป็นอาจารย์และนักวิจัยในสาขาการจัดการ หรือใน Business School ที่มีชื่อเสียงนั่นเอง   ทำให้เรื่องภาพพจน์และการแสดงออกมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ

 

          ในการนำเสนอผลงานใน Job Talk นี้    ก็จะมีอาจารย์ทุกคนในภาควิชาและนักศึกษาปริญญาเอกทุกชั้นปีเข้าร่วมฟัง   ถือเป็นหน้าที่หลักที่ทุกคนจะต้องเข้าฟัง    เพื่อให้ความคิดเห็น  และในอีกแง่หนึ่งก็คือ  นักศึกษารุ่นน้องก็จะได้ฝึกฝนหาประสบการณ์ไปด้วย   อันนี้  ครูน้อยเคยแอบต่อรองหัวหน้าภาคเหมือนกัน   ว่าครูน้อยไม่ต้องหางานแถวอเมริกาเสียหน่อย   (หรือจริงๆ ก็ไม่ต้องไปสมัครงานแถวไหนเลยด้วยซ้ำ    เพราะมีงานรออยู่แล้ว)   จะสามารถไม่ต้องเข้าฟัง Job Talk บางครั้งได้หรือไม่    แต่ก็ได้คำตอบปฏิเสธอย่างหนักแน่นมาแล้วค่ะ    หัวหน้าภาคบอกว่า   ถึงไม่ได้เอาไปใช้   ก็ต้องเข้าไปฟังเพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมของทางภาควิชา    และเป็นการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยต่างๆ ของรุ่นพี่ด้วย   เพราะฉะนั้น  ยุ่งแค่ไหนก็ต้องเข้าฟัง job talk อยู่ดีค่ะ

 

          ในการเข้าไปฟัง Job Talk ที่ผ่านมาสองสามครั้งในเทอมนี้   ก็ได้เห็นลักษณะอย่างหนึ่งก็คือ  อาจารย์ที่เข้าร่วมฟังจะพยายามชี้แนะนักศึกษาที่นำเสนอผลงานอย่างเต็มที่จริงๆ   คือมีตั้งแต่ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอไปจนถึงวิธีการตอบคำถามด้วย    ตัวอย่างเช่น   นักศึกษาที่นำเสนออาจจะตอบคำถามโดยยกตัวอย่างที่ห่างไกลกับชีวิต   อาทิ  เปรียบเทียบอารมณ์ตื่นเต้น  (ซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งในงานวิจัยของนักศึกษาคนนั้น)  กับอารมณ์ในการขับรถแข่ง    หรือเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก  โดยใช้เหตุการณ์ตึกถล่มเป็นตัวอย่าง    อาจารย์ก็จะบอกแนะนำทันทีว่า   ลักษณะของการยกตัวอย่าง   ควรใช้เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการทำงานในองค์กรแทน   เพื่อให้คนฟังกลุ่มหลัก   ซึ่งก็คือ คณาจารย์ของ Business School ของมหาวิทยาลัยอื่น   ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณารับอาจารย์ใหม่    รู้สึกว่าเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวและน่าสนใจมากกว่า  เป็นต้น

 

          นอกจากนี้  อาจารย์ก็จะคอยแนะนำเวลาที่นักศึกษาที่ทำ Job Talk อาจจะตอบคำถามแล้วฟังดูไม่น่าเชื่อถือ   โดยจะแนะนำว่าเรื่องใดควรพูด  เรื่องใดไม่ควรพูด   เช่น เรื่องที่อาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้    หรือคำตอบที่ฟังดูไร้หลักการทางทฤษฎีรองรับ   หรือแม้แต่การยก quote คำพูดที่ไม่สมควร  (เช่น  การยก quote คำพูดที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง  หรือเป็นของอาจารย์ที่สอนที่นี่และยังไม่ได้เป็นเจ้าของทฤษฎีนั้น   ก็อาจจะดูไม่เหมาะสมสำหรับการทำ Job Talk)  

 

          ส่วนนักศึกษาปริญญาเอกคนอื่นๆ  ก็มักจะถามเกี่ยวกับตัวทฤษฎีที่คนพูดนำเสนอ  หรือไม่ก็ถามแย้งเมื่อมีข้อสงสัยค่ะ   ซึ่งบางครั้งก็ทำให้คนพูดได้มีแง่คิดใหม่ๆ เหมือนกัน   เพราะความสงสัยของนักศึกษาด้วยกัน   อาจจะต่างไปจากของอาจารย์อยู่บ้าง   นอกจากนี้   เวลาไปทำ Job Talk ตอนสมัครงานจริงๆ   ก็จะต้องมีนักศึกษาปริญญาเอกของที่อื่นมานั่งฟังและซักถามด้วยอยู่แล้ว

 

          การทำ Job Talk นี้   ครูน้อยคิดว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับนักศึกษามากเลยนะคะ   เพราะสาขา Management ของที่ MSU นี้   เป็นสาขาที่มี placement rate หรืออัตราการได้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของนักศึกษาปริญญาเอก   สูงกว่ามหาวิทยาลัยในระดับเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด    จนทำให้ ranking ของหลักสูตรปริญญาเอกของที่นี่ติดอันดับสูงมากกว่าหลักสูตรปริญญาโทหรือแม้แต่ ranking รวมของมหาวิทยาลัยค่ะ

 

ครูน้อยไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยจะมีการหัดให้นักศึกษาปริญญาเอกทำ Job Talk หรือเปล่า  เพราะสถานการณ์การหางานของนักศึกษาปริญญาเอกในไทยอาจจะไม่ต้องแข่งขันสูงแบบที่ประเทศนี้     แต่ในอนาคต หากการแข่งขันในสาขาอาชีพอาจารย์สูงมากขึ้น    และถ้าเราต้องการให้นักศึกษาปริญญาเอกได้งานดีๆ     ครูน้อยก็คิดว่า  การฝึก Job Talk ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยน่าจะสามารถจัดให้แก่นักศึกษาได้    และน่าจะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาอย่างมากนะคะ

 

 

          วันพรุ่งนี้  ก็มีงาน Global Event ของทางมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ    ปีที่แล้วครูน้อยมีโชว์รำวงมาตรฐานด้วย    โชคดีปีนี้มีเด็กๆ เข้ามาเรียนกันเยอะ   แก่ๆ อย่างครูน้อยก็เลยรอดตัวไม่ต้องรำโชว์แล้วค่ะ     แต่ก็จะมีแต่งชุดไทย   และออกบูธค่ะ   ก็ถือเป็นการร่วมกิจกรรมของนักศึกษาไทยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีกหนึ่งอย่างที่มีจัดขึ้นทุกปี

 

 

จบแล้วค่ะบันทึกของเดือนนี้    คราวหน้าก็เป็นเดือนสุดท้ายของเทอมนี้   หลังจากนั้น  ครูน้อยก็จะกลับมาเยี่ยมเมืองไทยอีกแล้วค่ะ     จะได้ไปกราบสวัสดีปีใหม่ครูใหญ่อีกครั้งแล้วนะคะ   เวลาผ่านไปเร็วมากๆ เลย   ยังมีอะไรที่ไม่ได้ทำอีกตั้งหลายอย่าง    ต้องรีบๆ ทำแล้วล่ะค่ะ

 

 

เจอกันเดือนหน้านะคะ

 

คำสำคัญ (Tags): #job talk#km
หมายเลขบันทึก: 223278เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

หลายบันทึกของ อ. ศิริสุข ที่เล่าวิธี/ฝึก นศ. ป. เอก ของ MSU เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำ เขาเอาใจใส่คุณภาพของบัณฑิตของเขาอย่างไร เขามีวิธีสร้างคุณภาพนั้นอย่างไรบ้าง เป็นตัวอย่างที่เราน่าจะนำมาปรับใช้ในประเทศไทย

แรงจูงใจที่ทำให้เขาต้องปรับปรุง หาวิธีการจัดการฝึกฝนนักศึกษาคือการแข่งขันกันสร้างชื่อเสียงโดยมีเกณฑ์คุณภาพเป็นหลัก ทำให้ ranking ของเขาสูง ก็จะทำให้ทรัพยากรไหลมา

จึงเป็นบทเรียนต่อการจัดทรัพยากรสนันสนุนอุดมศึกษาไทย ว่าน่าจะจัดสรรตามคุณภาพของผลงานได้แล้ว เพราะเวลานี้เรามีมหาวิทยาลัยมากเกินพอ คือกว่า ๒๒๐ แห่ง

วิจารณ์ พานิช

เรียน อ.ศิริสุข

@ ขออนุญาตเรียนรู้ด้วยคนครับ

  • มาให้กำลังใจครูน้อย
  • หายไปนาน
  • อิอิๆๆ
  • จะนำเอาแนวคิดบางอย่างไปประยุกต์ใช้กับการเรียนและการทำงานครับ

ขอบคุณท่านเจ้าของบันทึกมาก  ๆ ครับ ที่ได้นำประสบการณ์มาแบ่งปันให้มองเห็นภาพการเรียนปริญญาเอกลักษณะนี้ให้พวกเราได้มีโอกาสรับรู้

ขอบคุณครับ :)

ขอเป็นกำลังใจให้ครูน้อยครับ .... ติดตามบันทึกของครูน้อยมาตลอดครับ

อ่านสนุกได้ความรู้อีกหนึ่งวัน

อ่านแล้วอยากไปสมัครเป็นลูกศิษย์อาจารย์จังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท